ในจักรวาลวิดีโอเกมต่าง ๆ มีตัวละครมากมายนอกเหนือจากตัวเอกและตัวละครหลักที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องโดยตรงหรือที่เรียกกันว่า “ตัวประกอบ” หรือ “ตัวละครเสริม” ซึ่งตัวประกอบเหล่านี้ก็มีหน้าที่ บทบาท และความสำคัญแตกต่างกันไปตามแต่ผู้พัฒนาจะรังสรรค์
ถึงแม้ว่าตัวประกอบจะไม่ใช่ตัวละครเด่น แต่ก็มาช่วยสร้างสีสันหรือเสริมช่องโหว่ในจุดต่าง ๆ บางครั้งตัวประกอบเหล่านี้ก็มีความลึกลับหรือมีบทบาทน้อยมากแต่กลับกลายเป็นที่จดจำของเกมเมอร์ทั่วโลก และหากขาดตัวประกอบนั้นไปแล้ว เกมนั้นก็คงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
เรามาลองดูกันว่าตัวประกอบลึกลับที่ตัวเอก (และผู้เล่น) แทบจะไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยแต่กลับมีความสำคัญและกลายเป็นที่จดจำมีใครกันบ้าง
*คัดเลือกมาบางส่วน เน้นตัวละครที่ไม่มีเปิดเผยภูมิหลังทั้งในวิดีโอเกมและเนื้อหา Tie-in
พ่อค้า (Resident Evil 4)
RE4 เป็นเกมแรกที่พลิกโฉมซีรีส์ Resident Evil จากเกมสยองขวัญมุมมองแบบกล้อง CCTV ให้กลายเป็นเกมเดินยิงมุมมองบุคคลที่สามแบบข้ามหัวไหล่จนเป็นที่ฮือฮาและกลายเป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุดตลอดกาลสำหรับเกมเมอร์จำนวนไม่น้อย
แต่ก็ไม่ได้มีเพียงแค่นั้นเพราะ RE4 ได้นำระบบการเงินและระบบซื้อของใส่เข้าไปในเกมด้วย เจ้าหน้าที่พิเศษ Leon จะได้พบกับ “พ่อค้า” ลึกลับในชุดเสื้อคลุมมิดชิดที่หลบอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ ของพื้นที่ห่างไกลในยุโรปซึ่งเป็นฉากหลักของเกม โดยจุดเด่นของพ่อค้าคือจะมีคบไฟสีน้ำเงินบ่งบอกเป็นสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้แต่ไกล นอกจากจะสามารถเอาเงินไปซื้ออาวุธและอัพเกรดต่าง ๆ ได้แล้ว พ่อค้ายังรับซื้อไอเท็มหรือสมบัติที่เก็บได้จากตามข้างทางอีกด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าพ่อค้านี้เป็นใครมาจากไหนแล้วทำไมถึงมาซื้อขายของกับ Leon แต่ก็มีทฤษฎีต่าง ๆ มากมายว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้มีแต่คนเดียวแต่มีเป็นทีมหรือสมาคม และด้วยดวงตาเรืองแสงทำให้มีคนคิดว่าน่าจะเป็นพวก Ganado (ชาวบ้านที่ติดเชื้อปรสิต Las Plagas) แต่ก็ยังไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นมิตรกับคนนอก แต่ที่แน่ ๆ หากไม่มีพ่อค้าลึกลับนี้อยู่ Leon คงรู้สึกว้าเหว่ไม่น้อย
นางพยาบาล (The Evil Within)
The Evil Within เกมแอคชั่นสยองขวัญเอาชีวิตรอดจากฝีมือ Shinji Mikami (ผู้สร้าง Resident Evil) มาพร้อมกับเรื่องราวเขย่าขวัญสั่นประสาทและความลึกลับที่ซ่อนอยู่ในทุกย่างก้าว
ในช่วงแรกของเกม นักสืบ Sebastian Castellanos (นามสกุลเป็นภาษาสเปนอ่านว่า คาสเตลยาโนส์) จะหลุดเข้าไปในโรงพยาบาลเก่า ๆ โทรม ๆ แห่งหนึ่งและได้พบกับนางพยาบาลที่ตัวทำเหมือนไม่มีเรื่องอะไรผิดปกติอะไรทั้งสิ้น นางพยาบาลลึกลับคนนี้จะคอยช่วยเหลือและแนะนำ Sebastian ในด้านต่าง ๆ โดยทำหน้าที่เหมือนคนคอยแนะนำระบบบางส่วนของเกม
ภายหลัง Sebastian จะพบกับป้ายประกาศหาคนหายในโรงพยาบาลพร้อมรูปของนางพยาบาลคนนี้และชื่อ Tatiana Gutierrez แต่หลังจากนั้นนางพยาบาลก็จะหายตัวไปแล้วไม่ปรากฏตัวอีกเลยตลอดทั้งเกม
นักสืบ Sebastian ได้พบกับนางพยาบาล Tatiana อีกครั้งใน The Evil Within 2 ซึ่งเป็นภาคต่อแต่ Tatiana ก็ยังคงทำตัวเหมือนไม่มีอะไรผิดปกติและอยู่ช่วยเหลือ Sebastian ในสำนักงานตลอดจนจบเกม
สุดท้าย นอกจากชื่อและหน้าตาก็ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้ว Tatiana Gutierrez เป็นใครมาจากไหน และถึงจะไม่มีบทบาทสำคัญในเชิงเนื้อหาแต่ถ้าขาดนางพยาบาลหน้านิ่งคนนี้ไป The Evil Within ก็คงจะไม่เหมือนเดิม
พ่อค้าขายหน้ากาก (Legend of Zelda)
พ่อค้าขายหน้ากาก (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Happy Mask Salesman) ปรากฏตัวในซีรีส์ Legend of Zelda ครั้งแรกในภาค Ocarina of Time โดยเปิดร้านขายหน้ากากอยู่ในเมืองรอบปราสาท Hyrule ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและให้คนอื่น (รวมถึง Link ที่เป็นตัวเอก) ยืมหน้ากากไปเพื่อหาคนซื้อ จุดมุ่งหมายของพ่อค้าคนนี้คือให้คนซื้อได้พบความสุขที่แท้จริงแล้วตัวเองก็ได้กำไร แต่ถ้าใครขายหน้ากากแล้วไม่ได้เอาเงินกลับมาด้วย พ่อค้าหน้ายิ้มก็พร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นหน้าโหดเอาตายได้ทันที
นอกจากนี้ พ่อค้าขายหน้ากากยังปรากฏตัวใน Majora’s Mask และ Oracle of Ages อีกด้วย โดยมีบทบาทสำคัญในภาค Majora’s Mask คือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหายนะที่ Link ต้องมาหยุดยั้ง
พ่อค้าขายหน้ากากเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยปริศนาลึกลับ ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร (หรืออะไร) มาจากไหน และทำไมถึงหมกมุ่นกับเรื่องหน้ากาก ใบหน้าเปื้อนยิ้มที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นหน้าโหดได้ทุกเวลาก็ชวนขนลุก ทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับพ่อค้ารายนี้ก็ไม่เคยได้รับการยืนยันใด ๆ จากผู้พัฒนา
G-man (Half-Life)
G-man คือชายแก่ลึกลับในชุดสูทที่ปรากฏตัวออกมาเป็นระยะใน Half-Life ภาคแรกและคอยเฝ้ามองตัวละครหลัก Gordon Freeman อยู่ห่าง ๆ จนกระทั่ง Gordon สามารถเอาชนะบอสของเกมลงได้ G-man จึงมาปรากฏตัวและยื่นข้อเสนอให้ และทำให้ Gordon หลับไปก่อนจะปล่อยตัวออกมาอีกครั้งใน Half-Life 2 และภาคเสริมอีก 2 ภาค
นอกจากชุดสูทเรียบกรอบและวิธีการพูดนิ่ง ๆ เหมือนคนไร้อารมณ์ G-man ยังมีความสามารถในการเดินทางข้ามมิติและเวลาได้ค่อนข้างอิสระ และ Gordon ยังได้รู้ความจริงว่าชายแก่ในชุดสูทคนนี้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์หลายอย่างรวมไปถึงทำให้เกิดอุบัติเหตุในห้องวิจัยทำให้เกิดประตูเชื่อมต่อกับมิติ Xen จนกลายเป็นเรื่องราวของ Half-Life ภาคแรก
G-man ไม่ใช่ตัวร้ายที่ Gordon ต่อกรด้วยโดยตรงแต่ก็เปรียบเสมือนผู้ชักใยเหตุการณ์อยู่เบื้องหลัง เกมเมอร์ต่างตั้งทฤษฎีต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับ G-man ตั้งแต่นักเดินทางต่างมิติซึ่งทำงานให้กับองค์กรหรือกองกำลังจากมิติอื่นไปจนถึงเป็น Gordon Freeman จากโลกอนาคต (G-man อาจย่อมาจาก Gordon Freeman) แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครล่วงรู้ตัวตนและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง G-man จนถึงปัจจุบัน
ความจริงเป็นอย่างไรและ G-man เป็นเพียงตัวประกอบหรือเป็นตัวร้ายที่แท้จริง คงเป็นคำตอบที่เกมเมอร์ได้แต่ตั้งตารอกันต่อไป