การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายหรือที่เรารู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า “Wi-Fi” เป็นเทคโนโลยีที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะเป็นกkรทำงาน , เล่นเกม , ดูหนัง , ฟังเพลง หรือแม้กระทั่งใช้ในการเชื่อมต่อเพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนของเรา แต่เทคโนโลยี Wi-Fi ก็ได้วิวัฒนาการมาจนถึง Wi-Fi 6 ที่มีความเร็ว ความแรงที่มากกว่าเวอร์ชันก่อนหน้านี้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ Wi-Fi 6 กัน
Wi-Fi คืออะไร
เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายหรือ Wi-Fi ที่ย่อมาจาก Wireless Widelity ซึ่ง เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมที่ช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยใช้คลื่นวิทยุ
คำ ๆ นี้เป็นเครื่องหมายการค้าของ Wi-Fi Alliance ที่ได้ให้คำนิยามของ Wi-Fi ว่าหมายถึง “ชุดผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่สามารถทำงานได้ตามมาตรฐานเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย (WLAN) ซึ่งอยู่บนมาตรฐาน IEEE 802.11” อย่างไรก็ตามเนื่องจากแลนไร้สายที่ทันสมัยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับมาตรฐานเหล่านี้ คำว่า “Wi-Fi” จึงนำมาใช้ในภาษาอังกฤษทั่วไปโดยเป็นคำพ้องสำหรับ “WLAN”
ปกติแล้ว Wi-Fi ออกแบบมาใช้สำหรับอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ และใช้เครือข่าย LAN เท่านั้น แต่ปัจจุบันนิยมใช้ Wi-Fi เพื่อต่อกับอินเทอร์เน็ต โดยอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ เช่นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล , เครื่องเล่นเกม , โทรศัพท์มือถือ , แท็บเล็ต , กล้องดิจิทัล และเครื่องเสียงดิจิทัล สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Access Point หรือ ฮอตสปอต และบริเวณที่ระยะทำการของ Access Point ครอบคลุมอยู่ที่ประมาณ 20 ม.ในอาคาร แต่ระยะนี้จะไกลกว่าถ้าเป็นที่โล่งแจ้ง
Wi-Fi มีกี่ประเภท? อะไรบ้าง?
เทคโนโลยี Wi-Fi มีมาแล้ว 6 Generation ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดก็คือ Wi-Fi 6 นั่นเอง แต่ในทางเทคนิคแล้วเราจะเรียกแต่ละ Generation เป็นมาตรฐานของ IEEE 802.11 ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำงานของระบบเครือข่ายไร้สายกำหนดขึ้นโดยสถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers: IEEE) ที่ปล่อยออกมา และสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้
- Wi-Fi 1 (IEEE 802.11b) : เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 1999 ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า CCK (Complimentary Code Keying) ผนวกกับ DSSS (Direct Sequence Spread Spectrum) เพื่อปรับปรุงความสามารถของอุปกรณ์ให้รับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 11 Mbps ผ่านคลื่นวิทยุความถี่ 2.4 GHz เนื่องจากการใช้คลื่นความถี่ที่ต่ำกว่าอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน IEEE 802.11a ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้มาตรฐานนี้จะมีความสามารถในการส่งคลื่นสัญญาณไปได้ไกลกว่าคือประมาณ 38 เมตรในโครงสร้างปิดและ 140 เมตรในที่โล่งแจ้ง
- Wi-Fi 2 (IEEE 802.11a) : เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยออกเผยแพร่ช้ากว่าของมาตรฐาน IEEE 802.11b ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า OFDM (Orthogonal Frequency Division Multiplexing) เพื่อปรับปรุงความเร็วในการส่งข้อมูลให้วิ่งได้สูงถึง 54 Mbps บนความถี่ 5Ghz ซึ่งจะมีคลื่นรบกวนน้อยกว่าความถี่ 2.4 Ghz ที่มาตรฐานอื่นใช้กัน ที่ความเร็วนี้สามารถทำการแพร่ภาพและข่าวสารที่ต้องการความละเอียดสูงได้
- Wi-Fi 3 (IEEE 802.11g) : เปิดตัวในปี ค.ศ. 2003 ทางคณะทำงาน IEEE 802.11g ได้นำเอาเทคโนโลยี OFDM ของ 802.11a มาพัฒนาบนความถี่ 2.4 Ghz จึงทำให้ใช้ความเร็ว 36-54 Mbps ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงกว่ามาตรฐาน 802.11b ซึ่ง 802.11g สามารถปรับระดับความเร็วในการสื่อสารลงเหลือ 2 Mbps ได้ตามสภาพแวดล้อมของเครือข่ายที่ใช้งาน
- Wi-Fi 4 (IEEE 802.11n) : เปิดตัวในปี ค.ศ. 2009 ทำงานบนย่านความถี่ 2.4 และ 5 GHz โดยที่สามารถให้อัตราการส่งถ่ายข้อมูลสูงสุดถึง 300 Mbps มีความสามารถในการส่งคลื่นสัญญาณ ได้ระยะประมาณ 70 เมตรในโครงสร้างปิด และ 250 เมตรในที่โล่งแจ้ง เพิ่มความสามารถในการกันสัญญาณกวนจากอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ความถี่ 2.4GHz เหมือนกัน และสามารถรองรับอุปกรณ์มาตรฐาน IEEE 802.11b และ IEEE 802.11g ได้
- Wi-Fi 5 (IEEE 802.11ac) : เปิดตัวในปี ค.ศ. 2012 เป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อไร้สายบนคลื่นความถี่ 2.4GHz เหมือนเดิม แต่เพิ่มสัญญาณ 5GHz เข้ามาอีกคลื่น ทำให้รองรับการใช้งานอุปกรณ์ได้มากขึ้น เพราะเชื่อมต่อได้ทั้งสองคลื่นพร้อมกัน และที่คลื่น 5GHz มีช่องสัญญาณให้ใช้งานมากกว่าเดิม มีโอกาสที่สัญญาณจะรบกวนก็น้อยลง ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อไร้สายสูงสุด 1.3Gbps เรียกได้ว่าความเร็วในการโอนไฟล์ข้อมูลแบบไร้สายได้ความเร็วที่ใกล้เคียงกับการเชื่อมต่อสายแลนเลยทีเดียว สตรีมดูหนังออนไลน์ความละเอียด Full HD หรือ ระดับ 4K ได้ดีเยี่ยม
- Wi-Fi 6 (IEEE 802.11ax) : หรือเรียกย่อๆว่า “Wi-Fi 6 AX” เปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดและแรงที่สุดเพราะสามารถทำความเร็วของการส่งผ่านอินเทอร์เน็ตได้มากพอๆกันกับการเชื่อมต่อผ่านสาย LAN
Wi-Fi 6 ดีกว่า Wi-Fi Generation อื่นๆ ยังไง?
จากที่ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึง Generation ของ Wi-Fi กันไปแล้ว เรามาดูสิ่งที่ถูกพัฒนาใน Wi-Fi 6 กัน โดยตัว Wi-Fi 6 มีการพัฒนาเทคโนโลยีในตัวมันที่สามารถแบ่งออกมาได้ดังนี้
- ความเร็วสูงสุด : 9.6 Gbps คือระดับความเร็วสูงสุดของ Wi-Fi 6 ในช่องสัญญาณต่างๆ ในทางตรงกันข้าม Wi-Fi 5 นั้นมีระดับความเร็วสูงสุดที่ 3.5 Gbps อย่างไรก็ตามนี่คือค่าสูงสุดทางทฤษฎี ในสถานการณ์จริง เครือข่ายในท้องถิ่นอาจไม่สามารถเข้าถึงความเร็วสูงสุดนี้ได้ กล่าวได้ว่า เนื่องจากความเร็วสูงสุดนั้นมีการแชร์ไปในอุปกรณ์หลายเครื่อง อุปกรณ์ที่มี Wi-Fi 6 จะสามารถเพลิดเพลินกับความเร็วที่เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าถึงศักยภาพสูงสุดก็ตาม
- การส่ง-รับข้อมูลแบบ OFDMA : OFDMA (Orthogonal Frequency Division Multiple Access) โดยเดิมที เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในโครงข่ายเซลลูล่าร์ 4G-LTE ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดความล่าช้า (Latency) ในการส่งข้อมูลจากเครื่องส่งสัญญาณไร้สาย กับอุปกรณ์ปลายทาง สำหรับพื้นที่ ที่มีความต้องการสัญญาณที่หนาแน่น ซึ่งเกิดจากการแบ่งช่องสัญญาณเป็นจำนวนมากในการส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์ที่ต่างกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน
- MU-MIMO : การพัฒนาเทคนิค MU-MIMO (Multi-User Multiple-Input and Multiple-Output) ของ Wi-Fi 5 ให้สามารถส่ง และรับข้อมูลของอุปกรณ์ได้พร้อม ๆ กัน ในคราวเดียวกัน
- แก้ไขการกวนกันเองของสัญญาณ : โดยใช้วิธี BSS Coloring (Basic Service Set Coloring) คือ มีการกำหนดสีของสัญญาณ และสามารถทราบได้ว่า เป็นสีของสัญญาณข้อมูลที่มาจากเครือข่ายของตนเอง หรือสีของข้อมูลจากเครื่องส่งสัญญาณไร้สายบริเวณข้างเคียง
- การเพิ่มค่า Modulation จากเดิมที่เป็น 256-QAM เป็น 1024-QAM (Quadrature Amplitude Modulation) ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการส่งข้อมูลได้เพิ่มขึ้นถึง 25%
- Target Wake Time : คือการลดการบริโภคแบตเตอรี่ของอุปกรณ์รับสัญญาณไร้สายได้ เช่น พวกอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งใน Wi-Fi 6 นี้เครื่องรับ-ส่งสัญญาณไร้สาย และอุปกรณ์รับ-ส่งปลายทาง จะมีการกำหนดตารางเวลาในการเชื่อมต่อสัญญาณเป็นระยะ เสมือนมี Sleep Mode ในตัว ขณะที่ไม่มีการส่ง-รับสัญญาณระหว่างกัน เพื่อเป็นการถนอมพลังงานของอุปกรณ์ IoT ที่ส่วนมากจะเป็น Low Power Device
Wi-Fi 6E ขั้นกว่าของ Wi-Fi 6 บนความถี่คลื่นสัญญาณ 6 GHz
ตัว E ที่ต่อหลังมาจากคำว่า “Extension” หรือส่วนต่อขยาย โดย Wi-Fi 6E คือการใช้งาน Wi-Fi 6 บนสัญญาณคลื่นความถี่ 6 GHz ซึ่งต่างจากปกติที่จะใช้งานผ่านคลื่นความถี่ 2.4 และ 5 GHz
การเพิ่มคลื่นสัญญาณ 6 GHz เป็นเหมือนกับการเพิ่มทางด่วนให้กับสัญญาณเพื่อความรวดเร็วในการส่งข้อมูลในกรณีที่ตัวสัญญาณนั้นๆ มีการเชื่อมต่อกับหลายๆอุปกรณ์พร้อมๆกัน และยังช่วยให้การจัดการสัญญาณในตัวปล่อยสัญญาณง่ายขึ้น เช่น บางครั้งเราเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในบ้านแล้วความเร็วที่ได้มีเพียง 20 Mbps ทั้งๆที่เราซื้อแพ็กเกจ 500/500 มา นั่นเป็นผลมาจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายตัวภายในบ้านกับ Router ตัวเดียว แต่ถ้ามีเทคโนโลยี Wi-Fi 6E ก็จะมาช่วยให้การเชื่อมต่อของแต่ละอุปกรณ์เป็นไปได้รวดเร็วเท่ากันอีกด้วย
และนี่คือทั้งหมดของเทคโนโลยี Wi-Fi 6 ไม่ว่าจะเป็นวิวัฒนาการของ Wi-Fi ไปจนถึงรายละเอียดของ Wi-Fi 6 และหวังว่าทุกคนจะได้ใช้งานเทคโนโลยีนี้กันอย่างทั่วถึง และอย่าลืม ดูอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้ด้วยนะ