เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการฝึกฝนให้เก่งกาจขึ้นในเกมต่อสู้ นอกเหนือไปจากการฝึกซ้อม คอมโบ และจิตวิทยาต่าง ๆ ก็คือการมองระยะห่างให้ออก การบริหารพื้นที่คือส่วนสำคัญที่นำพาไปสู่ชัยชนะถ้าเรารู้ระยะการโจมตีของตัวละครที่เล่นอยู่และของตัวละครที่สู้ด้วย จะช่วยให้การตัดสินใจในการวางรูปเกมของเราเป็นไปได้ง่ายขึ้น
เพราะอะไรเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ? ในเกมต่อสู้ไม่ว่าจะทั้งสองมิติหรือสามมิติ การกำหนดระยะโจมตีของตัวละครด้วยท่าต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งที่ผู้เล่นต้องเรียนรู้และศุกษาเป็นอย่างดี ตัวละครที่มีช่วงโจมตียาวจะมีความได้เปรียบในการโจมตีจากระยะห่าง ๆ ที่คาดเดาได้ยาก อย่างเช่น Dhalsim ใน Street Fighter ที่มีท่าโจมตีปกติที่ยาวกว่าตัวละครอื่น ทำให้การคุมพื้นที่ดักทางในระยะไกลทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีจ้อเสียคือเคลื่อนที่ได้ช้าเป็นข้อแลกเปลี่ยน หรือตัวละครที่มีท่าโจมตีปกติที่ออกท่าในระยะที่ยาวก็ถือว่ามีความได้เปรียบที่ช่วยใช้ในการรักษาระยะ เราจะเรียกอาการออกท่าเพื่อรักษาระยะเหล่านี้ว่า Footsie ซึ่งตัวละครที่มีการ Footsie ที่ดีก็คือตัวละครที่สามารถออกท่าเพื่อคุมพื้นที่ไม่ให้คู่ต่อสู้เข้าถึงตัวได้ง่าย ๆ และทำให้การป้องกันของศัตรูหละหลวมเพราะคิดว่าการโจมตีนั้นจะมาไม่ถึงตัวของเรา ผู้ที่เล่นเกม Footsie ได้ดีคือผู้ที่กุมชัยชนะแล้วไปครึ่งหนึ่ง
แต่ก็ไม้ได้หมายความว่าตัวละครที่มีระยะ Footsie ดี ๆ นั้นจะไม่มีจุดบอด การออกท่าเพื่อเช็คระยะในหลายทีนั้นมักจะทึ้งช่องโหว่เอาไว้เสมอ(เพราะคำ ๆ เดียวก็คือ “ฟิสิกส์”) ไม่ว่าจะเป็นการออกท่าวืด(Whiff) ที่ถ้าหากอัดไม่โดนก็จะเกิดช่องโหว่ใหญ่ให้ถูกสวนกลับชุดใหญ่ หรือการที่ท่าเหล่านี้มี Frame เสียเปรียบเกิดขึ้นถ้าหากถูกป้องกันได้ ทำให้การออกท่ารักษาระยะหลายครั้งมีความเสี่ยงที่จะถูกสวนกลับได้มากกว่าที่คิด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การอ่านระยะก็คือ จะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อหน้าอย่างไร
ส่วนในเกมอย่าง Tekken นั้นการคาดเดาระยะการโจมตีของคู่ต่อสู้นั้นยังจำเป็น และยิ่งจำเป็นมากไม่แพ้เกมสองมิติ เพราะการที่ผู้เล่นต้องขยับมือซ้ายมากกว่าปกติทั้งการเคลื่อนที่แบบหน้าไปหลัง คราวนี้มีทั้งด้านข้างซ้ายขวา ที่ถ้าหลบผิดด้านก็มีโอกาสโดนงัดลอยกินคอมโบจนอิ่มหนำ หรือขยับออกท่ามากเกินไปก็มีโอกาสโดนงัดลอยได้เช่นกัน การมองและกะระยะให้ออกในเกมนี้จะช่วยให้เราสามารถ Whiff Punish ลงโทษคู่ต่อสู้ให้เจ็บตัวจากความผิดพลาดได้มากขึ้น กลายเป็นคีย์สำคัญที่ช่วยกำชัยชนะได้เลย
ทีนี้เรากลับมาดูในส่วนของเกมสองมิติกันบ้าง นอกจากการใช้ Footsie ก่อกวนคู่ต่อสู้ด้วยท่าพื้นฐานหลากหลายแบบแล้ว ยังมีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้การรักษาระยะเป็นไปได้อย่างสะดวกก็คือการใช้ท่าปล่อยพลังทั้งหลายนั่นเอง ผู้เขียนเคยเกริ่นเรื่องนี้ไปแล้วในบทความ Hadouken ว่าความสำคัญของท่าปล่อยพลังไม่ใช่แค่การโจมตีในระยะไกล ๆ เท่านั้น แต่มันเป็นการบังคับให้คู่ต่อสู้ต้องขยับหรือใช้ฟุตเวิร์คในการหลบหลีก บีบให้เขาต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อหลบหนีจากสถานการณ์ที่ถูกกดดันด้วยลูกพลัง เช่นการโดดหรือออกท่าหลบ เป็นการบีบให้เขาทำอะไรสักอย่างที่เราคาดการณ์เอาไว้แล้ว และทำให้เราดำเนินแผนสองต่อได้ทันที เช่นใช้ท่า DP สวนคู่ต่อสู้ที่กระโดดเข้ามาและอื่น ๆ แต่ถ้าหากผู้เล่นปล่อยพลังในระยะที่อันตรายจนคู่ต่อสู้สามารถ Jump in เข้ามาในระยะอันตรายที่สามารถถูกคอมโบสารพัดได้ก็ถือว่าการอ่านระยะในการปล่อยพลังนั้นผิดพลาดนั่นเอง สิ่งที่ผู้เล่นสายปล่อยพลังตั้งรับต้องจำให้ขึ้นใจมาก ๆ ก็คือควรรู้ว่าต้องปล่อยพลังในระยะใดโดยที่ไม่ถูกสวนกลับจนอ่วมเสียก่อน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการอ่านระยะที่ถูกต้องเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการอ่านระยะและเว้นระยะห่างในเกมต่อสู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เลยเพราะมันมีผลในหลายเรื่อง เรียกว่าถ้าใครอ่านระยะได้เก่งควบคู่ไปกับการมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ไวพอ จะช่วยให้การสวนกลับและเกมรุกได้น่ากลัวขึ้นอย่างมาก แต่ก็ต้องรู้เขารู้เรา รู้ว่าคู่ต่อสู้มีท่าที่สามารถเข้าถึงตัวได้ในทันทีหรือไม่ มีท่าโมตีในระยะ Footsie ที่ยาวกว่าของเราหรือเปล่า และเรียนรู้ว่าท่านี้ Whiff ไปแล้วจะ Punish ด้วยท่าหรือคอมโบอะไร และระยะเท่านี้ฝ่ายปล่อยพลังจะต้องคิดว่าควรใช้ Fireball หรือไม่ และฝ่ายรุกก็ดูว่าเขาปล่อยพลังระยะนี้ครบค่าแก่การ Jump in ไปหรือเปล่า และอีกหลายเรื่องที่ผู้เขียนสาธยายออกมาไม่หมด แต่ล้วนเกี่ยวข้องกับการดูระยะห่างทั้งสิ้น และเมื่อเราแม่นในการอ่านระยะแล้ว ที่เหลือก็คือการใช้ปัจจัยอื่นในการคว้าชัยชนะมาให้ได้นั่นเองครับ