BY สฤณี อาชวานันทกุล
4 Mar 21 5:00 pm

Suzerain : เกมที่ทำให้เรา เข้าใจความท้าทายของ ‘การเมือง

144 Views

เชื่อว่าคอเกมไม่มากก็น้อยต้องเคยเล่นเกมวางแผน (strategy) หรือซิมูเลชั่น (simulation) ที่ให้เราสวมบทบาทเป็นจักรพรรดิ ประธานาธิบดี หรือหัวหน้าเผ่ามนุษย์ต่างดาว นำพาอารยธรรมจากชนเผ่าสู่ยุคอวกาศ หรือขยายอาณานิคมในเอกภพ กรีฑาทัพข้ามกาแล็กซี คิดค้นเทคโนโลยีที่จะทิ้งคู่แข่งไม่เห็นฝุ่น

เกมวางแผนมีมากมายก่ายกอง หลายเกมสอดแทรกกลไกทางการทูตและการสานสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมที่ใกล้เคียงกับโลกจริง แต่เกมที่ทำให้เราเข้าใจความท้าทายของ “การเมือง” ยังหาไม่ง่าย และเกมวางแผนที่ทำได้มากกว่านั้นอีก คือช่วยให้เข้าใจความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมยากๆ ที่ “นักการเมือง” ต้องเผชิญ ทั้งในเรื่องส่วนตัวไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์การเมือง ต้องเรียกว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในเวิ้งอวกาศ

โชคดีที่ Torpor Games สตูดิโออินดี้จากเบอร์ลิน เมืองหลวงเยอรมนี ลุกขึ้นมาทำเกมเล็กแต่ใจใหญ่ที่เติมเต็มสุญญากาศนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

Suzerain ให้เราเล่นเป็น แอนตัน เรน ประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งแห่ง ซอร์ดแลนด์ ประเทศในจินตนาการ (แต่ละม้ายคล้ายประเทศแถบทวีปยุโรปตะวันออกในโลกจริง) ซอร์ดแลนด์เพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองที่โค่นล้มเผด็จการมาหมาดๆ และเราก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย ฉากแรกๆ ของเกมจะให้เราเลือกเส้นทางชีวิตตั้งแต่เด็กก่อนไต่เต้าจนเป็นประธานาธิบดี ตัวเลือกเหล่านี้จะบันทึกว่าเรามีจุดยืนทางการเมือง เศรษฐกิจ และความคิดความเชื่อทางศีลธรรมหลักๆ เป็นอย่างไร เกมจะประมวลข้อมูลเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นของรัฐบาลเราในฐานประธานาธิบดี เป็นฐานคิดของนโยบายหาเสียงที่เราใช้ก่อนชนะการเลือกตั้ง

งานของเราในหมวกประธานาธิบดียุ่งขิงและยากเย็นตั้งแต่วันแรก กลุ่มซ้ายจัดและขวาจัดในประเทศฮึ่มใส่กัน ต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุความเสื่อมโทรมของชาติ เหตุรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายในประเทศปะทุอยู่เนืองๆ มหาอำนาจสองประเทศที่อยู่สุดปลายไม้บรรทัดทางอุดมการณ์สองข้างอยากเผยแผ่อิทธิพลในภูมิภาค ระหว่างที่ต้องคิดว่าจะรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเบี้ยล่างในเกมของมหาอำนาจ เรายังต้องหาวิธีฟื้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท ปรับปรุงการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และคิดว่าจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาอย่างไรดี

เราจะตัดสินใจทั้งหมดนี้จากหน้าจอจอเดียว ด้านบนแสดงตัวเลขไม่กี่ตัว อาทิ ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ งบประมาณภาครัฐ (ติดลบแสดงว่ากำลังบริหารด้วยงบประมาณขาดดุล) และมูลค่าความมั่งคั่งส่วนตัว กลไกการเล่น Suzerain เหมือนเกมผจญภัยตระกูล “นิยายภาพ” หรือ visual novel แต่ละตาเราจะคลิกไอคอนเมืองต่างๆ ในประเทศเพื่ออ่านข่าวและตัดสินใจเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมืองนั้นๆ (ส่วนใหญ่จะเป็นเมืองหลวง ที่ตั้งของรัฐบาล) โดยคลิกตัวเลือกที่ต้องการจากรายการปรนัย หลังจากที่ฟังความคิดเห็นของรัฐมนตรีและที่ปรึกษาที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งความสนุกส่วนหนึ่งก็คือที่ปรึกษาและรัฐมนตรีต่างคนต่างความคิด และการตัดสินใจของเรามักไม่มีตัวเลือกไหน “ถูก” ตัวไหน “ผิด” อย่างชัดเจน อยู่ที่จุดยืนทางการเมืองของเรา(คนเล่น) หรือความอยากรู้อยากเห็นเป็นหลักว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อรัฐมนตรีคลังพร้อมด้วยที่ปรึกษามากระตุกว่า ควรต้องขึ้นภาษีได้แล้วเพื่อชดเชยภาวะงบประมาณขาดดุลอย่างหนัก เราก็ต้องเลือกว่าจะขึ้นภาษีบริษัทใหญ่ ลดภาษีให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะทำสลับกันคือขึ้นภาษี SMEs และลดภาษีบริษัทใหญ่ หรือจะเดินหน้าเก็บภาษีในอัตราเดิมต่อไป หรือเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจว่าจะจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจขั้วไหน เราก็เลือกได้ว่าจะจับมือกับมหาอำนาจเจ้าโลกตลาดเสรีสุดขั้ว จับมือกับมหาอำนาจเจ้าโลกสังคมนิยม หรือจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นพันธมิตรกับใครเลยโดยมุ่งเน้นนโยบายชาตินิยมเป็นหลัก

โลกในเกมถูกบรรจงสร้างอย่างประณีต ตัวละครทุกคนในเกมไม่ว่าจะเป็นแกนนำนักการเมืองแต่ละพรรค นักธุรกิจใหญ่ ตุลาการศาลสูง ผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน ผู้นำประเทศมหาอำนาจ ผู้นำทางศาสนา อดีตเผด็จการที่อยากหวนคืนสู่อำนาจ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธ ผู้ช่วย ภรรยา รวมถึงลูกๆ ของเรา ล้วนมีปูมหลัง นิสัยใจคอ ความคิดความเชื่อ และความต้องการของตัวเอง เมืองและประเทศทุกจุดบนแผนที่ภูมิภาคก็ล้วนแต่มีประวัติศาสตร์สลับซับซ้อน ซึ่งเราสามารถคลิกอ่านสรุปปูมหลังของเมือง ประเทศ ตัวละคร สำนักคิด ลัทธิทางศาสนา ได้จากบทความคล้ายวิกิพีเดีย

เล่นไปสักพักเราจะพบว่า Suzerain จำลองความยากและซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการเมืองในโลกจริงมาได้อย่างน่าทึ่ง มันเป็นเกมเกี่ยวกับการตัดสินใจยากๆ ว่าเราจะไว้ใจใครดี จะหว่านล้อมโอ้โลมปฏิโลมใคร จะทำท่าแข็งกร้าวใส่ใคร และแม้กระทั้งบางครั้งเราจะอยากแสร้งทำเป็นไว้ใจใครบางคน  เพื่อหลอกล่อให้เขาหรือเธอเผยไพ่ในมือออกมา

นอกจากจะต้องเผชิญกับศึกหนักในสนามการทูตนอกประเทศและสนามการเมืองในประเทศแล้ว เรายังต้องเผชิญกับ “ศึกในพรรค” เมื่อพบว่าคนสนิทอาจเป็นสายลับให้กับประเทศคู่แข่ง และรัฐมนตรีหลายคนขัดแย้งชนิดมองหน้ากันไม่ติด รวมถึงยังต้องรับมือกับ  “ศึกในบ้าน” เมื่อลูกๆ เริ่มตั้งคำถามว่าเราเห็นพวกเขาสำคัญน้อยกว่างานหรือไม่ ภรรยาผู้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งทะเยอทะยานอยากใช้อำนาจประธานาธิบดีในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง – การเปลี่ยนแปลงที่อาจขัดแย้งกับนโยบายของพรรคเรา หรือทำให้ผู้อุปถัมภ์พรรครายใหญ่ไม่พอใจ

การตัดสินใจทุกอย่างในเกมไม่ว่าจะดูเล็กน้อยเพียงใดล้วนแต่มี “ผลลัพธ์” ที่อาจใช้เวลานานกว่าจะมองเห็น และ “ต้นทุน” ที่กว่าจะมองเห็นก็อาจสายเกินแก้

ใครก็ตามที่ชอบเกมวางแผน ชอบเกมการเมือง แต่อยากได้เกมที่ฉายภาพความเป็น “มนุษย์” ของนักการเมือง และ “ความเป็นจริง” ของการกำหนดนโยบายและการต่อรองทางการเมือง Suzerain ก็เป็นเกมเดียวที่ตอบโจทย์นี้ได้

และสำหรับคนไทยใน พ.ศ. 2564 ยุคที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเริ่มเป็นประเด็นร้อน เรื่องใหญ่ในกระแสการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของคนจำนวนมาก กระบวนการขับเคลื่อน ต่อรองและงัดข้อกันภาคส่วนต่างๆ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศในจินตนาการชื่อ ซอร์ดแลนด์ ก็ให้ทั้งแง่คิดและบทเรียนกับเราได้เป็นอย่างดี

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top