นักวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนได้ตัดต่อพันธุกรรมของลิงกังและทำการโคลนนิ่งพันธุกรรมนั้นสำเร็จ โดยการทดลองนี้มีจุดประสงค์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ ตามรายงานของนักวิจัยที่ดำเนินการทดลอง อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เข้าค่ายกระทำผิดศีลธรรม
จากผลการทดลอง ลูกลิงกัง 5 ตัวได้ถือกำเนิดขึ้นในสถาบัน Academy of Sciences’ Institute of Neuroscience ในนครเซี่ยงไฮ้ โดยลูกลิงทุกตัวได้รับการปรับแต่งพันธุกรรมให้เหมือนกัน ซึ่งยีนต้นแบบถูกนำมาจากเซลล์ไฟโบรบลาสต์ในผิวหนังของลิงที่เป็นเจ้าของรหัส DNA
และที่สำคัญ พันธุกรรมนี้ก็ถูกตกแต่งด้วยเครื่องมือตัดต่อพันธุกรรม CRISPR/Cas9 เช่นเดียวกับกรณีของ นักวิทยาศาสตร์จีนรายหนึ่งที่ให้กำเนิดเด็กทารกตัดต่อพันธุกรรม 2 ราย
พันธุกรรมที่ได้รับการตัดต่อนี้ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตใช้เวลาในการนอนน้อยลงและกระปรี้กระเปร่าในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นเหตุมาจากอาการ Circadian Disorders (ความผิดปกติในนาฬิกาชีวภาพ) เนื่องจากยีนใหม่นี้หยุดการผลิตโปรตีนในสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้แล้ว อาการดังกล่าวยังเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตเกิดความวิตกกังวลและมีอาการซึมเศร้า
ตามคำอ้างของนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการทดลอง Hung-Chun Chang อาการผิดปกติอย่าง Circadian Disorders ทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดอาการนอนไม่หลับ เป็นโรคเบาหวาน เกิดก้อนมะเร็ง และบั่นทอนระบบประสาท
นักวิทยาศาสตร์จึงปลูกถ่ายพันธุกรรมนี้ในลิงกังขึ้นมาเพื่อศึกษาวิธีเอาชนะ Circadian Disorders เพราะความผิดปกติพรากชีวิตมนุษย์หลายล้านรายต่อปี
สำหรับวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ การปลูกถ่าย DNA ไปมาระหว่างกันในสัตว์ต่าง ๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการทดลองเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอยู่แล้วกับสัตว์ทดลองอย่างหนู แมลงวัน หรือแม้แต่ปลา
อย่างไรก็ตาม การตัดต่อพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มไพรเมท (สิ่งมีชีวิตต้นแบบของมนุษย์ ซึ่งจัดว่ามีพัฒนาการสูงสุด) นับว่าเป็นเรื่องใหม่ในวงการชีววิทยาและถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ เพราะการโอนถ่าย DNA ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์นี้ยากที่สุด เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตในหมวดอื่น
เมื่อปีที่แล้ว สถาบัน Institute of Neuroscience ของประเทศจีน ได้โคลนลิงกัง 2 ตัวสำเร็จ ซึ่งใช้วิธีการเดียวกับตอนทำ โคลนนิ่งแกะ Dolly ในปี 1995 ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นจากการโคลนนิ่งตัวแรกของโลก
แต่ความสำเร็จก็ต้องแลกมาด้วยมูลค่ามหาศาล ซึ่งไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว นักวิจัยเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องจากกลุ่มคุ้มครองสัตว์ เพราะการทดลองมีผลต่อความเครียดและการดำรงชีวิตของสัตว์ที่สร้างขึ้นมา นอกจากนี้ สัตว์ทดลองหลายตัวเสียชีวิตหลังจากถือกำเนิดขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยืนกรานว่าการทดลองนี้จะเป็นผลดีต่อมวลมนุษยชาติในอนาคต
Deborah Cao ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์และกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Griffith University ในประเทศออสเตรเลีย มีความเห็นว่ากฎระเบียบการทดลองนานาชาติยังบกพร่องและไม่ชัดเจนสำหรับการทดลองในลักษณะนี้
ณ ขณะนี้ ประเทศจีนได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับถกเถียงเรื่องศีลธรรมและความก้าวหน้า เพราะการทดลองปรับแต่งพันธุกรรมและการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในประเทศจีนเยอะมาก จนประเทศตกเป็นเป้าสายตาขององค์กรหลากหลาย
งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในวารสาร National Science Review ผู้ที่สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่