No Music (Game), No Life.
ประเภทเกมที่ผมหลงรักที่สุดก็คือ Music Game หรือเกมดนตรี ที่หลายคนอาจจะรู้จักกับเกมประเภทนี้ตั้งแต่ยุคสมัย PlayStation 2 อย่าง Guitar Hero แต่สำหรับผู้เขียนแล้วย้อนกลับไปในช่วงต้นปี ’00 ตามห้างสรรพสินค้า วัยรุ่นขาจรหลายคนเริ่มหันมาเล่นเกม Dance Dance Revolution จนเป็นกระแสช่วงหนึ่งได้เรียกว่าเป็น “ยุคทอง DDR ของเมืองไทย” เลยทีเดียว นั้นก็คือจุดที่ผู้เขียนได้รู้จักกับเกมดนตรีเป็นครั้งแรก
ช่วงยุคทองของ Handheld เครื่องเกมพกพาอย่าง PSP ผู้เขียนได้รู้จักกับเกมดนตรี DJMAX เป็นครั้งแรก แล้วรู้สึกเสพติดและได้ฝึกฝนจนเล่นได้ดีในระดับหนึ่ง นับแต่นั้นมาผมก็ได้หลงรักเกมประเภทนี้อย่างจริงจัง จนเริ่มหันมาเล่นเกมอาร์คาดอย่าง beatmania IIDX, Jubeat รวมไปถึง DJMAX Respect (PS4) ตอนนี้นับว่าเป็นเวลาถึง 7 ปีแล้ว ที่ผมรู้จักและยังคงเล่นเกมดนตรีอยู่จนถึงทุกวันนี้
บทความนี้จะเป็นเรื่องของ “ทำไมผมถึงรัก Music Game จนจะขาดใจ” เพราะถ้าหากผู้เขียนไม่รู้จักเกมนี้ ชีวิตคงขาดสีสันไปมากเลยทีเดียว
Easy to Play, Hard to Master (เล่นง่าย เทพยาก)
ง่ายที่ว่าก็คือกฎของเกม คือ การกดตามให้เสียงคล้องกับดนตรีพื้นหลัง เพื่อเก็บคะแนนสูงสุด และเล่นให้จบเพลง แต่จะเล่นง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่นของเกม ว่าจะนำเสนอได้ซับซ้อนแค่ไหน
บางเกมเล่นง่ายเพราะระบบใจดีไม่จำเป็นต้องกดโน้ตเป๊ะ บางเกมก็ใจร้ายต้องกดในความแม่นระดับหนึ่ง และรูปแบบเกมเพลย์เริ่มมีลูกเล่นเพิ่มเข้ามากกว่าการกดเพลงด้วยมืออย่างเดียว โดยเฉพาะเกมตู้ Arcade ที่ส่วนใหญ่จะใส่ลูกเล่นแปลก ๆ อย่างเหยีบย รูด หมุน กดค้าง และอื่น ๆ อีกมากมาย
ยิ่งลูกเล่นเยอะ ยิ่งเล่นยาก ก็จะยิ่งใช้เวลาเป็นเทพยากและนานขึ้นเท่านั้น บางเกมอาจจะใช้เวลาฝึกฝนนานปีเดียว หรือ 3-4 ปี และมากกว่านั้น กว่าจะเป็นผู้เล่นที่มีฝีมือสูงสุดในแต่ล่ะเกม
แต่การที่คุณเสียเวลาไปกับ Music Game คุณจะได้รู้สึกทุ่มเทกับเกมจริง ๆ เป็น Hard Work Paid Off ที่คุ้มค่า เหมือนเกมไฟท์ติ้ง หรือเกม FPS มีวิธีการฝึกที่แตกต่างกันไป แต่ผลลัพธ์ออกก็เหมือนกันหมด คือเริ่มต้นมาเป็น Noobie เล่นได้แค่ระดับ Normal เล่นเอาผ่าน กลายเป็น InwZa สามารถเล่นระดับ Expert ที่มีความท้าทาย เร้าใจสูงสุด เล่นแบบมีเป้าหมายหวังคะแนน ติดท็อปบอร์ดคะแนน เก็บ Achievement หรือ Full Combo ตามที่ผู้เล่นตั้งเป้าไว้
รวมไปถึงสามารถนำทักษะนี้ไปต่อยอดกับเกม Music Game อื่น ๆ ได้เช่นกัน ทำให้คุณพยายามที่จะฝึกฝน ค้นคว้าวิธีการเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา และคุณจะหลงรัก Music Game ไปตลอดกาล
คอมมูนิตี้เป็นทั้งเพื่อน ท่านอาจารย์ และคู่แข่งในเวลาเดียวกัน
ไม่มีเกมไหนไม่มีการแข่งขัน เช่นเดียวกับ Music Game เพียงแค่เล่นกับเพื่อนเป็น Player 1 และ Player 2 ก็เกิดการแข่งขันขนาดย่อม ๆ สนุกเฮฮาปาร์ตี้กันไป แต่ถ้าคุณมั่นใจในฝีมือ ก็อาจจะลองปะทะกับคนอื่นในโลกออนไลน์ หรือผู้ที่ผ่านประสบการณ์ Music Game มาเหมือนกันซึ่งผลลัพธ์จะมีอยู่ 3 อย่าง คือ อ่อนหัด โครตเก่ง กับสูสีสุด ๆ
ทั้งสามอย่างจะเป็นการสร้างแรงผลักดันให้คุณเริ่มส่องหาไอดอลผู้เล่นเก่ง เริ่มที่จะปรึกษาวิธีฝึกฝนทักษะการเล่นต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเทคนิคลับที่คุณไม่เคยรู้มาก่อนมาประยุกต์ใช้ในการเล่นเกมของคุณ และได้เริ่มเข้าสู่สังคมของเกมที่มีลักษณะผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น โดยเริ่มต้นเป็นเพื่อนและอาจารย์ และเมื่อฝีมือเทียบเท่ากับไอดอลที่นับถือ สุดท้ายจบลงด้วยเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ ก็ถือว่าจุดเด่นของสังคมเกมเมอร์ที่มีการแข่งขันตลอดเวลา แต่ก็ยังคงรักษามิตรภาพไว้ได้อยู่
เปิดโลกกว้างประเภทดนตรี ให้เราได้รู้จักมากขึ้น
ถ้าดนตรีไม่มีความเพราะ จะไปมีความหมายอย่างไร ? ใน Music Game คุณจะพบกับเพลงหลากหลายประเภทมากขึ้น ที่ไม่ใช่เพลงเมนสตรีมเปิดตามวิทยุต่าง ๆ บางเกมอาจจะซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาบ้าง แต่เพียงไม่ถึง 5% จากรายชื่อเพลงทั้งหมด
Rock Band หรือ Guitar Hero จะนำเสนอลิขสิทธิ์เพลงร็อคยุคทั้ง ’70 ’80 หรือแม้กระทั่งเพลงร่วมสมัยมาให้ผู้เล่นได้ฟัง แต่ถ้าคุณได้ลองศึกษาเพลงร็อคประเภทต่าง ๆ จะได้รู้ว่าเพลง Rock มี Sub-Genres ต่าง ๆ แยกออกไปอีก เช่น Progressive Rock, Psychedelic Rock หรือ Hard Rock และอื่น ๆ อีกมากมาย
กรณีเกมดนตรีญี่ปุ่น หรือเกมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเกมอินดี้หรือเกมรายใหญ่ ส่วนใหญ่เพลงจะเป็นผลงานออริจินัลเกือบทั้งหมด ซึ่งจะมีประเภทเพลงตั้งแต่ Electronics, Pops, Jazz, Techno, Dance หรือแม้กระทั่งเพลง Experimental (เพลงทดลอง) ที่จับประเภทเพลงนู้นมาผสมนี่จนกลายเป็นเพลงบอสที่มีความท้าทาย และเพลงมีความรู้สึกเร้าใจสุดขีดเช่นกัน
ทำให้พวกเราได้รู้ว่าเพลงมันมีอะไรมากกว่าที่เปิดตามวิทยุและโทรทัศน์ซะอีก ยังมีเพลงอีกหลายประเภทที่พวกเรายังไม่ได้รับรู้อีกมากมายทั่วโลก สารภาพเลยว่าเพราะ Music Game ทำให้ผู้เขียนได้สนใจในเรื่องของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และชอบวิเคราะห์องค์ประกอบของเพลงต่าง ๆ จนกลายเป็นว่าไม่ชอบเพลงตลาดเลยทีเดียว
สร้างแรงบันดาลใจให้เป็นอาชีพศิลปินนักดนตรี
เหมือนกับนักกีฬาระดับโลกอย่าง El Niño, Lionel Messi, Zinedine Zidane, Alessandro Del Piero และนักกีฬาฟุตบอลซุปเปอร์สตาร์อีกมากมาย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือการ์ตูนมังงะเกี่ยวกับฟุตบอลเรื่อง กัปตันซึบาสะ
Music Game ก็เช่นกัน อาจจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เล่นบางคนที่จะลองทำเพลงออริจินัลเป็นของตัวเอง หรือเริ่มหันมาเล่นเครื่องดนตรีเป็นงานอดิเรก เกมดนตรีบางเกมได้เปิดประกวดเพลงประเภทต่าง ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะตัดสินโดยทางทีมงาน ถ้าหากเพลงไหนได้รับผลโหวตมากที่สุด เพลงนั้นก็จะได้รับลงในเกมให้ผู้เล่นได้กดเพลงกันมัน ๆ ไปเลย
เป็นหนึ่งสีสันของเกมดนตรีในปัจจุบัน ที่เริ่มเปิดกว้างให้นักแต่งเพลงอิสระทั้งมือใหม่และมือโปร ให้ปล่าวประกาศศักดิ์ดาความคิดสร้างสรรค์ของตนเองผ่านในโลกของวีดีโอเกม ซึ่งมีศิลปินมากมายหลายคนเริ่มแจ้งเกิดจากเกมดนตรีแล้วเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในโซเซียล
โดยเฉพาะศิลปินญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เมื่อมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง ก็จะทำเพลงออริจินัลลงอัลบั้มของตนเอง และจำหน่ายในงาน Comiket อีเว้นท์งานโดจินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น หรือทำอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ทำเพลงให้กับโฆษณา รายการโทรทัศน์ หรือทำเพลงเป็นแขกรับเชิญให้กับวีดีโอเกมดนตรีทุก ๆ ภาค
ปัจจุบันเกมดนตรีเริ่มมีรูปแบบหลากหลาย และเข้าถึงง่ายมากขึ้น
ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น รูปแบบของเกมดนตรีก็ย่อมมีพัฒนาการเช่นกัน
ในปลายปี ’90 จนถึงต้นปี ’00 ก็ได้เกิดเกมดนตรีรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะ DDR ที่ใช้เท้าในการเหยียบเต้น หรือจะเป็น Guitarfreaks & Drummania (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า GITADORA) ที่ใช้อุปกรณ์เครื่องกลอง Yamaha DTXPRESS และจอยกีต้าร์ที่ออกแบบมาเพื่อกับเกมนี้โดยเฉพาะ
และในปี ’10 ก็ยังมีรูปแบบการเล่นเกมดนตรีแบบใหม่มาให้เล่นอยู่เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น Just Dance ของ Ubisoft เกมเต้นโดยใช้มือถือเป็นคอนโทรลเลอร์ และอื่น ๆ
ชัดเจนที่สุดก็คือ เกมมือถือ ในยุคสมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาท และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางทีมงานผู้ผลิตอินดี้หลายบริษัท เริ่มที่จะผลิตเกมดนตรีให้กับเกมมือถือ ทำให้บุคคลทั่วไปเริ่มที่จะเข้าถึงเกมดนตรีมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในวงเกมคอนโซล และเกมตู้ Arcade อีกต่อไป
โดยเฉพาะเกมญี่ปุ่น และเกาหลี ที่เริ่มใช้ศิลปินดนตรีที่มีผลงานมากมาย หรือเกมซีรี่ส์หลัก นำมาทำเป็นเกมภาค Spin-Off เป็นเกมประเภทดนตรีเช่นกัน
Music Game ทุกวันนี้ก็ยังคงแพร่กว้างอยู่เรื่อย ๆ ไม่เสื่อมคลาย เพราะนอกจากผู้เล่นเก่ายังคงเล่นเกมประเภทนี้อยู่ และคนทั่วไปก็เริ่มเข้าถึงง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่าแม้จะผ่านไปนานแค่จะ 5 ปี หรือ 10 ปี ก็เชื่อว่าเกมดนตรีก็ยังคงอยู่ในใจผมตลอดไป เพราะได้สร้างความทรงจำดี ๆ ให้ผมมากมาย