ไม่ต้องพูดให้มากความว่า ซีรีส์ Persona โดย ATLUS สตูดิโอญี่ปุ่น ติดอันดับเกมสวมบทบาทหรือ RPG ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์เกม (ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเขียนถึง Persona 5 Strikers และ Persona 4 Golden ไปแล้ว)
จะเจ๋งขนาดไหนถ้ามีใครเอาเนื้อเรื่องมันส์ๆ กราฟิกอนิเมะญี่ปุ่นสวยๆ และบรรยากาศอบอวลด้วยมิตรภาพระหว่างเพื่อนวัยรุ่นของซีรีส์ Persona มาผนวกกับเกมวางแผนระดับแทคติค แนว X-COM หรือ Final Fantasy Tactics ?
เราได้คำตอบนั้นแล้วใน Troubleshooter เกมสนุกติดหนึบแต่ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างจาก Dandylion สตูดิโออินดี้จากเกาหลีใต้ เกมนี้เป็นเกมเปิดสตูดิโอของพวกเขาหลังจากที่เปิดเป็น Early Access กว่าสองปี และฉบับวางขายก็คุ้มค่าแก่การรอคอย
แต่เกมเมอร์ก็ต้องเปิดใจกับเกมพอสมควร เพราะความเจ๋งของเกมไม่ได้เผยให้เราเห็นแบบว้าวทันทีในฉากแรก แต่จะค่อยๆ เผยโฉมออกมาเมื่อทำพันธกิจไปสักพัก เมื่อเราเริ่มมีสมาชิกในทีมมากขึ้น เริ่มเข้าใจความซับซ้อนของระบบการต่อสู้และพัฒนาทักษะตัวละครที่สนุกสนานและ “ลึก” กว่าเกมแนวเดียวกันพอสมควร
เนื้อเรื่องในเกมไม่มีอะไรใหม่ แต่ก็น่าติดตามด้วยความที่ใส่รายละเอียดสนุกๆ มากมาย อีกทั้งยังหลากหลายมากทั้งตัวละครที่มาร่วมทีม และพันธกิจที่เราได้ทำ เส้นเรื่องในเกมติดตามชีวิตของ อัลบัส มือปืนรับจ้างที่มีพลังเหนือมนุษย์ ในเมืองแฟนตาซีชื่อ วัลฮาลลา (Valhalla) อัลบัสเป็นมือใหม่ในทีมซุปเปอร์ฮีโร่ชื่อ “Troubleshooters” (นักแก้ปัญหา) ที่จดทะเบียนเป็นบริษัท รับจ้างช่วยตำรวจจับโจรเพราะเมืองนี้มีอาชญากรรมเยอะจนตำรวจงานล้นมือ ระหว่างทางเราในฐานะอัลบัสจะได้พบกับคนอื่นอีกมากมายที่มีพลังพิเศษ ชักชวนมาร่วมทีมนักแก้ปัญหากับเขา ระหว่างทางความสัมพันธ์ของบรรดาสมาชิกทีมก็จะเบ่งบานขึ้นเรื่อยๆ
ความสนุกแรกเริ่มของ Troubleshooters อยู่ในพลังพิเศษของฮีโร่แต่ละคนที่มีไม่เหมือนใคร บางคนสามารถขว้างไฟใส่คนอื่น บางคนสั่งให้สายฟ้าฟาดศัตรูได้ทั้งฝูง สาดแสงให้ศัตรูตาบอด (ยกเว้นว่าจะสวมแว่นกันแดดป้องกัน) รวมถึงพลังพิเศษตลกๆ อย่างเช่นท่าโจมตีด้วยการปาขวดสีสเปรย์ ฮีโร่แต่ละคนมี “ท่าไม้ตาย” พลังทำลายล้างสูง แต่ตอนเริ่มเกมเราจะควบคุมตัวละครได้เพียงสองคน ทำให้พันธกิจแรกๆ จะมีตำรวจมาเติมทีมให้เต็ม
ระบบการต่อสู้ในเกมไม่มีอะไรที่ทำให้ผู้คร่ำหวอดกับ X-COM หรือ Fire Emblem แปลกใจ แต่ Troubleshooters ก็พลิกแพลงสูตรสำเร็จได้ดีจนไม่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นเพียงเกมเลียนแบบ X-COM นอกเหนือจากการใช้พลังพิเศษเป็นท่าโจมตีแล้ว ดินฟ้าอากาศและอุณหภูมิในฉากต่างๆ ก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพของท่าโจมตีด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในฉากที่ฝนตก ท่าโจมตีที่ใช้สายฟ้าก็จะแรงกว่าปกติ ขณะที่เปลวไฟจะด้อยประสิทธิภาพกว่าปกติ และในยามฝนตกเราก็จะมองเห็นศัตรูยากกว่าเวลาฟ้าโปร่ง พันธกิจยามกลางคืนก็ทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นเช่นกัน แต่เราสามารถเพิ่มความสามารถสมาชิกทีมให้บรรเทาปัญหานี้ได้
จุดที่ทำให้ Troubleshooter แตกต่างอย่างโดดเด่นจากเกมอย่าง X-COM หรือ Final Fantasy Tactics คือการเน้น “เนื้อเรื่อง” ในเกม และระบบการพัฒนาทักษะของตัวละคร เนื้อเรื่องในเกมนี้ถูกออกแบบมาแบบ “จัดเต็ม” ทั้งเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัว และเรื่องราวในโลก ซึ่งถึงแม้ทั้งหมดนั้นจะเป็นขนบแฟนตาซีพื้นๆ ก็น่าติดตามอยู่ดีเพราะทุกมิติถูกให้รายละเอียดมาอย่างประณีต ตั้งแต่ปูมหลังของตัวละครแต่ละตัวและความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร ซึ่งถ่ายทอดผ่านบทสนทนาระหว่างการต่อสู้ (แปลเป็นภาษาอังกฤษจากเกาหลีใต้ ฉะนั้นบางบทตอนจะออกมาเก้ๆ กังๆ นิดหน่อย) และการเล่าเรื่องระหว่างฉาก คล้ายกับในเกมอย่าง Valkyria Chronicles แต่ยาวเหยียดละเอียดกว่ากันมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นเกมแนว “นิยายภาพ” (visual novel) ผสมกับเกม tactical RPG ได้เลยทีเดียว แม้แต่พันธกิจง่ายๆ อย่างเช่นไปหากล่อง X ก็มีคำบรรยายอย่างละเอียดลออว่าทำไมเราถึงต้องไปเปิดกล่องปริศนากลางสนามรบ
ระบบการพัฒนาทักษะของเหล่า “นักแก้ปัญหา” ในทีมเราค่อนข้างสนุกเลยทีเดียว แต่ต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะเข้าใจ ลูกทีมของเราได้ทักษะเพิ่มเติมจากการอัพเลเวล ไม่ต่างจาก RPG ทั่วไป ส่วน Troubleshooters ในฐานะบริษัทก็มี “เลเวล” ของบริษัทเช่นกัน การออกไปทำภารกิจเสริม (side quests) จะช่วยอัพเลเวลบริษัทได้ นอกจากนี้ในเกมยังมีอุปกรณ์มากมายที่ช่วยเพิ่มค่าสถิติในมิติต่างๆ รวมถึง “ความชำนาญ” (masteries) ซึ่งเราได้จากศัตรูที่พิชิตในแต่ละฉาก เอาความช่ำชองที่ “หล่น” มาจากศัตรูนี้ไปติดให้กับตัวละครได้ เพื่อพัฒนาไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่ตัวละครมีจำนวน “ช่อง” ที่ติดความช่ำชองเหล่านี้จำกัด เราจะได้จำนวนช่องมากขึ้นเมื่ออัพเลเวลตัวละคร ถ้าหากว่าเราเจอความช่ำชองเป็น “เซ็ต” ที่เข้าชุดกัน และติดให้กับตัวละครตัวเดียว เราจะได้โบนัสพิเศษที่เพิ่มพลังของความช่ำชองขั้นเทพ เช่น ทำให้การโต้กลับ (counterattack) ไม่มีวันพลาด, ทำให้ค่าพลังชีวิตค่อยๆ เพิ่มตามเวลาด้วยเวลาที่เราปฐมพยาบาลเพื่อน เป็นต้น
ที่ซับซ้อนไปกว่านั้นอีกคือ ตัวละครแต่ละตัวมี “คลาส” (class บทบาท) ตั้งต้น และคลาสอื่นๆ ที่เราปลดล็อกได้เมื่อเลเวลขึ้นสูงพอ และเราก็เลือกเปลี่ยนคลาสไปมาได้ ซึ่งก็แน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อความสามารถติดตัว ความช่ำชองระดับสูงหลายชนิดไม่ได้หล่นจากศพของศัตรู แต่ต้อง “วิจัย” (research) ถึงจะได้มา วิจัยด้วยการใช้ความช่ำชองชนิดอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ ระบบทั้งหมดนี้ค่อนข้างลึก แต่เกมก็ช่วยเราด้วยการทำให้เราย้อนเวลากลับไปหาความช่ำชองขั้นแรกๆ ได้ ถ้าคิดว่าอยากเปลี่ยนใจ ระบบการพัฒนาทักษะและความช่ำชองใน Troubleshooter เมื่อผสมเข้ากับระบบการคราฟท์ (craft) หรืออัพเกรดอุปกรณ์ในเกมนี้ก็ลึกเช่นเดียวกัน
ข้อดีของ Troubleshooters อีกจุดก็คือการที่เราสามารถใช้เวลาทำภารกิจเสริมต่างๆ เพื่ออัพเลเวลตัวละครได้ตามสบาย ทั้งเกมไม่ได้มีเส้นตายแบบ X-COM ที่มนุษย์ต่างดาวจะครองโลกถ้าสู้ช้าเกินไป ภารกิจแต่ละฉากใช้เวลาค่อนข้างนาน ประมาณ 20-40 นาที แต่เราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอโดยไม่มีบทลงโทษอะไร (ยกเว้นความแค้นและหัวร้อนที่ได้เห็นตัวละครโปรดต้องตายหลังจากที่ยืนหยัดสู้มา 30 นาที….)
ส่วนผสมระหว่างกราฟิกอนิเมะเตะตา เนื้อเรื่องสนุกสนานที่เล่าแบบนิยายภาพ และระบบการต่อสู้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหลายเกมแต่โดดเด่นเป็นตัวของตัวเองด้วยระบบ “ความช่ำชอง” และคลาสตัวละคร ยังไม่นับความยาวอย่างจุใจ (ต่อให้เล่นไปแล้ว 50 ชั่วโมงก็จะยังเจอตัวละครใหม่ๆ อุปกรณ์ใหม่ๆ และศัตรูใหม่ๆ) – ทั้งหมดนี้ทำให้ Troubleshooters เป็นจุดเริ่มต้นที่งดงามสำหรับสตูดิโอน้องใหม่ และเข้าขั้น “ต้องลอง” สำหรับใครก็ตามที่ชอบ X-COM หรือ Final Fantasy Tactics แต่อยากได้โลกและเรื่องราวของตัวละครที่เต็มอิ่มกว่าเกมวางแผนทั่วไป