มีหลายครั้งที่เกมระดับ AAA ได้เปิดเผยคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่ถูกลบหลังจากตัวเกมปล่อยวางจำหน่าย เพื่อให้เกมเมอร์รับรู้ขั้นตอนการพัฒนาเกม แต่ทีมพัฒนาไม่ค่อยเปิดเผยเหตุผลที่ยกเลิกการสร้างคอนเทนต์สักเท่าไหร่นัก แล้วเพราะอะไร ? ทำไมเกมจึงมีการตัดเนื้อหาบางส่วนก่อนวางจำหน่ายเกม บทความนี้อาจทำให้คุณเข้าใจสาเหตุมากยิ่งขึ้น
ตัดเพราะ ‘ดูไม่จำเป็น’
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเกม AAA หรือเกมอินดี้ ทุกเกมย่อมมีต้นทุนการสร้างเกมที่จำกัด ซึ่งแน่นอนว่าบางครั้ง ทีมงานจำเป็นต้องตัดคอนเทนต์อื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อรักษางบประมาณไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าเงินเดือนพนักงาน, ค่าไฟฟ้า, ค่าเช่าตึกบริษัท, ค่าผลิตแผ่นเกมเพื่อนำไปวางจำหน่าย และเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย หรือต้องการนำประหยัดงบประมาณเพื่อพัฒนาเนื้อหา DLC ต่อ
ยกตัวอย่างเช่น Resident Evil 2 Remake ได้เคยพัฒนามุมกล้อง Fixed Camera แบบคลาสสิกที่เคยใช้ในเกมเวอร์ชันต้นฉบับ และมุมกล้อง First-Person คล้าย Resident Evil 7 แต่ Capcom มั่นใจว่ามุมกล้องแบบข้ามหัวไหล่เหมาะสำหรับเกมดังกล่าวอยู่แล้ว ทีมงานจึงตัดสินใจลบฟีเจอร์ดังกล่าวทิ้ง เพราะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป
ตัดเพราะ ‘ทำยากเกินไป’
บางทีไอเดียเกมจะดูดีใน Pipeline แต่พอเข้าขั้นตอนโปรดักชันจริง ๆ อาจกลายเป็นฝันร้ายสำหรับนักพัฒนาเกม เนื่องจากพบอุปสรรคในการสร้างมากมายกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือหากเลวร้ายสุด ทำให้การพัฒนาเกมยืดเยื้อเกินความจำเป็นและใช้งบประมาณเยอะจนไม่คุ้มค่ากับความเหนื่อย ทำให้ผู้กำกับเกมหรือโปรดิวเซอร์ตัดสินใจเลิกสร้างคอนเทนต์ดังกล่าวเพราะ ‘ทำยากเกินไป’
ยกตัวอย่างเช่น เกม TEKKEN 7 เคยมีแผนนำตัวละคร Morrigan จากเกมต่อสู้ของ Capcom อย่าง Darkstralkers มาเป็นนักสู้รับเชิญ แต่แผนดังกล่าวต้องถูกยกเลิกอย่างน่าเสียดาย โดยผู้กำกับเกม Katsuhiro Harada กล่าวสาเหตุเพราะว่าการออกแบบเกมเพลย์ของเธอให้เข้ากับ TEKKEN ใช้เวลาพัฒนาเยอะเกินความจำเป็น จึงตัดสินใจล้มเลิกการสร้างตัวละคร Morrigan ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง
หรืออีกเคสหนึ่งคือ Resident Evil 2 Remake ที่ Capcom เคยออกแบบปีศาจตัวหนึ่งชื่อว่า Condemned เป็นศัตรูประเภท ‘ผีตุ้งแช่’ เพื่อสร้างความตกใจในระหว่างการเล่นโดยเฉพาะ แต่ทีมงานตัดสินใจไม่พัฒนามอนสเตอร์ดังกล่าว เพราะการสร้างยากเกินไปจนแทบไม่มีความคืบหน้า รวมถึงหลังทดลองใช้ในเกมแล้วก็ไม่มีคุณภาพน่าประทับใจเท่าที่ควร
ตัดเพราะเกมเพลย์ ‘ไม่เวิร์ก’
แม้ว่าการพัฒนาคอนเทนต์เป็นไปได้อย่างราบรื่น แต่ผลลัพธ์จากการ Test Game ออกมาอาจไม่เป็นตามที่ทีมงานหลายฝ่ายคาดหวังไว้ จึงทำให้เนื้อหาต้องถูกแก้ไขซ้ำหลายรอบจนกว่าทุกฝ่ายหรือผู้กำกับเกมจะพอใจ
คล้ายกับกรณีที่กล่าวไว้ข้างต้น การแก้ไขเกมหลายรอบทำให้ตัวเกมไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร บางครั้งทีมงานจึงต้องกัดฟันเลิกพัฒนาคอนเทนต์เจ้าปัญหา เพื่อรักษาต้นทุนและใช้เวลาไปกับสร้างเกมในส่วนที่สำคัญมากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น Grand Theft Auto: San Andreas เคยมียานพาหนะอย่างหนึ่งเป็น ‘สเกตบอร์ด’ ที่เกมเมอร์สามารถพกพาใช้เล่นตอนไหนก็ได้ โดยสเกตบอร์ดเคยปรากฏตัวบนเกมเวอร์ชัน Beta แต่คอนเทนต์ดังกล่าวถูกซ่อนไว้ก่อนเกมออกวางจำหน่ายจริง ซึ่งภายหลัง Modder สามารถกู้ไฟล์สเกตบอร์ดให้กลับมาใช้งานในเกมจริงอีกครั้ง
แม้ Rockstar Games ไม่เปิดเผยสาเหตุที่นำสเกตบอร์ดออกจากเกม แต่หลังจากผู้เล่นและ Modder หลายคนทดลองใช้งานครั้งแรก ก็ได้รีวิวว่าการควบคุมค่อนข้างลำบาก และเล่นไม่สนุกสนานเท่าที่ควร หรืออธิบายสั้น ๆ คือ ‘ไม่เวิร์กสำหรับ GTA’ นั่นเอง
ตัดเพื่อ ‘เนื้อเรื่องลื่นไหลยิ่งขึ้น’
คล้ายกับภาพยนตร์ เกมเน้นเนื้อเรื่องบางเกมจำเป็นต้องตัดฉากคัตซีน (รวมถึงระบบเกมเพลย์) บางส่วนก่อนวางจำหน่ายเกมด้วยเหตุผลต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะลบฉากที่ดูไม่จำเป็น ฉากไม่เข้ากับเนื้อหาหลัก หรือฉากที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดความยืดเยื้อของเนื้อเรื่อง หรือมีการเล่าเรื่องกระชับลื่นไหลมากกว่าเดิม โดยฉากคัตซีนเกมที่ถูกตัดส่วนใหญ่ มักจะนำกลับมาแสดงในเกมเวอร์ชัน Definitive Edition หรือ Remaster ซึ่งมาพร้อมโบนัสคอนเทนต์เป็นเนื้อหา Director Cut หรือ Delete Scene อยู่เสมอ
ตัวอย่างเกมเช่น Mafia III ที่ทาง Andrew Wilson และ Haden Blackman ฝ่าย Exclusive Producer ของเกมดังกล่าว ออกมายอมรับว่ามีการตัดเนื้อเรื่องในส่วนของ ‘Cold Open’ หรือช่วง Lincoln Clay กำลังไปรบในสงครามเวียดนาม เพราะว่าบางฉาก ‘โหดล้ำเส้นเกินไป’ และ ‘ไม่เข้ากับบริบทของเนื้อหา’ ซึ่งฉากดังกล่าวไม่ได้นำกลับมาอีกครั้งบนเกมเวอร์ชัน Definitive Edition
หรือเกมสยองขวัญเกรด B อย่าง Deadly Premonition ก็นำตัวเกมกลับมาวางจำหน่ายใหม่บนแพลตฟอร์ม Steam เป็นเวอร์ชัน The Director Cut ซึ่งเป็นการนำเนื้อเรื่องที่ถูกตัดจากเกมต้นฉบับ เอากลับมาอีกครั้งในเกมเวอร์ชันใหม่