การจะเรียกขานใครสักคนว่า วีรบุรุษ หรือ “ฮีโร่” เราควรวัดจากอะไรบ้าง จะดูจากความถี่ของการทำบุญทำทาน การทำงานจิตอาสา การตีพิมพ์หลักธรรมคำสั่งสอนแจกจ่ายคนอื่น หรือการช่วยทางการจับคนที่ทำผิดกฎหมาย ?
ในโลก “นักเลง” ของ Yakuza ซีรีส์เกมแอ๊กชั่นค้างฟ้าชื่อดัง บางคนที่สังคมยกย่องว่า “คนดี” อาจไม่ดีอย่างที่พูด เพราะหน้าไหว้หลังหลอก อ้างตัวเป็นคนดีแต่เนื้อแท้หักหลังคนอื่นตลอดเวลา ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อไต่เต้าสู่อำนาจ พลางดูแคลน “นักเลง” อย่างยากูซ่าว่าเป็นพวกนักเลงหัวไม้ ไร้จิตสำนึก ดีแต่ก่อความวุ่นวาย สังคมไม่ต้องการและไม่ควรเสียทรัพยากรมาดูแล
แต่ขึ้นชื่อว่า “นักเลง” แปลว่าต้องเป็น “คนเลว” จริงไหม คนที่เคยต้องโทษจำคุกมาแล้วสมควรได้รับโอกาสเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคมหรือไม่ และเอาเข้าจริงแล้ว “กฎหมาย” เป็นเรื่องเดียวกันกับ “ความยุติธรรม” เสมอไปหรือไม่
Yakuza: Like a Dragon เกมภาคที่เจ็ดในซีรีส์ชื่อดัง เปลี่ยนแนวเกมจากการรัวคอมโบบนคอนโทรลเลอร์ มาเป็นเกมสวมบทบาทหรือ RPG เป็นครั้งแรก แต่ยังคง “ครบเครื่อง” ทั้งพล็อตดราม่าอาชญากรรมสนุกตื่นเต้นที่น่าติดตามเหมือนดูซีรีส์ดัง (แม้จะอารมณ์เวอร์ๆ เหมือนหนังเกรดบี) ภารกิจเสริม (substories) กว่าห้าสิบเรื่องที่หลากหลายอย่างยิ่ง ระบบ “อาชีพ” ของตัวละครที่ส่งผลต่อท่าโจมตีและสกิลการต่อสู้ เมืองที่ผู้คนพลุกพล่านและมีชีวิตชีวา และแน่นอน มินิเกม (mini-games) หลายสิบเกม หลายเกมแฟนซีรีส์นี้คุ้นเคยดีอยู่แล้ว อาทิ คาราโอเกะ เกมตู้ (ให้เกมเก่าๆ จากค่าย SEGA หลายเกม อาทิ Virtua Fighter 2) ตีลูกเบสบอล ปาเป้า ไพ่นกกระจอก แต่ Like a Dragon ก็เพิ่มมีนิเกมใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มรสชาติอีกหลายเกม บางเกมจำเจไม่น่าเล่น แต่บางเกมก็สนุกเลยทีเดียว มินิเกมที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษในภาคนี้คือ เกมบริหารธุรกิจ เกมขี่รถซาเล้งตระเวนเก็บกระป๋อง และเกมแข่งรถโกคาร์ท
Like a Dragon ให้เราเล่นเป็นตัวเอกใหม่เอี่ยมของซีรีส์นี้นาม อิชิบัง คาสุกะ ยากูซ่าเลือดร้อนที่ยอมรับโทษจำคุก 18 ปี ในข้อหาฆาตกรรมที่เขาไม่ได้ก่อ เพื่อช่วยให้ครอบครัวยากูซ่าของเขาพ้นภัย แต่เมื่อพ้นโทษออกมาในวัย 40 ปี คาสุกะกลับกลายเป็นคนร่อนเร่พเนจร เมื่อผู้นำครอบครัวยากูซ่าของเขา คนที่เขานับถือพอๆ กับพ่อแท้ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก กลับยิงเขาปางตายและให้คนโยนร่างของเขามาทิ้งในกองขยะ ใกล้ที่ซุกหัวนอนของเหล่าคนไร้บ้าน ในเขตโกโรโกสในจินตนาการ (แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากโลกจริง) ของเมืองโยโกฮามะ เมืองที่ “เจ้าพ่อ” อาจเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก และสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างตรงจุดและตอบโจทย์กว่านโยบายหาเสียงของนักการเมือง
เมื่อชีวิตตกต่ำจนไม่เหลืออะไร คาสุกะไม่มีทางเลือกนอกจากค่อยๆ กอบกู้ชีวิตของตัวเองขึ้นมาใหม่ ระหว่างออกค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในโลกของยากูซ่า ยังไม่นับว่าไม่ช้าเขาจะได้พบกับแก๊งมาเฟียจีน และมาเฟียเกาหลีใต้ ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกันกับยากูซ่าในเมืองเพื่อรักษาสันติและป้องกันผู้รุกราน
คาสุกะเป็นตัวละครที่โดดเด่นและน่าสนใจที่สุดคนหนึ่งในจักรวาลเกม เพราะบุคลิกด้านหนึ่งเป็นคนมุทะลุดุดัน แต่อีกด้านก็ใจกว้างเป็นทะเล ใจอ่อนกับเพื่อนๆ (และสาวๆ) และมีความเป็นเนิร์ดพอตัวด้วยการเป็นคอเกม Dragon’s Quest ตั้งแต่เด็ก จินตนาการว่าไม้เบสบอลคู่ใจนั้นคือดาบประจำกายฮีโร่ที่จะออกไปฟาดฟันเหล่าวายร้าย และดังนั้นฉากการต่อสู้เกือบทั้งหมดในเกมจึงให้คนธรรมดาแปลงร่างเป็นสัตว์ประหลาดในจินตนาการของคาสุกะ และการค้นหาศัตรูแปลกๆ ในเกมให้ครบ (มีทั้งหมด 252 รายการ) ก็นับเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของเกมนี้
เรื่องราวใน Like a Dragon เป็นส่วนผสมที่ไม่น่าเชื่อว่าจะลงตัวได้ ระหว่างดราม่าหนักๆ ความเพี้ยนหลุดโลก และอารมณ์ขันแบบเว่อร์ๆ แต่ส่วนผสมทั้งหมดนี้มาอยู่ในเกมเดียวกันได้อย่างกลมกล่อม และทำให้เราเข้าอกเข้าใจตัวละคร ตั้งแต่คาสุกะ ผองเพื่อนผู้เป็น “คนชายขอบ” ของสังคม (ชายที่ใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน สาวเชียร์เบียร์ อดีตตำรวจที่ถูกไล่ออกจากงานก่อนเกษียณ ผู้นำแก็งมาเฟียจีน ฯลฯ) และแม้แต่ “วายร้าย” บางคนในเกมนี้ ก็ไม่ได้ “ร้าย” อย่างที่เราเข้าใจ
Like a Dragon ตั้งคำถามว่า “ฮีโร่” วัดจากอะไร และระหว่างทางที่พาเราไปสำรวจคำตอบ สิ่งที่เกมสื่อสารได้อย่างยอดเยี่ยมก็คือ ความสำคัญของมิตรภาพ และความเข้าอกเข้าใจ พล็อตหลักในเรื่องนี้ว่าด้วยการหาทางพิทักษ์รักษา “โซนสีเทา” (grey zone) ให้กับกลุ่ม “คนชายขอบ” ทั้งหลายที่สังคมรังเกียจ – ทั้งที่เป็นพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่อย่างบาร์เหล้าและที่ซุกหัวนอนของคนไร้บ้าน และพื้นที่ทางวัฒนธรรม อย่างการถูกสังคมตราหน้าว่าเห็นแก่ตัว ไม่รักดี ไร้ศีลธรรม ฯลฯ
ระบบการต่อสู้แบบ RPG ใน Like a Dragon อาจเป็นจุดที่น่าเบื่อที่สุดในเกม เมื่อเทียบกับความน่าสนใจของบรรดาตัวละคร “ชายขอบ” ของสังคม และเรื่องราวของพวกเขาที่คาสุกะจะเข้ามาพบพาน และความใจกว้างของคาสุกะก็เป็นประตูสู่ความเข้าอกเข้าใจ ตั้งแต่ผู้หญิงต่างด้าวที่มาขายบริการทางเพศในญี่ปุ่นเพราะไม่มีทางไป นักเลงชาวจีนที่พยายามดิ้นรนหลังจากตกเป็นผู้แพ้ทางเศรษฐกิจ ชายแก่อาชีพนับจำนวนรถและจำนวนคนเดินถนน ผู้ภูมิใจกับการเป็นส่วนเล็กๆ ในการพัฒนาเมือง เด็กน้อยที่ยืนขอเงินบริจาคริมถนนเพื่อไปช่วยค่าผ่าตัดของน้องชาย คนไร้บ้านที่ไม่ยอมถูกหมิ่นหยาม นักออกแบบมาสคอตหรือตัวนำโชคประจำเมืองที่ถูกตัวปลอมฉวยโอกาสทำกำไรจากของที่ระลึก หัวโจกเด็กแว้นที่เป็นห่วงรุ่นน้องว่าจะโดนรุม
เรื่องราวของตัวละครเหล่านี้และคนอื่นๆ อีกมากมายในเกม คือเสน่ห์ที่ทำให้โยโกฮามะในเกมโลดแล่นมีชีวิตขึ้นมา และเราในฐานะผู้เล่นก็จะได้เรียนรู้ที่จะเปิดใจไปพร้อมๆ กับคาสุกะ ตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่เขารู้สึกตกใจกับความเป็นอยู่ของคนไร้บ้าน พูดขึ้นมาว่าทำไมไม่ไปหางานดีๆ ทำ สื่อนัยว่าคนไร้บ้านขี้เกียจหรือเปล่า จากนั้นคาสุกะก็โดน นัมบะ คนไร้บ้านและเพื่อนใหม่ของเขาเอ็ดเอาว่า เฮ้ย แกนี่มันไม่รู้อะไรเลย แกคิดว่าจะแก้ปัญหาของพวกเราได้ง่ายๆ ด้วยการเดินไปของานจากสำนักจัดหางานอย่างงั้นเหรอ
ในแง่นี้ Like a Dragon จึงเป็นเกมเกี่ยวกับนักเลง ที่เป็นมากกว่าเกมเกี่ยวกับนักเลง ไม่ต่างจากเกมอื่นๆ ก่อนหน้านี้ในซีรีส์ – มันเป็นเกมที่พยายามอย่างจริงใจที่จะทำความเข้าใจกับมนุษย์ เข้าใจว่าโลกนี้ไม่ใช่โลกแบบขาว-ดำ และพยายามที่จะมองเห็นส่วนที่ดีที่สุดในตัวคนทุกคน ไม่ว่าเขาหรือเธอจะถูกสังคมรังเกียจขนาดไหนก็ตาม
คาสุกะอาจมีแรงเหลือ แต่ “ขุมพลัง” ที่แท้จริงของเขาก็คือ ความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ และ Like a Dragon ก็บอกเราว่า เราจะละเลยคุณธรรมข้อนี้ไม่ได้เลยในการประเมินว่า ใครกันแน่ที่ควรค่าแก่การถูกเรียกว่า “ฮีโร่” ของสังคม