หลังจากในเดือน มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทางบริษัท Microsoft ประกาศซื้อกิจการ Activision Blizzard ในราคารวมทั้งหมด 68,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2,272,400 ล้านบาทไทย
หลังจากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ทำให้ Microsoft จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์และ IP เกมในเครือ Activision Blizzard ทั้งหมด ตั้งแต่ Call of Duty, Warcraft, Diablo, Overwatch หรือแม้แต่ Candy Crush และรวมไปถึงพนักงานในเครือทั้งหมดกว่า 10,000 ชีวิต ทำให้ในเวลานี้ Microsoft กลายเป็นบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจาก Tencent และ Sony
อิงจากรายได้ของบริษัทใหญ่ในข้อมูลปี 2021
รายได้จากธุรกิจเกมของ Sony อยู่ที่ 20000 ล้านเหรียญ
รายได้จากธุรกิจเกมของ Tencent อยู่ที่ 13000 ล้านเหรียญ
รายได้จากธุรกิจเกมของ Activision Blizzard 8000 ล้านเหรียญ
รายได้จากธุรกิจเกม Microsoft อยู่ที่ 3500 ล้านเหรียญ
ก็ถือเป็นดีลหรือการเข้าซื้อที่สร้างความประหลาดใจไปทั้งวงการ ส่งผลกระทบในวงกว้างและถูกพูดถึงกันมาโดยตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
ในแถลงการณ์ตอนประกาศเข้าซื้อนั้นทาง CEO ของ Microsoft คุณ สัตยา นาเดลลา ออกมาบอกว่าเป็นการลงทุนในภาคส่วน metaverse ซึ่งถือเป็นอนาคตที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมไอที และโดยรวมแล้วการซื้อครั้งนี้จะส่งผลให้ Microsoft มีความพร้อมในการต่อสู้แข่งขันกับบริษัทเกมอื่น ๆ ในท้องตลาด
แน่นอนว่าหลังการเข้าซื้อก็ตามมาด้วยดราม่ามากมาย Deal ขนาดนี้ก่อนจะสำเร็จได้ก็ต้องผ่านการสอบสวนกันก่อน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็แห่กันเข้ามาสอบสวน
แล้วทำไม Microsoft จะซื้อ ABK ต้องได้รับอนุมัติ ?
ก็เพราะว่าดีลระดับนี้เป็นดีลที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเกมทั้งหมด จะรายเล็กรายใหญ่ ค่ายอินดี้ ทีมงานยักษ์ใหญ่ แล้วก็ผู้บริโภค ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่มีการผูกขาดตลาดเกิดขึ้นนั่นเอง
จริง ๆ แล้วการเข้าซื้อครั้งนี้ก็มีการสอบสวนกันทั่วโลก แต่หลัก ๆ แล้ว Microsoft ต้องได้รับการเห็นชอบจากสามองค์กรใหญ่ 1. FTC คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตอนนี้การสอบสวนผ่านช่วงแรกไปแล้ว และก็กำลังเข้าสู่ช่วงที่สอง 2. CMA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร อันนี้การสอบสวนอยู่ในช่วงแรกและจะสิ้นสุดกันช่วงต้นเดือนกันยายน 3. คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission ซึ่งการสอบสวนของฝั่งนี้ยังไม่เริ่มต้นขึ้น
ขั้นตอนการสอบสวนเป็นยังไง ?
ขั้นแรกจะเป็นการรวบรวมคำถามส่งไปถามความเห็นจากเหล่าคู่แข่งของบริษัท Microsoft ได้ธุรกิจวิดีโอเกม เนื้อหาของคำถามก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการแข่งขัน การผูกขาดตลาด การพัฒนาของวงการเกมโดยรวมในอนาคต หรือจะเกิดอะไรขึ้นหาก Microsoft เข้าซื้อ Activision Blizzard สำเร็จจริง
ถ้าเป็นการรวมกิจการขนาดเล็ก ส่วนใหญ่แล้วหากได้รับการยินยอมกันตั้งแต่ขั้นตอนแรกก็จะได้รับการอนุมัติให้เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการกันได้ แต่พอเป็นกิจการขนาดใหญ่ก็จะขั้นตอนที่สองต่อมา โดยขั้นที่สองก็จะเป็นการลงมือทำงานวิจัย มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อสืบหาผลกระทบออกมาเป็นข้อมูลตัวเลขจริง ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก Microsoft ซื้อ Activision Blizzard ได้สำเร็จ
ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้น หากหนึ่งในสามองค์กรนี่ไม่เห็นชอบในการเข้าซื้อครั้งนี้ ก็ต้องบอกก่อนว่าที่สามองค์กรนี้สำคัญมากก็เป็นเพราะว่า ทั้งสามมีอำนาจในการสั่งบล็อกการซื้อขายที่กำลังเกิดขึ้น อาจถึงขั้นทำให้ดีลต้องถูกล้มเลิก หรืออาจจะมีการยื่นข้อจำกัดบางอย่างเข้ามาในตัวสัญญาถึงจะยินยอมให้มีการซื้อขายกันได้
ยกตัวอย่างข้อจำกัดก็เช่น Microsoft อาจจะต้องยืนยันว่าเกมของ Acitivision Blizzard จะลงให้กับ Console อื่นต่อไป หรือ Microsoft ต้องสัญญาให้ Acitivision Blizzard มีอำนาจในการบริหารตัวเอง ซึ่งข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นก็อาจมีได้มากมายหลายรูปแบบ
อย่างไรก็ตามในช่วงวันที่ 1 เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องราวการเข้าซื้อครั้งนี้ก็กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งเพราะเอกสารจากคณะกรรมการคุ้มครองเศรษฐกิจของบลาซิลมีการถูกเปิดเผย โดยเนื้อหาก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก
หลักใหญ่ใจความแล้วก็เป็นข้อมูลความคิดเห็นของฝั่ง Sony ที่ดูจะไม่ค่อยพอใจการเข้าซื้อที่กำลังเกิดขึ้น โดย Sony ให้เหตุผลเอาไว้สองข้อใหญ่ ๆ ก็คือ ตัวเกม Call of Duty เป็นเกมที่ยิ่งใหญ่อย่างมากในตลาดและส่งผลกระทบต่อวงการเกมได้หากถูกยึดไปอยู่กับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และระบบ Game Pass ของ Microsoft ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การผูกขาดตลาดในอนาคต
ล่าสุดฝั่ง Microsoft ก็ออกมาตอบโต้ โดยยืนยันว่า Call of Duty จะลงให้กับทุกเครื่องต่อไป และเกมตระกูลนี้ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไร้คู่แข่งขนาดนั้น สุดท้ายแล้ว Call of Duty ก็ยังต้องแย่งชิงผู้เล่นจากเกมอื่น ๆ ในตลาดเช่นกัน โดยค่ายอย่าง Epic หรือ nintendo ก็อยู่ได้ถึงไม่มี Call of Duty
ส่วนปัญหาด้าน Game Pass นั้น Microsoft ก็บอกประมาณว่า Sony รู้สึกถูกคุกคามเพราะ Game Pass เข้ามาเพิ่มความคุ้มค่าแบบใหม่ให้กับลูกค้า โดยแตกต่างจากโมเดลธุรกิจซื้อขาดแบบเดิมที่ Sony ประสบความสำเร็จอยู่ หรือพูดง่าย ๆ คือ Sony รู้ตัวว่าสู้ไม่ได้ในโมเดลนี้และพยายามหาทางเลี่ยงการต่อสู้ในระบบ Streaming
และ Sony ก็ใช้เกม Exclusive เป็นโมเดลธุรกิจหลักมาตลอด ซื้อเกมไปลงแบบ Exclusive ทำ Marketing แบบ Exclusive หรือ DLC Exclusive จนถึงขั้นมีการโจมตีว่า Sony ลงทุนในการกีดกัน Gamepass ถึงขั้นมีการจ่ายเงินให้ค่ายเกมเพื่อไม่ให้ทำเกมหรือ Content ไปลง Gamepass และ Streaming เจ้าอื่นที่ชื่อถูกเซนเซอร์
สรุปส่งท้าย
ตอนนี้การเข้าซื้อกำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนจากองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งน่าจะกินเวลาอีกหลายเดือน และเป็นช่วงเวลาสำคัญชี้เป้นชี้ตายในดีลยักษ์ระดับโลกของวงการเกมครั้งนี้
ทาง Microsoft เองออกมาประเมินเอาไว้ว่าการเข้าซื้อน่าจะแล้วเสร็จ สำเร็จปิดงานได้จริงในช่วง กลางปี 2023 แฟน ๆ ฝั่ง Xbox ก็เฝ้ากันต่อไปก่อนในตอนนี้