BY สฤณี อาชวานันทกุล
6 May 21 4:53 pm

There Is No Game: จดหมายรักถึงวงการเกม

30 Views

คำเตือน: ผู้เขียนพยายามถึงที่สุดที่จะไม่สปอยล์เกม There is No Game แต่การอธิบายบางอย่างอาจนับเป็นการสปอยล์อยู่ดีสำหรับผู้เล่นที่อยากเจอระบบเกมทั้งหมดด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าคุณเป็นผู้เล่นแนวนี้ แนะนำให้เล่นเกมก่อนอ่าน!

เกมเจ๋ง ๆ ที่เปิดโลก เปิดใจ หรือเปิดสมองของคนเล่นทุกวันนี้มีเป็นร้อยเป็นพัน แต่เกมที่ไม่เพียงตั้งหน้าตั้งตาทำลาย “กำแพงที่สี่” (fourth wall) ที่กั้นกลางระหว่างเกมกับคนเล่น หากแต่จงใจทำขึ้นมาเปรียบเป็น “จดหมายรัก” ถึงวงการเกมและเกมเมอร์ทุกคน วิพากษ์เสียดสี “ขนบ” ทั้งหลายของเกมแทบทุกแนวอย่างแสบสันต์ รวมถึงการล้อเลียนตัวมันเองด้วย – เกมแบบนี้เห็นจะมีแต่ There Is No Game เกมเดียวเท่านั้น

แค่ฉากเปิดก็สนุกแล้ว เมนูแสดงป้าย “ทางออก” (exit) ตัวหนังสือใหญ่ยักษ์ ลูกศรแดงเถือกหลายอันชี้มาเย้ายวนให้กด ส่วนป้าย “ตรงนี้ไม่มีเกม” ตัวหนังสือเล็กจ้อย ถ้ากดเข้าไปเราก็จะเจอม่านเวที เหมือนไม่มีอะไรให้เล่น ได้ยินเสียงทุ้มต่ำสำเนียงรัสเซียลอยมาจากไหนไม่รู้ว่า

“ถ้าคุณอยากเล่นเกม จงปิดโปรแกรมนี้ไปเถอะนะ ที่นี่ไม่มีเกมอะไรเลยหรอก ได้โปรดออกไป…”

เราคนเล่นผู้ไม่รู้จะเล่นเกมนี้ยังไงจะเริ่มคลิกที่ชื่อเกม คลิกดะไปหมดทั่วทั้งจอ ยิ่งพยายามจะเล่น เสียงทุ้มต่ำสำเนียงรัสเซียยิ่งออกอาการกระวนกระวาย จนสุดท้ายเราก็จะได้เข้าไปเล่น “เกม” ที่ “ตัวเกม” ไม่อยากให้เราเล่น และยิ่งเล่นยิ่งพบว่าเกมนี้ที่จริงก็เป็นเกมนั่นแหละ แต่มันไม่ใช่แค่เกม เป็นบทวิพากษ์และครุ่นคิดพิจารณาถึงอุตสาหกรรมเกม ขนบต่าง ๆ ในเกม และธรรมชาติของการสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้ฉาบเคลือบไว้ด้วยเกมที่ฉลาดเป็นกรดและโจ๊กมากมายที่จะไม่มีเกมเมอร์คนไหนกลั้นยิ้มได้

เกมทั่ว ๆ ไปจะไม่พูดกับคนเล่นโต้ง ๆ เพราะอยากให้เราสวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม แต่ This is No Game รู้ว่าเราเป็นคนเล่นเกมที่อยู่นอกจอ และ “เกม” ก็คือตัวละครหลักในเกมที่ขอร้องให้เราออกจากเกม เพราะตัวเกมยังไม่เสร็จ!

There Is No Game ไม่ใช่เกมเกมเดียวแต่เป็นส่วนผสมของเกมดังหลายแนวที่เกมเมอร์คุ้นเคยกันดี โดยเฉพาะเกมผจญภัย point-n-click เกมแอ๊กชันสองมิติ platformer และเกมมือถือ(ที่ต้องจ่ายเงินซื้อเนื้อหาเพิ่ม) แต่ในเกมนี้กำแพงทั้งหมดที่เคยกั้นกลางระหว่างคนเล่นกับเกมพังทลาย เมนูเกม แถบพลังชีวิต และไอคอนทั้งหลายที่บอกค่าสำคัญ ๆ ในเกมทั่วไปนั้น ในเกมนี้กลับเป็นส่วนหนึ่งของระบบเกม บังคับให้เราคิดนอกกรอบตลอดเวลา ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ แทบทุกนาที การเขียนบทความถึงเกมนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยแม้แต่น้อย

แต่ก็จะลองดู!

There Is No Game คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อตัวเกมที่เราเล่นมีชีวิตจิตใจ ถูกดีไซเนอร์ปล่อยเกาะ ยังโค้ดไม่เสร็จแต่มีคน(จริง ๆ )บังเอิญมาเจอและอยากเล่นมันขึ้นมา แถมเจ้าตัวเกมในเกมนี้ก็มีความเห็นจิกกัดไม่ใช่น้อยต่อ “พัฒนาการ” ในโลกของเกมช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา This Is No Game เป็นทั้งเกม บทวิพากษ์เกม และเกมโคตรสนุกที่หยุดเล่นไม่ได้ สามอย่างนี้มารวมกันในทางที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน แถมมันยังเต็มไปด้วยเซอร์ไพรส์และทำให้ผู้เขียนหัวเราะออกมาดัง ๆ หลายครั้ง ตัวเกมเล่นเพียง 5-6 ชั่วโมงก็จบ แต่ทุกฉากล้วนน่าจดจำและสำคัญ โจ๊กทุกเม็ดในเกมยิงเข้าเป้า ไม่มีประโยคไหนในเกมที่ดูเยิ่นเย้อหรือไม่รู้จะใส่มาทำไม ไม่มีฉากไหนที่ทำให้รู้สึกว่า แน่ะ! ทีมพัฒนายัดฉากน่าเบื่อมาเพื่อยืดให้เกมยาวขึ้นอีกหน่อยแค่นั้นเอง

พูดมาทั้งหมดนี้หลายคนคงสงสัยว่า This Is No Game เป็นเกมแบบไหน มันคล้ายกับเกมผจญภัย point-n-click ที่ต้องใช้ข้าวของแก้ปริศนาต่าง ๆ มากที่สุด แต่ “ของ” ในเกมนี้จะเป็นอะไรก็ได้ อาจเป็นไอคอนถุงใส่ของ (inventory) บนสุดของจอ หรือปุ่มเมนู ปริศนาบางอย่างในเกมต้องแก้ด้วยการเข้าไปเปลี่ยนค่าบางอย่างในเมนูอีกที!

“ตัวเอก” ใน This Is No Game คือตัวเกมที่ไม่อยากให้เราเล่นมัน เพราะมันยังไม่สมบูรณ์ และก็ดูงง ๆ ตลอดเวลาว่าตูมาอยู่ที่ไหน และ “ตัวร้าย” ในเกมนี้คือบั๊กในเกม (glitch) ที่กำลังอาละวาดอยู่ในโค้ด เป้าหมายของเราในแต่ละฉากก็คือการหาทางออกจากเกม (ที่เราคิดว่าคือเกมนั่นแหละ แต่จริง ๆ ไม่ใช่เกม เป็นแค่โค้ดเกมที่ยังไม่เสร็จ งงดีไหมล่ะ) ด้วยคำแนะนำของ “ตัวเกม” ที่มันแก้ปริศนาอะไรต่าง ๆ เองไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของโค้ด ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเรา (คนเล่น) คำแนะนำของตัวเกมเปรียบเสมือนระบบ “บอกใบ้” ในเกม ถ้าเราแก้ปริศนาไม่ได้ รอไม่กี่นาทีเจ้าตัวเกมสำเนียงรัสเซียก็จะบอกใบ้เองว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ในเมื่อเกมบังคับให้คิดนอกกรอบตลอดเวลา การลองผิดลองถูก ใช้เม้าส์ลากไอ้นั้นไปชนกับไอ้นี่ จึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่โชคดีที่โจ๊กทั้งหลายใน This Is No Game สนุกแสบสันต์จนเราให้อภัยกับมหกรรมการลองผิดลองถูกทั้งหมดนี้ได้

แล้ว “ขนบ” ของเกมต่าง ๆ ที่ This Is No Game หยิบมาทำเป็นฉากในเกม ล้อเลียนหรือชวนให้คิดถึงมีอะไรบ้าง? ตอบสั้น ๆ ได้ว่า แทบทุกอย่างตั้งแต่เกมยิงและตู้เกมคลาสสิกอย่าง Breakout การที่ต้องใช้ของ(อย่างไม่ค่อยมีเหตุผล)แก้ปริศนาหลุดโลกในเกมผจญภัย ขนบการวิ่งไปช่วยเจ้าหญิงผู้ช่วยตัวเองไม่ได้ในเกม RPG เกม clickbait ที่บังคับให้กดซ้ำ ๆ เอาเหรียญไปปลดล็อกเนื้อหาในเกม ระบบ Lootbox (ใช้เงินจริงซื้อ) ที่เกมเมอร์จำนวนมากรังเกียจ ไปจนถึงเกมมือถือที่ขึ้นป้ายโฆษณาน่ารำคาญมากมายจนกว่าเราจะยอมจ่ายเงินซื้อ ล้อแม้กระทั่งกระแสการหาเงินทำเกมผ่านเว็บ Kickstarter และธรรมเนียมปฏิบัติ(ไม่ดี)ในวงการเกมที่ใช้งานนักพัฒนาหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง

แต่การล้อเลียนแกมวิพากษ์ทำหมดนี้ทำไปด้วยอารมณ์ขัน ไม่ใช่ความเกลียดชัง ให้อารมณ์เหมือนเพื่อนแท้ที่หยอกเพื่อนคู่ใจและคอยเตือนให้ระวังว่าจะทำอะไรที่หมิ่นเหม่ศีลธรรม และเมื่อใดที่โจ๊กในเกมจะเริ่ม “เก่า” แล้ว This Is No Game ก็จะเปลี่ยนเกียร์ พาเราเข้าสู่ฉากใหม่ พาไปเจอขนบใหม่ให้หัวเราะใส่และหาทางไปต่อ

ประสบการณ์การเล่น This Is No Game จะไม่เหมือนกับเกมไหนเลยที่เราเคยเล่น เพราะจะมีกี่เกมกันเล่าที่ “พูด” กับคนเล่นอย่างตรงไปตรงมาและยั่วล้ออุตสาหกรรมเกมอย่างถึงแก่น เกมเดียวที่คิดออกคือ The Stanley Parable แต่อารมณ์และบรรยากาศออกมาคนละเรื่อง แม้จะมีจุดร่วมกันอยู่ในค่านิยมที่อยากให้คนเล่นพิจารณา

ถึงแม้ This Is No Game จะใช้เวลาเล่นเพียง 5-6 ชั่วโมง มันก็เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า เล่นเกมเดียวเหมือนได้เล่นหกเกมที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละ “บท” (Chapter) ในเกมพาเราเข้าสู่ขนบของเกมคนละแนว

นี่คือ “จดหมายรัก” ชั้นยอดถึงเกมเมอร์และวงการเกม ทุกคนที่เล่นจบแล้วรับรองว่าจะลืมไม่ลง และจะได้ครุ่นคิดถึงขนบและธรรมเนียมทั้งหลายที่เราอาจไม่เคยสังเกตหรือนึกถึงมาก่อน จนกระทั่งเจ้า “ตัวเกม” มากระทุ้งให้เราเห็น

สฤณี อาชวานันทกุล

Back to top