PlayStation 4 เป็นเครื่องคอนโซลที่ได้รับความนิยมที่สุดแห่งยุคเจเนอเรชันแปด เพราะเป็นแพลตฟอร์มมีเกม Exclusive น่าดึงดูด และสามารถเจาะกลุ่มตลาดได้แบบ All-Round ที่เกมเมอร์หรือผู้พัฒนาเกมทุกคน, ทุกวัย, ทุกเพศ, ทุกเชื้อชาติต่างให้ความวางใจ
แต่นับจากปี 2017 เป็นต้นไป เกมเมอร์หลายฝ่ายเริ่มไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายเซนเซอร์เนื้อหาโป๊เปลือยที่มีความเข้มงวดเกินไป จนส่งผลกระทบต่อผู้พัฒนาเกมฝั่งญี่ปุ่นต้องหันไปพอร์ตเกมลง Nintendo Switch ถ้วนหน้า ซึ่งเกิดอะไรขึ้นกับ Sony ? ทำไมการเซนเซอร์เนื้อหาเกม PlayStation จึงเข้มมากขึ้น ? บทความนี้จะมาไขปริศนานี้กันครับ
ตัวอย่างเด่นเกี่ยวกับปัญหาเซนเซอร์เกม
ปัญหาเกมโดนเซนเซอร์เนื้อหา ดีเลย์วันวางจำหน่าย หรือโดนตีกลับเพื่อนำไปแก้ไข มีหลายเคสมากมายให้กล่าวถึง แต่ตัวอย่างเหล่านี้เป็นตัวสร้างประเด็นถกเถียงบนคอมมูนิตี้เกม ซึ่งทำให้เกมเมอร์หลายคนเริ่มตระหนักตัวและเริ่มไม่วางใจกับ PlayStation มีดังนี้
Omega Labyrinth Z / Omega Labyrinth Life
เกม Omega Labyrinth Z ตอนแรกมีแผนวางจำหน่ายช่วงปี 2018 แต่ต่อมาเกมถูกยกเลิกการวางจำหน่าย เพราะทาง Sony America กับ Sony Europe ไม่อนุมัติการวางขายเกม (หรือแบนนั้นเอง)
แม้ล่าสุด Omega Labyrinth Life ซึ่งเป็นภาคต่อจะกลับมาวางขายอีกครั้งผ่าน PlayStation Store ก็จริง แต่กลับเป็นเวอร์ชัน “ปลอดภัย” ที่มีการตัดฟีเจอร์หน้าอกเด้ง, ลบเนื้อหาทางเพศบางส่วนออกไป แม้กระทั่งโลโก้ของเกม (บ้าไปแล้ว!) ในขณะที่เวอร์ชัน Nintendo Switch ยังมีเนื้อหาแฟนเซอร์วิสครบถ้วน
Dead or Alive Xtreme 3 Scarlet
เวอร์ชัน Fortune สำหรับ PlayStation 4 และเวอร์ชัน Venus สำหรับ PlayStation VITA ออกวางจำหน่ายช่วงปี 2015 ยังไม่พบกับปัญหาการเซนเซอร์แต่อย่างใด
จนกระทั่งเวอร์ชันอัพเกรต Scarlet สำหรับแพลตฟอร์ม PlayStation 4 เริ่มมีการตัดระบบฟีเจอร์แฟนเซอร์วิสบางส่วนออกไป แต่สำหรับแพลตฟอร์ม Nintendo Switch ยังคงจัดเต็มเช่นเดิมคล้ายกับกรณีของ Omega Labyrinth Life
SENRAN KAGURA Burst Re:Newal
ในขณะที่การพัฒนาเกมบนระบบ PC กับ Nintendo Switch เต็มไปด้วยความราบรื่น แต่ไม่ใช่สำหรับเวอร์ชัน PlayStation 4 ซึ่งประสบปัญหาดีเลย์วันวางจำหน่าย เพราะ Sony ตีกลับเพื่อนำกลับไปแก้ไขด้วยการลบ Intimacy Mode ซึ่งเป็นฟีเจอร์หลักของเกมดังกล่าวทิ้ง
ถึงแม้สุดท้าย ตัวเกมสามารถอนุมัติออกวางจำหน่ายบนระบบ PlayStation 4 แต่คุณ Kenichiro Takaki ผู้กำกับเกมซีรีส์ SENRAN KAGURA ประกาศลาออกจาก Marvelous Entertainment และเข้าร่วมกับทีมงาน Cygames เพื่อพัฒนาเกมใหม่ โดยให้เหตุผลเชิงเบื่อหน่ายกับการจำกัดเนื้อหาทางเพศว่า
แม้ที่ทำงานและอุตสาหกรรมเกมจะเปลี่ยนแปลง แต่ผมไม่ยอมเปลี่ยนในสิ่งผมอยากโชว์ให้เกมเมอร์ทุกคนเด็ดขาด
แล้วเกิดอะไรขึ้นละ ?
จะสังเกตเห็นว่าเกมส่วนใหญ่ มักนำเสนอเป็นภาพกราฟิกสไตล์อนิเมะหรือเกมอินดี้สัญชาติญี่ปุ่นเกือบทั้งสิ้น โดยแพลตฟอร์ม Nintendo Switch ยังคงมีเนื้อหาครบถ้วน ต่างจาก PlayStation 4 ที่โดนปิดกั้นทุกเกม
ทีนี้ เกมเมอร์หลายท่านคงสงสัยแล้วว่าทำไมธุรกิจเกมเดี๋ยวมันกลับตาลปัตรไปหมด ? จากที่แพลตฟอร์มเด็กดีอย่าง Nintendo มีความเปิดกว้างมากขึ้น แต่ PlayStation 4 จากแพลตฟอร์มสำหรับวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ แต่กลับมีการปิดกั้นเนื้อหาลามกมากมายจนน่าเกลียด
คำตอบมาจากบทสัมภาษณ์ของ Wall Street Journal รายงานสัมภาษณ์กับกลุ่มพนักงาน Sony (ไม่เปิดเผยชื่อ) เผยว่า Sony เริ่มใช้นโยบายเข้มงวดกับการปล่อยจำหน่ายเกมที่มีเนื้อหาโป๊เปลือย เพราะไม่อยากตกเป็นเป้าหมายจากกระแส #MeToo
ถ้าผู้อ่านยังคงจำได้ ย้อนกลับช่วงปี 2017 – เว็บไซต์ Twitter กับ Facebook เกิดกระแสแฮชแท็ก #MeToo ขึ้น หลังจากคุณ Alyssa Milano รู้สึกตระหนักถึงปัญหาการประทุษร้ายทางเพศ (Sexual Assault) และคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)
เธอจึงรณรงค์ให้ใช้แฮชแท็กดังกล่าว เพื่อเป็นการเคลื่อนไหว และบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยโดนประทุษร้ายหรือคุกคามทางเพศมาก่อน
ช่วงเวลาสองวันหลังจากเกิดกระแส #MeToo แฮชแท็กดังกล่าวถูกกล่าวถึงกว่า 500,000 ครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นดารานักแสดงชั้นนำหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ก็เคยถูกประทุษร้ายทางเพศหรือต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (ใช้แฮชแท็กว่า #HowIWillChange) ก็ต้องบอกเลยว่าการเคลื่อนไหวประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นมาก
Sony เกี่ยวอะไรกับ #MeToo ?
เนื่องจากกระแส #MeToo เริ่มรุนแรงมากขึ้นจนมีการเปิดโปงด้านมืดของธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง, ภาพยนตร์ ไม่พ้นแม้แต่การศึกษาหรือการเมือง และแน่นอน “วิดีโอเกม” คือหนึ่งในนั้นเหยื่อของการประทุษร้ายทางเพศหญิงด้วย
ตอนนั้นบริษัท Sony Interactive Entertainment ก็แจ็คพอตแตกพอดี เพราะช่วงปี 2016 มีการย้ายบริษัทใหญ่จากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สู่เมือง San Mateo รัฐ California ประเทศสหรัฐฯ
หลังจากกระแส #MeToo รุนแรงมากขึ้นจนมีผู้คนระดับสูงตั้งแต่ดารา และนักการเมืองหลายท่านต่างสนับสนุนแฮชแท็กดังกล่าว
ทางบริษัท Sony ซึ่งเป็นแบรนด์มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ฉะนั้นภาพลักษณ์ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปิดกว้างเกมเนื้อหาทางเพศเยอะเกินไป อาจก่อปัญหาตามมาแบบไม่หยุดยั้งจนส่งกระทบต่อธุรกิจทั้งหมด บริษัทจึงตัดสินใจเริ่ม “เพลย์เซฟ” ด้วยการเซนเซอร์เนื้อหาเกมที่เกี่ยวข้องกับเพศแบบเข้มงวดมากขึ้น
ทำไมการเซนเซอร์ที่เข้มงวด ถึงส่งผลเสียต่อนักพัฒนาเกมญี่ปุ่น ?
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เปิดเผยเรื่องเพศอย่างโล่งโจ้งกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทไหนตั้งแต่ภาพยนตร์, หนังสือกับนิตยสาร, อนิเมะกับมังงะ หรือแม้แต่วิดีโอเกม จะต้องมีประมาณ 2 ใน 10 จะต้องมีเนื้อหาล่อแหลมทางเพศอยู่เสมอ
แต่ความอินดี้ของประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่เป็นยอมรับสำหรับบางคนแม้จะเป็นประเทศที่เจริญแล้วก็ตาม ช่วงเวลาหนึ่งต้นปี 2018 – รัฐบาล U.N. (United Nations) ยื่นเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นให้แบนอนิเมะกับมังงะที่มีตัวละคร Loli (เด็กต่ำกว่า 12 ปี) เพราะเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมให้ล่อลวงเด็ก หรือช่วงต้นปี 2019 ทาง U.N. (อีกแล้ว) เสนอให้ญี่ปุ่นแบนสื่อการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประทุษร้ายกับเพศหญิง เช่น การข่มขืน เป็นต้น
ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ U.N. นำเสนอมา รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยพร้อมกับปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมด โดยคุณ Kumiko Yamada หน่วยงานสถาบันวัฒนธรรมร่วมสมัยสำหรับผู้หญิง ให้เหตุผลว่า
การประทุษร้ายกับเพศหญิงกับสิ่งที่จินตนาการขึ้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้กระทำในชีวิตจริง และไม่ได้ช่วยส่งเสริมการปกป้องสิทธิผู้หญิงอีกด้วย
แต่เหมือนที่กล่าวไว้ข้างต้น Sony เป็นแบรนด์ระดับนานาชาติ และอุตสาหกรรมวิดีโอเกมมีความนิยมกว้างทั่วโลก จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องบังคับใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งนั่นหมายถึงการเปิดเผยเนื้อหาทางเพศต้องไม่ฮาร์ดคอร์เท่ากับญี่ปุ่น
ส่วนสาเหตุว่าทำไมเกมอินดี้ญี่ปุ่นที่มีภาพกราฟิกอนิเมะถึงโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ? อันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่หลายคนตอบไม่ได้หรือแม้แต่ทาง Sony เอง ซึ่งอาจเป็นเพราะ Stereotype ของการ์ตูนสำหรับคนทั่วไปยังมองว่าเป็นสื่อสำหรับเด็ก ซึ่งความจริงแล้วสำหรับญี่ปุ่นและเอเชียบางภูมิภาค เขามองว่าการ์ตูนเป็นสื่อรูปแบบหนึ่งเหมือนกับละครโทรทัศน์
ตอนนี้บริษัทเกมญี่ปุ่นขนาดเล็กหลายเจ้ากำลังส่งผลกระทบอย่างหนักจากนโยบายเซนเซอร์ของ Sony อันเข้มงวด
สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียน ก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการเซนเซอร์หรือเอาใจ SJW ซะเท่าไหร่นัก ไม่ใช่เพราะว่าผมชอบเล่นเกมเนื้อหาแฟนเซอร์วิส แต่เป็นเพราะทุกภูมิภาคมีระบบจัดการเรตที่ชัดเจนอยู่แล้ว เช่น ประเทศสหรัฐฯ มีหน่วยงาน ESRB, EU มีหน่วย PEGI, หรือญี่ปุ่นมี CERO เป็นต้น
แล้วพวกเราจะมีหน่วยงานจัดเรตติ้งวิดีโอเกมไปทำไม ในเมื่อยังไงก็ยังต้องมีการเซนเซอร์เนื้อหาของเกมอยู่ดี? ฉะนั้นทุกอย่างที่ทีมงาน Sony กำลังคุมเข้มเนื้อหาโป๊เปลือย จึงรู้สึกไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่นิดเดียว
สุดท้ายก็หวังว่าบริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายเซนเซอร์ให้เบาบางลง ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ค่อยรับผลกระทบครั้งนี้เท่าไหร่ (เพราะมี Steam รองรับอยู่แล้ว) แต่ก็รู้สึกเห็นใจนักพัฒนาเกมญี่ปุ่นที่ต้องลำบากยิ่งขึ้น เพียงเพราะวัฒนธรรมการสร้างเกมและสื่อที่ไม่เหมือนกัน และผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนจ่ายเงินซื้อเกมเหมือนกัน ควรได้รับประสบการณ์จากเกมที่เท่าเทียมกันครับ