BY Aisoon Srikum
5 Oct 21 6:32 pm

ทำความรู้จักกับ Easy Anti-Cheat โปรแกรมป้องกันโกงเกมยอดนิยมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

1,300 Views

หนึ่งในปัญหาชวนปวดหัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนทำเกม หรือคนเล่นเกมที่ต้องเจอ นั่นคือกลุ่มคนโกง หรือพวกแฮคเกอร์ที่สนุกกับการเล่นโกงคนอื่นด้วยการใช้โปรแกรมช่วยเล่นต่าง ๆ และพบบ่อยมากในเกมออนไลน์มัลติเพลเยอร์ ไม่ว่าจะเป็น Fortnite, Apex Legends, Valorant หรืออื่น ๆ อีกมากมาย แน่นอนว่าโลกเรามีสองด้านเสมอ มีขาว มีดำ มีชั่ว มีดี มีคนทำโปรแกรมโกง ก็ต้องมีคนป้องกัน และหนึ่งในโปรแกรมป้องกันการโกงเกมที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีที่สุดในยุคนี้ก็คือเจ้าหมีสีฟ้าที่มีชื่อว่า Easy Anti Cheat หรือ EAC ที่ล่าสุด Battlefield 2042 ก็เลือกที่จะใช้โปรแกรมตัวนี้ด้วย วันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักมันให้มากขึ้นกัน

ย้อนรอยความเป็นมาของ Easy Anti-Cheat (EAC)

Easy Anti-Cheat นั้น ก่อนหน้านี้พัฒนาโดยบริษัทที่ชื่อ KAMU บริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 และพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยให้กับสื่อวิดีโอเกม และบริหารจัดการทรัพยากรซอฟต์แวร์เกม ในช่วงแรกนั้นจุดเริ่มต้นของทีมนี้ สมัยที่ยังเป็น KAMU พวกเขาเป็นเพียงหน่วยงานโซลูชั่นแบบ Third-Party ที่ทำซอฟต์แวร์ป้องกันโกงให้กับเกมอย่าง Counter-Strike ก่อนที่จะพัฒนาเรื่อยมาและบริการ Easy Anti-Cheat นั้น มีเกมที่ใช้ซอฟต์แวร์นี้ป้องกันกว่า 80 เกม และถูกติดตั้งลงบน PC ของเกมเมอร์กว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ต่อมาในปี 2018 ช่วงเดือนตุลาคม ก่อนหน้าที่แพลตฟอร์ม Epic Games Store จะเปิดตัว ทาง Epic ก็ได้เข้าซื้อกิจการของทาง KAMU และให้ใช้ชื่อ Easy Anti-Cheat เป็นชื่อบริษัทอย่างเป็นทางการด้วยเลย หลัก ๆ แล้วตัวซอฟต์แวร์นั้นเป็นบริการป้องกันการโกงและตอบโต้กับการแฮคเกมบน PC ที่มีกลไกการทำงานผสมผสานกัน

ในปี 2016 ในช่วง Dev Days ของทาง Steam นั้น พวกเขาคิดว่าการที่เกมไร้ซึ่งการโกงหรือแฮคเกอร์ จะส่งผลดีต่อทางผู้พัฒนาเกมเอง ผู้เล่นจะกล่าวชื่นชมเกม ได้รับการรีวิวที่ดี ทุกคนรู้สึกดีกับตัวเกม และอาจจะได้เม็ดเงินจากยอดคนเข้าเล่นที่มากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาไปต่อได้ หรือต่อยอดไปทำสิ่งใหม่ ๆ หรือเกมใหม่ ๆ ได้ด้วย นี่คือแนวคิดของพวกเขา แถมยังออกมาเปิดโปงแผนการธุรกิจ และการทำเงินของเหล่าแฮคเกอร์และคนทำโปรแกรมโกงจนหมดเปลือก ซึ่งใครที่สนใจก็สามารถไปรับชมแบบเต็ม ๆ ได้ที่นี่ (ซับไตเติลภาษาอังกฤษ)

ในปัจจุบัน เกมชื่อดังล้วนใช้ Easy Anti-Cheat ในการป้องกันการโกง สังเกตว่าตอนเข้าเกมจะมีการโหลดโปรแกรมบางอย่างพร้อมกับโลโก้เกมและเป็นรูปหมีสีฟ้า และหลอดโหลดสีฟ้า นั่นล่ะคือ Easy Anti-Cheat ปัจจุบันเกมดัง ๆ ที่ใช้ก็มีตั้งแต่ Apex Legends, Fortnite, Dead by Daylight, The Division 2 หรือแม้แต่ Rust และคาดว่าเกมอื่น ๆ ในอนาคตก็น่าจะต้องใช้ระบบนี้กันอีกเพียบ และเกมล่าสุดที่ประกาศใช้มาแล้วก็คือ Battlefield 2042

รูปแบบการทำงานของ Easy Anti-Cheat

ซอฟต์แวร์นี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2001 และสามารถรันได้บน macOS และ Windows นั่นหมายความว่าซอฟต์แวร์ตัวนี้อยู่คู่กับเรามาตั้งแต่ 20 ปีก่อนแล้ว (เหมือนที่เราได้เกริ่นไว้ด้านบน ว่าช่วงแรก KAMU ได้ทำงานให้กับทาง Counter Strike) แต่ทางผู้พัฒนาไม่มีทางที่จะอธิบายหรือเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าตัวซอฟต์แวร์ทำงานอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะเป็นแนวทางให้เหล่าคนโกง หาช่องโหว่ของซอฟต์แวร์และสร้างโปรแกรมโกงเกมออกมาได้อีก ในสื่อทางการตลาดและการโปรโมทซอฟต์แวร์นั้น เปิดเผยเพียงแค่ว่า มันคือแนวทางแบบไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยรหัสและการเรียนรู้ของเครื่อง

ในเอกสารต่าง ๆ ระบุว่า หากซอฟต์แวร์ตรวจจับไฟล์เกมที่ไม่รู้จัก ไฟล์ในระบบที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือสิ่งอื่น ๆ ซอฟต์แวร์จะทำงานทันที แต่ปกติแล้ว ผู้ใช้งานจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าซอฟต์แวร์กำลังทำงานอยู่ หากคุณเปิด Task Manager อาจจะเห็น EasyAntiCheat Service หรือ Easy Anti Cheat.exe ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และการทำง่านของซอฟต์แวร์นี้จะปลอดภัย และไม่รบกวนความกับความเร็วหรือการทำงานของฮาร์ดแวร์เครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด รวมไปถึงไม่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั้งสิ้น

มีระบบป้องกัน แล้วทำไมยังมีการโกงเกม ?

คำถามโลกแตก และเป็นสิ่งที่เราได้เห็นคำตอบกันอย่างชัดเจนที่สุดว่า Easy Anti-Cheat นั้น ไม่สามารถหยุดการโกงเกมได้เลย โดยเฉพาะที่หนักสุด ๆ และเห็นกันทุกวี่ทุกวันก็คือ Apex Legends และเกมอื่น ๆ อีกมาก คำถามคือระบบป้องกันนี้ ดีจริงหรือไม่ ทำไมถึงยังมีคนโกงจำนวนมากในปัจจุบัน แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ชาวไทยที่คิดอย่างนั้น แต่ชาวต่างประเทศและเกมเมอร์ต่างประเทศเองก็คิดเช่นนั้น เพียงแต่น้อยคนที่จะเข้าใจ มีคนได้อธิบายไว้ว่า แม้จะมีบริษัทที่มีมาตรการผลิตซอฟต์แวร์ต่อต้านการโกงมากแค่ไหน แต่เราทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น ในเมื่อผู้สร้างซอฟต์แวร์เองก็เป็นคน ดังนั้นหากจะมีใครสักคนหาทางเจาะช่องโหว่เพื่อแก้ทาง มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และนี่คือการต่อสู้ที่ยากลำบากมาก

ในขณะเดียวกัน ซอฟต์แวร์ตัวอื่น ๆ ที่ใช้ในการป้องกันแฮคเกอร์อย่าง Battle Eye เอง ก็ยังมีเหล่าชาวโกงเล็ดลอดออกมาให้เห็นอยู่บ้าง หรือแม้แต่เกมชื่อดังอย่าง Valorant เอง ที่ทาง Riot ออกมาเคลมว่าซอฟต์แวร์ Vanguard ของพวกเขานั้นทำงานได้ดีมากแค่ไหน ท้ายที่สุดก็ยังมีเหล่าคนโกงเกิดขึ้นในเกมอยู่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากอย่างมากในการทำเกมแบบ Multiplayer

ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะต้องเจอกับเหล่าแฮคเกอร์และคนโกงในทุก ๆ เกมอยู่ดี ไม่ว่าซอฟต์แวร์ป้องกันจะดีเลิศแค่ไหน สิ่งที่ทำได้คือหวังให้ทางผู้พัฒนาเกมจัดการมันอย่างรวดเร็วที่สุด รวมไปถึงผู้เล่นยังทำความเข้าใจ พร้อมกับบอกว่า สุดท้ายแล้ววิธีเดียวที่จะเอาชนะเหล่าแฮคเกอร์ได้ คือผู้พัฒนาเกมต้องสร้างแพลตฟอร์มในการเล่นเกมเป็นของตัวเองเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำได้ยาก หรือไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน

ท้ายที่สุดแล้ว อาจไม่มีเกมไหนที่สามารถป้องกันการแฮคหรือโกงเกมได้ 100% เต็ม แต่สิ่งที่เรายังพอมีความหวัง คือกลุ่มคนที่คอยป้องกันการโกงเกม อย่าง Easy Anti-Cheat หรือ Battle Eye รวมไปถึงซอฟต์แวร์อื่น ๆ ที่คอยป้องกันการแฮคเกม เราก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะแม้แต่เกม Single Player เองก็ยังต้องรับมือกับเหล่าคนที่คอยเจาะเถื่อนและนำตัวเกมไปแจกจ่ายฟรีเหมือนกัน

แต่ที่แน่ ๆ สำหรับตอนนี้ Easy Anti-Cheat คืออีกหนึ่งซอฟต์แวร์ที่หลายเกมนำไปใช้ และเราได้แต่หวังว่าเหล่าทีมงานจะพัฒนาจนมันมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่ดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

SHARE

Aisoon Srikum

Back to top