การถูกสปอยล์เป็นสิ่งที่หลายคนพยายามเลี่ยงให้ได้มากที่สุดอยู่เสมอ แต่หากมันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจแล้ว เราจะเปลี่ยนมันอย่างไรให้รับมือกัับมันได้บ้าง?
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน มีการทดลองที่ University of California รัฐ San Diego ซึ่งเป็นการทดลองด้านจิตวิทยาของศาสตราจารย์ Nicholas Chreistenfield
ในปีนั้น มีการทดลอง 3 ประเภท ตัวเขาและ Jonathan Levitt เพื่อนร่วมงาน ได้แบ่งกลุ่มทดลองออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน
- กลุ่มที่อ่านเรื่องสั้นหลายแนว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องหักมุม เรื่องลึกลับ และวรรณกรรม พร้อมทั้งให้คะแนนว่าว่าชอบมากแค่ไหนหลังอ่านจบ
- กลุ่มที่ได้อ่านคำแนะนำสั้นๆ ที่สปอยล์เรื่องเหล่านี้ล่วงหน้า ก่อนที่จะได้อ่านเรื่องจริง และให้คะแนนตามลำดับ
ผลปรากฎว่า แทบทุกคนที่ได้ร่วมทดลองชอบเรื่องที่ถูกสปอยล์มาก่อนทั้งสิ้น
2 ปีต่อมา Christenfield ได้ทำการทดลองนี้อีกครั้งเพื่อศึกษาในด้านวรรณกรรม แต่ในครั้งนี้ เขาไม่ปล่อยให้กลุ่มที่ถูก “สปอยล์” ได้อ่านจนจบก่อนที่จะถามความชอบ ไอเดียนี้เกิดขึ้นก็เพื่อวัดว่าความสนุกที่ได้นั้นมาจากการรู้ตอนจบหรือไม่ และผลออกมาคือไม่เกี่ยวกัน แม้จะถามความสนุกเมื่ออ่านไปได้ครึ่งทาง เมื่อไม่สปอยล์เนื้อเรื่องออกมา กลุ่มทดลองก็ยังชอบเรื่องที่ผ่านการสปอยล์มาแล้วมากกว่า
แม้เรื่องแบบนี้จะเป็นเพียงตัวอย่างที่เกิดจากการทดลองเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราแน่ใจได้ว่า การถูกสปอยล์ไม่ได้แย่ไปเสียหมด และอาจเปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้นเสียอีก
-
ฝึกทำใจให้ปล่อยวาง
ทันทีที่รู้ตัวว่าถูกสปอยล์ เราอาจรู้สึกโกรธแค้น โกรธเคือง นี่คือโอกาสอันดีที่จะได้ฝึกตนเองในการควบคุมอารมณ์จากการขาดสติ ในหนังสือ ไม่โกรธอีกต่อไป ของ พระริวโนะสุเกะ โคะอิเกะ ได้เสนอเคล็ดในการเพิ่มความสามารถในการควบคุมตนเองว่า การทำให้จิตอยู่กับความจริงในปัจจุบัน จะช่วยให้จิตไม่หลุดลอยและหลงไปกับความโกรธ เช่น หากเดินอยู่ ให้เราโฟกัสจิตไปที่อากัปกิริยาที่กำลังเดิน หรือแม้แต่ในขณะทำงาน ก็อาจตั้งมั่นไปที่แต่ละปุ่มบนคีย์บอร์ด การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยลดความฟุ้งซ่านแล้วยังช่วยให้เรามีสมาธิเพิ่มขึ้นอีกด้วย
-
มองหารายละเอียดใหม่ๆ หลังจากที่รับรู้เรื่องนั้นไปแล้ว
ในบริบทของวีดีโอเกมนั้น การรีวิวหรือวิพากษ์วิจารณ์เกมใดเกมหนึ่ง อาจหมายถึงระบบการเล่น กราฟฟิค และเสียงจนไปถึงเนื้อเรื่อง แต่ในบริบทอื่นๆ ของภาพยนตร์ ดนตรี หรือวรรณกรรมมีมุมมองที่แตกต่างออกไป การนำมุมมองเหล่านั้นมาใช้หลังจากถูกสปอยล์ก็อาจช่วยให้เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ จากเกมนั้นๆ แม้จะล่วงรู้เนื้อเรื่องไปล่วงหน้าบางส่วนก็ตาม
-
จัดวางขอบเขตการรับรู้เรื่องสปอยล์
เพราะขอบเขตการสปอยล์ของคนเราไม่เท่ากัน บางคนถือว่าการรู้องค์ประกอบบางส่วนเป็นการสปอยล์ บางคนถือว่าตอนจบเป็นสปอยล์ หรืออาจหมายถึงเพียงผู้ที่เป็นตัวละครกุญแจสำคัญ ตัวอย่างเช่น ฆาตรกรในหนังฆาตรกรรม หรือคำตอบของคำถามที่ว่าใครชนะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนามธรรม และหลายคนคงกำหนดขอบเขตของตนไว้อยู่แล้ว การปรับเปลี่ยนขยายขอบเขตก็อาจทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากขึ้นและมีความอลุ่มอล่วยขึ้นก็เป็นได้
-
อย่าลืมว่าเกมคือ Interactive Media
ไม่ว่าคุณจะได้ยินการสปอยล์แบบปากต่อปาก หรือผ่านต่อจาก screenshot ไม่มีทางที่การรับรู้ล่วงหน้าจะทำลายอรรถรสในการได้หลบหลีกศัตรูด้วยตนเอง หรือลั่นไก่ใส่บอสตัวสุดท้าย เพราะประสบการณ์ที่เกมมอบให้ คือประสบกรณ์แบบโต้ตอบ (interactive) จึงไม่มีทางที่การถูกสปอยล์จะลบล้างความสนุกไปเสียหมด เว้นเสียแต่ว่าเราได้เปิดดูวีดีโอที่คนอื่นเล่นโดยตั้งใจ นั่นอาจทำให้อรรถรสลดลงไปกว่าคนอื่นเอาได้