ภาษากับวิดีโอเกม คือสิ่งที่ชาวเกมหลายคนถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเลยทีเดียวว่า สรุปแล้วเราได้ภาษาจากการเล่นเกมจริงหรือไม่ เพราะบางคนนำไปใช้เป็นเหตุผลอย่างจริงจังกับคนอื่นว่า การเล่นเกมมีประโยชน์อย่างนั้น อย่างนี้
แต่จริง ๆ แล้ว เรื่องของภาษาและการเรียนรู้นั้นควรเป็นของที่ไปคู่กันโดยไม่ละเลยสิ่งใด และเป็นเหตุผลที่ว่า คนเล่นเกมนั้นควรลองไปเรียนภาษา กลับกัน คนเรียนภาษาก็ควรลองเล่นเกมด้วย วันนี้เราจะมาดูกันว่า ทำไมคนที่เรียนภาษานั้นถึงควรเล่นเกม โดยบทความนี้อ้างอิงจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ด้วย เพื่อความน่าเชื่อถือ
ประโยชน์ของวิดีโอเกมในการเรียนรู้
มีนักวิจัยและงานวิจัยหลายชิ้นแล้ว ที่ได้วิจัยว่าการเล่นเกมนั้นจะส่งผลกระทบกับการเรียนรู้ด้วยแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนภาษา แต่มันไม่ใช่ว่าการเล่นไปเรื่อย ๆ ไม่มีหลักการแล้วจะพัฒนากันได้ง่าย ๆ เพราะการเลือกวิดีโอเกมที่เหมาะสมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยนั้นด้วย และสาเหตุที่วิดีโอเกมมีประโยชน์ในการเรียนรู้ภาษานั้น แจกแจงได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
- ผู้เล่นสนใจเนื้อหาของมันจริง ๆ – การเรียนรู้จะเกิดผลก็ต่อเมื่อผู้เรียนสนใจ และตั้งใจรับเนื้อหาของมัน แน่นอนว่าการเล่นเกมช่วยในสิ่งนั้นได้ ผู้เล่นที่เล่นเกมและพยายามจะทำความเข้าใจเนื้อหาของเกม จะสามารถรับรู้ข้อมูลด้านภาษาได้ดีกว่า ก็เหมือนกับที่เราสนใจและตั้งใจจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจริง ๆ เราจะเรียนรู้ได้ดีกว่าสิ่งที่ไม่สนใจนั่นเอง
- ความ Flow ในการเรียนรู้ – ความ Flow หรือ ลื่นไหล เป็นอีกปัจจัยในการเรียนรู้ เมื่อผู้เล่นสนุกกับเกม ซึมซับเนื้อหา ย่อมเกิดความลื่นไหลในการเรียนรู้มากกว่าเรียนด้วยสื่ออื่นที่ผู้เรียนไม่ได้สนใจ เช่นในห้องเรียน หรือคลาสวิชาต่าง ๆ เป็นต้น
- เรียนรู้การตัดสินใจในด้านต่าง ๆ – อย่างที่ทราบกันดี เกมในยุคนี้ที่ต้องใช้ภาษาในการเล่น จะมีเกมเพลย์แบบ Choices Matter ขึ้นมา (เช่น The Witcher 3 , Shadow of Mordor หรือแม้แต่เกมเนื้อเรื่องหนัก ๆ อย่าง The Walking Dead ของ Telltales) ผู้เล่นที่เล่นเกมจำพวกนี้จะเรียนรู้ทักษะการตัดสินใจและการใช้อารมณ์ไปในตัว แต่ถ้ามันจะออกมาดี และได้ผลมากจริง ๆ ต้องได้รับการชี้นำที่ถูกต้องด้วย และตัดสินใจ มีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง
เกมใดที่คนเรียนภาษาควรเลือกเล่น ?
คงบอกไม่ได้ว่าเกมใดที่ดีที่สุดในการจะเลือกมาฝึกภาษา แต่ในหลายประเทศมักจะเลือกเกมที่ไม่เน้นความรุนแรง และเป็นเกมที่มีคะแนนระดับ PEGI ซึ่งระบุอายุที่เหมาะสมของเกม
อย่างเช่น Minecraft แม้ว่าตัวเกมจะไม่เน้นภาษา แต่ก็มีส่วนช่วยในการเรียนรู้เป็นอย่างดี , Lifeline เกมบนมือถือเมื่อปี 2015 ก็เป็นอีกหนึ่งเกมที่เน้นการอ่าน การแปล ให้เกิดประโยชน์
หรือหากเป็นในประเทศไทย เราก็อาจเลือกเกมสบาย ๆ ง่าย ๆ ในการสอนให้เด็กเรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่นเกมอย่าง Florence ที่ถึงแม้เกมนี้จะมีภาษาไทย แต่ต้นฉบับภาษาอังกฤษก็ไม่ยากเกิน นอกจากนี้ยังเลือกเกมจำพวก Choces Matter ได้ เช่นเกมจากพวก Telltales ตามที่กล่าวไปด้านบนก็ได้เช่นกัน
สิ่งอื่น ๆ ที่ได้จากการเล่นเกมและข้อเท็จจริงต่าง ๆ
นอกจากเรื่องของภาษาแล้ว วิดีโอเกมยังเป็นสื่อที่ช่วยทำให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ทักษะอื่น ๆ ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์เองก็มีส่วนช่วยพัฒนา Life Skills ของเราได้ แต่ก็ต้องย้ำกันอีกรอบว่ามันขึ้นอยู่กับผู้เล่น เลือกเล่นเกมอะไร และต้องใช้ทักษะอะไรในการเล่นเกมนั้น ๆ เช่นทักษะในการคิด การทำงานกันเป็นทีมเวลาเล่นเกม Multiplayer (โดยเฉพาะถ้าเล่นกับเพื่อน)
รวมไปถึงจำนวนผู้เล่นเกม ที่หลายคนมักจะคิดว่ามีแต่วัยรุ่นและเด็กผู้ชายเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ววิดีโอเกมถูกแบบมาสำหรับทุกคน ในปี 2018 นั้น มีการค้นพบว่าผู้หญิงเองก็เพิ่มขึ้นมาเป็นประชากรสายเกมเมอร์มากมายเช่นกัน
อีกข้อที่หลายคนไม่ค่อยเชื่อกันคือวิดีโอเกมก็มีบางเกมที่ราคาไม่ได้สูงลิบขนาดนั้น เว้นแต่ว่าคุณเป็นแฟนเกมระดับ AAA ที่ยังไงเสียราคามาตรฐานของมันก็อยู่ที่ 59.99$ อยู่แล้ว ในขณะที่บางเกมก็ไม่ได้แพงขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันวางขายใน Steam หรือแพลตฟอร์มที่มีราคาโซนไทย เกมบางเกมจะถูกมากเลยทีเดียว
โปรดระวังเกม Multiplayer
สำหรับเกมเมอร์ตัวยงอาจจะไม่ต้องเตือนกันมาก แต่สำหรับคนทั่วไป และคนที่กำลังสนใจจะเล่นเกมแนวนี้ เพราะหลายคนให้การยอมรับว่า Multiplayer ในเกมต่าง ๆ นั้น คือจุดเริ่มต้นของการ Bully กันอย่างร้ายกาจ
ไม่ว่าจะเป็น Toxic Player การแชท การพูดคุยกันด้วยความรุนแรง ไม่ต้องพูดถึงประเทศไทย แต่ต่างประเทศก็มีให้เห็นหลายครั้งหลายคราว ยิ่งถ้าเป็นเกมแนว Multiplayer ที่เน้นระบบแบบ Competitive หรือการแข่งขันกัน ไม่ต้องสืบเลยว่ามันจะเสี่ยงแค่ไหน
ทางที่ดีสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ ลองหาเพื่อนมาเล่นเกมนี้ด้วยกัน หรือหลีกเลี่ยงไปก่อนเลย หากคุณมีจุดประสงค์ในการเล่นเกมเพื่อผ่อนคลายอยู่แล้ว ยิ่งไม่ควรหยิบเอาเกมแนว Conpetitive มาคอยกดดันตัวเอง ลองชวนเพื่อน ๆ ไปเล่นเกม Co-op สนุก ๆ อย่างเช่นพวก Castle Crasher , Battleblock Theater อะไรแบบนี้ดีกว่า (จะนับ Overcooked ก็ได้ไม่ว่ากัน)
ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไมไ่ด้บอกว่าวิดีโอเกมเป็นสิ่งที่ดี ทุกอย่างเป็นดาบสองคมเสมอขึ้นอยู่กับ User ผู้ใช้งาน ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม และอีกหลากหลายปัจจัยของผู้เล่นส่วนตัว ขอให้เล่นเกมกันอย่างมีความสุขทุกท่านครับ