BY BabeElena
9 Dec 18 5:47 pm

เปิดตำนานเกม Kid Icarus การผจญภัยของเทวดาผู้พิทักษ์ กับสงครามแห่งสามโลก

43 Views

ทางผู้เขียนเชื่อว่าสำหรับสาวก Nintendo หลาย ๆ คนแล้ว พวกเขาได้ใช้ซีรี่ส์เกมรวมดาราอย่าง “Super Smash Bros.” ในการดึงตนเองให้ได้รู้จักซีรี่ส์เกมเก่า ๆ และซีรี่ส์เกมของ Nintendo ที่ตนเองอาจจะพลาดหรือเกิดไม่ทันที่จะได้เล่นมัน หรือไม่ก็อาจจะย้อนไปศึกษาด้วยตัวเอง โดยการเปิดสารารณุกรมหรือหาเอกสารที่มีการบันทึกเอาไว้มาศึกษาเพื่อที่จะได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับค่ายเกมที่ตนเองชื่นชอบ

ในบรรดาของซีรี่ส์เกมนับสามสิบถึงสี่สิบเกมที่ปรากฏตัวในซีรี่ส์เกม Super Smash Bros. ได้มีหลาย ๆ ซีรี่ส์เกมที่น่าสนใจมากมายที่น่าพูดถึง และในบทความนี้ทาง GamingDose จะขอหยิบหนึ่งในนั้นก็คือซีรี่ส์ระดับเก่าแก่อีกซีรี่ส์หนึ่งของ Nintendo ที่ใช้เซ็ตติ้งเป็น “กรีกโบราณประยุกต์” มาสร้างเป็นโลกของเกม พร้อมกับตัวเอกที่เป็น “กามเทพผู้พิทักษ์ดินแดนสรวงสวรรค์” และเป็นเกมฟอร์มรองของค่าย โดยซีรี่ส์เกมดังกล่าวมีชื่อว่า “Kid Icarus”

อะไรคือซีรี่ส์เกม Kid Icarus ?

Kid Icarus เป็นซีรี่ส์เกมของ Nintendo ที่ถือกำเนิดในปี 1986 โดยตัวเกมภาคแรกนั้นได้ใช้ชื่อว่า “Kid Icarus” ซึ่งซีรี่ส์เกมนี้ก็ออกมาแล้วถึง 3 ภาค ได้แก่ Kid Icarus (1986) บนเครื่อง Famicom, Kid Icarus of Myths & Monsters บนเครื่อง Game Boy และ Kid Icarus : Uprising บนเครื่อง Nintendo 3DS โดยเฉพาะกับภาค Uprising ที่เกมการเล่นจะแตกต่างจากสองภาคแรกเป็นอย่างมาก

โดยเนื้อเรื่องในภาคแรกนั้นเราได้รับบทเป็น “Pit” ผู้พิทักษ์ดินแดนสรวงสรรค์นามว่า “Angel Land” โดยมีเทพธิดาแห่งแสงนามว่า “Palutena” ทำหน้าที่ปกครองทั้งสรวงสรรค์และโลกมนุษย์ โดยตัวเธอนั้นต้องการที่จะให้มนุษย์โลกได้อยู่อย่างมีความสุขภายใต้แสงสว่างของเธอ

ตามสูตรสำเร็จของเนื้อเรื่องแฟนตาซี เมื่อปูเรื่องมาในเรื่องของความสุข ถัดจากนั้นก็ต้องมาพร้อมกับความวิบัติเสมอ โดยได้มีเทพธิดาแห่งความมึดนามว่า “Medusa” ซึ่งตัวเธอนั้นเกลียดมนุษย์โลกเป็นอย่างมาก และนั้นทำให้เธอได้นำกองกำลังไปทำลายพืชผักเกษตรกรรมของมนุษย์โลก พร้อมกับสาปมนุษย์โลกให้กลายเป็นหินจนเกิดความปั่นป่วนไปทั่วโลกมนุษย์

เทพธิดาแห่งแสง Palutena เห็นแบบนั้นจึงต้องไปหยุดแผนการชั่วของ Medusa ด้วยการสาปตัว Medusa ให้กลายเป็นสัตว์ประหลาด และขับไล่เธอไปยังขุมนรก แต่ด้วยความแค้นของเทพธิดาแห่งความมึด ทำให้ Medusa ได้นำกองทัพปีศาจจากขุมนรกบุกไปโจมตีดินแดนสรวงสวรรค์และทำการยึดครองดินแดนโดยที่ฝั่งของ Palutena นั้นไม่ทันได้ตั้งตัว และได้ขโมยสมบัติวิเศษสามอย่างได้แก่ “Mirror Shield” “Light Arrow” และ “Wing of Pegasus”

ด้วยการโจมตีที่รุนแรงแบบไม่ทันตั้งตัว บวกกับกองกำลังของ Palutena ที่ถูกสาปให้เป็นหินจนหมด ทำให้ Palutena ไม่สามารถต้านทานกองทัพ Medusa เอาไว้ได้ และได้พ่ายแพ้ให้ในที่สุด แต่แล้วเธอก็ได้ใช้พลังเฮือกสุดท้ายในการมอบอาวุธให้กับเทวดาตนนึงนามว่า “Pit” เพื่อให้ตัวเขาหลบหนีออกจากเรือนจำในขุนนรกที่เขาถูกขังเอาไว้ และนี่ก็คือจุดเรื่มต้นของการผจญภัยของหนุ่มเทวดาน้อยนามว่า “Pit” เพื่อนำดินแดน “Angel Land” กลับคืนมาให้ได้

ซึ่งเนื้อเรื่องที่เราได้เล่าไปนั้น เราจะไม่ได้เล่นกันในเกมจริง แต่เราจะได้เล่นตอนหลัง “Pit” ออกจากคุกมาเลย โดยเนื้อเรื่องเกริ่นนำนี้จะมาในรูปแบบของ “Booklet” ที่แถมมาพร้อมกับกล่องเกมของแท้สำหรับเป็นคู่มือไว้อ่านเพื่อศึกษาวิธีการเล่นและเนื้อเรื่องภายในเกม และแต่ละภาคก็จะมีเนื้อเรื่องที่ไม่เหมือนกัน

มาในส่วนของเกมเพลย์กันบ้าง โดยเกมเพลย์ของภาคแรกนั้นจะเป็น Action-Platforming ตะลุยด่านแบบเกมแพลตฟอร์มทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่แปลกกว่าเกมแพลจฟอร์มอื่น ๆ ก็คือฉากของตัวเกมที่จะเป็นฉากแนวดิ่ง (ล่างไปบน) ในขณะที่ฉากของเกมแพลตฟอร์มอื่น ๆ จะเป็นแนวราบ (ซ้ายไปขวา / ขวาไปซ้าย) โดยระหว่างทางเราจะสามารถล่าปีศาจตามทางเพื่อเก็บ “หัวใจ” ที่เสมือนว่าเป็นหน่วยเงินไว้ใช้ซื้อของตามฉากได้ และระหว่างทางจะมีห้องลับที่ทำให้เราได้รับอัพเกรดใหม่ ๆ มาเพิ่มเติม และนอกจากนี้แล้วการล่ามอนสเตอร์นั้นทำให้เราได้คะแนน ซึ่งในเกมนี้คะแนนไม่ได้ไว้ใช้อวดหรือภาคภูมิใจเท่านั้น แต่หากคุณสามารถทำคะแนนสะสมได้เยอะ ๆ คุณก็จะได้ “Life Up” หรือเพิ่มขีดจำกัดพลังชีวิตเป็นการตอบแทน เรียกได้ว่าการทำคะแนนของเกมนี้ดูมีเป้าหมายและมีผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากพอที่จะให้เก็บสะสมคะแนน

ส่วนของภาคต่ออย่าง “Kid Icarus : of Myths and Monsters” ที่ออกเมื่อปี 1992 โดยรวมแล้วจะไม่แตกต่างอะไรจากภาคแรกสักเท่าไหร่ แต่ภาคนี้เราจะลุยตัวฉากได้ทัังแนวราบและแนวดิ่ง (สี่ทิศทาง) จากเดิมที่เราตะลุยได้แค่แนวดิ่งเท่านั้น และสามารถเดินไปทางที่เราผ่านมาแล้วได้ จากเดิมที่ภาคแรกผ่านแล้วก็ผ่านเลยเดินย้อนกลับมาไม่ได้อีก โดยด่านภาคนี้จะมีจำนวนที่น้อยลงกว่าภาคแรก แต่แต่ละด่านจะมีความใหญ่และความอัดแน่นที่มากกว่า เช่น ขุมนรก, โลกมนุษย์ และสรวงสวรรค์ และเปลี่ยนจากการสะสมคะแนนกลายเป็นการปราบมอนสเตอร์ให้ได้จำนวนมากพอจึงจะได้ “Life Up”

แต่ในภาคล่าสุดอย่าง “Kid Icarus : Uprising” ที่ออกเมื่อปี 2012 กลับมีเกมเพลย์ที่แตกต่างระดับพลิกโฉมของซีรี่ส์เกม Kid Icarus เลยก็ว่าได้ โดยในภาค Uprising ตัวเกมได้เปลี่ยนจาก Action-Platforming กลายมาเป็น Third Person Shooting ตะลุยด่านที่ใช้ระบบการยิงแบบ “Cabal Shooter” (มุมกล้องกับเป้ายิงแยกควบคุมกัน) ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้เราจะอธิบายเพื่มเติมในหัวข้อต่อ ๆ ไปครับ

1986 – เปิดตำนานซีรี่ส์เกม Kid Icarus

Kid Icarus ภาคแรกได้ถูกพัฒนาโดยทีมพัฒนาสองทีมได้แก่ Nintendo และ TOSE ซึ่งชื่อที่พวกเขาใช้เรียกเกมของพวกเขาในตอนระหว่างพัฒนาก็คือ “Myth of Light : The Mirror of Palutena” โดยในช่วงเรื่มต้นของการพัฒนานั้นได้มีแค่พนักงานของ Nintendo คนเดียวอย่าง “Toru Osawa” เท่านั้นที่รับผิดชอบโปรเจคนี้ โดยตัวของเขาเขาได้ออกแบบให้ตัวเกมมีความแอดชั่นและความเป็น RPG พร้อมกับเริ่มเขียนเนื้อเรื่องที่มีรากฐานจากเรื่องราวของเทพปกรณัมกรีก และทำการวาดสร้างสรรค์งาน Sprite / Pixel Art ด้วยตัวของ Toru Osawa คนเดียว

อย่างไรก็ดี เหมือนจะเป็นโชคที่ดีของเขา เพราะหลังจากที่ Metroid ได้ทำการปิดโปรเจคและเสร็จสิ้นการพัฒนา ทีมพัฒนาที่รับผิดชอบในการพัฒนาเกม Metroid ส่วนใหญ่นำทีมโดยคุณ “Yoshio Sakamoto” ก็ได้ย้ายมาเสริมทัพเพื่อให้การพัฒนาเกม Myth of Light : Mirror of Palutena เป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นการย่นเวลาในการพัฒนาให้น้อยลง โดยมีคุณ Satoru Okada เป็นผู้อำนวยการสร้าง Gunpei Yokoi เป็นผู้กำกับการสร้าง และ Hirokazu Tanaka เป็นผู้รับผิดชอบในการแต่งเพลงให้กับเจ้าโปรเจค Myth of Light นี้

“Yoshio Sakamoto เจ้าของโปรเจค Metroid อันโด่งดัง”

นอกจากนี้การมาของทีมงานฝั่ง Metroid ที่มาเสริมทัพ ทำให้คุณ Toru Osawa ได้ลดความตึงเครียดและความจริงจังที่น้อยลง โดยพวกเขาเรื่มทำงานด้วยความสนุกและความโปกฮานับตั้งแต่ทีมงาน Metroid ได้มาเสริมทัพ

แต่เพื่อให้เกมเสร็จทันวันวางจำหน่ายที่ทาง Nintendo ได้วางไว้ในวันที่ 19 ธันวาคม 1986 (โซนญี่ปุ่น) ทำให้เหล่าพนักงานต้องทำงานแบบเกินเวลา (โอที) โดยพวกเขาต้องถึงขั้นนำลังกระดาษมาเป็นที่นอนและให้ความอบอุ่น เพราะออฟฟิศของพวกเขาไม่มีเครื่องทำความร้อน และในตอนนั้นประเทศญี่ปุ่นก็อยู่ในฤดูหนาว ทำให้อากาศหนาวเย็นมาก ๆ ซึ่งอย่างไรก็ดี พวกเขาก็ได้พัฒนาเกมจนเสร็จในวันที่ 16 ธันวาคม 1986 หรือก่อนวางจำหน่ายเกมเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นเส้นยาแดงผ่าแปดมาก ๆ สำหรับวงการเกม เพราะทันทีที่เกมเสร็จก็ต้องมีการเร่งเพื่อผลิตลงตลับสำหรับวางจำหน่าย แถมเนื่องด้วยเวลาที่จำกัดทำให้หลาย ๆ ไอเดียที่พวกเขาคิดขึ้นมานั้นถูกปัดตกไปเพื่อให้พัฒนาให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด

โดย Myth of Light : Mirror of Palutena ก็ได้วางจำหน่ายทันวันดังกล่าว และลงให้กับเครื่อง Famicom ในรูปแบบของ Famicom Disk โดยใช้ชื่อว่า “Light Mythology : Palutena’s Mirror” และหลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1987 ตัวเกมก็ได้ถูกวางจำหน่ายในโซนอื่น ๆ ในรูปแบบของเกมตลับปกติของ Nintendo Entertainment System โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “Kid Icarus” แทนสำหรับการขายในโซนอื่น ๆ

สำหรับ Kid Icarus ภาคแรกนั้นสามารถทำยอดขายไปได้ 1.76 ล้านชุด และได้คะแนนรีวิวอยู่ที่ระดับกลาง ๆ ออกไปทางดี โดย GameSpot ได้ให้คะแนนนี้อยู่ที่ 5.1/10 ส่วนทาง IGN นั้นได้ให้คะแนนอยู่ที่ 7/10 และมีการออกภาครีมาสเตอร์ลงให้กับเครื่อง Nintendo 3DS อย่าง “Kid Icarus : 3D Classics” ที่เพื่มในส่วนการรองรับการแสดงผลภาพสามมิติเข้ามา

1992 – ภาคต่อของซีรี่ส์ในเครื่องพกพา (Kid Icarus : Of Myths & Monsters)

เวลาผ่านไปเกือบ 6 ปี และแล้วก็มาถึงในส่วนการพัฒนาของตัวเกมภาคต่อ โดยในครั้งนี้ Nintendo ยังคงร่วมมือกับ TOSE ในการพัฒนาเกม Kid Icarus ภาคใหม่ ซึ่งเรื่องราวของการพัฒนาเกมภารต่อนี้ กลับไม่มีการถูกบันทึกเอาไว้เยอะแบบภาคแรก แต่ที่แน่ ๆ ตัวเกมได้พัฒนาจากภาคแรกไปพอสมควร ทั้งขนาดของแผนที่ที่ใหญ่ขึ้น และการสำรวจแผนที่อย่างอิสระแบบสี่ทิศทาง ไม่ล็อคตายตัวล่างบนอีกต่อไป

ตัวเกมภาคต่อนี้ได้ใช้ชื่อว่า “Kid Icarus : of Myths and Monsters และได้วางจำหน่ายในช่วงปี 1991-1992 สำหรับโซนอเมริกาและโซนยุโรป โดยลงให้กับเครื่อง Game Boy ซึ่งเกมนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่เกมของ Nintendo ที่ “ไม่มี” การวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น

ถึงคะแนนรีวิวจะออกไปทางที่ดี แต่ Kid Icarus : of Myths and Monsters ดันไปชนกับซีรี่ส์เกมยักษ์ใหญ่ของ Nintendo ที่มีคุณภาพและคอนเทนต์ที่เน้นกว่าอย่าง “Metroid : Return of Samus” ทำให้ Kid Icarus : of Myths and Monsters กลายเป็นภาคที่ Underrated โดยแม้แต่แฟน ๆ Nintendo บางคนก็ยังเผลอลืมว่าเจ้าภาคนีัมันมีตัวตนอยู่ด้วย และแฟนคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ตัวผู้เขียนเองนี่แหละ โดยตัวผู้เขียนปล่อยไก่ในคอมมูนิตี้ Nintendo แห่งหนึ่งในไทยเกี่ยวกับความนิยมของซีรี่ส์เกมนี้ว่า “Kid Icarus มีแค่สองภาคเอง” จนมีแฟนคนอื่นมาทักท้วงว่า “มันมี 3 ภาคครับ” และไอ้ภาคที่ตัวผู้เขียนลืมก็คือภาคนี้แหละครับ

ส่วนทางฝั่งยอดขายก็ไม่มีการบันทึกเอาไว้ โดยเราต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจสำหรับเกม Nintendo เอาไว้ว่า เกมที่ไม่มีการบันทึกยอดขายส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไปได้ที่จะต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า “เจ๊ง” แต่เท่าที่สังเกตจากแหล่งข้อมูลมาเหมือนยอดขายของเจ้า Kid Icarus ภาคนี้ก็อาจจะอยู่ในหลักแสนอยู่ครับ

2012 – ความติสท์แตกของป๋า Sakurai กับการปฏิวัติครั้งใหญ่ (Kid Icarus :Uprising)

เนื่องจากความนิยมของซีรี่ส์เกมดังกล่าว ทำให้ Nintendo ตัดสินใจปล่อยให้ Pit โบยบินทิ้งขว้างกลางอากาศยาวนานถึงเกือบ 21 ปี จนกระทั่งปฏิหารย์ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อซีรี่ส์เกมนี้ได้กลับมาอีกครั้งแบบที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะกลับมา และด้วยความนิยมและความที่ไม่ใช่เกมซีรี่ส์หลักทำให้การกลับมาครั้งนี้อาจจะไม่ค่อยอิมแพคอะไรมาก แต่สำหรับแฟนเกม Kid Icarus อาจจะมีกริ๊ดกันอย่างแน่นอน

เรื่องราวการพัฒนาของตัวเกมภาคใหม่นั้น เรื่มต้นหลังจากการพัฒนาเกม Super Smash Bros. Brawl นั้นได้เสร็จสิ้น โดยคุณ “Masahiro Sakurai” ผู้เป็นบิดาแห่ง Super Smash Bros. ได้ถูกชักชวนจากคุณ “Satoru Iwata” ประธานใหญ่ของบริษัทนินเทนโดในตอนนั้นให้ไปรับประทานอาหารด้วยกัน โดยระหว่างการรับประทานอาหาร คุณ Satoru Iwata ก็ได้พูดคุยกับคุณ Masahiro Sakurai เกี่ยวกับการพัฒนา “Launch Title” ให้กับเครื่องเกมที่กำลังออกใหม่ในช่วงนั้นอย่าง “Nintendo 3DS” โดยในตอนนั้น Nintendo 3DS ยังถือว่าอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาด้วยซ้ำไป

Masahiro Sakurai ผู้ให้กำเนิด Super Smash Bros.

ในตอนนั้น Masahiro Sakurai ต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับไอเดียและปัญหาของขนาดทีมพัฒนาอย่าง “Sora Ltd.” ที่ได้ทำการลดและแบ่งขนาดทีมพัฒนาเพื่อไปพัฒนาเกมอื่น ๆ ในรูปแบบของ Outsource ทำให้เขาพยายามที่จะควบคุมสเกลงานของเขาให้ไม่ใหญ่จนเกินไป โดยตัวเขายังคงร่วมทำงานกับทีม Sora เช่นเดิม

โดยคุณ Masahiro Sakurai ได้คิดที่จะทำเกมแนว “Third Person Shooting” ที่ไม่ได้ความนิยมในประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้น และรองรับระบบการแสดงผลสามมิติ ซึ่งในการพัฒนาตอนนั้นตัวเกมไม่ได้ใช้ชื่อว่า “Kid Icarus” แต่เป็นซีรี่ส์เกมใหม่ออริจินอลเลย แต่หลังจากที่คุณ Masahiro Sakurai ได้ไปคุยกับคุณ Satoru Iwata อีกครั้ง ทำให้ Masahiro Sakurai ตัดสินใจหยิบเกมที่ “หลาย ๆ คนจำไม่ได้หรือไม่รู้ว่ามีที่มาจากไหน” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผลตอบรับตัวละครของ Super Smash Bros. Brawl ที่หลาย ๆ คนไม่รู้ถึงที่มาของตัวละครบางตัว และ “Pit” จาก Kid Icarus ก็คือหนึ่งในนั้น ทำให้เขาได้หยิบซีรี่ส์ Kid Icarus มาใช้ในการพัฒนาเกมใหม่ตัวนี้

ขึ้นชื่อว่าบ้าพลังแล้วต้องบ้าให้สุด คุณ Masahiro Sakurai ได้ทำการเขียนเนื้อเรื่องของ Kid Icarus ภาคใหม่นี้ด้วยตัวเอง โดยยังคงกลิ่นอายเดิมของซีรี่ส์เอาไว้ และไม่พยายามให้เซตติ้ง “เทพปกรณัมกรีก” ของเกมนี้ไปคล้ายกับซีรี่ส์เกมโล้นล่าเทพอย่าง “God of War” และพยายามจะทำเกมภาคนี้ให้แตกต่างจากภาคก่อน ๆ มากที่สุด โดยสิ่งที่เขาได้ปรับเปลี่ยนก็คือในภาคนี้ เทพธิดาแห่งแสงอย่าง Palutena จะเป็นคู่หูแนะนำการเดินทางให้กับ Pit โดยตอนแรกเขาจะทำตัวละครมาสคอตใหม่เพื่อทำการช่วยเหลือโดยเฉพาะ แต่ก็ถูกเปลี่ยนเป็น Palutena และหลาย ๆ ไอเดียที่ถูกใส่เข้าไป โดย Masahiro Sakurai ตั้งใจอยากจะให้ Kid Icarus ภาคนี้เน้นเนื้อเรื่องที่เข้มข้นมากขึ้น แต่ก็ยังคงความสนุกเกมเพลย์แบบของ Nintendo

และในปี 2012 เจ้าตัวเกมภาคใหม่นี้ก็ได้ถูกวางจำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า “Kid Icarus : Uprising” ลงให้กับเครื่อง Nintendo 3DS พร้อมกับการกลับมาครัังยิ่งใหญ่ของซีรี่ส์ Kid Icarus ที่ได้พลิกโฉมและเปลี่ยนเกมการเล่นของซีรี่ส์ไปตลอดกาล

จาก Action-Platforming ในสองภาคแรก มาสู่ Third Person Shooting และนี่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกได้ว่า “หักดิบ” เป็นอย่างมากของซีรี่ส์เกมของ Nintendo คือหากไม่บอกว่านี่คือภาคต่อของ Kid Icarus : of Myths and Monsters ไอเราก็นึกว่าเป็นเกมซีรี่ส์ใหม่ โดยในภาคนี้จะเป็นการรัดศักยภาพของเครื่อง Nintendo 3DS ออกมาให้สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ ระบบ กราฟิก และอื่น ๆ เท่าที่พวกเขาจะบ้าพลังได้

Third Person Shooting ของ Kid Icarus : Uprising ได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ “Aerial” (ภาคพื้นอากาศ) ที่เราจะได้อารมณ์ประมาณเกมแนว Rail Shooter ในการไล่ยิงศัตรูตามฉากที่จะบินเข้าหาตัวเราเรื่อย ๆ และ “Ground Based” (ภาคพื้นดิน) ทีเราจะได้เดินสำรวจแบบอิสระในฉาก พร้อมกับการต่อสู้ในภาคพื้นดินที่ใช้งานได้ทั้งอาวุธระยะประชิดและระยะไกล

Combat Third Person Shooting ในภาคของ Aerial

Combat Third Person Shooting ในภาคของ Ground Based

โดยทั้งสองส่วนนั้นการเคลื่อนที่และการเล็งเป้าหมายจะเหมือนถูกแยกออกจากกัน นั้นหมายความว่าคุณจะต้องควบคุมทั้งสองอย่างเพื่อกำจัดเหล่าศัตรูที่แห่ยกขโยงมาเรื่อย ๆ และนั้นหมายความว่าการควบคุมของเกมนี้มันจะวุ่นวาย (แต่ไม่ยุ่งเหยิง) เป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ตัวเกมแบบกล่องต้องแถมเจ้า “ขาตั้ง” มาให้สำหรับในการตั้งเครื่อง Nintendo 3DS เพื่อให้การเล่นเกม Kid Icarus : Uprising สะดวกมากขึ้น เรียกได้ว่าใครที่ซื้อเจ้า Kid Icarus ตอนช่วงออกใหม่ ๆ นี่โคตรคุ้มเพราะได้ขาตั้งเอาไปใช้งานแบบฟรี ๆ

ขาตั้งเครื่อง Nintendo 3DS ที่แถมมาให้กับแผ่นเกม Kid Icarus : Uprising

นอกเหนือจากเกมเพลย์แล้ว เรื่องของเพลงประกอบและงานศิลป์ก็ถือว่างานดีมาก โดยเฉพาะกับ “งานศิลป์” ที่ภาคนี้ได้ออกแบบเหล่าตัวละครให้มีความน่ารักและมีสีสันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับ Palutena ที่น่าจะทำสาวก Kid Icarus ตกหลุมรักไปหลายคนแล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจะตัวละครที่ออกแบบได้อย่างมีเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็น Pit, Dark Pit, Viridi และ Phosphora ก็ล้วนเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญและมีเสน่ห์ในตัวเองเป็นอย่างมาก

Phosphora หนึ่งในตัวละครจาก Kid icarus : Uprising

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนีั Kid Icarus : Uprising ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกทางและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถทำคะแนนจากสำนักรีวิวได้มากถึง 83/100 (Metacritic) จาก 75 สำนัก โดยเฉพาะกับสำนักรีวิว Famitsu ที่ให้คะแนนเกมนี้เต็มอยู่ที่ 40/40 ส่วนทางฝั่งยอดขายก็ทำได้ไม่แย่เลยโดยสามารถทำยอดขายได้มากถึง 1.18 ล้านชุด ซึ่งถือว่าเป็นการกลับมาที่ดีมากสำหรับซีรี่ส์ Kid Icarus

แต่อย่างไรก็ตามด้วยความติสท์แตกของ Masahiro Sakurai ทำให้เจ้าตัว “ไม่สนใจ” ที่จะทำภาคต่อของเกม ๆ นี้ ซึ่งคิดแล้วก็น่าใจหาย เพราะของดี ๆ แบบนี้มาทั้งทีมันต้องมีภาคต่อแน่นอน และท่าทาง Masahiro Sakurai จะไม่ได้ล้อเล่นแบบตอน “Super Smash Bros ภาคสุดท้าย ” ซะด้วย เพราะนี่ก็ผ่านไปถึง 5-6 ปีแล้ว เราก็ยังคงไม่ได้เห็นวี่แววของภาคใหม่จากซีรี่ส์เกม Kid Icarus เลย ไม่ว่าแฟน ๆ จะเรียกร้องขนาดไหนก็ตาม

อย่างไรก็ตามสำหรับตัวผู้เขียนแล้ว ซีรี่ส์เกม Kid Icarus นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในเพชรเม็ดงามของ Nintendo ที่มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่พร้อมและดีมากพอในการผลักดันให้ซีรี่ส์เกมนี้กลายเป็นซีรี่ส์เกมหลักของพวกเขาได้ แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้พวกเขาเลือกที่จะไม่ดันซีรี่ส์นี้เสียอย่างนั้น ในฐานที่ผู้เขียนเป็นแฟนบอยของ Nintendo แล้วนั้น ก็อยากจะเห็นซีรี่ส์เกมนี้กลับมาอีกครั้งในสักวันนึงครับ

SHARE

BabeElena

Back to top