ในวงการเกมต่อสู้หรือการแข่งขัน E Sports ทั้งหลาย สิ่งที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งเราไม่ควรมองข้ามคือการฝึกซ้อม หลายคนและหลายทีมต่างวางตารางฝึกซ้อมกันแบบเป็นเรื่องเป็นราว วันหนึ่ง ๆ ประมาณ 8 – 10 ชั่วโมงเหมือนกับเป็นงานประจำ ซึ่งสำหรับมืออาชีพในวงการเกมต่อสู้หลายคนเองก็ไม่ได้ต่างกันเท่าใดนัก แต่สำหรับเราเหล่าผู้เล่นทั่วไปที่เวลาซ้อมเวลาเล่นอาจจะไม่ได้มากเหมือนกับเหล่านักกีฬาอาชีพจะฝึกฝนอย่างไร วันนี้ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังครับ
ถ้าใครที่ติดตามอ่านเรื่องของเกมต่อสู้ที่ผู้เขียนนำเสนอมาตลอดน่าจะจำได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอนั้นไม่ใช่เรื่องของเทคนิคการเล่นเฉพาะเกมหรือตัวละคร แต่จะเน้นไปที่การเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีเล่นให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวนำมาบอกเล่าแก่เพื่อน ๆ ผู้อ่านได้เข้าใจกันมากขึ้น เพราะส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้จะสามารถเล่นเกมต่อสู้ได้สนุกขึ้น โดยสนใจในเรื่องของผลแพ้ชนะน้อยลงและใส่ใจกับการพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นแทน ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้เล่นอย่างเรา ๆ หลายคนมีเวลาเล่นน้อยลงเพราะจากหน้าที่การงาน เรียนหรือภารกิจส่วนตัวรุมเร้า เราก็ยังพอจะสามารถหาทางพัฒนาฝีมือของตัวเองได้อยู่
ซึ่งข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งสำหรับเกมที่เน้นไปในการเล่นเดี่ยวอย่างเกมต่อสู้นั้นทำให้ผู้เล่นสามารถยืดหยุ่นรูปแบบและเวลาซ้อมได้ค่อนข้างมากกว่าการซ้อมแบบทีม จะกระโดดเข้าไปเล่นในโหมด Ranking Online แล้วเก็บ Rank ไปทั้งอย่างนั้นเลยก็ได้ หรืออาศัยดูคลิปจากโปรทั่วโลกมาวิเคราะห์วิธีการเล่นของเขา หรือศึกษาหาความรู้จากคลิปและบทความเพิ่มเติมที่มีอยู่ทั่วไปทั้งจากในกลุ่มผู้เล่นเองหรือจากในเว็บไซด์ชุมชนของผู้เล่นหลากหลายที่ ซึ่งผู้เขียนก็ยอมรับว่าสมัยนี้การหาข้อมูลเพื่อเสริมความรู้ในการเล่นนั้นทำได้ง่ายกว่าในสมัยก่อนมาก(เมื่อก่อนนั้นเทคนิคพวกนี้จะอยู่แค่ในหนังสือนิตยสารเกม ที่มีแต่ภาษาญี่ปุ่นทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ และยังมีราคาค่อนข้างแพงอีกด้วย) ยุคนี้เพียงแค่เปิด Youtube หรือ Google พิมพ์ Keyword ที่เราต้องการก็เจอเลย เป็นอะไรที่สะดวกมากจริง ๆ หรือจะติดตามดูการแข่งขันแบบสด ๆ ก็สามารถติดตามดูได้ง่ายกว่าเดิม
และพอมันง่ายขึ้นเราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มากกว่าเดิม จริงอยู่ที่ผู้เล่นหลายคนมักจะชอบดูเพื่อความบันเทิงมากกว่า โดยเฉพาะในเกมดัง ๆ อย่าง Street Fighter หรือ Tekken ที่มีเอฟเฟคตูมตามเร้าใจ แต่ถ้าหากจะดูเพิ่มพัฒนาฝีมือตรงนี้ก็ได้เช่นกัน หลายครั้งในการ Live Stream ของผู้เล่นระกับโปรหลายคน พวกเขามักจะให้ความรู้เกี่ยวกับตัวละครที่เล่นหรือที่สู้ด้วยอยู่บ่อย ๆ และยังคอยตอบคำถามผ่านทางช่อง Chat อยู่เสมอ ๆ (แต่ก็ขึ้นอยู่กับบางคนด้วย เพราะบางคนอาจจะเพ่งสมาธิกับการเล่นมากกว่าจนไม่ได้อ่าน Chat เป็นต้น) ซึ่งหลายครั้งเองผู้เขียนก็มักจะติดตามผู้เล่นที่ใช้ตัวละครเดียวกันกับที่เล่นอยู่ หรือไปดูดวิชาหาทางแก้จากผู้เล่นที่ใช้ตัวละครที่เพิ่งไปแพ้มาอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน
วิธีการศึกษาจากคลิปหรือข้อมูลในแหล่งต่าง ๆ เป็นสิ่งที่โปรหลายคนนำไปใช้ประกอบกับการฝึกซ้อมในปัจจุบัน อย่างเช่น Luffy ที่จะใช้เวลาในการเล่นซ้อมน้อยกว่าผู้เล่นระดับสูงคนอื่น ๆ แต่จะเน้นหนักไปที่การศึกษาจากข้อมูลและดูคลิปเพิ่มเติมว่าคู่ต่อสู้คนไหนเล่นแบบไหนและนำมาวิเคราะห์ประกอบการซ้อมด้วย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทฤษฏีแน่นแล้วปฏิบัติจะต้องละเลย การนำไปปรับใช้จริงคือสิ่งสำคัญ มันก็เหมือนกับในเกมการ์ดที่เราจะไปดูว่าเดคที่ผู้เล่นใช้เป็นเดคอะไร เล่นแบบไหน สิ่งเรารับมาก็ปรับใช้ให้เหมาะกับจังหวะของเราเองได้ เพราะถ้าลอกมาเป๊ะ ๆ เลยมันก็อาจจะไม่ได้อะไรมากเท่าที่ควร และอาจจะทำให้จังหวะการเล่นของเราเสียไปด้วย และการนำไปลองใช้ในสนามจริงทั้งคอมโบ ยุทธวิธีการเล่น เทคนิคต่าง ๆ ก็ช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นไปด้วย
สำหรับวิธีซ้อมอีกวิธีที่น่าสนใจคือเล่น FT10 หรือ First To 10 กับเพื่อนที่มีฝีมือเท่า ๆ กัน และหลังจบเกมก็มาคุยวิเคราะห์หรือดูเทปที่อัดไว้ระหว่างเล่นว่าในแต่ละเกมนั้นมีตรงไหนที่เกิดขึ้นและพิจารณาว่าพลาดตรงไหนและควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งในหลายครั้งก็อาจจะทำให้ได้ประโยชน์มากกว่าเล่นในโหมด Ranking และช่วยลดอาการหัวร้อนลงได้ด้วย(แต่ในหลายครั้งก็อาจจะทำให้หัวร้อนมากกว่าเดิม ขึ้นอยู่กับความเดือดในการเล่นด้วย)
และอีกวิธีที่ช่วยให้การซ้อมมีประสิทธิภาพขึ้นก็คือพยายามอย่าให้อารมณ์ครอบงำมากจนเกินไป ผู้เขียนเข้าใจว่าหลายครั้งเรื่องของอารมณ์โกรธมันห้ามกันไม่ได้จริง ๆ (โดยเฉพาะตอนที่เจอคนเล่นแบบกวนโมโหหรือแรงค์ร่วงรัว ๆ ) แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งเราควรหยุดพักและไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า เพราะมันจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ยิ่งเราอยากเอาคืนมากก็จะยิ่งเล่นหลุดและยิ่งไม่ได้อะไรคืนมา มีแต่อารมณ์อยากเอาคืนอย่างเดียวกลายเป็นว่าเราไม่ได้อะไรจากตรงนั้นคืนนอกจากความสะใจ ถ้าจะให้ดีเราควรถอยห่าง หยุดเล่นหยุดซ้อมให้ใจเย็นลงสักหน่อย หรือไม่ก็เก็บมาพิจารณาว่าเราแพ้เพราะอะไร เหมือนที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ในบทความ “ประโยชน์ของความพ่ายแพ้” ที่เราสามารถนำมันมาพิจารณาเพื่อหาจุดที่ต้องแก้ไข ดีกว่าที่จะไปลงกับในเกมที่ใช้ความโกรธ จนกลายเป็นไม่ได้อะไรกลับมาเลย
มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีมือในเกมต่อสู้นั้นมีสูตรที่ไม่ได้ตายตัวมากนัก ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเวลาที่คน ๆ นั้นมี ผู้เล่นที่ไม่ใช่นักกีฬาหรือเล่นจริงจังแบบเข้มข้นก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสะดวก อาจจะลดความเข้มข้นลงมาเพื่อให้ยังรู้สึกว่ายังเล่นได้สนุกอยู่ หรือปรับความจริงจังมากขึ้นเพื่อพัฒนาฝีมือไปแข่งขันในระดับโลก อันนี้ก็แล้วแต่เราแล้วว่าจะใส่เต็มในระดับไหน แต่ผู้เขียนยังย้ำอยู่เสมอ ว่ายิ่งเราเล่นได้ดีขึ้น เราก็จะยิ่งสนุกกับเกมได้มากขึ้น ซึ่งนั้นคือหัวใจสำคัญที่ผู้เล่นเกมต่อสู้หลายต่อหลายคนยึดถือในใจครับ