Microtransactions กับ Loot Box ยังคงเป็นระบบเกมที่ผู้เล่นหลายคนต่างเห็นแล้วต้องขัดใจ เพราะระบบดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้เกมเสียสมดุลและเกิดค่านิยม “ผิด ๆ” ต่อวงการเกม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการพนัน หรือใช้วิธีการตลาดที่ดูผิดจริยธรรม เป็นต้น
ซึ่งแน่นอนว่าระบบ Microtransactions ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ และเราได้ผ่านเหตุการณ์ดราม่าที่เกี่ยวข้องกับระบบดังกล่าวมาเยอะ นับตั้งแต่วงการเกมเข้ายุคเจเนอเรชันที่แปด แต่นี่คือตัวอย่าง 5 ประวัติดราม่าของระบบเติมเงิน ที่ทำให้วงการเกมเคยลุกเป็นไฟจนทำภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมต้องเสียหายระดับหนึ่งเลยทีเดียว แล้วจะมีเคสใดน่าสนใจบ้าง ก็สามารถติดตามได้เลยครับ
Evolve เป็นเกมที่ผู้เล่นสาย CO-OP หลายคนต่างต้องรอคอย เนื่องจากตัวเกมสร้างจากทีมผู้พัฒนา Turtle Rock Studios ซึ่งเคยทำผลงานเกม Left 4 Dead มาก่อน รวมถึงไอเดียเกมยังจัดว่าเป็นฟีเจอร์ที่ใหม่มากสำหรับเกมยุคนั้น
แต่ทว่าหลังจากเกมออกจำหน่ายวันแรก เกมเมอร์ทุกคนจะต้องตะลึงเรื่องปริมาณคอนเทนต์ที่น้อย ไม่สมกับราคา 60 เหรียญฯ และร้านค้า Microtransactions (รวมถึง Season Pass) ที่มีปริมาณเยอะ ดูไม่จำเป็น และราคาแพงเกินคุณภาพ จนสามารถคำนวณเงินรวมว่าต้องจ่ายเงินอีก 3,061 บาท เพื่อซื้อไอเท็มทั้งหมดคลัง
เกมเมอร์รู้สึกไม่พอใจอย่างมากที่ทีมงานกำลัง “ปล้นเงิน” ผู้เล่น ด้วยการหลอกขายไอเท็ม หรือ DLC ที่มีราคาแพงกว่าเกมเต็ม และปล่อยเกมให้มีคอนเทนต์น้อยที่สุด เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้เล่นจ่ายเงิน Microtransactions เพื่อบังคับปลดหนื้อหา ฝ่ายผู้เล่นจึงแสดงพลังต่อต้านด้วยการกดรีวิวบอมบ์เป็นแง่ลบบน Steam และคว่ำบาตรไม่เล่นเกม Evolve จนกระแสความนิยมลดลงเป็นอย่างมากด้วย (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคอนเทนต์น้อยด้วย)
แม้ตัวแทนจำหน่าย 2K Games พยายามปลูกกระแส Evolve กลับมาอีกครั้ง ด้วยการปล่อยเกม Evolve เวอร์ชัน Stage 2 ให้เล่นฟรี ช่วงกลางปี 2016 แต่ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปซะแล้ว เพราะต่อมาปี 2018 เกม Evolve ประกาศปิดเซิร์ฟเวอร์อย่างเป็นทางการ โดยไม่มีแม้กระทั่งผู้เล่นคนไหนเหลียวแล นอกเหนือจากระบบ Microtransactions ที่ทำให้หลายคนต้องเฝ้าระวังระบบดังกล่าวจนถึงทุกวันนี้
แม้เกมลอบเร้น Deus Ex: Human Revolution ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนขึ้นแท่นเป็นเกม Game of The Year ประจำปี 2013 จากหลายเจ้าสำนัก แต่ไม่ใช่สำหรับเกม Deus Ex: Mankind Divided ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เรื่องการนำระบบ Microtransactions เข้ามาในเกม Singleplayer พร้อมนำไอเท็มสุดโอเวอร์พาวเวอร์มาขายมาตั้งแต่เริ่มต้น
นอกจากนี้ ตัวเกมได้รับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงด้วยการตลาดแบบ “ร่วมช่วยกันซื้อเยอะ ก็ยิ่งได้ของเยอะ” โดยผู้เล่นจะได้รับไอเท็มพิเศษมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับยอดจำนวน Pre-Order ของเกม ซึ่งโมเดลธุรกิจการขายเกมดังกล่าว ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับเกม AAA นอกเหนือจากเกมนี้
แม้ทีมงาน Square Enix จะยกเหตุผลว่า “สาเหตุที่นำ Microtransactions เข้ามา เพื่อมอบประสบการณ์สูงสุดให้เกมเมอร์ที่ไม่มีเวลาเล่นเกม” แต่สำหรับมุมมองของคนเล่นเกมแล้ว นั่นเป็นเหตุผลที่ตื้นเกินไปสำหรับทีมตัวแทนจำหน่ายเกม AAA ที่ควรให้เหตุผลดีกว่านี้
Deus Ex: Human Revolution แทนที่จะเป็นภาคต่อของตำนานเกมลอบเร้นบนโลก Dystopia ที่มีอุปกรณ์ล้ำยุคมากมาย กลับกลายเป็นตัวแทนที่แสดงความโลภของทีมตัวแทนจำหน่ายให้เกมเมอร์ทุกคนเห็นซะอย่างงั้น
หลังจาก Deus Ex: Human Revolution ได้เปิดชนวนเรื่องระบบ Microtransactions ในเกม Singleplayer ซึ่งแน่นอนว่าเกมต่อ ๆ มาที่ใส่ระบบดังกล่าวจะโดนกระแสต่อต้านจากเกมเมอร์ทันทีที่เห็น ซึ่งหนึ่งในนั่นคือเกม Middle-Earth: Shadow Of War ที่เกมภาคแรกประสบความสำเร็จทั้งเสียงวิจารณ์กับยอดขายเกม
ถึงแม้ระบบ Microtransactions ของ Middle-Earth: Shadow Of War ไม่ได้ทำให้เกมง่ายขึ้น แต่ด้วยระบบ Loot Box ที่ต้องใช้เงินจริงจากการสุ่ม Orc มาเป็นกลายเป็นกองทัพของเราโดยทันที ทำให้ระบบ Nemesis ซึ่งเป็นฟีเจอร์หลักของเกมไม่มีความหมาย และบ่งชี้ว่าเป็นเกม Pay2Win ซึ่งทำให้เกมเมอร์หลายคนออกมาแสดงความไม่พอใจต่อทีมงานเป็นอย่างมาก
แต่โชคดีที่ช่วงปี 2018 ทีมงานตัดสินใจลบระบบ Microtransactions ออกจากเกม Middle-Earth: Shadow Of War อย่างถาวร ทำให้เกมมีกระแสตอบรับดีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากถูกรีวิวบอมบ์เป็นแง่ลบในช่วงที่เกมออกวางจำหน่ายเป็นวันแรก
เกมประเภทกีฬาที่ออกวางจำหน่ายทุกปี (ไม่นับเกมแข่งรถ) ในยุคปัจจุบัน จัดว่ามีภาพลักษณ์ไม่ดีในหมู่สายตาเกมเมอร์ซะเท่าไหร่นัก เพราะนอกจากเกมจะนำกลับมาขายใหม่ทุก ๆ ปี ในราคาเต็ม 60 เหรียญฯ แล้ว เกมทุกภาคก็มีระบบ Microtransactions กับ Loot Box วางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นเกมตระกูล FIFA หรือ PES ก็ตาม แต่ถ้ายกตัวอย่างเกมไหนที่มีกระแสต่อต้านรุนแรงที่สุด ก็คงไม่มีทางหนีพ้นเกมซีรีส์ NBA 2K ที่โดนต่อว่าจากผู้เล่นเรื่องระบบดังกล่าว จนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเกมนี้ไปแล้ว
NBA 2K17 เป็นภาคแรกที่ตัวเกมใส่ระบบ Microtransactions อย่างเป็นทางการ ทำให้ตัวเกมมีกระแสวิจารณ์ไม่ดีจากเหล่าเกมเมอร์ คล้ายเกม FIFA 17 ที่ใส่ระบบเติมเงินเหมือนเกม AAA หลาย ๆ เกม แตาทว่าระหว่างที่เกม FIFA กับ PES มีการพัฒนาคุณภาพเกมให้ดียิ่งขึ้นและนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ทุกปี แต่ไม่ใช่สำหรับเกมซีรีส์ NBA 2K ที่ทุกภาคไม่มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว
นับตั้งแต่ NBA 2K17 จนถึง NBA 2K20 ตัวเกมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เรื่องการขายระบบ Microtransactions กับการโฆษณาอย่าง “ไม่เกรงใจชาวเกมเมอร์” นอกจากนี้ ทางตัวแทนจำหน่าย 2K Games ได้ออกมาสัมภาษณ์เชิงสนับสนุนระบบเจ้าปัญหาตัวนี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้เล่นรวมตัวเรียกร้องยกเลิกกฎหมายแบน Lootbox ในประเทศเบลเยียม รวมถึงเคยกล่าวว่ามันเป็นความจริงอันโหดร้ายที่เกมเมอร์ต้องยอมรับอีกด้วย
ต้นกำเนิดของดราม่าเริ่มมาจากระบบ Progression ในส่วนของการปลดอาวุธกับฮีโร่ให้เล่นนั้น มีความยากและใช้ระยะในการสะสมนานเกินไป ซึ่งวิธีที่สองที่เกมเมอร์จะสามารถคว้าไอเท็มพิเศษมาครอบครองได้ ก็คือการเปิด Loot Box ที่ผู้เล่นจำเป็นต้องจ่ายเงินจริง เพื่อแลกกับการเปิด Loot Box ตามจำนวนราคาที่จ่ายไป ซึ่งหมายความว่าตัวเกมออกแบบมาเพื่อ Pay2Win มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จึงเป็นชนวนทำให้เกมเมอร์ออกมาแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก
แล้วเนื่องจากการแถลงการณ์ของ EA ที่เหมือนเป็นการราดกองไฟ และออกมายืนยันว่าฮีโร่ Darth Vader กับ Luke Skywalker จะสามารถปลดมาเล่นจากการสุ่ม Loot box เท่านั้น ทำให้คอมเมนต์ของ Reddit ถูกกด Downvote สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ 660,000 ครั้ง (ล่าสุด ถูกจารึกลง Guinness World Record แห่งปี 2020 ไปแล้ว)
หลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ฝ่ายรัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหาดังกล่าว แล้วลงมาจัดการควบคุมวงการเกมโดยทันที ส่งผลลัพธ์ทำให้ประเทศเบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์ลงนามแบนระบบ Loot Box และหลายประเทศ ออกกฎบังคับให้โชว์จำนวนเปอร์เซ็นต์การดรอป หรือขอความร่วมมือในการสร้างระบบ “จำกัดการซื้อ” เป็นต้น