BY Zreast
24 Jan 22 7:56 pm

10 เทคนิคเบื้องต้นของ Yu-Gi-Oh! Master Duel กับหนทางสู่การเป็นดูเอลคิง

1,026 Views

เปิดสังเวียนมาแล้วอย่างเป็นทางการ สำหรับ Yu-Gi-Oh! Master Duel, เกม Free-to-Play จากแฟรนไชส์ Yu-Gi-Oh! ที่ได้กระแสตอบรับจากเหล่าเกมเมอร์เป็นอย่างดี การันตีด้วยยอดผู้เล่นพร้อมกันบน Steam กว่า 260,000 คน

และด้วยความที่ภาคนี้เลือกนำเสนอประสบการณ์ดูเอลเต็มรูปแบบ ภายใต้กฎเดียวกันกับที่ใช้แข่งขันจริง จึงทำให้ตัวเกมมีความเข้มข้นต่างจากเกมการ์ดยูกิที่ผ่าน ๆ มา และผู้เล่นหน้าใหม่ รวมถึงผู้เล่นเก่าที่ห่างหายไปนานก็อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวกันพอสมควร เพื่อให้เท่าทันกับบรรดาการ์ดชุดใหม่ ๆ ที่ทั้งเร็วและแรงในยุคสมัยนี้

แล้วผู้ที่เริ่มต้นเล่น Yu-Gi-Oh! Master Duel ควรจะต้องทำอะไรบ้าง ? จะสร้างเด็คโปรดของตัวเองขึ้นมาอย่างไรให้เร็วที่สุด ? ขอเชิญมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ 10 เทคนิคสำหรับเกมนี้ได้เลย

1. ลง Solo ทำความคุ้นเคยกับระบบเกม

Ygo Master Duel Solo Duel

โหมดเล่นคนเดียวของเกมนี้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราเข้าใจระบบการเล่นได้ก่อนลงสนามจริง เพราะตัวเกมจะค่อย ๆ สอนเราตั้งแต่การเรียกมอนสเตอร์แบบบูชายัญ ไปจนถึงการใช้บรรดามอนสเตอร์ในยุคใหม่ ๆ อย่าง Xyz, Pendulum และ Link เลย

ซึ่งถ้าใครที่ไม่ได้เล่น Yu-Gi-Oh! มานานแล้ว ก็น่าจะทำความคุ้นเคยกับการ์ดยุคใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วผ่านการเล่นโหมดนี้ และที่สำคัญคือในแต่ละด่านของ Solo ก็จะมีของรางวัลมอบให้ด้วย (ธันเดอร์โบลต์ – Raigeki ก็หาได้จากในนี้) เพราะฉะนั้นเราจึงแนะนำให้ผู้เล่นทุกคนได้ใช้เวลากับมันก่อน อย่างน้อยให้จบ 2 บทแรกก็ถือว่ากำลังดีแล้ว

2. การบริหารเพชร

Ygo Master Duel Crystal Claim

ในเกมนี้จะใช้ระบบเพชรสำหรับเปิดซองหาการ์ดที่ต้องการ ซึ่งทาง Konami ก็ค่อนข้างใจดีพอสมควร เพราะให้เพชรกับผู้เล่นเริ่มต้นมามากเพียงพอสำหรับสร้างเด็คที่เราชอบได้เลยอย่างน้อยก็ 1 เด็ค และยังเหลือเอาไปทำอย่างอื่นต่อได้อีกด้วย

เพชรพวกนี้หาได้จากไหน ? นอกเหนือจากการเติมเงินแล้ว ผู้เล่นยังหาได้จากการเล่นโหมด Solo และระบบ Mission ของเกม ซึ่งใน Mission จะเป็นรายได้หลักของผู้เล่นสายฟรีที่ควรหมั่นเข้ามากดรับเพชรบ่อย ๆ เพราะมันให้เยอะมากทีเดียวในแต่ละครั้ง ตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหลายร้อยต่อหนึ่ง Mission

เมื่อได้เพชรมาแล้ว เราก็แนะนำให้นำไปใช้ตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้

1. (สำคัญสุด) Duel Pass : ระบบ Battle Pass ปกติที่เจอได้ในเกมทั่ว ๆ ไป ซึ่งในนี้มีไอเท็ม, แต้ม Craft และเพชรให้ปลดล็อคอยู่แบบคุ้มค่ามาก
2. Bundle Deal : แพ็คซองการ์ดที่กดได้ครั้งเดียว เมื่อเปิดแล้วจะการันตีการ์ดที่อยู่หน้าแพ็คแน่นอน 100% ซึ่งเราก็แนะนำว่าควรกดให้หมดทุกแพ็ค เพราะไม่ว่าจะเป็น Lighting Storm, Solemn Judgment, Ash Blossom หรือใบอื่น ๆ ก็ล้วนแต่เป็นการ์ดที่มีประโยชน์ และนำไปใช้เล่นได้กับทุก ๆ เด็คเลยหากต้องการ
3. Secret Pack : เลือกเปิดตามเด็คที่เราอยากได้

(พิเศษ) Structure Deck : เด็คที่มีขายให้เลยแบบกึ่งสำเร็จรูป ช่วยประหยัดเวลาไปได้เยอะมาก ๆ ทีเดียว หากใครอยากทำเด็คขึ้นจากการ์ดเหล่านี้

อย่างไรก็ดี แต่ละคนก็มีแนวทางการเล่นที่แตกต่างกันไป ในระหว่างนี้ก็อาจจะแบ่งเพชรจำนวนหนึ่งไปซื้อไอเท็มสำหรับตกแต่งสนาม หรือแต่งหน้าโปรไฟล์เพิ่มเติมกันได้ตามความชอบของเราเอง

3. รู้จักกับมอนสเตอร์ทุกประเภทในเกม

Ygo Master Duel Accesscode Talker

Yu-Gi-Oh! มีการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่มอนสเตอร์เอฟเฟคต์, ฟิวชัน, พิธีกรรมทั่ว ๆ ไป ลามไปจนถึงยุคของ Synchro, Xyz, Pendulum และ Link ตามลำดับ

ทั้งนี้การ์ดมอนสเตอร์ประเภทใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้ทำขึ้นสำหรับให้เด็คใหม่ ๆ ใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีส่วนที่ย้อนกลับไปเสริมทัพให้กับเด็ครุ่นเก่าอีกด้วย (เช่น Blue-Eyes, Dark Magician หรือ Cyber Dragon) ดังนั้นใครที่อยากจะเลือกเล่นเด็คในยุคเก่า ๆ ก็อาจจะต้องศึกษาการ์ดใหม่เหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อประโยชน์ทั้งกับเด็คเรา และประโยชน์ในการรับมือกับฝั่งตรงข้าม

โดยสำหรับมอนสเตอร์อย่าง Synchro และ Xyz จะมีหน้าที่คล้ายกัน คือเป็นมอนสเตอร์ที่อยู่ใน Extra Deck (เด็คแยกพิเศษที่ใช้เก็บมอนสเตอร์เหล่านี้) ซึ่งผู้เล่นจะต้องมีมอนสเตอร์อยู่บนสนามให้ครบตามเงื่อนไข จึงจะเรียกออกมาได้

ขณะที่ Link จะมีเงื่อนไขการเรียกที่ค่อนข้างง่ายกว่า 2 ประเภทข้างต้น เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วมอนสเตอร์ที่เป็น Link ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นหัวใจสำหรับทำคอมโบในแต่ละเด็ค ดังนั้นตัวมันเองจึงอาจไม่ได้เก่งมาก หากแต่มีลูกเล่นอันแพรวพราว และเข้ามาทำให้สปีดในการเล่น Yu-Gi-Oh! ยุคนี้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าที่ผ่านมา

ปิดท้ายด้วยมอนสเตอร์ประเภท Pendulum ซึ่งมีเงื่อนไขการใช้งานที่ซับซ้อนที่สุด เพราะผู้เล่นต้องวางการ์ดนี้เอาไว้ 2 ฝั่งในโซนเวทย์/กับดัก เพื่อเริ่มวาดลวดลายคอมโบแบบจัดเต็ม

โดยปกติสำหรับเด็คทั่ว ๆ ไปแล้วจะไม่ได้มายุ่งกับ Pendulum เท่าไรนัก เพราะเด็คแนวนี้มักจะคอมโบกับการ์ด Pendulum ด้วยกันเอง ดังนั้นใครที่อยากเริ่มต้นศึกษาก็อาจจะลองจัดเด็ค Pendulum ล้วน ๆ ดูก่อนอย่างการ์ดตระกูล Performapal หรือ Qliphort ก็จะช่วยให้คุ้นเคยกับการ์ดประเภทนี้ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ก็ย้ำกันอีกครั้งว่าโหมด Solo ของเกมมีการสอนวิธีเรียกมอนสเตอร์แต่ละประเภทโดยเบื้องต้นเอาไว้แล้ว ดังนั้นเราจึงแนะนำว่าไม่ควรพลาด เพราะนี่คือโอกาสศึกษาการทำงานของมอนสเตอร์ยุคใหม่ ๆ ที่ดีที่สุดแล้วนั่นเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปเจ็บตัวกับสนามจริง

4. เข้าใจระบบ Chain ของการ์ด

ใน Yu-Gi-Oh! เวลามีผู้ใช้การ์ดอะไรขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเวทย์, กับดัก หรือเอฟเฟคต์ของมอนสเตอร์ ก็มีสิทธิ์ที่จะโดนคู่แข่งเปิดการ์ดแทรก หรือขัดขวางได้เหมือนกัน ซึ่งการเปิดการ์ดสวนไปมาเป็นลูกโซ่แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการ “Chain” กันนั่นเอง

สิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือการ์ดแต่ละแบบนั้นมี “ความเร็ว” แตกต่างกัน โดยการ์ดที่เร็วเท่ากันหรือเร็วกว่าการ์ดที่กำลังเปิดอยู่เท่านั้น จึงจะสามารถ Chain ต่อกันได้ ตัวอย่างเช่น

1. ผู้เล่นใช้การ์ดชุบชีวิต ซึ่งเป็นเวทย์มนต์ปกติ ความเร็วปกติ
2. ผู้เล่นอีกฝั่งใช้การ์ดเสียงเพรียกจากสุสาน ซึ่งเป็นการ์ดกับดัก มีความเร็วสูงกว่าชุบชีวิต
3. ผู้เล่นคนแรกสามารถใช้ Cyclone เพื่อทำลายการ์ดกับดักนั้นได้ เพราะ Cyclone เป็นเวทย์ความเร็วสูง และมีความเร็วเท่ากันกับการ์ดกับดักปกติ
4. ในทางกลับกัน ผู้เล่นคนแรกไม่สามารถใช้การ์ดดาบผนึกแห่งแสงต่อได้ เพราะเป็นเวทย์ปกติ ซึ่งมีความเร็วน้อยกว่า Cyclone ที่เป็น Chain ก่อนหน้า ดังนั้นถ้าอยากใช้ ต้องรอให้ Chain นี้จบลงก่อน

โดยความเร็วของเอฟเฟคต์การ์ดภายในเกม จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับดังนี้

ความเร็วปกติ – การ์ดเวทย์ทั่วไป, การ์ดมอนสเตอร์ทั่วไป
ความเร็วสูง – การ์ดเวทย์ความเร็วสูง (รูปสายฟ้า), การ์ดกับดัก, การ์ดมอนสเตอร์ที่มีข้อความ “Quick Effect” หรือ “During either player’s turn” ระบุไว้
ความเร็วสูงสุด – การ์ดกับดักเคาน์เตอร์ (รูปลูกศรย้อนกลับ)

และเมื่อมีการ Chain เกิดขึ้น การ์ดแต่ละใบที่เปิดขึ้นมาก็จะถูกกำกับไว้ด้วยตัวเลขตามลำดับการใช้ ซึ่งเมื่อไม่มีใครเปิด Chain เพิ่มอีก ตัวเกมก็จะเข้าสู่กระบวนการ “Resolve” และไล่ทำงานแต่ละเอฟเฟคต์ ย้อนมาตั้งแต่การ์ดลำดับสุดท้าย ไปจนถึงลำดับแรก (Last In, First Out)

5. ทำลาย ≠ ทำให้ไร้ผล

Ygo Master Duel Cyclone Raigeki

แม้จะไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่อาจจะยังมีบางคนเข้าใจผิดกันอยู่ นั่นคือที่จริงแล้ว เอฟเฟคต์ใด ๆ ก็ตามของการ์ดจะยังคงทำงานได้ แม้ว่าการ์ดใบนั้นจะถูกขัดขวางด้วยการทำลายทิ้งไปแล้ว

ทางเดียวที่จะหยุดเอฟเฟคต์เหล่านี้ คือต้องใช้การ์ดที่เขียนไว้ว่า “Negate” (ทำให้ไร้ผล) ดังนั้นก่อนจะ Chain กับคู่ต่อสู้ก็ต้องตรวจสอบการ์ดของตัวเองให้ดีก่อน ว่ามันแค่ ‘Destroy’ หรือ ‘Negate’ หรือทั้ง ‘Negate and Destroy’ การ์ดเป้าหมายไปเลย

6. Wording คือเรื่องใหญ่

Ygo Master Duel Hand Destruction

ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว เพราะว่า Yu-Gi-Oh! เป็นเกมการ์ดที่มีความซับซ้อนสูง ดังนั้นทุกประโยคในคำอธิบายการ์ดล้วนมีความหมาย และผู้เล่นจะต้องอ่านให้ถี่ถ้วนก่อนใช้งานจริง จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Wording ของเกมนี้มีความสำคัญมาก ก็คือระบบการ “ทำอะไรบางอย่าง” กับการ์ดศัตรู ซึ่งนอกจากทำลาย (Destroy) แล้ว ก็ยังมีวิธีขัดขวางศัตรูอย่างอื่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งกลับขึ้นมือ (Return to ___ hand), ส่งกลับเข้าเด็ค (Return to ___ deck), นำออกจากเกม (Banish) และส่งลงสุสาน (Send to the graveyard)

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การ์ดที่มีเอฟเฟคต์ระบุว่า “ไม่สามารถถูกทำลายได้” ก็ยังคงตกเป็นเป้าของการส่งกลับขึ้นมือ, กลับเข้าเด็ค และนำออกจากเกมได้อยู่ดี

อีกหนึ่งเคสตัวอย่างคือการ “ทิ้งการ์ด” (Discard) กับส่งลงสุสาน ซึ่งการ์ด Hand Destruction (รูปข้างบน) ที่เขียนว่า “ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายส่งการ์ด 2 ใบส่งลงสุสาน แล้วจั่วการ์ด 2 ใบ” ก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ดนั้นถูกทิ้งลงแต่อย่างใด และทำให้เด็คตระกูล Dark World ที่มีลูกเล่นว่าด้วยการทิ้งการ์ด ไม่สามารถทำคอมโบกับการ์ดใบนี้ได้นั่นเอง

ปิดท้ายที่ Wording เกี่ยวกับการ “Target” (เลือกเป้าหมาย) ซึ่งมอนสเตอร์บางประเภทจะมีคุณสมบัติว่า “ไม่ตกเป็นเป้าของเวทย์ / กับดัก” แต่ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นการ์ดที่ทำงานแบบไม่สนเป้าใด ๆ อย่างธันเดอร์โบลต์ (ทำลายมอนสเตอร์ทุกตัวของอีกฝ่าย) ก็จะยังคงสามารถทำลายมอนสเตอร์นั้นได้อยู่ดี ดังนั้นมอนสเตอร์ที่จะรอดพ้นจากการทำลายไม่เลือกเป้าแบบนี้ จึงต้องเขียนว่า “Unaffected by ____” (ไม่รับผลจาก ____) หรือ “Cannot be destroyed by ____” (ไม่ถูกทำลายจาก ___) เท่านั้น

7. ตามหาเด็คและคอมโบที่ชอบ

Ygo Master Duel Secret Packs

ใน Yu-Gi-Oh! นั้นมีเซ็ตการ์ดที่เป็นธีมเดียวกัน (Archetype เดียวกัน) อยู่เยอะมาก ทำให้เกิดเป็นเด็คได้หลายร้อยหลายพันแบบ แถมในหนึ่ง Archetype ก็ยังมีแนวเด็คย่อย ๆ อีกมากมาย บางเด็คถึงกับผสม 2 Archetype ไว้ด้วยกันเลยก็มี

ดังนั้นสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบการ์ดสไตล์ไหน ก็ลองศึกษาดูจากคู่แข่งก่อน หรือจะลองเข้าไปเลือกดู Archetype ที่ถูกใจใน Wiki นี้ก็ได้เช่นกัน :

https://yugioh.fandom.com/wiki/Category:TCG_and_OCG_archetypes (มีบอกแนวทางการจัดเด็คคร่าว ๆ ให้ด้วย)

และสำหรับวิธีการตามหาการ์ดที่อยู่ใน Archetype เดียวกันกับการ์ดที่เรากำลังสนใจ ก็ทำได้ง่าย ๆ ในหน้าจัดเด็คของเกม โดยกดเลือกที่การ์ดนั้น แล้วกดปุ่ม Related Card, ระบบก็จะแสดงการ์ดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดขึ้นมาให้โดยอัตโนมัติ

ซึ่งฟีเจอร์ Related Card นี้น่าจะทำให้หลายคนคาดไม่ถึงเลยเหมือนกัน เพราะวิธีการค้นหาของมันค่อนข้างฉลาด บางการ์ดที่ไม่ได้อยู่ใน Archetype เดียวกัน แต่มีจุดร่วมอยู่บางอย่าง ก็ยังเอาขึ้นมาแสดงผลให้อีกด้วย

เมื่อได้ Archetype ที่อยากเล่นแล้ว จากนั้นก็โฟกัสที่การสร้างเด็คนี้ขึ้นมาให้ได้ก่อนเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้การจัดเด็คครั้งแรกก็ไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะเมื่อเล่นไปเล่นมาแล้วอาจจะพบว่ายังมีบางจุดที่ต้องปรับให้เข้ามือกับตัวเองมากขึ้น หรือต้องหาการ์ดอื่น ๆ มาเสริมเพื่อรับมือกับ Meta ยุคนี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เช่นบางทีเราอาจจะไปเจอแนวทางการจัดเด็คจากบนอินเทอร์เน็ตมา แต่พอเล่นจริงแล้วกลับอยากใช้การ์ด Dark Bribe เพื่อขัดขวางเวทย์/กับดักของศัตรู ก็ลองถอดการ์ดใบอื่นออก แล้วใส่เข้ามาไว้แทนได้ หรือบางทีถ้ารู้ว่าเด็คที่กำลังจัดอยู่นี้ ไม่ค่อยจำเป็นต้องใช้การ์ดกับดัก ก็อาจจะใส่กำแพงพระราชวัง (Royal Decree) เข้ามาไว้เลยก็ได้เหมือนกัน เพื่อ Lockdown ให้ไม่มีฝ่ายใดเลยที่จะสามารถใช้การ์ดกับดักได้

แน่นอนว่าการ Copy เด็คของคนอื่นมาก็ไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อศึกษาดูว่ามีตรงไหนที่พอจะใช้ปรับปรุงการเล่นของตนได้ โดยวิธีการ Copy เด็คมาก็เพียงแค่ไปที่เมนู Duel > Ranked Duel > Match History จากนั้นก็กดเลือกแมตช์ที่เราต้องการ และกด Confirm Opponent’s Deck > Copy Deck ได้ทันที เพียงเท่านี้เด็คดังกล่าวก็จะถูกคัดลอกมาอยู่ในบัญชีของเราแล้ว

8. โฟกัสกับเด็คที่ชอบก่อน

Ygo Master Duel Decks Selection

ด้วยความที่ Yu-Gi-Oh! Master Duel เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องค่อย ๆ เก็บความคืบหน้าไปเรื่อย ๆ เอง จึงไม่ได้ให้อิสระกับการจัดเด็คขนาดนั้น และต้องอาศัยการเปิดกาชาที่มากพอสมควรกว่าจะได้แต่ละเด็คที่ต้องการออกมา

ดังนั้นเราจึงแนะนำว่าให้มุ่งเน้นกับการสร้างเพียงเด็คเดียวก่อนผ่านการเปิด Secret Pack ของ Archetype ที่เราอยากเล่น โดยวิธีที่จะทำให้ Secret Pack ปรากฏขึ้นมา ก็มีอยู่ 2 แบบดังนี้

– เปิดสุ่มได้ การ์ดที่เป็น Key ของแพ็คนั้น จากแพ็คปกติอย่าง Master Pack (ซองสีแดง)
– คราฟต์ การ์ดที่เป็น Key ของแพ็คนั้น ขึ้นมาเอง โดยใช้แต้มคราฟต์ซึ่งได้จากการย่อยการ์ดใบอื่น ๆ ที่เราไม่ต้องการ และได้จาก Duel Pass

จากนั้นก็เปิด Secret Pack หาการ์ดทำเด็คที่เราอยากเล่นนี้ขึ้นมา ซึ่งก็หายห่วงได้เลย เพราะเพชรที่ตัวเกมแจกให้เราในช่วงต้น จะมีเพียงพอสำหรับการทำได้อย่างน้อย 1 เด็คแน่นอน

และในระหว่างที่ได้ดูเอลกับคนอื่น ๆ หากเราเจอเด็คที่น่าสนใจ อยากลองเล่นตามบ้าง ตัวเกมก็อนุญาตให้เรา Copy มาเก็บไว้ แล้วจัดเป็นเด็ครอไว้ก่อนได้เหมือนกัน (แต่ยังใช้ไม่ได้) ซึ่งหากภายหลังเราพอใจกับการทำเด็คแรกแล้ว ก็ค่อยเริ่มตามหาการ์ดมาเติมให้กับเด็คอื่น ๆ ที่เคยจัดไว้ เพื่อเตรียมนำไปใช้เล่นต่อไป

9. อย่ากลัวการเล่านิทาน (และ OTK)

Ygo Master Duel Numeron Otk

Yu-Gi-Oh! ในทุกวันนี้ไม่ได้เล่นกันแบบลงมอนสเตอร์เทิร์นละไม่กี่ตัวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นยุคสมัยของการรำคอมโบการ์ดยาว ๆ ลงมอนสเตอร์กันแบบต่อเนื่อง ผมจะเป็นเพชฌฆาตรำดาบให้คุณ ละสายตาไปพักเดียว กลับมาอีกทีมอนสเตอร์เต็มสนาม ซึ่งเราก็ได้แต่นั่งมองจนเหมือนกำลังฟังเขา “เล่านิทาน” อยู่ก็ไม่ปาน

นอกจากนี้ก็ยังมีเหล่าผู้แก่กล้าวิชา ทำคอมโบแบบ OTK (One Turn Kill) หรือ FTK (First Turn Kill) อยู่ภายในยุทธจักรนี้ด้วย กลายเป็นภาพลักษณ์ของเกมในตอนนี้ ถูกมองว่า “จั่วได้คีย์การ์ดมา = ชนะแล้ว” ไปโดยปริยาย

ถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็มีแต่จะต้องเข้าร่วม ไม่ก็ปรับตัวไปกับมัน ซึ่งวิธีรับมือที่มีประสิทธิภาพก็คือการสังเกตว่าแต่ละเด็คนั้นมีคอมโบอย่างไร และมีจังหวะใดที่เป็นจังหวะสำคัญ หากโดนขัดก็จะทำให้คอมโบต่อไม่ได้อีก

และเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็จะกล้าเผชิญหน้ากับการเจอศัตรูทำคอมโบมากกว่าเดิม และเตรียมตัวขัดจังหวะได้อย่างถูกต้อง เช่นใช้เอฟเฟคต์ของ Nibiru, the Primal Being เคลียร์สนามทิ้ง หรือไม่ก็ใช้การ์ดอย่าง Ash Blossom & Joyous Spring จากบนมือ เพื่อทำให้เอฟเฟคต์ค้นหาการ์ดของคู่ต่อสู้ไร้ผลได้อย่างทันท่วงที

10. เจอ Meta บ่อย ๆ ค่อย ๆ ปรับตัว

Ygo Master Duel Sky Striker

แม้ว่าเด็คที่เป็น Meta (ได้รับความนิยม) จะไม่ใช่เด็คเดียวกันกับที่เราชอบเล่นเสมอไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท้ายสุดแล้วก็ควรจะต้องทำความรู้จักกับเด็คเหล่านี้เอาไว้ไม่มากก็น้อย เพื่อให้รู้ถึงจุดเด่น/จุดด้อย และวิธีการรับมือด้วยเด็คของเรา ว่าจะใส่การ์ดใบไหนเข้ามาแทรกไว้ในเด็คได้บ้าง เพื่อใช้ต่อกรกับ Meta ในปัจจุบัน

โดยการ์ดสู้ Meta ที่เราแนะนำ ก็จะเป็นพวกที่สามารถใช้งานจากบนมือได้เลย จะได้ไม่ต้องหมอบไว้ให้เสี่ยงต่อการโดนทำลายตัดหน้าไปก่อน ซึ่งการ์ดที่ว่า มีที่ใช้โดยแพร่หลายดังนี้

Ash Blossom & Joyous Spring สุดยอดอรรถประโยชน์ที่ใช้ขัดจังหวะไม่ให้อีกฝั่งได้ Search การ์ดที่ต้องการจากเด็คขึ้นมาไว้บนมือ, ลงสุสาน หรืออัญเชิญแบบพิเศษ

Maxx “C” ทุกครั้งที่ศัตรูอัญเชิญแบบพิเศษ เราจะได้จั่วการ์ด 1 ใบ จึงสามารถใช้เพื่อกดดันศัตรูได้ ว่าในเทิร์นนั้นควรจะรำคอมโบยาว ๆ ของตัวเองเลยดีหรือไม่ แลกกับการที่เราได้จั่วการ์ดจนล้นมือไปหมด

Effect Veiler ทำให้เอฟเฟคต์ของมอนสเตอร์ฝ่ายตรงข้ามไร้ผลได้ทันที ขัดจังหวะมอนสเตอร์ตัวสำคัญที่กำลังจะเรียกพวกอีกเป็นขโยงลงสู่สนาม

Nibiru, the Primal Being “บูชายัญ” มอนสเตอร์ทุกตัวในสนาม แล้วส่งใบนี้ลงมาแทน (ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ยากเกินไป) มีประโยชน์มากเพราะสามารถขัดคอมโบอีกฝ่ายได้อย่างสาหัส หากใช้ถูกจังหวะ ที่สำคัญคือการบูชายัญนั้นถือเป็นการส่งการ์ดลงสุสานที่หาวิธีป้องกันได้ยากที่สุด

Infinite Impermanence ใช้จากบนมือได้หากเราไม่มีการ์ดในสนาม ซึ่งถ้าเราเริ่มเล่นทีหลังศัตรู ก็สามารถใช้การ์ดนี้ขัดเอฟเฟคต์มอนสเตอร์อีกฝ่าย หรือขัดการ์ดเวทไปได้พร้อม ๆ กัน (วางการ์ดไว้ให้ตรงคอลัมน์กับเวทที่จะใช้ขัด)

.

ทั้งหมดนี้ก็เป็น 10 เทคนิคเบื้องต้นเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับเกมได้อย่างรวดเร็ว โดยเราก็หวังว่าจะพอมีส่วนช่วยให้ทุกคนได้พบกับแนวทางที่ใช่ และมีความสุขกับการได้ลองเล่นเด็คใหม่ ๆ ต่อไปในวันข้างหน้า

Yu-Gi-Oh! Master Duel เปิดให้เล่นฟรีทั้งบนมือถือระบบ iOS/Android, PlayStation 5, PlayStation 4, Xbox Series X|S, Xbox One, Nintendo Switch, PC (Steam) ซึ่งสำหรับ Steam จะล็อคโซนไม่ให้เข้าหน้าร้านค้าของเกม แต่หากเคยดาวน์โหลดลงเครื่องมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็สามารถเปิดเล่นได้อีกเรื่อย ๆ ไม่มีปัญหา

Satthathan Chanchartree

ฟ่าง - Content Writer

Back to top