หน้าปก เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้เกมมีความน่าดึงดูดน่าสนใจจากใครหลายคน ถ้าไม่เชื่อ ก็ขอยกตัวอย่าง Don’t Buy This เกมสุดประหลาดที่บอกคุณแบบตรง ๆ เลยว่า “อย่าซื้อเกมนี้” แต่ยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ เพราะเกมดังกล่าวดันประสบความสำเร็จในด้านยอดขายซะอย่างงั้น แล้วเกมนี้มีเบื้องหลังอะไร ทำไมต้องมีชื่อว่า “อย่าซื้อเกมนี้” มาอ่านในบทความนี้ได้เลย
อย่าซื้อเกมนี้ เดี๋ยวหาว่าไม่เตือน !
Don’t Buy This หรือแปลเป็นไทยตรงตัวว่า “อย่าซื้อเกมนี้” เป็นคอลเล็กชันเกมแบบ 5 in 1 สำหรับคอมพิวเตอร์ ZX Spectrum โดยเกมออกวางจำหน่ายครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1985 ซึ่งตรงกับวันเมษาหน้าโง่พอดี
อ้างอิงจาก James Leavey ตำแหน่งผู้จัดการตลาดจากทีมตัวแทนจำหน่าย Firebird ได้อธิบายว่า เกมนี้มีชื่อ Don’t Buy This เพราะ “เป็นคอลเล็กชันรวมเกมของ Spectrum ที่แย่ที่สุดในโลก” แค่คำอธิบายนี้ ก็เป็นการบอกชัดเจนเลยว่าตัวแทนจำหน่ายจงใจวางขายเกมคุณภาพแย่ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ZX Spectrum
ใน Don’t Buy This ประกอบไปด้วย 5 เกมหลัก เช่น Fido 1, Fidel 2: Puppy Power, Fruit Machine, Race Ace และ Weasel Willy ซึ่งเกมทั้งหมดในคอลเล็กชัน ล้วนมีกระแสตอบรับแย่ทั้งจากผู้เล่นกับสื่อรีวิว โดยสาเหตุที่เกมดังกล่าวมีคะแนนรีวิวไม่ดี เพราะตัวขาดเกมความเป็นต้นฉบับ ขาดความขัดเกลา ซึ่งได้มอบประสบการณ์การเล่นเกมที่ไม่สนุกสนาน หรือแปลกใหม่เลยแม้แต่นิดเดียว
Fido และ Fido 2 เป็นเกมแนว 2D Platformer ที่ผู้เล่นรับบทเป็นเจ้าหมาน้อยชื่อว่า Fido ต้องกำจัดนกที่คอยรบกวนใจให้หมดไป โดยตัวเกมมีระบบเกมเพลย์ที่จืดชืด เกมง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ และมีการออกแบบมอนสเตอร์ที่แปลกประหลาด ชวนให้คิดว่าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ถึงแม้เกมภาค 2 จะมีการอัปเกรดให้เจ้าหมา Fido สามารถกระโดดได้ และมีการโจมตีที่หลากหลายมากขึ้น แต่สุดท้าย ตัวเกมก็ยังมีปัญหาเดิม ๆ คือเกมไม่น่าดึงดูด และขาดความท้าทาย
Fruit Machine เป็นเกมที่ตัวแทนจำหน่ายเกมได้อธิบายไว้ว่า “เป็นเกมพิศวงที่เต็มไปด้วยความใหม่เอี่ยม ต้องใช้ทักษะ การกะจังหวะ และความตั้งใจในการเอาชนะ” ซึ่งพอลองอ่านแล้ว หลายคนอาจจะนึกว่านี่คือเกมแอ็กชันที่มีความยากท้าทาย แต่ในความจริงแล้ว นี่เป็นเกมแค่เกม Slot Machine ธรรมดา ๆ เกมหนึ่งเท่านั้น
ภาพจากเกม Fido ใน Don’t Buy This
Race Ace (ในเกมเขียนชื่อเกมผิดว่า Ace Racer) คือเกมแข่งรถที่ผู้เล่นต้องควบคุมเป็นรถสีฟ้า ซึ่งเกมเมอร์มีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องคอยกดเลี้ยวรถ (รถในเกมจะเร่งความเร็วเองอัตโนมัติ) แล้วแข่งขันท้าประลองความเร็วชนะ CPU ให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก CPU เก่งเกินไป และระบบการควบคุมรถของเกมนี้ไม่ได้มีการตอบสนองที่ดี จึงทำให้การเอาชนะเกมนี้อยู่ในระดับที่เป็นไปไม่ได้
และสุดท้าย Weasel Willy เป็นเกมอาร์เคดธรรมดา ๆ ที่ผู้เล่นรับบทเป็นหุ่นยนต์ต้องเดินหลบต้นไม้ให้ได้ โดยเกมดังกล่าวมีบั๊กร้ายแรง และระบบเกมเพลย์ที่น่าเบื่อ ไม่น่าดึงดูดให้เล่นต่อ
โดยรวมแล้ว เกมทั้งหมดใน Don’t Buy This ล้วนเป็นเกมแย่ ๆ ที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพของเกม ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ Don’t Buy This เป็นหนึ่งในเกมที่แย่ที่สุดใน ZX Spectrum อย่างไม่ต้องสงสัย
ทำไมต้อง “อย่าซื้อเกมนี้” ?
ทีนี้ เกมเมอร์หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมตัวแทนจำหน่าย มีแรงจูงใจวางจำหน่ายเกมนี้ ทั้งที่ผลลัพธ์ออกมาตัวเกมต้องโดนวิจารณ์เละจากทุกฝ่ายแน่นอน
อ้างอิงรายละเอียดจากกล่องแผ่นเกมที่ด้านหลัง สาเหตุที่ตัวแทนจำหน่ายเกม Firebird วางจำหน่ายเกมนี้ ก็เพื่อต้องการแก้เผ็ดนักพัฒนาเกมอิสระที่พวกเขาจ้างมา แล้วสร้างเกมโดยไม่มีความเป็นต้นฉบับแถมยังมีคุณภาพ “น่าเกลียด” อีกด้วย
นอกจากตัวเกมจะขายราคาค่อนข้างถูกที่ 2.50 ยูโร (ราว 370 บาทในยุคนั้น) ตัวแทนจำหน่ายเกมยังได้ระบุชัดเจนอีกว่า อนุญาตให้ผู้ครอบครอง สามารถทำแผ่นเกมเถื่อนไปแจกเพื่อน ๆ ได้ตามสบาย ไม่ต้องกลัวถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์
แม้ทีมงานได้วางจำหน่ายเกมนี้ เพื่อแก้แค้นนักพัฒนาเกมตามรายละเอียดที่ระบุไว้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าทีมงานได้เห็นโอกาสเหมาะสม ให้ลองได้ใช้กลยุทธ์การตลาดสุดแหวก ด้วยการวางจำหน่ายเกมที่มีชื่อไตเติล กับให้รายละเอียดเกมแบบจริงใจ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้เหล่าผู้เล่นสนใจในเกมนี้
แล้วกลยุทธ์ดังกล่าวก็ได้ผลจริง เพราะมีรายงานว่าแม้เกม Don’t Buy This มีคะแนนรีวิวที่ไม่ดี แต่เกมดังกล่าวกลับขายดิบขายดี และสามารถคืนทุนได้ (ไม่มีการระบุตัวเลขยอดขายชัดเจน) นอกจากนี้ เกมได้รับรางวัล “คอลเล็กชันเกมห่วยที่จริงใจที่สุด” จากนิตยสาร Power Play และ “รางวัลอย่าซื้อเกมนี้” จากนิตยสาร ACE อีกด้วย
แม้ Don’t Buy This เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของตัวแทนจำหน่ายเกม แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับนักพัฒนาเกมที่ถูกเผาประจานโดยฝีมือพาร์ทเนอร์ที่ควรจะเป็นพันธมิตรร่วมกัน ถึงอย่างนั้น Don’t Buy This จัดว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของเกมยุคแรก ๆ ที่ใช้กลยุทธ์สุดโต่งเป็นการบอกคุณภาพเกมถึงผู้บริโภคแบบจริงใจ
แน่นอนว่าเราอาจไม่มีทางได้เห็นการตลาดแบบนี้บ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน เพราะด้วยต้นทุนการผลิต และความนิยมของวิดีโอเกมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้การสร้างเกม คือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่สตูดิโอเกมกับตัวแทนจำหน่ายต้องแบกรับ ฉะนั้นการทำตลาดสุดโต่งแบบ Don’t Buy This อาจไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับคนยุคนี้
แหล่งอ้างอิง: MobyGames, SpectrumComputing