BY KKMTC
3 Sep 20 6:25 pm

ไขปริศนา การ์ดจอ Reference และ Founders Edition แตกต่างจากการ์ดจอทั่วไปอย่างไร

547 Views

ถึงแม้ทุกคนจะทราบอยู่แล้วว่าการ์ดจอเป็นอุปกรณ์ PC ที่เปรียบเสมือนเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเล่นเกม

แต่แน่นอนว่าถ้าหากเกมเมอร์ที่มีแผนอยากอัปเกรด PC แล้วพยายามสอดส่องการ์ดจอที่คิดว่า “ใช่” สำหรับท่าน คุณจะต้องสับสนไม่ใช่น้อยว่าระหว่างการ์ดจอ Reference และการ์ดจอ Founders Edition มีความแตกต่างกันตรงไหน แล้วทำไมทั้งสองการ์ดจอจึงมีราคาขายที่ต่างกัน

บทความนี้จะเป็นการไขปริศนาที่ทำให้คุณเข้าใจการ์ดจอ Reference และ Founders Edition มากยิ่งขึ้น แล้วมันแตกต่างกันขนาดไหน สามารถรับชมได้เลย

การ์ดจอ Reference

GTX 1060

การ์ดจอ Reference คือการ์ดจอรุ่นต้นแบบ (บางคนเรียกว่าการ์ดจอมาตรฐาน หรือการ์ดจอปกติ) ที่บริษัท Nvidia หรือ AMD ได้คิดค้นและผลิตขึ้นมาเอง โดยการ์ดจอดังกล่าวมักมาพร้อมกับสเปก GPU และ Memory แบบมาตรฐานที่ผ่านการตั้งค่าโดย Nvidia หรือ AMD มาแล้ว ทำให้การ์ดจอ Reference มักถูกส่งต่อไปหรือจำหน่ายให้กับบริษัทผลิตการ์ดจอชั้นนำหลายแห่ง เพื่อให้พวกเขานำการ์ดจอไปดัดแปลงสเปก เติมแต่ง หรือเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อผลิตเป็นการ์ดจอ Non-Reference แล้วส่งออกวางจำหน่ายทั่วประเทศในราคาขายที่แพงขึ้นหรือถูกลงจากราคาเริ่มต้น

อย่างไรก็ตาม การ์ดจอ Reference ไม่เหมาะสำหรับการ Overclock สักเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการตั้งค่า เพื่อรักษาสเปกตามมาตรฐานของการ์ดจอไว้ รวมถึงไม่วางจำหน่ายตามตลาดเยอะเท่ากับการ์ดจอ Founders Edition และ Non-Reference จึงค่อนข้างหาซื้อยาก แต่ข้อดีคือการ์ดจอดังกล่าวมักจะขายในราคาถูก หรือขายราคาเริ่มต้นตามที่เว็บไซต์ทางการระบุไว้

การ์ดจอ Founders Edition

Nvidia Geforce GTX 1070 Founders Edition

นับตั้งแต่ Nvidia เปิดตัวและวางขายการ์ดจอซีรีส์ 10 เป็นต้นไป ทางบริษัทได้เริ่มเรียกการ์ดจอ Reference ของตัวเองว่าเป็นการ์ดจอ Founders Edition

Founders Edition เป็นการ์ดจอรุ่นพิเศษของ Nvidia ที่มีคุณสมบัติสเปกตรงกับรุ่น Reference ทุกประการ โดยการ์ดจอ Reference จะทั้งผลิตโดยบริษัท Nvidia และบริษัทผลิตการ์ดจอชั้นนำ เช่น Zotac, MSI, Asus, Gigabyte หรือบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย

แม้การ์ดจอ Founders Edition จะมีประสิทธิภาพและรูปร่างหน้าตาคล้ายการ์ดจอรุ่นต้นแบบทุกอย่าง แต่การ์ดจอ Founders Edition จะมีราคาขายแพงกว่า Reference รวมถึงขีดจำกัดในการ Overclock ต่ำกว่าการ์ดจอ Non-Reference เนื่องจากฮีตซิงก์และพัดลมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อสำหรับการ Overclock

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้การ์ดจอ Founders Edition จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมในการซื้อเพื่อการใช้งานจริงสักเท่าไหร่ เนื่องประสิทธิภาพของการ์ดจอไม่สามารถสู้เทียบเท่าการ์ดจอ Non-Reference และมีราคาแพง แต่หลายคนซื้อการ์ดจอ Founders Edition เพื่อสำหรับการสะสมซะมากกว่า

การ์ดจอ Non-Reference

ZOTAC Geforce GTX 1060 3GB GDDR5 mini

การ์ดจอ Non-Reference เป็นการสวนทางกับการ์ดจอ Reference อย่างเห็นได้ชัด เพราะการ์ดจอ Non-Reference จะมีประสิทธิภาพ GPU และ Memomy ดีกว่ารุ่นต้นแบบ และ Founders Edition เพราะผ่านการดัดแปลงโดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับแต่งสเปกการ์ดจอโดยเฉพาะ

การ์ดจอ Non-Reference คือการ์ดจอที่ผ่านการปรับจูน ตั้งค่า หรือเติมแต่งฟีเจอร์ใหม่ให้แตกต่างจากรุ่น Reference ซึ่งการ์ดจอแบบ Non-Reference ส่วนใหญ่ ถูกสร้างโดยบริษัทผลิตการ์ดจอชั้นนำ เช่น ZOTAC, MSI, Asus, Gigabyte และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสำหรับวางจำหน่ายส่งออกเป็นจำนวนมาก

เนื่องจากการ์ดจอ Non-Reference มีการดัดแปลงสเปก ปรับขนาด ใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ที่บริษัทผลิตได้ออกแบบใช้งานเอง และเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การ์ดจอบางรุ่นใช้ชื่อว่า OC ต่อท้าย เพื่อบอกว่าเป็นการ์ดจอที่ผ่านการปรับแต่ง Overclock มาเรียบร้อย, มีไฟประดับ RGB, เพิ่มพัดลม หรือระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิการ์ดจอ ซึ่งยิ่งมีฟีเจอร์หรืออุปกรณ์เยอะเท่าไหร่ ตัวการ์ดจอจะยิ่งมีราคาแพงขึ้นเท่านั้น จึงทำให้การ์ดจอ Non-Reference อาจมีราคาขายแพงขึ้นหรือถูกลงจากราคาเริ่มต้น

แต่ถึงอย่างนั้น การ์ดจอ Non-reference หลายรุ่นก็ยังขายราคาถูกกว่า Founders Edition ยกเว้นแต่หากตัวการ์ดจอมีระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ก็อาจจะขายราคาที่แพงกว่า Founders Edition ก็เป็นไปได้

สรุป

หลังจากเราได้อธิบายการ์ดจอรูปแบบต่าง ๆ แล้ว เราสามารถสรุปการ์ดจอของแต่ละแบบได้ดังนี้

การ์ดจอ Reference คือการ์ดจอต้นแบบของ Nvidia หรือ AMD ที่บริษัทผลิตการ์ดจอชั้นนำส่วนมาก นำการ์ดจอดังกล่าวมาใช้อ้างอิงสเปก เพื่อทำการดัดแปลง หรือเติมแต่งฟีเจอร์ แล้วไปผลิตการ์ดจอของตัวเอง เพื่อออกวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยการ์ดจอ Reference จะค่อนข้างหาซื้อยาก และมีราคาถูก

ส่วนการ์ดจอ Founders Edition ก็คือการ์ดจอ Reference ที่ถูก Nvidia นำมาเปลี่ยนชื่อใหม่ แล้วเอามาวางขายตามท้องตลาดด้วยราคาที่แพง โดยหน้าตาและสเปกยังคงเหมือนกับการ์ดจอ Reference เป๊ะ

และสุดท้าย การ์ดจอ Non-Reference เป็นการ์ดจอที่ผ่านการปรับสเปก เพิ่มฟีเจอร์ หรือลงซอฟต์แวร์มาแล้วเรียบร้อย แม้การ์ดจอดังกล่าวจะมีตัวเลือกให้ใช้งานหลากหลาย และมีราคาหลายระดับ แต่ก็ถือว่ายังมีราคาถูกกับมีประสิทธิภาพกว่าการ์ดจอ Founders Edition

อ้างอิงข้อมูลจาก: Reference vs Non-Reference Graphics Cards Difference

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top