ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกม Sekiro: Shadows Die Twice สร้างข้อถกเถียงมากมายว่าเกมยากเกินไปหรือเปล่า แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบเกมนี้และติดกันงอมแงม
คำถามคือ ถ้าเกมยากขนาดนี้ อะไรล่ะที่ทำให้พวกเขาติดเกมเซกิโระกัน ?
มีผู้เขียนจาก Medium ท่านหนึ่งใช้ชื่อว่า Orange&Juicy ได้เชื่อมโยงเกมเซกิโระรวมถึง Dark Souls และเกมอื่น ๆ ของ From Software กับ ‘ภาวะลื่นไหล’ (Flow)
ภาวะลื่นไหล (Flow) เป็นทฤษฏีทางจิตวิทยาที่คิดค้นโดยนักจิตวิทยาเชิงบวกชาวฮังกาเรียน ชื่อ Mihály Csikszentmihalyi เขาได้อธิบายอาการของภาวะลื่นไหลไว้ว่า
ตัวตนหล่นหายไป เวลาเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ทุกการกระทำ การเคลื่อนไหว และความคิด ต่างคล้อยตามต่อกันอย่างไม่ขาดตอน เหมือนเวลาเล่นดนตรีแจ๊ส ทุกการรับรู้ของเราเชื่อมต่อเข้ากัน และเราจะใช้ความสามารถได้ถึงขีดสุด
พูดง่ายๆ ภาวะลื่นไหลคือเวลาเรารู้สึก “อิน” กับการทำกิจกรรมสักอย่าง เป็นภาวะที่เรามีสมาธิเพลิดเพลินกับสิ่งนั้นๆ จนลืมเวลาไปเลย เหมือนอย่างเวลาอ่านหนังสือ ทำงาน หรือแม้แต่เล่นเกม และ Mihály Csikszentmihalyi ยังเสนอต่ออีกว่าภาวะลื่นไหลจะเกิดขึ้นเมื่อ
-
- คนผู้นั้นมีสมาธิเต็มเปี่ยมกับงานที่ทำ
- คนผู้นั้นทราบดีว่าเป้าหมายคืออะไร และยังรู้ด้วยว่าผลตอบรับและรางวัลที่จะได้คืออะไร
- เวลาบิดเบือนไปจากความจริง (รู้สึกว่าเวลาเร็วขึ้น/ช้าลง)
- รู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้รับเป็นรางวัล
- สามารถเล่นต่อเนื่องได้ง่ายและไม่ต้องพยายาม
- เกิดสมดุลระหว่างทักษะการเล่นและความท้าทาย หากทักษะของเราสูงกว่าความท้าทาย เราจะเบื่อ แต่หากความท้าทายสูงเกินทักษะของเรา เราจะท้อและเลิกล้ม
- การกระทำและการรู้ตัวรวมเข้าด้วยกัน ทำให้ไม่ต้องเพ่งสมาธิเพื่อสร้างสติ
- เกิดความรู้สึกว่าสามารถควบคุม (เกม) ได้
ทีนี้ Orange&Juicy ก็เสนอว่า เกมจากค่าย From Software สร้างระบบการเล่นที่เราต้องจดจ่อทุกการต่อสู้ ปัดป้องคมดาบศัตรูและโจมตีสวนกลับเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งทำให้เกิดสมาธิที่สมบูรณ์ หรือแม้เกมจะยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเว่อร์จนไม่มีทางชนะ ความท้าทายภายในเกมจะกดดันให้เราต้องพัฒนาทักษะจนผ่านไปได้ และเมื่อทุกอย่างเข้าที่ ผู้เล่นจะเข้าสู่ภาวะที่การกระทำและการรู้ตัวหลอมรวมกัน จนในที่สุด ผู้เล่นจะไม่ต้องเพ่งสมาธิเพื่อตั้งสติ เราจะควบคุมตัวละครราวกับว่าเรานี่แหละคือตัวละครตัวนั้น
การเชื่อมโยงภาวะลื่นไหลกับเกมของค่าย From Software เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในชีวิตจริง เราก็ทำบางอย่างจนลืมตัวไปเลยเหมือนกัน และเกมอื่น ๆ ก็ทำให้เกิดภาวะลื่นไหลขึ้นได้โดยไม่ต้องเดินตามทางที่ From Software เลือก
ตัวอย่างเช่นเวลาผู้เขียนเล่นเกม MOBA ผมจะรู้สึกว่าเวลา 40 นาทีผ่านไปเร็วมาก เพราะเราต้องจดจ่อกับเกม คอยวิเคราะห์สถานการณ์และคิดตามตลอดเวลา ต้องสื่อสารกับทีมและเดินเกมอย่างมีสติ รู้ตัวว่าเกมจะจบตรงไหน ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้เราก็ได้ประสบการณ์บางอย่างกลับมาแน่ ๆ และนั่นทำให้เกิดภาวะลื่นไหล แต่หลังจากนั้น ผู้เขียนจะรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะเหมือนเพ่งสมาธิไปเยอะโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้มีใครเป็นแบบนี้บ้างหรือเปล่า
อย่างไรก็ดี ภาวะลื่นไหลยังคงขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนนั้น ๆ จากที่ Orange&Juicy กล่าวมา ผู้เขียนเข้าใจว่าถ้าผู้เล่นสักคนรู้สึกว่าเซกิโระยากเกินไป นั่นคงแสดงว่าทักษะของเขายังไม่สมดุลกับความท้าทาย ก็ต้องใช้เวลาและสมาธิเพื่อพัฒนาทักษะ และถ้าเขาไม่อยากใช้เวลากับสิ่งนี้ จึงไม่แปลกที่เขาต้องการให้ความท้าทายลดลงจนสมดุลกับทักษะของเขา
เพราะฉะนั้น ภาวะลื่นไหลจึงไม่เพียงนำมาอธิบายเหตุผลที่เราติดเกม แต่ยังอาจใช้บอกเหตุผลที่คน ๆ หนึ่งไม่อยากเล่นเกมนั้น ๆ ต่อก็ได้ รวมไปถึงการทำงานและกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ลองพิจารณาดูว่าเราไม่ชอบทำอะไรเพราะทักษะของเราไม่สมดุลกับความท้าทายของสิ่งนั้น ๆ หรือเปล่า
แล้วคุณล่ะ เคยรู้สึก “ลื่นไหล” กับเกมหรือกิจกรรมอะไรบ้างในชีวิต ?