BY Chaiyawut "Aquamarine" Keereeto
13 Aug 19 3:13 pm

รู้จักเกม Tabletop เมื่อการเล่นเกมไม่จำเป็นต้องใช้ PC หรือ Console

207 Views

ในปัจจุบัน เมื่อพูด “เกม” คนส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงเกมในคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอนโซล หรือที่เรียกกันว่า “วิดีโอเกม” เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เรียกว่าเกมไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน้าจอเท่านั้น ยังมีเกมในอีกหลายรูปแบบที่เราสามารถเล่นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอนโซล (หรือสมาร์ทโฟน)

แรกเริ่มเดิมที คำว่า “เกม” หมายถึง “การละเล่น” ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว้างมาก การเล่นวิ่งไล่จับ การเล่นซ่อนหา หมากเก็บ หมากรุก การเล่นต่อคำ การเล่นไพ่แบบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการละเล่นที่อยู่ในความหมายของคำว่าเกมทั้งสิ้น

แล้วคำว่า “วิดีโอเกม” มาจากไหน? คำว่าวิดีโอเกมเกิดขึ้นจากในยุคแรกเริ่มของการสร้าง “เครื่องเล่นเกม” ที่ผู้พัฒนาได้สร้างขึ้นมาเฉพาะตัวเครื่องแล้วนำเครื่องเล่นเกมที่ว่าไปต่อเข้ากับจอภาพในลักษณะเดียวกับเครืองเล่นวิดีโอเทป ทำให้เกมระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงผลออกทางจอภาพถูกเรียกแบบรวม ๆ ว่า “วิดีโอเกม” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากวิดีโอเกมแบบอาร์เขดได้รับความนิยมอยู่หลายปีก็ต้องพบกับความเสื่อมถอยเมื่อมีคู่แข่งสำคัญคือ “เครื่องเกมคอนโซล” รวมถึง “เครื่องคอมพิวเตอร์” ซึ่งต่างก็นำเทคโนโลยีวิดีโอเกมเข้าสู่ครัวเรือนแล้วทำให้วิดีโอเกมกลายเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงยักษ์ใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ และขยายไปสู่สมาร์ทโฟนที่ทุกคนล้วนแล้วแต่มีไว้ใช้งานและพกติดตัวตลอดเวลา

แต่ถึงกระนั้น คำว่า “เกม” ก็ยังเป็นคำที่กว้างและครอบคลุมกว่า “วิดีโอเกม” เสมอ และประเภทของเกมแบบไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ (หรือที่เรียกว่า Unplugged) ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดก็คงไม่พ้นเกม Tabletop (เกมตั้งโต๊ะ)

เกมแบบ Tabletop ต่าง ๆ ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินได้ไม่แพ้วิดีโอเกม ไม่ว่าจะเป็นแบบช่วยกันเล่นหรือแข่งขันกับเพื่อน ทำให้มีโอกาสได้พบปะและมีกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน ได้พักสายตาจากหน้าจอ แถมยังประหยัดค่าไฟหรือเอาไว้ใช้แก้เบื่อเวลาไฟดับได้ด้วย ข้อเสียที่พอจะนึกออกก็คือต้องเดินทางมาเจอหน้ากันเพราะไม่สามารถเล่นทางไกลได้ บวกกับบางเกมต้องใช้พื้นที่ในการเล่นไม่ใช่น้อย ๆ

เราลองมาดูกันว่า Tabletop ที่น่าสนใจประเภทต่าง ๆ มีอะไรบ้าง

Pen and Paperเกม Pen-and-paper

เกม Pen-and-paper ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ปากกากับกระดาษ” เดิมทีเป็นคำที่ใช้เรียกเกมแบบเขียนลงกระดาษซึ่งโดยมากจะไม่ต้องลบทิ้ง เช่น Tic-tac-toe (หรือที่บ้านเราเรียกว่า โอเอกซ์) Hangman (เกมทายคำที่จะค่อย ๆ วาดตัวขี้ก้างโดยแขวนคอเมื่อทายผิด) และโกโมกุ (มักจะใช้ตัวหมากล้อมแต่สมัยก่อนก็นิยมใช้กระดาษกันเยอะ) เป็นต้น

แต่ในปัจจุบัน Pen-and-paper นิยมใช้เรียก “เกมแนวสวมบทบาท” แบบเล่นบนโต๊ะเพื่อให้รู้ว่าไม่ได้หมายถึงเกมสวมบทบาทที่เป็นวิดีโอเกม โดยเกมสวมบทบาท Pen-and-paper มีจุดเด่นตรงที่ผู้เล่นแต่ละคน (ไม่นับเกมมาสเตอร์ที่คอยคุมการดำเนินเรื่อง) จะต้องสร้างตัวละครของตัวเองขึ้นมา และในระหว่างการเล่นก็มักจะต้องมีการเสี่ยงดวงด้วยลูกเต๋าซึ่งกฎและรูปแบบจะต่างกันไปตามแต่ละเกม

Dungeons & Dragons

Dungeons & Dragons (D&D) เป็นเกมสวมบทบาทแนวแฟนตาซี Pen-and-paper ที่โด่งดังและรู้จักกันเป็นอย่างดี ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีโครงสร้างและกฎที่รัดกุมยิ่งขึ้นในชื่อ Advanced Dungeons & Dragons (AD&D)

ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องสร้างตัวละครของตัวเองซึ่งสามารถเลือกได้ตั้งแต่เผ่า เพศ อาชีพ รวมไปถึงประวัติส่วนตัว จากนั้นผู้เล่นทุกคนก็จะได้เดินทางออกผจญภัยไปในโลกแฟนตาซีของ D&D ด้วยกันโดยมีเกมมาสเตอร์หนึ่งคนคอยสร้างเหตุการณ์และดำเนินเนื้อเรื่อง และด้วยการได้สวมบทบาทเป็นตัวละครอย่างที่ตัวเองชอบและความตื่นเต้นในโลกแฟนตาซีที่แปลกใหม่ก็ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง

ด้วยความนิยมนี้เอง ทำให้ D&D กลายเป็นมาตรฐานและแบบอย่างในการพัฒนาเกมสวมบทบาทอีกมากมายในภายหลัง

นอกจากจะเป็นเกมสวมบทบาท Pen-and-paper ที่ได้ผู้คนชื่นชอบแล้ว D&D ยังได้ถูกนำมาขยายเป็นนิยาย ภาพยนตร์ และแม้แต่วิดีโอเกม ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Baldur’s Gate, Icewind Dale และ Neverwinter Nights (ใช้กฎ AD&D) และได้รับการกล่าวหรืออ้างถึงในสื่อต่าง ๆ ทั้งนิยาย ภาพยนตร์ หนังซีรีส์ และวิดีโอเกมอื่นอีกด้วย

Vampire: The Masquerade

เกมสวมบทบาท Pen-and-paper ที่น่าสนใจอีกเกมก็คือ Vampire: The Masquerade ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแวมไพร์สไตล์โกธิคในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครที่ต้องรับมือกับสถานการณ์หลายอย่างไม่ว่าจะความกระหายเลือดตามธรรมชาติของตัวเอง นักล่าแวมไพร์ที่มาตามจองเวร และแวมไพร์ด้วยกันเองที่คอยชิงดีชิงเด่นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แม้ว่า Vampire: The Masquerade จะอิงจากโลกในยุคปัจจุบันแต่ก็มีเบื้องหลังอันมืดมิดที่แตกต่างไปจากความเป็นจริงและเต็มไปด้วยความลึกลับจนเกิดเป็นเสน่ห์ให้ผู้คนหลงใหลและมีฐานแฟน ๆ จำนวนมากทั่วโลก

ความโด่งดังของ Vampire: The Masquerade ทำให้เกมนี้ได้รับการนำมาต่อยอดมากมาย ตั้งแต่เกมสวมบทบาทแบบ Live-action ในชื่อ Mind’s Eye Theatre ที่ผู้เล่นมารวมตัวกัน แต่งตัวและสมมติตัวเองเป็นตัวละครในเรื่องจริง ๆ ไม่ใช่เล่นกันในกระดาษบนโต๊ะ หรือเกมการ์ดซึ่งเป็นเกม Tabletop อีกแบบหนึ่ง ตลอดจนวิดีโอเกมซีรีส์ดังที่กำลังจะมีภาคต่อในเร็ว ๆ นี้อย่าง Vampire: The Masquerade – Redemption และ Vampire: The Masquerade – Bloodlines

เกมการ์ด

เกมการ์ดนั้นโดยพื้นฐานเป็นเกมแบบ Tabletop ที่อยู่มายาวนานไม่แพ้เกม Pen-and-paper แบบดั้งเดิม เกมการ์ดที่รู้จักกันดีก็ได้แก่เกมไพ่ต่าง ๆ ที่คนทั่วไปนิยมเล่นกัน เช่น โป๊กเกอร์ แบล็คแจ็ค อีแก่กินน้ำ เป็นต้น ซึ่งเกมเหล่านี้ใช้ “ไพ่ป๊อก” หรือชุดไพ่ที่มีสัญลักษณ์โพธิ์ดำ โพธิ์แดง ดอกจิก และข้าวหลามตัดในการเล่น

แต่นอกเหนือจากเกมไพ่ป๊อกที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีเกมการ์ดอีกมากมายโดยแบ่งเป็นเกมแบบเกมการ์ดชุดเดี่ยว (Standalone) และเกมการ์ดสะสม (Collectible/Trading) ความแตกต่างระหว่างเกมการ์ดสองแบบนี้คือเกมการ์ดชุดเดี่ยวเป็นเกมที่ซื้อชุดการ์ดมาครั้งเดียวแล้วเล่นภายในกติกานั้น ๆ (ยกเว้นกรณีที่มีการออกชุดเสริม) ส่วนเกมการ์ดสะสมจะมีการจัดชุดการ์ดของผู้เล่นแต่ละคนแยกกันทำผู้เล่นให้ต้องซื้อการ์ดใหม่ ๆ มาปรับปรุงชุดการ์ดของตัวเองอยู่เสมอ

ตัวอย่างของเกมการ์ดชุดเดี่ยวที่รู้จักกันทั่วไปก็อย่างเช่น UNO ซึ่งเป็นเกมการ์ดที่ได้รับความนิยมมานานด้วยกฎที่เรียบง่ายแต่เล่นร่วมกันภายในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนได้สนุก สำหรับเกมการ์ดสะสมที่รู้จักกันแพร่หลายก็คงไม่พ้น Magic the Gathering สำหรับฝั่งตะวันตกและ Yu-Gi-Oh! สำหรับฝั่งญี่ปุ่น และ Summoner Master ซึ่งเป็นเกมการ์ดสัญชาติไทย

Through the Ages: A New Story of Civilization

Through the Ages: A New Story of Civilization เป็นเกมการ์ดเชิงกลยุทธ์ที่ได้รับคาวมนิยมอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในเกมนี้ผู้เล่นตั้งแต่ 2 คน (ถึงสูงสุด 4 คน) จะต้องแข่งขันกันสร้างอารยธรรมให้มี “วัฒนธรรม” รุ่งเรืองที่สุด โดย Through the Ages: A New Story of Civilization เป็นเกมการ์ดชุดเดี่ยวที่ใช้การ์ดในการเล่นเป็นส่วนใหญ่ (มีการใช้กระดานสำหรับช่วยเล่นในบางส่วน)

การดำเนินไปของเกมจะมีด้วยกัน 3 ยุคสมัยเริ่มตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคสมัยใหม่ซึ่งจะมีกลไกแตกต่างกันออกไป ผู้เล่นจะต้องบริหารทรัพยากร เลือกผู้นำที่เหมาะสม พัฒนาวิทยาการ สร้างสิ่งมหัศจรรย์ และกำลังทหาร โดยการบริหารทรัพยากรอย่างสมดุลจะมีผลต่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ และหากมีด้านใดด้านหนึ่งที่อ่อนแอก็จะถูกผู้เล่นคนอื่นฉวยโอกาสเอาเปรียบ เช่น ช่วงชิงทรัพยากรหรือเทคโนโลยี หรือแย่งประชากร ฯลฯ เป็นเกมที่ต้องใช้กลยุทธ์และไหวพริบเพื่อเอาชนะผู้เล่นคนอื่น ๆ

Android: Netrunner

Android: Netrunner เป็นเกมที่ทางผู้จัดจำหน่ายเรียกว่าเป็น “แบบกึ่งการ์ดสะสม” (Living Card Game) คือมีลักษณะของเกมการ์ดสะสมที่ผู้เล่นจะต้องใช้การ์ดในการสู้กัน แต่แทนที่ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องซื้อชุดการ์ดตั้งต้นและค่อย ๆ สะสมการ์ดเพิ่มขึ้นจากการเปิดซองการ์ดแบบสุ่ม จะใช้ชุดการ์ดที่มีมาให้และซื้อเป็นชุดเสริมที่ตามออกมาเรื่อย ๆ ในภายหลัง

Android: Netrunner เป็นเกมแบบเล่นสองคนที่ผู้เล่นคนหนึ่งจะได้รับบทเป็น Runner ซึ่งมีเป้าหมายในการขัดขวางการทำงานขององค์กรที่ทรงอำนาจโดยการใช้ทรัพยากรและเวลาที่มีจำกัดเพื่อเจาะระบบ ส่วนอีกคนจะควบคุมองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอำนาจและทรัพยากรมหาศาลซึ่งต้องคอยปกป้องเซิร์ฟเวอร์และเดินกลยุทธ์เพื่อความรุ่งโรจน์ขององค์กร

เกม Android: Netrunner นี้ต่อยอดมาจาก Netrunner ซึ่งเป็นเกมการ์ดสะสมเต็มรูปแบบอันเป็นผลงานการออกแบบของ Richard Garfield (ผู้ให้กำเนิด Magic: The Gathering) โดยมีเนื้อหาอยู่ในจักรวาลเดียวกันกับเกมสวมบทบาท Cyberpunk 2020 (หรือจักรวาลของวิดีโอเกม Cyberpunk 2077 นั่นเอง)

เกมกระดาน

เกมพื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่ทุกคนรู้จักกันดีนั่นก็คือเกมกระดาน โดยเกมกระดานนี้มีมานานไม่แพ้เกมแบบ Unplugged อื่น ๆ ซึ่งเกมกระดานแบบดั้งเดิมที่โด่งดังก็มีทั้งหมากรุก หมากล้อม แบ็กแกมมอน เกมบันไดงู ไปจนถึงเกมเศรษฐี (Monopoly)

เกมกระดานหรือที่สมัยนี้ชอบเรียกกันติดปากว่า “บอร์ดเกม” มีลักษณะเด่นต่างจากเกมแบบอื่น ๆ คือ “กระดาน” หรือ “บอร์ด” จะเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะการเล่นเกือบทั้งหมดและตัวหมากจำเป็นต้องใช้กระดานของเกม ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีการใช้องค์ประกอบแบบเกมสวมบทบาทหรือเกมการ์ด (หรือทั้งสองอย่าง) เข้ามาร่วมด้วย แต่ตัวกระดาน (และตัวหมาก) ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของเกมประเภทนี้

Catan

Catan (ชื่อเต็มอย่างเป็นทางการคือ The Settlers of Catan) เป็นเกมกระดานที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามสำหรับเกมเมอร์สาย Tabletop ทั่วโลกมาเป็นเวลานาน

ใน Catan ผู้เล่นแต่ละคน (ขั้นต่ำ 3 คน สูงสุด 4 คน) จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้คนที่อพยพมาตั้งรกรากบนดินแดนเกาะ Catan ซึ่งเป็นกระดานของเกม โดยกระดานจะใช้ตารางแบบช่องหกเหลี่ยมซึ่งต้องทำการสุ่มสภาพภูมิศาสตร์ในแต่ละครั้งที่เริ่มเกมว่าช่องไหนจะเป็นทุ่งหญ้า ป่า ภูเขา หรือทะเลทราย สภาพภูมิศาสตร์แต่ละอย่างจะให้ทรัพยากรและข้อได้เปรียบที่ต่างกัน จากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเก็บทรัพยากร ขยายชุมชน และทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกับผู้เล่นอื่น ๆ แต่จุดมุ่งหมายหลักก็คือการทำให้กลุ่มผู้ตั้งรกรากของตัวเองเป็นใหญ่ที่สุดบนเกาะ

ด้วยความเรียบง่ายแต่เล่นได้สนุกนาน ทำให้ Catan กลายเป็นเกมกระดานสุดคลาสสิกที่ยังคงถูกผลิตออกวางจำหน่ายและมีเกมภาคเสริมออกมาเพิ่มความหลากหลายและลูกเล่นมากมายไม่รู้กี่ภาคต่อกี่ภาคจนถึงปัจจุบัน (ในภาคเสริมบางภาคทำให้ผู้เล่นขั้นต่ำเป็น 2 คน และสูงสุดเป็น 6 คน)

Eldritch Horror

Eldritch Horror เป็นเกมกระดานที่มีองค์ประกอบของทั้งเกมการ์ดและเกมสวมบทบาทในธีม Cthulhu Mythos จักรวาลแห่งความสยองขวัญสั่นประสาทของนักเขียนชื่อดัง H.P. Lovecraft ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญและยกย่องจากนักอ่านทั่วโลก

เกมในจักรวาล Cthulhu Mythos โดยส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด เช่น ในละแวกป่า หรือในคฤหาสน์ใหญ่ ๆ เพียงหลังเดียว แต่ Eldritch Horror กลับมีการนำเสนอที่ต่างออกไปคือผู้เล่นจะได้ออกเดินทางทั่วโลกเพื่อหาทางหยุดยั้งการตื่นขึ้นของสิ่งชั่วร้ายที่มีพลังอำนาจ

เมื่อเริ่มเกม ทีมผู้เล่น (ตั้งแต่ 1 ถึง 8 คน) จะต้องเลือกว่า “สิ่งชั่วร้าย” หรือ “บอส” ที่จะสู้ด้วยคือปีศาจหรือเทพองค์ไหนใน Cthulhu Mythos ซึ่งบอสแต่ละตัวจะทำให้อารมณ์ของเกมการเล่นต่างกันออกไป แล้วจากนั้นผู้เล่นจึงเลือกตัวละครที่มีมาให้ซึ่งแต่ตัวละครจะมีค่าพลัง ความสามารถ สิ่งของติดตัว และสถานที่เริ่มต้นต่าง ๆ กันไป จากนั้นผู้เล่นจะต้องออกเดินทางไปทั่วโลกและหาทางทำตามเงื่อนไขเพื่อหยุดยั้งไม่ให้บอสตื่นขึ้นมาก่อนที่นาฬิกาหายนะจะนับถอยหลังจนถึงเลข 0

แม้ว่า Eldritch Horror จะแตกต่างจากเกมใน Cthulhu Mythos โดยส่วนใหญ่ แต่เกมนี้ก็ยังคงจับแก่นสารและอารมณ์ของการต่อสู้กับสิ่งลึกลับที่ทรงพลังอย่างยากลำบากและต้องลุ้นระทึกในทุกเสี้ยววินาทีเอาไว้ได้อย่างลงตัว

เกมวางแผนการรบ

เกมวางแผนการรบหรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Wargame คือเกมที่มีเนื้อหาและธีมเกี่ยวกับการทำสงครามเป็นหลัก โดยเกมจัดอยู่ในหมวดนี้อาจจะเป็นเกมกระดานหรือเกมการ์ดก็ได้ เช่น War of the Ring ซึ่งเป็นเกมวางแผนการรบบนกระดานระหว่างเหล่าเสรีชนและจอมปีศาจเซารอนในดินแดน Middle-earth แต่ก็มีเกมวางแผนการรบบางเกมที่ไม่ใช่ทั้งเกมกระดานหรือเกมการ์ดคือแต่มักจะใช้หุ่นหรือโมเดลขนาดเล็ก (Miniature) บนพื้นที่จริงในการเล่น

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเกมวางแผนการรบที่ใช้โมเดลเป็นหลักเพราะมีความแตกต่างอย่างน่าสนใจคือผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปจะต้องจัดกองทัพ (ที่แทนด้วยโมเดล) ตามกฎของเกมจากนั้นก็นำกองทัพเข้ามาห้ำหั่นกันบนฉากซึ่งเป็นพื้นราบเปล่า ๆ หรือจะหาซื้อฉากเป็นแผนที่มาใช้ก็ไม่ว่ากัน และเพราะความจำเป็นที่ต้องซื้อโมเดล อุปกรณ์เสริม และคู่มือกฎ (Codex) รวมถึงฉากซึ่งจะใช้เป็นสนามรบนี้เอง ทำให้เกมแนวนี้ต้องอาศัยทั้งเงินและความทุ่มเทอย่างมาก

Warhammer 40,000

ในวงการเกมปัจจุบันนี้ คงแทบไม่มีใครไม่รู้จัก Warhammer 40K ซึ่งโด่งดังขึ้นมาในฐานะวิดีโอเกมแนววางแผนเชิงกลยุทธ์อย่างซีรีส์ Dawn of War และเกมในจักรวาล Warhammer 40K หลากหลายแนวที่ทยอยตามกันออกมาไม่หยุดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

แต่จริง ๆ แล้วแรกเริ่มเดิมที Warhammer 40K เป็นเกมแนว Tabletop ที่จัดว่ายิ่งใหญ่อลังการและได้รับความนิยมอย่างสูงมาก่อน โดยมีเนื้อเรื่องและกฎการเล่นที่พัฒนาต่อยอดมาเรื่อย ๆ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วางจำหน่ายครั้งแรก

ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องเลือกฝ่ายและกองทัพจากโมเดลที่ตัวเองมีในครอบครอง (ในหนึ่งกองทัพควรใช้ตัวละครที่เป็นฝ่ายเดียวกันทั้งหมด) ตัวละครแต่ละตัวจะมีค่า “คะแนน” กำหนดไว้เพื่อใช้จำกัดขนาดของกองทัพโดยผู้เล่นจะต้องตกลงกันไว้ก่อนว่าจะมีการจำกัดคะแนนไว้เท่าไร แต่ก็ไม่มีกฎตายตัว ผู้เล่นคนหนึ่งอาจอ่อนข้อให้คนอื่นมีคะแนนสูงกว่าเพื่อให้กองทัพใหญ่กว่าก็ได้ หลังจากจัดกองทัพแล้ว ผู้เล่นก็จะตกลงกฎและเงื่อนไขในการแพ้ชนะสำหรับสถานการณ์เฉพาะจากนั้นจึงเริ่มเล่น

ด้วยความที่ตัวละครจะถูกจัดทัพไว้บนพื้น โต๊ะ หรือบนฉากซึ่งไม่มีตารางหรือช่องกำหนดไว้ ระยะการเดินและระยะยิงของเกมนี้จึงใช้วิธีการวัดด้วยไม้บรรทัด (หรือเครื่องมือวัดระยะอะไรก็ได้) และใช้ลูกเต๋าในการคำนวณความเสียหายและค่าอื่น ๆ รวมถึงมีลูกเต๋าพิเศษที่ใช้คำนวณเหตุการณ์สุ่ม เช่น การลุกลามของไฟที่กำลังไหม้ป่า

เกม Warhammer 40K เป็นเกมที่ต้องใช้เวลานานตั้งแต่การตั้งต้นไปจนถึงการเล่น ทำให้ผู้เล่นทักจำจำกัดจำนวนเทิร์นไว้ หลังจากครบเทิร์นแล้วก็มาดูกันว่าใครที่มี “คะแนน” สูงสุดตามเงื่อนไข หรือทำลายข้าศึกได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ (ตามแต่จะตกลงกันไว้) หรือถ้าอยากจะฮาร์ดคอร์ สู้กันจนหยดสุดท้ายก็ไม่มีใครว่า เพียงแต่อาจจะต้องใช้เวลาเล่นข้ามวันเท่านั้นเอง

Star Wars: Armada

Star Wars: Armada เป็นเกมแนววางแผนการรบในจักรวาล Star Wars ที่มีความใกล้เคียงกับ Warhammer 40K คือไม่มีกระดานและใช้โมเดลยานรบในการจัดทัพสู้กัน โดยผู้เล่นจะสวมบทบาทเป็นนายพลเรือของฝ่ายจักรวรรดิหรือฝ่ายกบฏแล้วบัญชาการกองยานเพื่อรบกับฝ่ายตรงข้าม

จุดเด่นของ Star Wars: Armada คือยานหลัก (Capital ship) มีขนาดใหญ่และทรงพลังแต่กลับควบคุมได้ยากยิ่ง โดยการเคลื่อนที่ของยานหลักนี้จะกำหนดโดยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Maneuver Tool ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกสมจริงในการควบคุมยาน ในขณะที่ยานกำลังเคลื่อนที่จะไม่สามารถหยุดหรือเปลี่ยนทิศทางได้ทันทีเนื่องจากแรงเฉื่อยของยาน ทำให้ผู้เล่นต้องวางแผนเพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน

นอกจากนี้ยานหลักแต่ละลำยังมีค่าการสั่งการที่แตกต่างกันไปสำหรับกำหนดคำสั่งการล่วงหน้า ทำให้ผู้เล่นแต่ละคนต้องอ่านเกมและวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง เป็นเกมการเล่นแบบยุทธวิธีที่สร้างความตื่นเต้นในการหักเหลี่ยมเฉือนคมกับผู้บัญชาการของฝ่ายตรงข้าม

 

โลกของเกม Tabletop ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่บนโต๊ะเสมอไปเพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเกมกระดานและเกมการ์ดจำนวนมากมาพัฒนาเป็นเวอร์ชันวิดีโอเกม และในทางกลับกันก็มีการนำวิดีโอเกมมาสร้างเป็นเกม Tabletop อย่าง DOOM ภาครีบูทซึ่งกลายเป็นกระดานในชื่อ DOOM: The Board Game หรืออย่าง Dark Souls ซึ่งมีทั้งเวอร์ชันเกมกระดานและเกมการ์ด

สำหรับคนที่สนใจอยากลองมีกิจกรรมแบบ Unplugged ไม่ว่าจะเล่นคนเดียว (มีหลายเกมที่เล่นคนเดียวได้จริง ๆ นะเออ) หรือสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ก็ลองค้นหาเกมหรือแนวเกมที่ชอบกันดู ใครที่อยากลองเล่นดูก่อนจะซื้อจริง ๆ ก็สามารถแวะไปตามร้านบอร์ดเกมได้ โดยปัจจุบันนี้มีร้านบอร์ดเกมเกิดใหม่ไม่น้อยเพราะคนไทยหันมาสนใจเล่นกันมากขึ้น

การละเล่นแนวลี้ลับเหนือธรรมชาติ (แถม)

สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงในหัวข้อนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ “ผีถ้วยแก้ว” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Ouija (อ่านว่า “วีจี”) หรือ Spirit board

สำหรับฝั่งตะวันตก Ouija หรือผีถ้วยแก้วเป็นเหมือนพิธีกรรมหรือไสยศาสตร์ความเชื่อ แต่ที่น่าแปลกใจคือสำหรับประเทศไทยนั้นกลับเรียกผีถ้วยแก้วว่าเป็น “การละเล่น” อย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนอ่านเจอแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในพจนานุกรมหรือสารานุกรมต่าง ๆ

ตอนอายุยังน้อยก็ไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไร แต่เมื่อแก่ตัวมากขึ้นก็เริ่มตั้งคำถามว่าไอ้นี่มันเป็นการละเล่นได้ยังไง? ใครเป็นคนนิยามแบบนี้? แต่ไม่ว่าจะหาข้อมูลยังไงก็ไม่มีคำตอบและยังคงเป็นปริศนาต่อไป และได้แต่คิดกับตัวเองว่ามันคงเป็นการเล่นกันกับมวลสารพลังงานบางอย่างกระมัง 5555

SHARE

Chaiyawut Keereeto

Back to top