ในวงการเกมมิ่งทุกวันนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักคำว่าบั๊ก (Bug) หรือข้อผิดพลาดในตัวเกมอันเกิดจากการเขียนโปรแกรมที่ไม่รัดกุมหรือเขียนดักทางความผิดพลาดที่อาจเป็นไปได้ ยิ่งเกมมีขนาดใหญ่ ซับซ้อน และใช้ทีมพัฒนาจำนวนมากก็ยิ่งมีโอกาสเกิดบั๊กได้สูง
อีกคำหนึ่งที่พบกันบ่อยก็คือ Glitch (ช่องโหว่) ซึ่งมักจะใช้สลับกันไปมากับคำว่าบั๊ก แต่จริง ๆ แล้วช่องโหว่กับบั๊กเป็นคนละอย่างกัน แต่เดิมคำว่า Glitch จะหมายถึงข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก (ในขณะที่บั๊กคือเรื่องใหญ่) แต่ปัจจุบันก็มีการนำไปใช้กับวิดีโอเกมในความหมายว่า “ช่องโหว่” ซึ่งหมายถึงความผิดพลาดในการออกแบบ ไม่ใช่ความผิดพลาดของโปรแกรม
ช่องโหว่บางอย่างในเกมก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแต่อาจจะสร้างความรำคาญหรือทำให้เสียอรรถรสในการเล่นไปบ้าง แต่ในบางครั้งก็มีการนำช่องโหว่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ซึ่งการใช้ช่องโหว่นี้จะเรียกกันว่า Exploit โดยมีตั้งแต่เพิ่มความสะดวกเล็กน้อยไปจนถึงระดับโกงเกม
ช่องโหว่ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มีมานานแล้วและคิดว่าคงจะยังมีต่อไป เราลองมาดูกันว่าช่องโหว่ช่วยให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายจนใคร ๆ ก็อยากใช้กันมีอะไรบ้าง
บดบังสายตาตัวละครด้วยถัง (TES V: Skyrim)
เมื่อพูดถึง Skyrim เกมเมอร์ในยุคนี้ทุกคนก็คงร้องอ๋อเพราะเป็นภาคล่าสุดที่แสนยิ่งใหญ่อลังการของซีรีส์คลาสสิกอย่าง The Elder Scrolls บางคนอาจจะรู้จักเกมนี้เพราะความโด่งดังในแง่ของโลกที่เปิดกว้างและเนื้อเรื่องที่ลุ่มลึก แต่บางคนก็คงรู้จากมีม “ธนูปักหัวเข่า” ที่เกมเมอร์ทั่วโลกต่างขำขันจนแทบจะพูดว่า “นี่มัน Glitch แบบจงใจเอาฮาใช่ไหม?”
Skyrim มีผู้เล่นจำนวนมากและมีคอมมิวนิตี้ขนาดใหญ่ ยังคงมีผู้เล่นจำนวนมากที่เปิด Skyrim เล่นเป็นประจำและหากิจกรรมหรือเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ทำภายในเกม กระทั่งวันหนึ่งมีคนทำเรื่องตลกขำขันโดยการเอาถังหรือภาชนะต่าง ๆ ในเกมไปครอบหัวตัวละคร NPC ทั้งเมือง แต่นั่นกลับเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ว่า “ตัวละครใน Skyrim ไม่สามารถมองเห็นทะลุถังหรือของอะไรที่บังสายตาอยู่ได้”
ปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า Radiant ของ Skyrim ทำให้ตัวละคร NPC ในเกมรู้จักใช้อาวุธและความสามารถต่าง ๆ ของตัวเองในการต่อสู้ และยังดำเนินกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อย่างการกิน การทำงาน และการนอนตามเวลาที่เหมาะสมเพื่อความสมจริง รวมไปถึงคอยสอดส่องการทำผิดกฎหมายของผู้เล่นด้วย แต่ปัญญาประดิษฐ์นี้กลับมีช่องโหว่ใหญ่หลวงคือไม่ได้มองว่าการโดนเอาถังครอบหัวเป็นเรื่องผิดและไม่มีระบบหรือความสามารถที่จะเอาถังออกจากหัวตัวเอง
ระบบการมองเห็นของ NPC จะอาศัยมุมมองจากดวงตาของตัวละคร ดังนั้นเมื่อมีอะไรมาครอบไว้ก็กลายเป็นว่าดวงตาของตัวละครไม่สามารถตรวจจับอะไรได้ ทำให้ผู้เล่นที่ไล่เอาถังครอบหัว NPC ที่เป็นมิตรในเมืองไว้แล้วสามารถขโมยของทุกอย่างได้ตามใจชอบโดยไม่มีใครรู้ แม้จะขโมยกันแบบซึ่ง ๆ หน้าก็ตาม
เล่นแร่แปรธาตุจนเป็นอัจฉริยะ (TES III: Morrowind)
Morrowind ซึ่งเป็นภาคที่สามของซีรีส์ The Elder Scrolls เป็นเกมที่มีกราฟิกค่อนข้างตกยุคและระบบการเล่นที่ยากตามสไตล์เกมยุคเก่าแต่ผู้เล่นจำนวนมากต่างหลงรักเพราะเป็นเกมที่มีความลุ่มลึกและต้องอาศัยความทุ่มเทจนเกิดเป็นความผูกพันและดำดิ่งเข้าสู่โลกของเกมอย่างแท้จริง
ระบบอย่างหนึ่งที่ Morrowind มีเหมือน The Elder Scrolls ภาคอื่น ๆ คือการผสมยาหรือที่เรียกในเกมว่าการเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) แต่ระบบนี้ใน Morrowind มีช่องโหว่ใหญ่หลวงที่เปลี่ยนเกมสุดยากให้ง่ายขึ้นแบบผิดหูผิดตา
สิ่งที่ผู้เล่นต้องทำก็คือ
- รวบรวมส่วนผสมทำยาเพิ่มความฉลาด (Intelligence) ไม่ว่าจะเก็บจากข้างทางหรือหาซื้อ
- หาชุดเครื่องมือเล่นแร่แปรธาตุระดับ Master มาใช้
- ปรุงยาเพิ่มความฉลาดแล้วดื่ม
- ปรุงยาเพิ่มความฉลาดแล้วดื่มอีกซ้ำไปเรื่อย ๆ
เนื่องจากประสิทธิภาพของการปรุงยาจะคิดตามทักษะการเล่นแร่แปรธาตุและค่าความฉลาด แล้วเกมนี้ไม่มีการจำกัดค่าความฉลาดสูงสุดจากการกินยา การทำแบบนี้จะทำให้ยาที่ปรุงออกมาเพิ่มความฉลาดให้ตัวเรามากขึ้นและมากขึ้นจนสุดโต่ง โดยช่วงแรกอาจจะช้าหน่อย แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ ค่าความฉลาดจะเพิ่มแบบเท่าทวีจนถึงหลักหมื่น
แล้วหลังจากได้ค่าความฉลาดที่คิดว่าน่าพอใจ ผู้เล่นก็สามารถใช้ทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น ปรุงยาฟื้นพลัง ยาเพิ่มความแข็งแกร่ง หรือปลุกเสกอาคมใส่ไอเท็มและอาวุธ ฯลฯ ด้วยความฉลาดที่สูงจนโอเวอร์ก็ทำให้โอกาสในการทำสำเร็จแทบจะถึง 100% แถมผลลัพธ์ที่ได้ก็ทรงประสิทธิภาพสุด ๆ เอาไปขายก็ได้เงินดี เอาไว้ใช้เองก็แสนจะเทพ
Skyrim เองก็เคยมีช่องโหว่ทำนองนี้แต่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว
กอปปี้ไอเท็มแบบไม่รู้จบ (Diablo)
ในเกมแอคชั่นบู๊แหลกอย่าง Diablo ที่ไอเท็มคือส่วนสำคัญจนหลายคนต้องฟาร์มแล้วฟาร์มอีกเพื่อหาไอเท็มดี ๆ ไว้ใช้งาน การที่สามารถโกงด้วยการกอปปี้ไอเท็มได้เป็นอะไรที่แสนวิเศษ
ในโปรแกรมของ Diablo (และภาคเสริม) มีช่องโหว่ใหญ่ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถกอปปี้ของอะไรเท่าไรก็ได้ วิธีการง่าย ๆ ก็คือ
- ทิ้งของที่ต้องการกอปปี้ไว้บนพื้น
- เดินไปหยิบของชิ้นนั้น (และนำให้ยืนห่าง ๆ)
- คลิกที่ไอเท็มถูก ๆ (เช่น ขวดยาเติมพลัง) ในช่องเก็บในจังหวะที่หยิบของบนพื้นขึ้นมา
- ทิ้งไอเท็มที่คลิกจากในช่องเก็บลงพื้น
- ถ้าทำถูกจังหวะ ไอเท็มที่ทิ้งลงพื้นจะกลายเป็นกอปปี้ของไอเท็มที่เพิ่งหยิบขึ้น
ด้วยวิธีนี้ผู้เล่นสามารถกอปปี้เงิน น้ำยาขวดใหญ่ อาวุธ แหวน เกราะ ฯลฯ ได้ตามใจชอบ เพียงแค่ต้องมีเงินเอาไว้ซื้อไอเท็มถูก ๆ อย่างขวดน้ำยาเท่านั้น
Diablo II เองก็มีช่องโหว่คล้ายกันอีก 2 แบบ (อันหนึ่งของโหมดเล่นคนเดียว อีกอันสำหรับมัลติเพลเยอร์) นอกจากนี้สำหรับ Diablo II เวอร์ชันเก่าก็สามารถกอปปี้ไอเท็มทีละมาก ๆ ได้ด้วยเล่นผ่าน LAN โดยให้คนหนึ่งเป็นโฮสต์ อีกคนทิ้งไอเท็มลงพื้นแล้วออกจากเกม เอาเซฟที่เก็บไว้มาลงทับแล้วกลับเข้ามาใหม่พร้อมไอเท็มชุดเดิม
MissingNo (Pokémon ภาค Red, Blue และ Yellow)
MissingNo เป็นชื่อย่อที่มาจาก Missing Number ใช้เรียกโปเกม่อนที่เกิดจากช่องโหว่ในเกม Pokémon รุ่นที่ 1 ซึ่งมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะได้เจอ โดย MissingNo เกิดจากปัญหาการเข้ารหัสภาษาตะวันตก (เพราะเกมนี้พัฒนามาสำหรับภาษาญี่ปุ่น)
การพบกับโปเกม่อน MissingNo จำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ดังนั้นผู้เล่นที่ไม่ได้ตั้งใจจะหาช่องโหว่นี้จึงมีโอกาสพบกับ MissingNo ได้ยาก (ชื่อในเกมของผู้เล่นมีผลอย่างมากกับช่องโหว่นี้)
แต่ก็มีช่องโหว่อีกอันหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้เจอกับ MissingNo (สำหรับภาค Red และ Blue) นั่นก็คือการไปคุยกับคุณลุงที่สอนวิธีจับโปเกม่อนในเมือง Viridian City หลังจากให้คุณลุงสอนวิธีจับโปเกม่อนแล้ว ผู้เล่นจะต้องเดินทางไปยังเกาะ Cinnabar แล้วใช้ความสามารถว่ายน้ำ (Surfing) ของโปเกม่อนในการเดินเลียบไปตามชายหาด (ห้ามออกน้ำลึก) ถ้าทำตามนี้ผู้เล่นจะได้เจอกับโปเกม่อนสารพัดพันธุ์ที่มีเลเวลสูงผิดปกติรวมไปถึงมีโอกาสเจอ MissingNo ด้วย
แล้วการพบ MissingNo มีอะไรน่าสนใจ? ทุกครั้งที่ผู้เล่นพบ MissingNo จะมีช่องโหว่ที่ส่งผลให้ “ไอเท็มชิ้นที่หกในกระเป๋า” เพิ่มจำนวนขึ้นแบบไม่มีเหตุผล ด้วยวิธีการนี้ทำให้สามารถเพิ่มไอเท็มอะไรก็ได้ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นลูกอม Rare candy หรือกระทั่งสุดยอดบอลอย่าง Master ball ที่จับโปเกม่อนได้ทุกอย่างแบบไม่มีเงื่อนไข
รัวปุ่ม Select (Mega Man)
Mega Man หรือที่สมัยก่อนนิยมเรียกตามเวอร์ชันญี่ปุ่นในชื่อ Rockman เป็นเกมแอคชั่นแบบ Side-scrolling เก่าแก่ตั้งแต่ยุคแฟมิคอม (NES) ของค่าย Capcom ซึ่งกลายเป็นซีรีส์ที่คงอยู่มาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน
Mega Man เป็นหนึ่งในเกมยุคแฟมิคอมที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความยาก ไม่ว่าจะเป็นฉากสไตล์ Platformer ที่ท้าทายฝีมือไปจนถึงบอสที่สุดแสนโหด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ดินเหนียวสีเหลืองร่างยักษ์ซึ่งหลายคนยอมรับว่าเป็นบอสที่ยากที่สุดของเกม และที่โหดยิ่งกว่านั้นคือเกมนี้ไม่มีระบบการเซฟหรือติดตามความคืบหน้าในการเล่นใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้เล่นจะต้องผ่านด่าน 6 ด่านกับบอส 6 ตัว แล้วผ่านปราสาทที่เป็นฉากสุดท้ายกับบอสอีกหลายตัวรวดเดียวจบ (โดยที่มีจำนวนชีวิตจำกัด)
ถึงจะมีความยากตามสไตล์เกมยุคเก่า แต่ Mega Man กลับมีช่องโหว่แปลก ๆ ที่ทำให้เกมง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ การกดปุ่ม Select ระหว่างการเล่นจะเป็นการหยุดเกมชั่วคราวโดยตัวที่ Mega Man จะหายไปจากจอ และด้วยระบบการตรวจจับการชนกันของวัตถุที่ไม่ได้เขียนเผื่อไว้ (หรืออาจเพราะติดข้อจำกัดทางเทคโนโลยี) เลยทำให้เกิดช่องโหว่ขึ้น
การกดปุ่มต่อกันรัว ๆ จะทำให้เกมหยุดและเดินสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว หากใช้อย่างถูกต้องจะทำให้กระสุนหรือการโจมตีของศัตรูทะลุผ่านตัว Mega Man ไปโดยไม่เกิดความเสียหาย แต่ที่มักจะใช้กันบ่อย ๆ คือทำให้ศัตรูเสียพลังหลายครั้งจากการโจมตีของผู้เล่นเพียงครั้งเดียว โดยเฉพาะกับกระสุนไฟฟ้าที่ได้จากบอส Elec Man ที่บางครั้งสามารถฆ่าบอสยาก ๆ ได้ด้วยการกด Select รัว ๆ จนบอสเสียพลังหลายครั้งจากกระสุนไฟฟ้านัดเดียวจนตาย