Digital Human เริ่มกลายเป็นสิ่งที่หลายบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำให้ความสนใจ เช่นเดียวกันกับที่ Unity ก็มี “Sua” อยู่ด้วย ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ทีมงานมุ่งเป้าให้ก้าวสู่ความเป็น “Digital Celebrity” (คนดังในโลกเสมือน) ต่อไปในอนาคต
คำว่า Digital Human นั้นอาจแตกย่อยชื่อเรียกออกไปได้หลายแบบ มีทั้ง Virtual Human, Virtual Influencer, Virtual YouTuber และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่หลัก ๆ แล้วก็คือ “ตัวตนในโลกดิจิทัล” ที่จะมาเพื่อทดแทนมนุษย์จริง ๆ นั่นเอง
ส่วน “Sua” คือ Digital Human ที่มี Hyeong-il Kim, CEO ของ On Mind เป็นผู้ผลักดันโปรเจกต์นี้ เรนเดอร์ขึ้นด้วย Unity แบบเรียลไทม์ ทำให้เธอสามารถถูกนำไปใช้เพื่อต่อยอดตามสื่อบันเทิงอื่น ๆ ได้มากมาย หากต้องการจะทำขึ้นมาในอนาคต
ทั้งนี้ก็ยังมีหนึ่งข้อสังเกตว่า Sua นั้นสามารถที่จะถูกเรนเดอร์ขึ้นมาได้พร้อมกับวิดีโอที่ความละเอียด 4K และ 30 เฟรมขึ้นไป ดังนั้นทรัพยากรที่ใช้จึงต้องสูงพอสมควรตามด้วย โดยเฉพาะหากต้องการนำไปสตรีมมิ่งร่วมกับซอฟต์แวร์อื่น ๆ ก็จะต้องดูเรื่องประสิทธิภาพที่ได้เป็นกรณี ๆ ไป
เบื้องหลังความล้ำและสมจริงของ Sua คือเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า High Definition Render Pipeline (HDRP) ซึ่งเป็นตัวเรนเดอร์ที่สร้างเพื่อมาใช้กับโปรแกรม Unity. เครื่องมือดังกล่าวจะสามารถสร้างโมเดลของ Digital Human ขึ้นมาได้ด้วยฟิสิกส์และแสงเงาที่ถูกต้อง พร้อมทั้งฟังก์ชันการเคลื่อนไหวอื่น ๆ อีกมากมาย
ชมวิดีโอของ Sua ที่เต้นไปตามจังหวะเพลงด้วยผมที่พลิ้วไหว ด้วยเทคโนโลยี TressFX ของ AMD
สำหรับการทำ Motion Capture ของ Sua ก็คล้ายคลึงกับค่ายอื่น ๆ คือจะเลือกใช้กล้องของ iPhone ในการตรวจจับสีหน้า เพราะ iPhone มีชิปการประมวลผลที่เหมาะสม และยังได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แถม Sua เองก็ยังล้ำไปอีกขั้นตรงที่โมเดลจะถูก Rig ขึ้นมาอย่างละเอียด ขยับได้หลายส่วนของร่างกายอีกด้วย ไม่เว้นกระทั่งนิ้วมือทั้ง 5 ที่ก็ตรวจจับได้อย่างแม่นยำ
บริษัท On Mind มองว่าในอนาคต ตลาดจะมีความต้องการ Digital Human ที่สูงขึ้น โดยจะใช้ประโยชน์ของ AI ที่สามารถจดจำเสียง, สังเคราะห์เสียง, จดจำภาพ, จดจำท่าทาง และแชทบอท มาช่วยให้ Digital Human กลายเป็นจริง อย่างที่ไม่ต้องมีคนมาคอยแสดงอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป นั่นเท่ากับว่าจะเป็นการเปิดประตูบานใหม่สู่วงการอย่างแท้จริง
ก่อนจะไปถึงจุดนั้น บริษัทตั้งเป้าว่าจะทำให้ Sua ออกตีตลาดวงการบันเทิงของเกาหลีก่อน ซึ่งในอนาคตก็ไม่แน่ว่าอาจจะไปปรากฏเป็นสมาชิกแบบเสมือนจริงของวง K-pop ได้ด้วย
ทั้งนี้ก็ต้องติดตามดูกันต่อไป ว่าระหว่างฝั่งของ Unity ที่มุ่งเป้าทำให้ Digital Human เป็น “เซเล็ป” กับฝั่งของ Unreal Engine ที่ทำ Digital Human ขึ้นมาเพื่อให้นักพัฒนาเกมนำไปใช้งานกันได้สะดวก ฝั่งไหนที่จะสามารถตีตลาดและโลดแล่นอยู่ในวงการได้เร็วกว่ากัน
เข้าไปติดตามความคืบหน้าของโปรเจกต์ Sua ได้ที่ทวิตเตอร์ของ Hyeong-il Kim, CEO ของ On Mind :
ที่มา : Unity Blog