BY StolenHeart
21 Jun 19 11:54 am

รำลึก Outlast กับความกดดันที่ส่งผ่านหลังกล้องวิดีโอ

28 Views

ถ้าพูดถึงเกมสยองขวัญที่ไม่ใช่กระแสหลัก ที่สามารถผลักดันตัวเองให้กลายมาเป็นที่รู้จักได้อย่างแพร่หลายได้ในที่สุด ผู้เขียนจะนึกถึงเกม Outlast เป็นเกมแรก ๆ แม้จะมีเกมที่เคยออกมาก่อนหน้านี้อย่าง Amnesia: Dark Descent ออกมาก่อนและสร้างกระแสเกมผีแบบสู้กลับไม่ได้ให้ฮิตติดลมบนก็ตาม แต่ Outlast เป็นเกมที่พิเศษสำหรับหลาย ๆ คน ด้วยความรู้สึกที่น่ากลัวแบบจับต้องได้ และถูกจริตผู้เล่นในไทยค่อนข้างมากนั่นเอง

Outlast sicko

ถ้าใครที่ติดตามเว็บไซต์ GamingDose กันมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ น่าจะเคยเห็นรีวิวของเกม Outlast ที่ผู้เขียนเคยลงไว้เมื่อหลายปีก่อน (รู้สึกแก่ขึ้นมาทันที) ซึ่งผ่านมาหลายปี Outlast ก็ยังคงเป็นเกมที่มีการนำเสนอที่ดิบไม่แพ้เกมผีอื่น ๆ หรือรุ่นพี่อย่าง Amnesia แม้แต่น้อย เพราะด้วยธีมที่ดูเป็นยุคปัจจุบันมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างกล้องวิดีโอมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเกม และจังหวะในการทำให้ผู้เล่นตกใจและหัวเสียแบบเอาเรื่อง ก็ทำให้หลายคนประจับใจได้ไม่ยากนัก

ขอเล่าย้อนเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของเกมเสียหน่อยเผื่อคนที่ลืมไปแล้วว่าเป็นอย่างไร ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น Miles Upshur นักข่าวอิสระที่เข้ามาสืบหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ลึกลับชวนสยดสยองในโรงพยาบาลจิตประสาท Mount Massive Asylum ที่หลุดรั่วออกมาจากบุคลากรภายใน เขาจึงเดินทางมาพร้อมกับกล้องถ่ายวิดีโอคู่ใจ เพื่อเปิดโปงความจริงที่ซ่อนอยู่ในโรงพยาบาลแห่งนี้

ถ้าหาก Amnesia: Dark Descent คือเกมที่จุดกระแสเกม Horror แบบเอาตัวรอดล้วน ๆ สู้กลับไม่ได้ ต้องหลบหรือหนีเพียงอย่างเดียว Outlast คือเกมที่ต่อยอดสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นแนวทางของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งก็ต้องขอบคุณลูกเล่นของกล้องวิดีโอที่มีโหมดถ่ายภาพในช่วงกลางคืน ช่วยให้มองเห็นในที่มืดได้ชัดเจนมากขึ้น และมีการวางจุดที่ใช้หลบซ่อนเหล่าศัตรูในเกมที่ค่อนข้างเหมาะสมอย่างมาก แถมเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าศัตรูตัวไหนจะอยู่ ๆ หันหน้ามาฟันเราจนบาดเจ็บบ้าง เพราะพฤติกรรมของพวกมันนั้นไม่คงที่ สร้างความเสียวสันหลังแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนทีเดียว

ส่วนเนื้อเรื่องของมัน แม้จะมีความเหนือธรรมชาติแบบหักมุม 360 องศา แต่ก็ถือว่าพอจะทำใจยอมรับได้บ้าง (แม้ในช่วงหลังจะมีกลิ่นกาวแรงมากก็ตาม) และเพื่อความชัดเจนของเนื้อเรื่อง ตัวเกมก็มี DLC Whistleblower ออกมาเสริมให้เรื่องราวชัดเจนมากยิ่งขึ้น และผู้เล่นจะได้รับรู้ความเป็นไปของโรงพยาบาลจิตประสาทสุดสยองแห่งนี้มากขึ้น

น่าเสียดายที่ตัวเกมในภาคสองนั้นมีความประทับใจที่น้อยลงกว่าภาคแรกอย่างมาก

ทั้งด้วยตัวระบบการเล่นเองที่ไม่ได้พัฒนาจากเดิมมากนัก รวมไปถึงความน่าจดจำของเนื้อเรื่องที่เทียบภาคแรกไม่ได้  แต่ก็มีความพยายามในการนำเสนอรูปแบบใหม่ ๆ ของเนื้อเรื่องและลงลึกไปที่ปมความรู้สึกผิดบาปในสมัยเด็ก และการนำเสนอเรื่องของเหล่าผู้คลั่งลัทธิมาใช้ในเกมก็ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าภาคแรก แต่อย่างน้อย ๆ ตัวเกมก็ยังอยู่ในระดับที่เอาตัวรอดไปได้บ้าง

ส่วนอนาคตของซีรีส์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ยากที่จะตอบได้ แต่ผู้เขียนเองก็คาดหวังว่าจะได้เห็นภาคต่อที่ขยี้ประเด็นความสยองของเหล่าคนคลั่งลัทธิที่มากกว่านี้ในภาคหน้า เพราะส่วนตัวคิดว่ามันยังสามารถต่อยอดไปได้มากกว่าพลอตองค์กรลับกับทดลองอะไรบางอย่างที่เริ่มล้าสมัยไปแล้ว แถมยังซ้ำกับอีกหลายเกมสยองขวัญที่ออกมาก่อนหน้านี้หลายเกมแล้วด้วย

สำหรับตัวของผู้เขียนเอง หลังจากที่กลับมาเล่นมาสำรวจอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เคยรีวิวไปเมื่อหลายปีก่อน หลังจากอาการกลัวผีที่เบาบางลงไปจนแทบจะตายด้านแล้วนั้น ก็รู้สึกว่า

Outlast คือเกมที่นำเสนอความสยองขวัญในแบบที่ดิบมาก ๆ และถึงใจที่สุดเกมหนึ่ง

ซึ่งการทำให้ผู้เล่นรู้สึกอ่อนแอไร้สิ่งต่อกรนั้นถือเป็นแนวคิดที่เข้าท่า ถ้าหากผู้สร้างออกแบบการเผชิญหน้ากับศัตรูในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เหมาะสม และ Outlast เองก็ทำในจุดนี้ได้เป็นอย่างดี และสร้างความประทับใจมาจนถึงตอนนี้(แต่ให้เล่นติด ๆ กันหลายชั่วโมงนี่ไม่ไหวละ เหนื่อยเกิ๊น)

ส่วนใครที่ยังไม่เคยลอง ก็ต้องบอกว่านี่เกมสยองขวัญที่คนกลัวผีต้องลองสักครั้งในชีวิต (เพราะคนที่ชอบเกมผีทุกคนน่าจะได้เล่นกันหมดแล้ว) ด้วยจังหวะในการหลอกผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม ระบบการเล่นที่เข้าที Outlast จึงเป็นเกมที่ควรค่าแก่การเล่นเพื่อการศึกษาและท้าทายความกลัวในจิตใจอย่างมากที่สุดเกมหนึ่งที่ทุกคนควรจะลองกันสักครั้งครับ

SHARE

Putinart Wongprajan

เค้ก - Content Writer

Back to top