BY StolenHeart
19 Jul 19 12:30 pm

ย้อนอดีต Super Famicom กับเครื่องเกมที่ชาวไทยยุค 90 โปรดปราน

248 Views

เชื่อว่าเพื่อน ๆ ที่ติดตามอ่านเว็บ GamingDose ของเราส่วนใหญ่มักจะมีจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่โลกของวิดีโอเกมในยุคอย่าง PlayStation หรือ PC มาก่อนเป็นอย่างแรกแน่นอน แต่สำหรับหลาย ๆ คนอาจจะเก่ากว่านั้น คือไปในยุคของ NES หรือ Famicom กันเลย แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึงเครื่องเกมในยุคกึ่งกลางระหว่าง Famicom และ PlayStation กับเครื่องเกมแบบ 16-bit ที่ดีที่สุดในโลกอย่าง Super Famicom กันครับ

Super Famicom หรือชื่อที่ขายในฝั่งตะวันตกคือ Super Nintendo Entertainment System(SNES) คือเครื่องเกมที่ผลิตโดย Nintendo หรือปู่นินที่เราเรียกกันติดปากนั่นเอง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 1983 พวกเขาประสบความสำเร็จจากการวางจำหน่ายและผลิตเกมให้กับเครื่อง Famicom หรือ NES มาอย่างยาวนานจนกลายเป็นตำนานค้างฟ้าของวงการเกม รวมไปถึงมีเกมในตำนานเกิดขึ้นในยุคนี้อย่างมากมายหลายร้อยเกม

เวลาผ่านไป  การแข่งขันในสงครามเครื่องคอนโซลก็ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง Sega ที่ปล่อยเครื่อง Mega Drive หรือ Sega Genesis ที่เป็นเครื่องเกมคอนโซลแบบ 16-bit ที่ยกระดับกราฟฟิกขึ้นไปหลายเท่า ทั้งเม็ดสี ความสดใส และความลื่นไหลของภาพและเสียงที่เหนือกว่า Famicom แบบไม่เห็นฝุ่น และไหนจะมีเครื่อง PC Engine ของ NEC ออกมาอีก เรียกว่าฟัดกันอุตลุด ไม่มีใครยอมใครเลยทีเดียว

Mega Drive เครื่องเกมระดับตำนานของ Sega

แน่นอนว่า Nintendo ไม่ยอมอยู่เฉย แต่ก็ไม่ได้รีบเร่งที่จะออกเครื่องคอนโซลตัวใหม่ของตนเองออกมา โดยได้ตัวคุณ Masayuki Uemura ที่เคยมีผลงานออกแบบเครื่อง Famicom มาก่อนมารับหน้าที่นี้เช่นเดิม แน่นอนว่าเมื่อวันวางจำหน่ายในปี 1990 เครื่อง Super Famicom ก็กลายเป็นเครื่องเล่นเกมยอดฮิตไปในทันที ด้วยยอดขายในวันเปิดตัวที่ญี่ปุ่นมากกว่า 300,000 ชุดภายในหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

Super Famicom ถิอได้ว่าเป็นเครื่องเกมที่ยกระดับในด้านภาพ เสียง และรูปแบบการเล่นที่ยอดเยี่ยมขึ้นไปอีกขั้น แถมด้วยตัวจอยที่เปลี่ยนจากแบบ 2 ปุ่มมาเป็น 6 ปุ่ม ทำให้มีปุ่มใช้งานได้มากขึ้น แถมตัวจอยยังมีการออกแบบที่เหมาะมือไม่ต่างจากในสมัย Famicom อีกด้วย

Super Mario Brosแน่นอนว่าเกมที่มาลงแต่ละเกมนั้นล้วนเป็นเกมระดับตำนานแทบทั้งสิ้น ทั้งจาก Nintendo เองอย่าง Super Mario World, Super Donkey Kong, Metroid หรือเกมระดับตำนานอื่น ๆ อย่าง Street Fighter II, Double Dragon และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่าเกมที่อยู่ในความทรงจำหลายเกมนั้นอยู่ในยุคนี้เกือบทั้งสิ้น

ส่วนในบ้านเรา เครื่องที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเครื่องจากญี่ปุ่นหรือหิ้วมาจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก

แต่แน่นอนว่าในยุคนั้น วิดีโอเกมถือเป็นของเล่นสำหรับคนที่มีเงินถุงเงินถัง

เพราะแค่ตัวเครื่องเพียว ๆ ก็ล่อไปเกือบหมื่นบาทได้ แถมตลับแท้ก็ราคาแพงหูฉีกเป็นหลักพันไปจนถึงหลายพัน ซึ่งแน่นอนว่าบ้านเราในยุคนั้นยังนิยมในการเล่นเกมแบบเถื่อนอยู่มาก จึงมีการหาทางเจาะและดัดแปลงเครื่อง รวมไปถึงเกมต่าง ๆ ให้เล่นได้ในราคาที่ถูกลง

ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้ก็คือการใช้บรรดาหัวอ่านตลับแบบดัดแปลง หรือที่เรียกกันว่า “หัวโปร” นั่นเอง ซึ่งเจ้าหัวโปรนี้นอกจากจะเอามาใช้อ่านตลับเกมแล้ว ยังมีฟังก์ชั่นหนึ่งเพิ่มเข้ามา ก็คือการอ่านข้อมูลเกมจากแผ่นฟลอบปี้ดิสก์เพื่อเล่นเกมเถื่อนนั่นเอง ถ้าใครจำกันได้ วิธีการเล่นเกมเถื่อนนั้นก็คือต้องเอาแผ่นดิกส์เสียบเข้าไปให้หัวโปรอ่านข้อมูลเสียก่อน บางเกมที่มีขนาดใหญ่มากก็ต้องใช้หลายแผ่น โหลดเสร็จเปลี่ยนแผ่นใหม่ ถ้าหัวโปรใครมีความจุเยอะ ๆ ก็เล่นเกมได้เยอะเช่นกัน แต่ถ้าใครความจุน้อย เวลาที่โหลดเกมที่ความจุเยอะ ๆ ไปแล้วก็จะเล่นไม่ได้ จอดำช้ำใจกันไป แบบนี้เป็นต้น

แน่นอนละว่าการใช้หัวโปรโหลดเกมจากแผ่นมาเล่นแบบนี้มันคือการละเมิดลิขสิทธิ์แบบไม่ต้องสงสัย แต่ในยุคนั้นที่สำนึกในเรื่องของลิขสิทธิ์ยังไม่ชัดเจนเท่ายุคนี้ รวมไปถึงยังไม่มีผู้จัดจำหน่ายเกมอย่างเป็นทางการในไทยจริงจัง

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เล่นเกมเครื่อง Super Famicom ในไทยจะเล่นกันแบบผิดลิขสิทธิ์กันแทบจะ 100%

เพราะราคาของแผ่นฟลอปปี้แค่แผ่นละ 20 – 30 บาท เกมหนึ่งก็ประมาณ 2 – 3 แผ่น ตีไปเกมละ 60 บาท เทียบกันกับตลับแท้ราคาเป็นพันนี่ต่างกันหลายเท่าอยู่ เอาง่าย ๆ ว่าแค่ลงทุนซื้อเครื่องกับหัวโปรหมื่นต้น ๆ ก็สามารถเล่นเกมใหม่ ๆ ไปได้อีกนานเลยทีเดียว แถมในช่วงหลังมีการพัฒนาเพิ่ม RAM ในหัวโปรให้เพิ่มขึ้นจาก 32MB เป็น 64MB รวมไปถึงโปรแกรมสูตรโกงเกมเพิ่มความสะดวกสบายเข้าไปอีก เรียกว่าเกมยากขนาดไหนก็เล่นกันเพลิน ไม่มีกังวลแน่นอน

ซึ่งอันที่จริงแล้วพวกอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ของ Super Famicom นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ที่เอามาใช้ละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น

ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทาง Nintendo และผู้พัฒนาเจ้าอื่น ๆ คิดค้นขึ้น และเป็นของใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง เช่น Satellaview ที่เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้ง Modem ระบบดาวเทียมเข้าไป ทำให้ผู้เล่นสามารถโหลดไฟล์เสริมของเกมต่าง ๆ มาเล่นได้ด้วย! (นี่มันคือการโหลด DLC ในยุค 90 ชัด ๆ ) แต่น่าเสียดายที่วางจำหน่ายแค่ในญี่ปุ่นและใช้ได้เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนั้นก็มี Super Game Boy ที่ทำให้เล่นตลับเกมบอยในเครื่อง Super Famicom แบบมีสีได้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ถล่มออกกันมาแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

Satellaview อุปกรณ์ที่เชื่อมโลกอินเตอร์เนตเข้าสู่เครื่อง Super Famicom

Super Famicom ถือได้ว่าเป็นเครื่องเกมที่ตอกย้ำชัยชนะในตลาดคอนโซลยุคที่สี่ของ Nintendo อย่างชัดเจนเหนือคู่แข่งอย่าง Sega และ NEC

ก่อนที่ในยุคที่ห้าจะถูก PlayStation ของ Sony เข้ามาบุกตีในเวลาต่อมา และการออกเครื่องเกมอย่าง Nintendo 64 ที่ยังคงใช้สื่อแบบตลับอยู่นั้นก็ไม่ได้ทำให้เหล่าแฟน ๆ รู้สึกตื่นเต้นแม้แต่น้อย และทำให้ Nintendo เป๋ไปในตลาดเกมคอนโซลอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะกลับมาผงาดได้จากเครื่อง Wii ที่มอบมิติใหม่ในการเล่นเกมคอนโซลอย่างมากทีเดียว

Mini Super Famicomปัจจุบันนี้ Nintendo ก็ได้ออกเครื่องเกม Super Famicom และ SNES ขนาดจิ๋วสำหรับการสะสมออกมาวางตลาด(และขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว) เพื่อให้ผู้เล่นได้กลับไปสัมผัสกับความสนุกในอดีตอีกครั้ง แม้ความทรงจำเกี่ยวกับเครื่องเกมคอนโซลในบ้านเราในยุคก่อนนั้นจะค่อนข้างเป็นสีเท่าออกไปทางดำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสนุกที่พวกเราได้รับในยุคนั้นคือประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือนจริง ๆ ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เกมเมอร์อายุหลักสามหลายคนยังจดจำมาได้จนถึงทุกวันนี้ครับ

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top