ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้การตลาดแบบ Subscription นั้นเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นอย่างแพร่หลายแล้ว เอาที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็น่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นในการดูหนัง ซีรีส์ต่าง ๆ อย่าง Netflix , WeTV ที่ให้ผู้ชมจ่ายค่าบริการรายเดือน แล้วเลือกเสพคอนเทนต์กันได้แบบไม่อั้น แต่จริง ๆ แล้วระบบ Subscription ในหมวดของเกมก็มีมาให้เราเห็นกันบ้างแล้ว และมันจะเป็นยังไงกันแน่ถ้าอนาคตผู้ให้บริการหรือตัวแทนจำหน่ายหันมาใช้วิธีนี้ในการทำการตลาด
ระบบ Subscription เกี่ยวกับเกมในไทย
จริง ๆ แล้วระบบนี้หากให้นับกันจริง ๆ แล้วยังมีไม่มากนัก เอาแบบที่โดดเด่นและเข้าตากันมากที่สุดก็น่าจะเป็นระบบ XBOX Game Pass ของทาง Microsoft และ Origin Access ของทาง EA
โดยทั้งสองระบบนี้จะเหมือนกันตรงที่ให้คุณจ่ายเงินรายเดือนในราคาน้อยนิด แต่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงเกมจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเกมเก่าหรือปัจจุบันที่เริ่มให้สิทธิ์เข้าถึงเกมใหม่ ๆ กันมากขึ้นโดยไม่ต้องจ่ายราคาเต็มเพื่อเล่นมัน อย่างเช่น Star Wars : Jedi Fallen Order หรือ Need For Speed Heat ที่ผู้สมัครสมาชิกรายเดือนสามารถเข้าเล่นได้เลย ไม่ต่างจากการซื้อเกมเต็ม แถมตัวเกมยังเป็นระดับ Edition สูงสุด ปลดล็อคโบนัสมากมายหลายอย่างอีกต่างหาก
ดังนั้นระบบนี้จึงมีประโยชน์มากสำหรับคนที่อยากซื้อเกมฟอร์มใหญ่ แต่ไม่มีเงินซื้อแพง ๆ ถ้าเป็นเกมแบบเนื้อหา เนื้อเรื่องที่ใช้เวลาเล่นไม่นานก็จบ ระบบนี้จะมีประโยชน์มาก เพราะเราไม่ต้องเสียเงินซื้อเกมเต็มนั่นเอง
ถ้าอนาคตเราไม่ต้องเสียเงินก้อนเพื่อซื้อเกมจะเป็นยังไง ?
ทุกวันนี้มาตรฐานราคาเกมใหม่ ๆ ของประเทศไทย มักจะยืนพื้นอยู่ที่ 1,890 บาทขึ้นไปในราคาตัว Standard ถ้าต้องการเนื้อหาเสริมเช่น Expansion Pass , DLC ต่าง ๆ และยิ่งแต่ละเดือนย่อมไม่มีเกมออกวางจำหน่ายเพียงเกมเดียว ทำให้บางคนอาจจะคิดหนักในการเลือกซื้อเกมแต่ละเกม
แต่การมาของระบบ Subscription จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ไปได้มาก เพราะเราไม่ต้องเสียเงินก้อน แต่ข้อเสียของระบบนี้ ณ ปัจจุบันนี้คือ ในประเทศไทยเรายังมีผู้ให้บริการไม่มากนัก อย่างที่เรายกตัวอย่างไปด้านบน นั่นคือมีเพียง Origin และ XBOX Game Pass จริง ๆ ในต่างประเทศนั้นมีระบบ Uplay+ ที่เอาไว้เล่นเกมในเครือ Uplay แล้ว แต่ในไทยยังไม่มีการเปิดให้บริการในขณะนี้
ถ้าอนาคตมีหลายผู้ให้บริการมากขึ้น มันอาจจะพลิกโฉมวงการการเล่นเกมในบ้านเราไปก็ได้ นั่นคือผู้คนจะใช้ระบบจ่ายรายเดือนกันมากกว่าซื้อขาด ซึ่งหากมองแบบผิวเผินโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก วิธีนี้อาจจะทำให้ผู้พัฒนาหรือผู้ให้บริการได้เงินมากกว่าที่เคยก็เป็นไปได้ เพราะผู้คนจะยอมจ่ายเงินราคาถูก เพราะคิดว่าสามารถเข้าเกมราคาแพงได้มากขึ้น เมื่อมีผู้จ่ายมากขึ้น ตัวเงินที่ได้อาจจะสูงกว่าการขายเกมเต็ม ๆ ได้สู.กว่าก็เป็นไปได้ (เป็นเพียงการคาดเดาแบบไม่คำนวณอะไรทั้งสิ้นเท่านั้น)
และถ้ามันไปได้สวย อาจจะมีผู้ให้บริการหลายเจ้าหันมาทำการตลาดแบบ Subscription มากขึ้นก็ได้
แต่การทำระบบ Subscription ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
อันนี้ไม่ใช่ความเห็นจากผู้พัฒนาทั้งหลาย แต่เป็นความเห็นจากผู้ใช้อย่างเรา ๆ นี่เอง
จุดเด่นของระบบ Subscription คือการที่ผู้จ่ายเงินสามารถเข้าถึงเกมจำนวนมากได้ โดยเสียเงินเพียงเล็กน้อย แถมยังสามารถเข้าถึงได้แบบรายเดือน แต่จำนวนเกมที่เราจะได้เล่นนั้น บางเจ้าก็มีมากกว่า 20-30 เกมขึ้นไป เรียกได้ว่าเลือกเล่นกันไม่ถูกเลยทีเดียว
ดังนั้นถ้าไม่ใช่ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ ย่อมไม่มีทางทำอะไรแบบนี้ได้แน่นอน หนอกจากปัญหาเรื่องจำนวนเกมแล้ว ค่ายเกมยังอาจจะต้องมีแพลตฟอร์มเป็นของตัวเองอีกด้วยถึงจะทำการตลาดแบบนี้ได้ (เหมือนที่ Ubisoft สร้าง Uplay+ และ EA ทำ Origin Premiere Access) หากไม่เช่นนั้นแล้ว ค่ายเกมอาจจะต้องไปดีลกับเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งมันจะเกิดความยุ่งยากตามมาแน่นอน
ตอนนี้หากมองกันตามความเป็นจริง ค่ายเกมที่มีอำนาจพอจะทำได้จึงมีอยู่ไม่กี่เจ้า แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะถ้าในอนาคต การตลาดแนว ๆ นี้มาแรงขึ้น ก็อาจจะมีการจับมือจากหลายใฝ่ เพื่อทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด และได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
เราอาจจะเข้าถึงเกมฟอร์มยักษ์ได้ง่ายขึ้นจากระบบนี้
อย่างที่บอกว่าอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ และแน่นอนว่าระบบ Subscription อาจจะเข้ามาเปลี่ยนวงการเกมให้เราเข้าถึงเกมฟอร์มยักษ์ได้ง่ายขึ้น แม้จะไม่ใช่ในระยะเวลาอันใกล้นี้
ระบบที่เราน่าจะได้สัมผัสกันเร็ว ๆ นี้น่าจะเป็น Uplay+ ของ Ubisoft เพราะตอนนี้ทาง Ubisoft ก็เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการแปลเกม Breakpoint เป็นภาษาไทย หรือการเปิดเพจจำหน่ายสินค้า Official ในไทยด้วย ระบบ Uplay+ จึงน่าจะเป็นระบบที่เราน่าจะได้สัมผัสกันในเร็ว ๆ นี้
แต่จะอย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้าอนาคตระบบ Subscription แพร่หลายขึ้นมาล่ะก็ มันอาจจะทำให้เราเข้าถึงเกมฟอร์มยักษ์กันได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงทำให้การตลาดเปลี่ยนไปชนิดที่เราคาดเดาไม่ถึงเลยก็ว่าได้