ในช่วงปี 2017-2018 ถือว่าเป็นปีที่ไม่ค่อยดีเสียเท่าไหร่นักกับวงการเกมหากเทียบกับปีก่อน ๆ เพราะเหล่าค่ายเกมใหญ่ ๆ ต่างพากันลงในจุดต่ำเป็นอย่างมากในปีนี้ ซึ่งถึงแม้หลาย ๆ ค่ายเกมจะทำมาดีตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ดันมาเสียท่าอย่างรุนแรงในปี 2018 แต่โชคดียังดีหน่อยที่ไม่ใช่กับทุกค่ายที่จะตกต่ำ เพราะหลาย ๆ ค่ายเกมก็ยังคงรักษาฟอร์มอันยอดเยี่ยมที่เคยทำไว้ก่อนหน้าช่วงปีนี้เอาไว้ได้อยู่ (อย่างเช่น Sony, Rockstar และ CDProjektRED)
อย่างไรก็ตามถึงแม้ปีนี้จะเป็นปีชงของหลาย ๆ ค่ายเกม แต่ก็ได้มีหลายค่ายเกมที่สามารถคืนฟอร์มกลับมาได้อย่างโดดเด่นในช่วงปี 2017-2018 นี้ โดยก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะยังร่อแร่อยู่และไม่อยู่ในพื้นที่สื่อที่ดี เนื่องจากความแป๊กและความล่มเหลวในงานของพวกเขา และผลงานเกมที่อาจจะไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่กลับกันในช่วงปีนี้ที่พวกเขาเรียกได้ว่า “กลับมาแล้ว” และก็ยากที่พวกเขาจะกลับไปตกต่ำอีกครั้ง นอกจากว่าพวกเขายังจะบ้าจี้ที่จะกลับไปที่จุดตกต่ำเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นทาง GamingDose จึงขอนำเสนอ “5 ค่ายเกมที่สามารถคืนฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงปี 2017-2018” ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาจัดว่าเงียบสงบและไม่มีผลงานที๋โดดเด่น แต่ในช่วงปีนี้พวกเขาได้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่ มาดูกันเลยดีกว่าว่าจะมีค่ายเกมไหนกันบ้าง
Capcom : ยกทัพเกมภาคต่อซีรี่ส์ดังเสิร์ฟถึงมือแฟน ๆ
คลื่นระทมก่อนหน้านี้ : คุณภาพเกมส่วนใหญ่ดรอปลงจากที่เคยเป็น และเน้นนำของเก่า ๆ มารีมาสเตอร์ขายใหม่ แถมตัวเกมภาคใหม่ ๆ ในแง่ของการนำเสนอและคุณภาพก็ทำออกมาได้ไม่ถูกใจเหล่าแฟนเกมมากนัก ถึงแม้จะทำยอดขายได้ดีก็ตาม นอกจากนี้ยังเน้นขาย DLC จนมากเกินไป และขายยันแม้กระทั่งฉากจบ ใช่แล้ว คุณต้องซื้อ DLC เพื่อปลดล็อคฉากจบ !!
คลื่นแห่งการคืนฟอร์ม : การกลับมาของซีรี่ส์เกมที่แฟน ๆ รัก และการพัฒนาเกมเฟรนไชส์เดิมให้มีความยิ่งใหญ่และมีคุณภาพที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Rockman 11, Resident Evil 7, Resident Evil 2 Remake, Monster Hunter : World และ Devil May Cry 5 ถึงอาจจะมีการขายของเก่ากันอยู่บ้าง แต่เหล่าแฟน ๆ ก็ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าพวกเขานำงบจากการขายไปทำตัวเกมภาคใหม่นั้นเอง
ในช่วงปี 2017-2018 Capcom กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ด้วยเหล่ากองทัพเกมคุณภาพจากซีรี่ส์เกมที่แฟน ๆ เรียกร้องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น Rockman 11, Resident Evil 7, Resident Evil 2 Remake, Monster Hunter : World และ Devil May Cry 5 แต่กว่าที่เกมเมอร์อย่างเราจะได้เล่นเกมคุณภาพแบบนี้กันนั้น เราก็ต้องรอคอยด้วยเวลาค่อนข้างจะหลายปีเลยทีเดียว เพราะช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงที่เหล่าเกมเมอร์ไม่ค่อยปลิ้มในวีดีโอเกมจากทาง Capcom เสียเท่าไหร่ด้วย เนื่องจากการตลาดที่ดูแย่จนเกินไป ตลอดจนคุณภาพของตัวเกมในช่วงนั้นที่ทำได้ไม่ได้มาตรฐาน บางเกมก็ทำดี บางเกมก็ทำไม่ดี และบางเกมทำดีแล้วแต่กลับไม่ถูกจริตแฟน ๆ (อ้าว)
โดยในยุคนั้น Capcom ถือว่าเป็นค่ายเกมที่มีการตลาดที่ไม่เป็นที่น่าพอใจของเหล่าเกมเมอร์เสียเท่าไหร่นัก เพราะทางค่ายเกมมักจะเน้นนำเอาเกมเก่า ๆ ที่ประสบความสำเร็จมาวนขายซ้ำหลายครั้ง แถมยังเน้นขาย DLC ที่มีความจุกจิกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสีชุดตัวละคร ของจุกจิกหลาย ๆ อย่างภายในเกมที่ควรมีในตัวเกมเต็มอยู่แล้วหรือแม้กระทั่ง “ฉากจบของเกม Asura’s Wrath” ที่ควรมีให้เล่นในเกมอยู่แล้วก็ยังขายเป็น DLC เรียกได้ว่ายุคนั้นพี่ Capcom กะจะเอาเงินทุกทางแบบไม่แคร์อะไรกันเลยทีเดียว
นอกจากนี้แล้วผลงานก่อนหน้านี้ของพวกเขาก็ไม่เป็นที่น่าประทับใจของเหล่าแฟนเกมเสียเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็น Resident Evil 6, Street Fighter V, Marvel vs. Capcom : Infinite, DMC : Devil May Cry และเกมอื่น ๆ ที่ถึงแม้บางเกมในลิสต์นี้อาจจะไม่ใช่เกมที่แย่ แต่ด้วยสิ่งที่ตัวเกมได้นำเสนอบางอย่างที่ดูไม่เข้าท่าและทำให้ชื่อของซีรี่ส์เกมนั้นหมดคุณค่าไป ทำให้เหล่าเกมเมอร์ไม่ปลื้มกับหลาย ๆ เกมของ Capcom ในช่วงนั้นเป็นอย่างมาก
เรียกได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคที่แฟนเกม Capcom ต้องทำใจลำบากกันระดับนึงเลยทีเดียว และคาดหวังกันว่าจะให้ Capcom กลับมายิ่งใหญ่แบบเมื่อก่อนอีกครั้ง ซึ่งเราก็ขอแสดงความยินดีกับเหล่าแฟนเกม Capcom ทุกท่าน ที่ในที่สุดแล้วความคาดหวังของพวกเขาก็สมคำปรารถนาและไม่สุญเปล่าอีกต่อไปแล้วแล้วครับ เพราะ Capcom ที่คุณเคยรู้จักได้กลับมาหาคุณอีกครั้งแล้ว
Ubisoft : ยุคสมัยแห่งการดาวน์เกรดได้จบลงแล้ว
คลื่นระทมก่อนหน้านี้ : “Ubisoft Downgrade” วีดีโอเกมแทบจะทุกเกมของพวกเขาจะมีรายละเอียดที่สวยงามในตัวอย่างแต่เกมจริงกลับทำออกมาได้ไม่เท่า แถมมักจะให้คำสัมภาษณ์ที่ให้ความหวังคนเล่นจนเกินไปแต่พอออกมาจริงก็รถไฟตกตามระเบียบ นอกจากนี้ยังรวมถึงการเล่นมุกเดิม ๆ กับเกมของพวกเขาอีกด้วย
คลื่นแห่งการคืนฟอร์ม : เกมของพวกเขาไม่มีการดาวน์เกรดอีกต่อไป ตัวอย่างเกมเป็นอย่างไร เกมที่คุณจะได้เล่นก็จะเป็นตามตัวอย่างเลย แถมเกมที่เละเทะไปตอนเปิดตัวก็ไม่ทิ้งหายไปไหนและนำมาปรับปรุงจนกลายเป็นเกมคุณภาพ และมีการฟังเสียงของแฟน ๆ นอกจากนี้แล้วทาง Ubisoft ยังเรื่มหาแนวทางใหม่ให้กับซีรี่ส์เกมของตนเอง และเรื่มทำลงทุนเรื่องของเซิร์ฟเวอร์เพื่อลบล้างข้อเสียที่มีมาโดยตลอด
ย้อนไปช่วงปี 2014-2016 Ubisoft ถือว่าเป็นค่ายเกมที่ไม่ค่อยจะทำผลงานออกมาได้ประทับใจเสียเท่าไหร่ ทั้งการโฆษณาที่อลังการ ทั้งการสัมภาษณ์ที่พูดเอาไว้เกินจริง แต่พอตัวผลงานออกมาจริงกลับทำไม่ได้ตามตัวอย่างเกมที่ได้โฆษณาเอาไว้ เรียกได้ว่าของจริงกับโฆษณาแตกต่างกันแทบจะคนละเรื่อง จนกลายเป็น Meme ตลอดกาลล้อเลียนที่ถูกขนานนามว่า “Ubisoft Downgrade” (แม้ตอนนี้พี่แกจะเลิกดาวน์เกรดแล้วก็ยังมีคนล้อ..) นอกจากนี้ทาง Ubisoft ยังชอบเล่นมุกเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ในแง่ของเกมเพลย์และการนำเสนอในวีดีโอเกมของพวกเขาจนทำให้เกมเมอร์เรื่มรู้สึกเอียนกับแนวทางการนำเสนอที่เดิม ๆ ตลอดแม้จะขึ้นภาคใหม่แล้วก็ตาม
แต่พอมาในปี 2016 Ubisoft ก็เรื่มส่งสัญญาณที่ดีและทำให้เกมเมอร์กลับมาศรัทธา Ubisoft อีกครั้ง โดยการเปิดตัว Watch Dogs 2 ที่ถึงแม้จะมีการดาวน์การ์ดแต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แถมตัวเกมยังมีคุณภาพที่ดีและสร้างความประทับใจให้กับคนเล่นมากขึ้น นอกจากนี้แล้วในช่วงปี 2017-2018 ในฝั่งของ Rainbow Six’s Siege, For Honor ก็ยังไม่มีการทิ้งเกมไปไหนและยังคงปรับปรุงแก้ไขเรื่อย ๆ จากเดิมที่ตัวเกมเปิดตัวได้อย่างน่าผิดหวังและทำให้แฟน ๆ รู้สึกไม่ค่อยประทับใจ
ส่วนในทางฝั่งเกมซีรี่ส์หลักของทาง Ubisoft อย่าง Assasin’s Creed และ Far Cry ในปี 2017-2018 ก็ถูกนำเสนอด้วยแนวทางใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนของซีรี่ส์ ไม่ว่าจะเป็น Assasin’s Creed : Origins ที่ตัวเกมถูกปรับระบบ Combat และ RPG แบบยกเครื่องใหม่แทบจะทั้งหมดจนแทบจะกลายเป็นเกมซีรี่ส์ใหม่เอี่ยมกันเลย หรือจะเป็น Far Cry 5 ที่ตัวเกมพยายามจะเอาใจทั้งฝั่ง Casual และ Hardcore พร้อมนำระบบที่เป็นของเก่าแต่สามารถพัฒนาต่อได้มาปรับปรุงใหม่และมีการนำระบบหลาย ๆ อย่างที่เป็นของใหม่มาแทนที่ระบบเดิม ๆ ที่เหล่าแฟนเกมเอียนเป็นเวลาอย่างยาวนาน และมาถึงล่าสุดอย่าง Assasin’s Creed : Odyssey ที่นำข้อดีทุกอย่างของภาค Origins มาปรับปรุงและพัฒนาให้ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญก็คือเกมใหม่ ๆ เหล่านี้ไม่มีการดาวน์เกรดใด ๆ ทั้งสิ้น ตัวอย่างเป็นยังไง เกมจริงคุณได้เล่นอย่างนั้นเลย เรียกได้ว่าหมดยุคสมัยแห่งการดาวน์เกรดอย่างแท้จริง
ซึ่งถึงแม้ตัวเกมเหล่านี้อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของแฟน ๆ บางกลุ่มเสียเท่าไหร่ เพราะเนื่องจากว่านี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดูฉีกธรรมเนียมเก่า ๆ เกินไปสำหรับพวกเขา แต่ด้วยทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้แย่แถมยังถูกนำเสนออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้เหล่าแฟนเกมเรื่มหันมาศรัทธาวีดีโอเกมของ Ubisoft กันมากขึ้น และสามารถสร้างยอดขายอันมหาศาลให้กับทาง Ubisoft ได้อีกด้วยครับ เรียกได้ว่าช่วงปี 2017-2018 นี้เป็นการกลับมาคืนฟอร์มอีกครั้งของ Ubisoft หลังจากที่พวกเขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับเกมเมอร์เป็นเวลาอย่างยาวนานครับ
Nintendo : การกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของคุณปู่ทวดแห่งวงการเกม
คลื่นระทมก่อนหน้านี้ : ล้มไม่เป็นท่าในตลาดคอนโซลอย่างหนักกับ Nintendo Wii U จนขาดทุนย่อยยับ รวมถึงนโยบายที่ชวนให้เกมเมอร์หงุดหงิดจนมักจะโดนรุมด่าและประชาทัณฑ์จากเกมเมอร์ทั่วไปบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับ Nintendo Creator Program
คลื่นแห่งการคืนฟอร์ม : การมาของ Nintendo Switch กับนวัตกรรมและปรากฏการณ์ครั้งใหม่ที่ยังคงสร้างความตื่นตาตื่นใจออกมาเรื่อย ๆ แถมยังทำยอดขายได้อย่างถล่มทลายและกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งจากเดิมที่ขาดทุน และขอต้อนรับสู่ Nintendo ยุคใหม่ที่ปู่นินได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดกว้างและรับฟังเสียงแฟน ๆ ไม่มีอีกแล้วกับนโยบายอันแสนตกยุคที่ทำให้เหล่าเกมเมอร์หงุดหงิดหัวร้อน เรียกได้ว่าปู่นินได้สานต่อประโยค “เครื่องเกมเพื่อคนทุกเพศทุกวัย” อย่างแท้จริง
ย้อนกลับไปในปี 2012 ทาง Nintendo ได้ชิงเปิดตัวคอนโซลแห่งยุคใหม่ก่อนใครเพื่อนอย่าง Nintendo Wii U ที่มาพร้อมกับคอนโทรลเลอร์ทรงแท็บแล็ตอย่าง Wii U GamePad โดยตัวของมันจะเป็นอีกหน้าจอทำให้คุณสามารถเล่นเกมได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความเจ๋งที่เข้าใจยากจนเกินไปและทาง Nintendo เน้นชูเรื่องคอนโทรลเลอร์จนเกินไป ซึ่งกลับทำให้เกมเมอร์เกมเมอร์สับสนว่า “ตกลงนี่คืออุปกรณ์เสริมของ Wii หรือคอนโซลใหม่กันแน่ฟะ ??” ด้วยเหตุนี้ทำให้ Nintendo ประสบปัญหาอย่างหนักในแง่ของยอดขายของ Nintendo Wii U เนื่องจากเกมเมอร์เกิดอาการสับสนและมองว่าเป็นเพียงแค่อุปกรณ์เสริมของ Wii เท่านั้น ไม่ใช่เครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ตามที่ Nintendo คาดหวังที่จะให้เป็น จนทำให้ทาง Nintendo เข้าสู่สถานะขาดทุนและหุ้นตกร่วงระแนระนาดในที่สุด
แต่แล้วสถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 2017 เมื่อ Nintendo Switch เครื่องเกมรุ่นใหม่ล่าสุดจากทาง Nintendo ที่ชูเรื่องการสลับโหมดเกมพกพาและโหมดคอนโซลได้อย่างแทบจะไร้รอยต่อ ได้ออกวันวางจำหน่ายและสร้างกระแสบวกกับยอดขายได้อย่างถล่มทลายทั่วโลก แถมยังมีเกม Exclusive ที่สำหรับสาวกของ Nintendo แล้วถือว่าพลาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Legend of Zelda : Breath of the Wild, Super Mario Odyssey, Splatoon 2, Arms, Mario Kart 8 : Deluxe, Xenoblade Chronicles 2 ที่เข็นทั้งหมดออกมาขายภายในปีเดียวกับปีที่วางขายเครื่องกันเลยทีเดียว และสามารถทำยอดขายได้หลักล้านแตกทุกเกมอีกด้วย
นอกจากนี้แล้วทาง Nintendo ก็ได้ทำการลองตลาดใหม่อย่าง “เกมมือถือ” ซึ่งเป็นตลาดที่ปู่นินไม่เคยทำมาก่อน โดยปู่นินได้ร่วมมือกับทาง DeNA และ Cygames สองยักษ์ใหญ่แห่งวงการเกมมือถือของประเทศญีปุ่่น ในการเข็นขบวนทัพเกมมือถือถึงจำนวนถึง 6 เกม ไม่ว่าจะเป็น Miitomo, Super Mario Run, Fire Emblem : Heroes, Animal Crossing : Pocket Camp, Mario Kart Tour และ Dragalia Lost ที่สามารถสร้างกระแสและได้รับความนิยมไปไม่น้อยและโดยเฉพาะกับ Fire Emblem : Heroes กับ Dragalia Lost ที่สามารถทำเงินให้กับทาง Nintendo ได้อย่างมหาศาลโดยที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวประโยคว่า “Do you guys not have a phones” และยังคงมุ่งเน้นที่จะเข็นตัวเกมภาคหลักของซี่รี่ส์เกมต่าง ๆ ลงเครื่องเกม Nintendo Switch ตามปกติ เรียกได้ว่าไม่ต้องกลัวว่าปู่นินจะหักหลังคนเล่นแบบเดียวกับที่บางค่ายทำในปี 2018 นี้
ส่วนในฝั่งของนโยบายจุกจิกที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเกมเมอร์ไม่ว่าจะเป็นการล็อคโซนที่จำกัดความอิสระในการเล่นอย่าง Region Lock หรือนโยบายที่เหล่าเกมเมอร์และสตรีมเมอร์ไม่ปลื้มเป็นอย่างมากอย่าง Nintendo Creator Program ซึ่งทั้งหมดก็ถูกยกเลิกไปในช่วงปี 2017-2018 นอกเหนือจากนี้ทาง Nintendo ยังสนับสนุนและผลักดันเหล่าค่ายเกม Third-Party มากกว่าที่เคย โดยเฉพาะกับเกมอินดี้ที่ Nintendo Eshop กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่ค่ายเกมอินดี้ไว้วางใจที่จะวางขายเกมของพวกเขา
และทั้งหมดนี้ทำให้ในช่วงปี 2017-2018 Nintendo สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลจนพ้นสถาวะขาดทุนไปในที่สุด รวมถึงฝั่งของของตลาดหุ้นที่ยังคงขยับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ แถมเกม Exclusive ของฝั่ง Nintendo Switch ในปี 2018 ก็สามารถทำยอดขายได้ไม่เลวเลย ไม่ว่าจะเป็น Octopath Traveler ที่สามารถทำยอดขายได้ 1 ล้านชุด หรือจะเป็น Pokemon : Let’s Go Pikachu & Eevee ที่สามารถทำยอดขายได้มากถึง 3 ล้านชุดในสัปดาห์แรก และไม้เด็ดประจำปีอย่าง Super Smash Bros. Ultimate ที่สามารถทำยอดขายได้เกือบ 5 ล้านชุดในเวลาไม่ถึงเดือน เรียกได้ว่าในช่วงปี 2017-2018 ถือว่าเป็นการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของทาง Nintendo อย่างแท้จริงครับ
Epic Games : จากเกมที่แทบจะถูกทิ้งร้าง กลายเป็นเกมที่คุณต้องเคยได้ยิน
คลื่นระทมก่อนหน้านี้ : ความนิยมและกระแสเกมก่อนหน้าของพวกเขาอย่าง Paragon ที่ถึงแม้จะได้รับความนิยมแต่กลับทำรายได้ไม่ดีจนต้องปิดตัวลงไป บวกกับ Fortnite: Save the World ที่ก็ไม่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน แถมยังมีแววที่จะดับสูงมาก เรียกได้ว่าอาจจะได้ตามรอย Paragon ไป
คลื่นแห่งการคืนฟอร์ม : การมาของ Fortnite: Battle Royale ที่ได้เขย่าวงการเกมและสร้างปรากฏการณ์ครัังยิ่งใหญ่ จนถึงระดับที่เรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของวีดีโอเกมที่สร้างกระแสให้โลกทั้งใบ ตลอดจนการมาถึงของ Epic Games Store ที่ได้เขย่าวงการเกมอีกครั้ง
เอาจริง ๆ เดิมทีแล้วทาง Epic Games ก็ไม่ได้ตกต่ำอะไรหากเทียบค่ายเกมอื่น ๆ ในลิสต์นี้ เพราะทางพี่แกก็มีอุปกรณ์พัฒนาเกมอย่าง Unreal Engine ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่กลับในฝั่งของวีดีโอเกมนั้นเหมือนทาง Epic Games จะมีมีปัญหาพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นโปรเจคเกม “Paragon” เกมแนว Hero Shooter ที่ทาง Epic Games ไม่ได้สานต่อและทำการปิดตัวไปเนื่องจากปัญหาเรื่องของยอดขายที่อาจจะไม่ได้มากเท่าที่ควร หรือจะเป็นอีกโปรเจคนึงอย่าง “Fortnite” ที่เดิมทีนัันเป็นเกมแนว Tower Defense ปกป้องฐานจากซอมบี้ โดยตัวเกมนั้นไม่ได้รับความนิยมจนระดับที่เรียกว่าได้ร้างและมีสภาพที่ไม่น่าไปรอดได้เลย
จนมาในช่วงปี 2017 ก็ได้มีเกมที่มาเขย่าวงการเกมให้คึกคักและมีสีสันที่มากขึ้น และถือว่าเป็นจุดระเบิดที่ทำให้เกมแนว “Battle Royale” เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง โดยเกม ๆ นั้นมีชื่อว่า “Playerunknown’s Battlegrounds” หรือที่เรามักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า “PUBG” ที่สามารถทำยอดขายและสร้างกระแสได้อย่างถล่มทลายเป็นอย่างมาก
ซึ่งทาง Epic Games ก็ได้เล็งเห็นโอกาสที่จะกอบโกยกระแสจากเกมแนวนี้ ทำให้พวกเขาได้ทำการเพื่มโหมดเกมใหม่ให้กับเกม Fortnite อย่าง“Battle Royale” ซึ่งในตอนแรก ๆ กระแสก็ไม่ได้แรงอะไรมาก แถมเหล่าเกมเมอร์ก็ยังมองว่ามันคือ “PUBG Clone” ดี ๆ นี่เอง เลยไม่ได้รับความสนใจมากนัก
แต่พอมาถึงในปี 2018 แล้วนััน Fortnite : Battle Royale กลับเดินทางมาจนถึงขีดสุดจนเรียกได้ว่าเป็นหนังคนละม้วนกันกับปีที่แล้วเลยทีเดียว เพราะตัวเกมประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งกระแสคนเล่นที่ถล่มทลายหลักสิบล้าน และยังสร้างปรากฏการณ์ให้คนทั่วไปที่ไม่เคยเล่นเกมสามารถเข้าถึงสื่อวีดีโอเกมได้ แถมตัวเกมยังเข้าถึงง่ายเพราะงานอาร์ตสไตล์ที่เข้ากันได้กับเกมเมอร์ทุกเพศทุกวัย บวกกับได้มีการนำตัวเกมไปลงคอนโซล, มือถือ, คอมพิวเตอร์ เรียกได้ว่าต่อให้คุณมีอุปกรณ์เป็นอะไรคุณก็สามารถเข้าถึงเกมนี้ได้อย่างแน่นอน และนั้นนำมาซึ่งรายได้และเงินมหาศาลที่ทาง Epic Games ทำได้จากเจ้า Fortnite : Battle Royale นี้
เท่านั้นยังไม่พอ Fortnite : Battle Royale ยังมาพร้อมกับการอัพเดทที่ถี่และบ่อยครั้งมาก และมีระบบตรวจสอบโปรแกรมการโกงที่ดีเยี่ยม สวนทางกับคู่แข่งอย่าง Playerunknown’s Battlegrounds ที่แทบไม่มีอัพเดทอะไรเลยนอกจากกล่องสุ่มและยังคงมีพวกโกงเกลื่อนเต็มไปหมด ถึงแม้จะมีการประกาศแก้ไขตัวเกมอย่าง FIXPUBG แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการขายฝันมอบความหวังให้กับผู้เล่นเสียมากกว่า ทำให้เกมเมอร์หลาย ๆ คนเรื่มหมดความสนใจในตัวของ PUBG และหันไปเล่นเกม Battle Royale ตัวอื่น ๆ แทน ซึ่ง Fortnite : Battle Royale ก็คือหนึ่งในตัวเลือกนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสตรีมเมอร์หลาย ๆ คนก็ได้ย้ายจาก PUBG ไปเล่นเจ้า Fortnite กันแล้ว
เรียกได้ว่า Fortnite : Battle Royale ได้สร้างปรากฏการณ์ครัังใหญ่ให้กับวงการเกมเป็นอย่างมาก เพราะแม้กระทั่งคนทั่ว ๆ ไปหรือเกมเมอร์ก็ต้องได้ยินเจ้าชื่อ Fortnite มาบ้าง จากเดิมที่เป็นเกมตีซอมบี้กันฐานและมีสภาพที่ไม่น่าไปรอด แต่ตอนนี้น้อยคนนักที่จะพูดถึง Fortnite แล้วจะไม่นึกถึงเกมแนว Battle Royale ซึ่ง ณ ตอนนี้ Fortnite ได้กลายเป็นเกม Mainstream และ Pop Culture ที่อย่างน้อยตัวของคุณก็ต้องเคยได้ยินผ่านหูมาบ้างครับ โดยเฉพาะกับตอนที่ Golden Joystick Award 2018 ได้ประกาศรางวัลออกมา (ฮ่า ๆ)
นอกจากนี้แล้ว ในช่วงปลายปีทาง Epic Games ยังได้เปิดตัว Epic Games Store ที่ได้ขนเกมอินดี้น้ำดีจำนวนมากมาลงในแพลตฟอร์มนี้ พร้อมมอบข้อเสนอสุดโหดที่ยากเกินจะห้ามใจโดยที่ทาง Epic Games จะขอส่วนแบ่งแค่ 12 เปอร์เซนต์เท่านั้นจากรายได้ที่ได้รับทั้งหมด แถมยังขนเกมจำนวนมากมาลงสโตร์ของตัวเองและกลายเป็น Exclusive ที่หาซื้อไม่ได้ในร้านค้าอื่น ๆ เป็นระยะเวลาถึง 1 ปีเต็ม เรียกได้ว่าการกลับมาของ Epic Games ในครั้งนี้ อาจจะทำให้ยักษ์ใหญ่แห่งวงการด้านนี้อย่าง Valve ต้องเดินเกมโต้กลับเสียแล้วล่ะครับ
เป็นยังไงกันบ้างสำหรับ 4 บริษัทเกมที่กลับมาคืนฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงปี 2017-2018 ซึ่งถ้าว่าและมาดูกันจริง ๆ แล้ว เส้นทางในการคืนฟอร์มของพวกเขาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียทีเดียว เพราะพวกเขาก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะเพอร์เฟคได้ตลอดเวลา อย่างทาง Nintendo ก็ต้องประสบปัญหาเรื่องมรสุมความไม่พอใจหลังจากที่บริการ Nintendo Switch Online ได้ถูกเปิดตัว , Capcom ที่ยังคงขายของเก่าอยู่ แต่แฟน ๆ ก็ให้อภัยได้จากเหล่าเกมใหม่ที่พวกเขาได้ทำการเปิดตัว , Epic Games ที่เจอพิษจากช่วง Paragon / Fortnite : Save The World และ Ubisoft ที่มาสะดุดเล็กน้อยตรงคำให้สัมภาษณ์เรื่อง Microtransaction บวกกับเกม The Crew 2
ซึ่งถึงแม้เหตุการณ์อันสะดุดนี้จะเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางและการคืนฟอร์ม แต่หากมาเทียบกับช่วงก่อนหน้าปี 2017-2018 แล้ว นี่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีของพวกเขาที่ได้กลับมาโลดแล่นและสร้างสีสันให้กับวงการเกม (และวงการไอที) ให้สนุกสนานและน่าสนใจมากกว่าเดิมครับ