พูดถึงเรื่องการเสี่ยงดวง เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายย่อมหนีไม่พ้นคำยอดฮิตติดปากที่เรียกกันว่า “กาชา” แต่จริง ๆ แล้วเรารู้ที่มาของมันหรือไม่ และมากกว่าระบบกาชาทั่วไป มันยังมีรูปแบบ หรือ Type ของมันอีกต่างหาก วันนี้เรามาทำความรู้จักกับคำว่า กาชา หรือกาชาปอง โมเดลเกมยอดนิยมในยุคปัจจุบันกันว่า มันมีที่มาอย่างไร
อะไรคือ “กาชาปอง”
จริง ๆ แล้วกาชาปอง คือ ตู้หยอดเหรียญชนิดหนึ่ง เมื่อเราหยอดเหรียญเข้าไปในตู้แล้ว ก็จะสุ่มได้ของที่อยู่ในตู้ออกมา ในแต่ละตู้ก็จะมีตัวละคร หรือสิ่งของที่หายาก ถ้าเป็นแต่ก่อนเราจะเรียกกันว่า “ตัวแรร์” อะไรประมาณนั้น ทีนี้เมื่อมันถูกนำมาใส่เป็นโมเดลเกมยุคปัจจุบัน ระบบการทำงานของมันจะคล้าย ๆ กันก็คือ เราจะใช้จ่ายเงินจริง เพื่อเปิดกล่องสุ่มไอเทม (เหมือนยอดเหรียญเงินเข้าไปในตู้นั่นแหละ) และได้รับไอเทม ตัวละคร หรือของขวัญ ซึ่งในนั้นก็จะมีไอเทมหายาก ตัวละครหายาก อยู่
ปัจจุบันเกมที่นิยมเอาโมเดลนี้ไปใส่ไว้ในเกมจะเป็นเกมจำพวกเกมมือถือทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกมยอดนิยม Fate/Grand Order , Animal Crossing Pocket Camp , Puzzle & Dragons , Granblue Fantasy เป็นต้น
โดยในเกมเหล่านี้จะมีสิ่งที่บอกไปข้างต้นคือตัวละคร หรือไอเทมหายาก ที่ต้องเปิดหาเอาจากสิ่งที่เรียกว่ากาชาปองเท่านั้น ยิ่งบางตัวเป็นตัวกิจกรรม มีเวลาจำกัดในการไขตู้กาชาหา ทำให้บางคนยอมทุ่มทุน เพื่อคว้ามาเป็นเจ้าของก็มีให้เห็นเยอะแยะ เชื่อว่าผู้อ่านที่อ่านกันอยู่นี้ก็อาจจะมีบางคนที่เคยทำแบบนี้เช่นกัน
หลาย ๆ เกมนั้นอาจจะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยระบบกาชา และบางเกมก็มีโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม หมุน 10 แถม 1 หรือลดราคาเป็นช่วง ๆ แต่สำหรับเหล่าเกมเมอร์ใจร้อน ก็คงไม่มีใครรอช่วงลดราคากันอยู่แล้ว
ประเภทของการไขกาชาแต่ละแบบ
หลายคนอาจไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้ว เจ้ากาชาปองเนี่ย มีประเภทและหมวดหมู่ของมันอยู่ด้วย วันนี้เรามาเปิดโพยดูกันว่า การไขกาชาแต่ละแบบนั้น แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งประเภทกาชาแต่ละแบบถูกหยิบยกมาพูดถึงทั้งที่เราเจอได้ในเกม และที่เป็นตู้กาชาจริง ๆ
- Complete Gacha (กาชาโดยสมบูรณ์แบบ) กาชาแบบคอมพลีทนี้จะเป็นกาชาแท้ ๆ ตรง ๆ ไม่มีลูกเล่นอะไรเลย ในตู้กาชาอาจจะมีไอเทมหายากอยู่ ชิ้นแรก ๆ อาจจะออกง่าย แต่พอเหลือน้อยชิ้นนั่นล่ะ หนังชีวิต อาจจะต้องขายบ้านขายรถมาเปย์เลยก็เป็นได้
- Box Gacha (ระบบกล่องกาชา) กาชาประเภทนี้ ค่อนข้างยุติธรรมและแฟร์กับผู้เล่นมากกว่า เพราะกล่องกาชาประเภทนี้ เมื่อเราไขไปเรื่อย ๆ ไอเทมหรือของในตู้ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ จนหมดตู้นั่นเอง ทำให้มีโอกาสได้สูงกว่าประเภทแรก
- Redraw Gacha (หรือที่เรียกว่า รี-โรล) เป็นประเภทที่เราน่าจะพบเห็นได้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะกับเกมมือถือยุคนี้สมัยนี้ เมื่อสร้างไอดีใหม่ เรามีโอกาสจะสุ่มกาชาได้ฟรี ๆ และแน่นอนว่ามันมีโอกาสได้ตัวหายาก หรือตัวเทพตั้งแต่เริ่มเกม ถ้าไม่ได้ ก็จะมีคนที่ลบไอดีทิ้ง แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ จึงเรียกว่าการ Redraw หรือ Re-Roll นั่นเอง แต่บางเกมก็เสนอฟีเจอร์นี้ให้ฟรี ๆ ไม่จำเป็นต้องลบไอดีทิ้ง C
- Consecutive Gacha เป็นอีกหนึ่งระบบ และหนึ่งประเภทตัวช่วยของผู้ใช้จ่าย โดยยิ่งผู้เล่นจ่ายเงินไขกาชามากขึ้น ก็จะยิ่งมีโอกาสเป็น % สะสมให้ได้ไอเทมที่ต้องการมากยิ่งขึ้น หรืออีกรูปแบบจะเป็นการจ่ายเงินตูมเดียวใหญ่ ๆ เพื่อการันตีว่าจะได้แน่นอนก็เช่นกัน
- Step-Up Gacha อันนี้จะทำงานคล้าย ๆ กับ Consecutive เพียงแต่จะเน้นการไขกาชาแบบเดี่ยว ๆ ยิ่งผู้เล่นไขตู้เดิม ซ้ำไปซ้ำมามากขึ้น โอกาสการได้ไอเทมก็จะสูงขึ้น แต่เงินที่ใช้จ่ายในการไขก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เรียกได้ว่าเป็นประเภทของกาชาที่เกมเมอร์บ้านเราน่าจะคุ้นกันดี เพราะหลาย ๆ เกมในประเทศไทยก็ใช้ระบบตามกล่าวมาซะเยอะ แต่ใครจะได้ของดีหรือของเกลือ อันนี้ก็คงต้องไปวัดดวงกันเอาเองแล้ว
ระบบนี้ช่วยให้ผู้พัฒนาเกมมีรายได้ แต่อีกแง่หนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นการพนัน
เหล่าผู้พัฒนานั้น ถึงกับยอมรับว่าระบบนี้สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับเกมของพวกเขา เพราะคนที่ยินยอมจ่ายนั้นมีอยู่เยอะมาก สามารถดูตัวอย่างได้จากเกมชื่อดังอย่าง Fate/Grand Order ที่รายได้ทะลุแทบจะทุกปี ๆ
มีการถกเถียงกันมาตลอดว่า เหล่าเกมเมอร์เล่นเกมประเภทนี้เพราะต้องการจะรวบรวมไอเทม หรือสิ่งที่ตนอยากได้อยากมีให้ครบ จึงยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อสะสมไอเทม หรือของหายากเหล่านี้ หรือบางทีก็เพียงเอาไว้อวดคนอื่น หรือทำให้ตัวเองโดดเด่นในเกม และอีกอย่างหนึ่งคือ มันมีคุณค่าทางจิตใจนั่นเอง
ในปี 2012 มีการตีพิมพ์บทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นว่า ผู้พัฒนาอาจจะใช้ระบบนี้หากินกับเหล่าเด็กไร้เดียงสาเพื่อทำกำไร และหลอกล่อให้เสียเงินมากขึ้น จนกระทั่งถูกมองว่ามันเป็นการพนันในอีกรูปแบบหนึ่ง แน่นอนว่าเกมที่ใช้ระบบนี้ต้องถูกสอบสวน โดยสำนักงานกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่น ก่อนที่มันจะค่อย ๆ ปรับให้ดูเป็นมิตรกับผู้เล่นมากขึ้น ว่ากันว่าในช่วงปีหน้าที่จะถึงนี้ ทุกค่ายเกมที่มีระบบกาชา จะต้องแสดงตัวเลขอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมายด้วย
การตามล่าไอเทมในเกมด้วยระบบนี้ จะว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่งก็ว่าได้ แต่คนที่ใช้จ่ายก็อย่าลืมกำหนดปริมาณการใช้จ่ายของตัวเอง อย่าให้เดือดร้อน ไม่อย่างนั้นคงไม่ตลกแน่ถ้าเราต้องเสียเงินมากมายไปเพราะการเล่นเกม และรับไอเทมเสมือนจริงเพียงในเกมก็เท่านั้น แม้มันจะมีคุณค่าทางจิตใจก็ตาม