ก่อนหน้านี้ผู้เขียนพาทุกคนกลับไปย้อนรำลึกถึงเกมยิงปืนสไตล์อาร์เคดอย่าง The House of The Dead กันแล้ว อันที่จริงก็มีอีกหนึ่งเกมที่เรียกได้ว่าแหวกแนวและได้รับความนิยมในสมัยก่อนมาก และอาจจะยังพอหาเล่นได้ในยุคนี้ตามห้างร้านต่าง ๆ แบบไม่เหนื่อยแรงนัก แต่ถ้าจะให้พูดถึงกันจริง ๆ แล้ว เกมนี้ก็ถือได้ว่ามีอายุอานามค่อนข้างนานมากอีกหนึ่งเกม ซึ่งถ้าหากพูดถึงเกมยิงปืนที่แหวกแนวและได้รับความนิยมมากก็คงหนีไม่พ้น Time Crisis นั้นเองครับ
ก่อนที่จะเข้าเนื้อหาก็ต้องขออธิบายกันอีกครั้ง ว่าในบทความนี้จะเน้นไปที่ตัวเกมเวอร์ชั่นอาเคตที่ผู้เขียนเคยได้สัมผัสมา อาจจะมีแวบไปพูดถึงบนคอนโซลบ้างให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และจะเน้นไปที่ภาคหลัก ๆ ที่ลงให้กับเครื่องอาร์เคด ถ้าหากมีตรงไหนตกหล่นก็ขออภัยด้วยเพราะอาจจะไม่เคยเห็นหรือไม่เคยสัมผัสมาก่อนครับ
ในช่วงปี 1995 เกมอาเคตเริ่มจะมีพัฒนาการให้เห็นกันชัดเจนเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของกราฟฟิกที่ขยับขยายให้เห็นชัดเจนขึ้น การก้าวกระโดดจากภาพ Pixel แบบสองมิติเป็นภาพสามมิตินั้นสร้างความตื่นตาตื่นใจอย่างมาก ซึ่งก็มีหลายเกมที่ใช้มันในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในเกมการเล่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และก็มีเกมยิงปืนเกมหนึ่งที่ฉีกกฎการเล่นของเกมแนวเดียวกันไปอย่างสิ้นเชิงก็คือ Time Crisis
ซึ่งถ้าหากเราพูดถึงเกมยิงปืนแบบ Railway Shooter สไตล์อาร์เคตตอนนั้น ทุกเกมจะดำเนินไปในแนวทางเดียวกันหมดก็คือเป็นฉากโล่ง ๆ ศัตรูโผล่มายิงทัน เวลาจะใส่กระสุนใหม่ก็หันปืนออกนอกจอแล้วยิงเป็นการรีโหลด แต่ Time Crisis ฉีกกฎเดิม ๆ ของการเล่นเกมแนวนี้ไปแบบที่คาดไม่ถึง โดยจะขอแบ่งเป็นภาคต่าง ๆ ดังนี้ครับ
Time Crisis
ภาคแรกของซีรีส์เปิดให้เล่นบนระบบเกมตู้ในปี 1995 และเป็นเกมที่ไม่ว่าจะเมื่อไหร่คนก็มุงเล่นกันเต็มตู้ทุกครั้ง เพราะครั้งแรกที่ทุกคนได้เห็นเกมนี้จะแปลกใจกับระบบการเล่นของเกมมาก เพราะในเกมนี้เราสามารถหลบกระสุนเข้าไปหลังที่กำบังได้ด้วย โดยตัวเกมจะมีแป้นเหยียบให้เราใช้เพื่อที่จะเอาไว้โผล่ออกมายิงศัตรูและกลับเข้าหลบกระสุนและรีโหลดได้ด้วย และความแปลกใหม่นี้ทำให้มันได้รับความสนใจจากเหล่าผู้เล่นอย่างมาก
และที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างก็คือการแข่งกับเวลาสมกับชื่อของเกม ใน Time Crisis แต่ละแอเรียที่ผู้เล่นต้องฟันฝ่าไปนั้นจะมีเวลาจำกัด ถ้าไม่รีบเล่นมัวแต่หลบอยู่หลังที่กำบัง ต่อให้เลือดยังอยู่เต็มไม่โดนยิงก็สามารถ Game Over ได้เหมือนกัน ส่วนความยากของเกม หลายคนยกให้เป็นเกมยิงปืนที่ยากติดอันดับต้น ๆ ของยุคนั้นเลย เพราะศัตรูในเกมแม้จะโผล่ออกมาแบบเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ แต่ที่ทำให้เดาได้ยากมากคือรูปแบบการยิงของศัตรูที่สุ่มว่าจะโดนหรือไม่โดน และหลายครั้งเราก็จะโดนยิงแบบไม่มีการเตือน บางทีโผล่ออกไปโดนยิงเลยก็มีเหมือนกัน ทำให้ผู้เล่นต้องตื่นตัวตลอดเวลาและต้องจำรูปแบบการยิงของศัตรูในเกมด้วยว่าตัวสีนี้ยิงแม่นหรือไม่แม่น โดยเฉพาะเจ้าตัวสีแดงที่ยิงโดนตลอดก็ต้องรีบเก็บมันก่อนแบบนี้เป็นต้น และแถมด้วยการยิงเข้าไปที่จุดพิเศษของฉากเพื่อปราบศัตรูในคราวเดียวก็มี ถ้าใครช่างสังเกตุก็ประหยัดเวลาไปได้อีก
Time Crisis เรียกได้ว่าเป็นเกมยิงปืนที่ประสบความสำเร็จมากเกมหนึ่งในยุคนั้นพอ ๆ กับ Virtua Cop ของ Sega ด้วยความแหวกแนวในการเล่น ความสนุกลุ้นระทึกจากการเล่นให้จบแข่งกับเวลา ถ้าจะวัดว่าใครเก่งเกมนี้ก็ต้องดูว่าใครทำเวลาผ่านฉากได้เร็วกว่ากัน แน่นอนว่านอกจากเวอร์ชั่นอาร์เคดแล้ว ตัวเกมในภาคแรกยังลงให้กับเครื่อง Playstation ที่วางจำหน่ายพร้อมกับ Gun Con ที่ทาง Namco ผลิตขึ้นมาเอง แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นจอยปืนที่ค่อนข้างเรื่องมากตัวหนึ่ง เพราะนอกจากราคาจะแพงแล้วยังมีการเชื่อมต่อกับเครื่อง Playstation แบบแปลก ๆ โดนต้องเสียบ Jack ไปที่ด้านหลังเครื่องอีก และถ้าใช้จอยมือเล่น ก็ต้องวุ่นวายปรับปุ่มกันหลายตลบเพราะไอ้ระบบการหลบของมันนี่แหละ แต่โดยรวมเกม Time Crisis บนเครื่อง PS1 นั้นทำออกมาได้ดี แถมยังมี Special mode เพิ่มด่านใหม่มาให้เล่นพร้อมทางแยกมากมาย จัดเป็นเกมยิงปืนที่ใคร ๆ ก็มีติดบ้านในยุคนั้นจริง ๆ
Time Crisis II
ต่อมาในปี 1998 เกมภาคต่อของเวอร์ชั่นอาร์เคดก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการตามร้านเกม แม้ในบ้านเราจะหาเล่นได้ค่อนข้างยาก แต่ก็อยู่ในระดับที่พอหาเล่นได้ ห้างที่ผู้เขียนจำได้ว่ามีตู้เกมนี้ติดตั้งอยู่ก็มีเมเจอร์รัชโยธินกับกับห้าง World Trade Center หรือ Central World ในปัจจุบัน ซึ่งจะมาแบบสองตู้ติดกันเลย เพราะในภาคนี้เราสามารถเล่นกับเพื่อนอีกคนในอีกตู้หนึ่ง แยกจอกันเล่นกันยิง แถมเราจะยังเห็นตัวละครของเพื่อนในเกมออกมาช่วยเรายิงตามจริงอีกต่างหาก สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นอย่างมาก และด้วยความยากของเกมที่ยังความยากเหมือนเดิม แต่ในภาคนี้จะมีการเตือนแล้วว่ากระสุนเม็ดไหนที่เราโดนแล้วจะเสียพลัง ช่วยให้หลบได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่าพอเกมเพิ่มระบบใหม่เข้าไปให้เล่นได้ง่ายขึ้น ความจัดเต็มของศัตรูในภาคนี้ก็มากตามไปด้วย ศัตรูก็มีจำนวนในฉากมากขึ้นและยังยิงแม่นกว่าเก่า ถ้าหากภาคแรกยากตรงที่เราจะโดนยิงตอนไหนก็ไม่รู้ ภาคนี้จะยากตรงที่จำนวนของศัตรูที่ต้องยิงและกระสุนที่ต้องหลบ เรียกว่ามีความยากคนละแบบกับภาคที่แล้ว และผลักความสนุกขึ้นไปอีกระดับหนึ่งอย่างที่สุดเลยทีเดียว
ส่วนเกมเวอร์ชั่นคอนโซลนั้นก็ไปออกอีกทีในปี 2001 บนเครื่อง Playstation 2 และรองรับการใช้งานจอย Gun Con 2 แต่ในคราวนี้ไม่มีโหมดพิเศษเพื่มขึ้นมาจากเครื่องอาร์เคดให้เล่นกันนอกจากกราฟฟิกที่ดีขึ้น เหมือนกับลงไว้ให้เล่นแก้คิดถึงกันเสียมากกว่า แต่สำหรับใครที่เคยเล่นภาคนี้มาก็มักจะยกให้เป็นภาคที่ดีที่สุดของ Time Crisis เลยทีเดียว
Time Crisis 3
สำหรับภาคที่สามนี้คาดว่าน่าจะหาคนที่เคยเล่นเวอร์ชั่นเกมตู้ค่อนข้างยากเสียหน่อย เพราะในตอนที่ภาคนี้ออกมาก็เป็นช่วงที่เกมตู้ในบ้านเราซบเซาพอดี แต่ก็มีเวอร์ชั่นตู้ยัดที่ใช้เกมเวอร์ชั่น PS2 มาแปลงให้เล่นกันให้เห็นบ้าง ส่วนตู้ของแท้ก็มีหลุดมาอยู่ตู้นึงที่ผู้เขียนเคยเห็นที่ห้างเซ็นทรัลพระราม 3 แต่ก็เป็นช่วงหลังจากที่เกมออกมานานมากแล้ว
สำหรับภาคนี้จะค่อนข้างคล้ายกับเกมภาคสอง มีสองตู้เล่นพร้อมกับเพื่อนได้คนละตู้(สำหรับเกมตู้เวอร์ชั่นของแท้นะ) ช่วยกันยิงฝ่าด่านศัตรูไปเรื่อย ๆ แต่จะมีระบบการเลือกอาวุธเข้ามา โดยมีปืนทั้งหมดสี่แบบคือปืนพกที่เบาที่สุดแต่กระสุนไม่จำกัด ปืนกลมือที่ยิงได้รัว ปืนลูกซองที่มีรัศมีกว้างและแรงที่สุด และ Grenade launcher ปืนยิงลูกระเบิดที่เอาไว้ยิงบอสหรือศัตรูจำนวนมาก ๆ ในทีเดียวโดยเฉพาะ และผู้เล่นจะต้องเลือกใช้อาวุธให้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย โดยสามารถเก็บได้จากการยิงศัตรูตัวสีเหลืองที่โผล่มาเป็นระยะ ๆ
โดยรวมภาคนี้ก็ถือเป็นภาคที่เล่นได้เพลิน ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าหากเทียบกับความประทับใจจากภาคสองแล้วคนละเรื่องเลย(ภาคสองสนุกกว่าเยอะ) ซึ่งหลังจากภาคสามแล้วตัวผู้เขียนก็ไม่ค่อยให้ความสนใจกับเกมซีรีส์นี้เท่าไหร่ เพราะดูเหมือนเกมจะดูตัน ๆ กับไอเดียการนำเสนอไปพอสมควรแล้วแม้จะเล่นได้เพลิน ๆ อยู่ก็ตาม
Time Crisis 4
สำหรับภาคนี้ก็เรียกว่ามาตามยุคสมัยสำหรับ Time Crisis 4 ที่มาในยุคของเครื่อง PS3 แต่ก็มีเวอร์ชั่นอาร์เคดให้ได้เล่นกันในบ้านเราอยู่อย่างแพร่หลายพอสมควร ซึ่งรูปแบบการเล่นจะเหมือนกับภาคที่แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเพิ่มรูปแบบการเล่นแบบทำภารกิจย่อยเข้ามาด้วย อย่างเช่นยิงสกัดศัตรูให้ได้ในเวลาที่หมด เมื่อทำสำเร็จก็จะได้รับกระสุนหรือพลังชีวิตเพิ่ม นอกจากนั้นตัวเกมจะเพิ่มส่วนของการยิงบนยานพาหนะอย่างบนเฮลิคอปเตอร์และอื่น ๆ เข้ามาให้ตัวเกมดูระทึกมากขึ้น
แต่ที่น่าเสียดายคือเสน่ห์ของเกมในภาคหลังที่แทบไม่ใช่การเล่นแข่งกันว่าใครจะจบด่านได้เร็วที่สุดที่ต่อไปแล้ว จริงอยู่ที่ตั้งแต่ภาคสองมาตัวเกมจะมีระบบการนับคะแนนขึ้นมาแทน แต่เนื่องจากตัวเกมเน้นไปที่การรัวยิงในจุดที่กำหนดมากกว่าการกดดันให้ผู้เล่นทำภารกิจให้เร็วที่สุดก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน สำหรับภาคนี้หลายคนอาจจะชอบ แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกเฉย ๆ มากกว่า แต่ก็ต้องชมว่าเกมภาคนี้ภาพค่อนข้างจะสวยเอาเรื่องอยู่สำหรับเกมอาร์เคดที่ออกมาในปี 2006
Time Crisis 5
สำหรับภาคนี้ผู้เขียนยอมรับว่าไม่เคยเล่น(ฮา) แม้จะเคยเห็นตู้เวอร์ชั่นอาร์เคดในบ้านเราก็ตาม แต่ก็มีโอกาสได้ไปยืนดูคนเล่นบ้าง ที่น่าสนใจสำหรับภาคนี้คือแป้นเหยียบเพื่อหลบกระสุนในภาคนี้มีเพิ่มขึ้นมาเป็นสองชิ้นคือซ้ายกับขวา เพื่อเอาไว้เปลี่ยนจุดกำบังเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการยิง และเพื่อใช้ใน Quick Time Event หลบอันตรายที่เกิดขึ้นไม่ให้เสียพลัง ส่วนระบบอื่น ๆ ก็จัดเต็มมาเช่นเคย และแน่นอนว่าพวกศัตรูในเกมก็ดูจะเวอร์หลุดโลกมากกว่าเดิม ยอมรับว่าดูคนเล่นครั้งแรกแล้วก็ได้แต่คิดในใจว่าจะยิงยังไงให้ทันหว่า แต่ที่ต้องชมคือบอสของภาคนี้ที่ค่อนข้างมีรูปแบบการสู้ที่น่าสนใจกว่าของเดิมจากระบบการสลับที่กำบังนั้นเอง ส่วนเวอร์ชั่นตามบ้านนั้นตอนนี้ยังไม่มีลงแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้ก็คือ Time Crisis ภาคหลักที่ผู้เล่นเคยได้สัมผัส ทั้งจากการเล่นและการดู(ขออภัยกับภาคสุดท้าย ไม่เคยเล่นจริง ๆ ฮา) นอกจากนั้นซีรีส์ Time Crisis ยังมีภาคแยกย่อยอย่างเช่น Crisis Zone, Time Crisis: Project Titan และภาคอื่น ๆ อีกมากมายที่สร้างเฉพาะเครื่องคอนโซลหรือระบบมือถือเท่านั้นออกมาให้เล่นกัน(แต่กลัวว่าจะยาวเกินไปเลยขอไม่พูดถึงดีกว่า) ซึ่งในช่วงแรกนั้นถือว่าเป็นเกมยิงปืนที่เรียกว่าแหวกแนวและสนุกไม่เหมือนใครจริง ๆ แม้ในภาคหลังจากจืดชืดลงตามเวลาก็ตาม แต่อย่างน้อยเราก็จำได้ว่าเกมซีรีส์นี้เคยมอบความสนุกขนาดไหนให้กับเหล่าเซียนเกมตู้ในสมัยนั้นรวมไปถึงตัวผู้เขียนด้วยครับ