ใน Watch Dogs ภาคแรก ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นแฮกเกอร์นามว่า Aiden Pearce และทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ยประจำเมืองไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แค่เพื่อแก้แค้นการเสียชีวิตของหลานสาว แต่ยังปกป้องผู้คนจากความอยุติธรรมในสังคม เกมภาคนี้ถือได้ว่าเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Cyber Surveillance หรือการสอดส่องข้อมูลบนเครือข่ายว่าสิ่งดังกล่าวมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างไร
และสำหรับ Watch Dogs 2 เหตุการณ์และเนื้อเรื่องได้ถูกยกมาที่เมือง San Francisco ซึ่งผู้คนต่างยกให้เป็นอาณาจักรของเทคโนโลยี รวมถึงหัวใจหลักของเมืองอย่าง Silicon Valley ที่ให้กำเนิดนวัตกรรมมากมาย และเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังต่าง ๆ ด้วยฉากที่เปลี่ยนไป Watch Dogs 2 จึงสามารถสร้างบรรยากาศที่บรรยายถึงความน่ากลัวของ Big Data ได้อย่างสมจริง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสมัยนี้บริษัทส่วนใหญ่ก็ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของประชากรเพื่อประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
ในส่วนของ Watch Dogs 2 ผู้เล่นได้ควบคุมตัวละครที่มีชื่อว่า Marcus Holloway ซึ่งเขาเป็นแฮกเกอร์และเป็นหนึ่งในสมาชิกของ DedSec และจากเนื้อเรื่องที่เล่าผ่านภารมากมาย เราในฐานะผู้เล่นจึงได้เรียนรู้ว่าสมาร์ทโฟน รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของเรา เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่คอยป้อนบริษัทเหล่านั้นตลอดเวลา ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน ทำอะไร หรือคุณซื้ออะไร ทั้งหมดจะเป็นข้อมูลให้นักธุรกิจพวกนั้นนำไปสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดผู้คนให้บริโภคสินค้าของพวกเขาต่อไป ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงใน Silicon Valley
นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลจาก Social Media ที่พวกเราใช้งานกันก็ไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับกลุ่มธุรกิจเพียงอย่างเดียว บริษัทน้อยใหญ่หลายรายใช้ข้อมูลของผู้ใช้งาน Social Media เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองที่เป็นลูกค้าของบริษัทเหล่านั้น (อย่างในภารกิจ “The Penthouse”) เหตุการณ์ลักษณะนี้ส่งผลให้นักสังคมศาสตร์ถึงกับต้องตีความประชาธิปไตยกันอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมของยุคสมัยใหม่
มากไปกว่านั้น จากบทสัมภาษณ์ระหว่างผู้กำกับของเกมอย่าง Jonathan Morin กับ Financial Post เขาอธิบายว่าทีมพัฒนาได้รวบรวมข้อมูลกันอย่างจริงจังเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมแฮกเกอร์และชีวิตที่เกิดขึ้นในเมือง San Francisco ให้ออกมาสมจริง รวมถึงการสร้างคอนเซปต์ของ Big Data สำหรับเกม ๆ นี้
เขาเน้นย้ำถึงคอนเซปต์ดังกล่าวและอธิบายว่า Big Data เป็นสิ่งที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย เพราะบริษัททั้งหลายต่างรู้ข้อมูลของคุณ และสามารถสร้างอิทธิพลที่คอยจำกัดว่าวันต่อไปคุณควรมีชีวิตอยู่อย่างไรโดยที่คุณไม่รู้ตัว เขาเสนอว่าสังคมควรถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนทบทวนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ทำลงไปบน Social Media
ผู้กำกับ Jonathan Morin ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเด็กที่โตมาในสังคมปัจจุบันไม่ได้มีความสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเหมือนคนรุ่นก่อนหน้า เด็กพวกนี้ไม่รู้ว่าไฟล์คืออะไร พวกเขาเห็นแค่รูปภาพหรือวิดีโอ ซึ่งมันจะแสดงอะไรต่อหลังจากที่พวกเขากดคลิกพวกเขาก็ไม่รู้ เด็กเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองในอนาคตได้ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานอย่างไร ดังนั้น พวกเขาจะไม่รู้เลยว่าบริษัททั้งหมดทำอะไรกับข้อมูลของพวกเขาหรือแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเขาอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้แล้ว ผู้กำกับ Jonathan Morin ยังเสริมอีกว่าแฮกเกอร์สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมแห่งอนาคตได้ เขาจึงได้พยายามสร้างกลุ่มแฮกเกอร์ให้มีบทบาทสำคัญภายในเกมของเขา เขาบอกว่าแฮกเกอร์สามารถให้ความรู้แก่ผู้คนและเด็กพวกนั้นได้ในฐานะที่พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเยอะกว่าคนทั่วไป และในปัจจุบันแฮกเกอร์มีโอกาสได้พูดบนเวทีสาธารณะมากมายเพื่อมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภัยของเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้คนไหวตัวทันและปกป้องตัวเองจากการเก็บข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ใช่แค่นั้น แฮกเกอร์ยังเป็นกลุ่มที่ผลักดันให้สังคมถกเถียงเกี่ยวกับการควานหาผลประโยชน์จากข้อมูลของบริษัททั้งหลาย และเขาเชื่อว่ายิ่งสังคมถกเถียงกันมากขึ้นในประเด็นนี้มากเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งสร้างทางเลือกของชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
Chad Sapieha, “Watch Dogs 2 illustrates why we should be talking about big data’s impact on our lives,” Financial Post, November 3, 2016, https://bit.ly/2PtxWqx.