BY TheStarrySky
19 Aug 20 12:42 pm

งานวิจัยเผย “วิดีโอเกม” ส่งผลกับวิธีที่ผู้คนตัดสินใจทางศีลธรรมมากกว่าที่คิด

43 Views

“วิดีโอเกม” ส่งผลกับวิธีที่ผู้คนตัดสินใจทางศีลธรรมมากกว่าที่คิด ผลการศึกษาล่าสุดเผย เด็ก ๆ ที่เล่นเกมเป็นประจำ จะมีพัฒนาการด้านเหตุผลทางศีลธรรมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งพวกเขาโตเป็นวัยรุ่น จากการที่ได้เห็นสิ่งที่พวกเขาทำลงไปในเกม

เว็ปไซต์ gamerant.com ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ได้สำรวจเด็กอายุ 11-18 ปีจำนวน 166 คน และนักศึกษาอายุ 17-27 จำนวน 135 คน ด้วยแบบสอบถาม 11 ข้อเกี่ยวกับผลกระทบของการเล่นเกมที่มีต่อการตัดสินใจทางศีลธรรมของพวกเขา

ผลการทดสอบถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปีสามารถมีพัฒนาการทางศีลธรรมจากการเล่นเกมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกมช่วยให้ผู้เล่นได้เห็นเหตุและผลของการตัดสินใจของพวกเขาเอง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้เหตุผลมากขึ้นในภายหลัง

โดยการสำรวจได้ยกตัวอย่างกรณีในเกม BioShock ที่ผู้เล่นต้องเลือกว่าจะช่วยเหลือหรือจัดการกับ little sisters เพื่อเป็นตัวอย่างของการให้เหตุผลทางศีลธรรม ซึ่งพบว่าวัยรุ่นหญิงจะมีพัฒนาการทางศีลธรรมที่สูงขึ้น แต่ผู้ชายที่เล่นวิดีโอเกมบ่อยจะมี “เหตุผลทางศีลธรรม” สูงกว่า และการให้เหตุผลทางศีลธรรมนี้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นตามความหลากหลายของเกมที่พวกเขาเล่นด้วย

การศึกษายังพบอีกว่า ผู้เล่นจะมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงที่ลดลงหลังจากได้เล่นเกมที่มีความรุนแรงทางเนื้อหาสูง แต่ในทางการวิจัยถือว่ามันมีความสัมพันธ์ (correlation) ในระดับต่ำอยู่ ซึ่งการศึกษาก่อนหน้าโดยมากระบุว่า เกมที่มีความรุนแรงสูงอย่างเช่น Grand Theft Auto อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงตามทฤษฎีเข็มฉีดยา (Hypodermic needle Theory) ที่กล่าวโดยสรุปคือ ผู้คนรับสารมาอย่างไรก็จะตอบสนองไปตามนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สื่อสารสามารถกำหนดได้ เหมือนหมอฉีดที่ยาให้คนไข้ ที่ไม่ว่าจะฉีดใครก็ได้ผลแบบทันทีและรู้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติดังกล่าวได้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อผู้คนเริ่มตระหนักว่าสื่อสารและการตอบสนองมีความซับซ้อนมากขึ้นส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องเกมและพฤติกรรมอีกครั้ง ซึ่งการวิจัยนี้ยังสอดคล้องการศึกษาอื่น ๆ ที่ระบุถึงประโยชน์ที่วิดีโอเกมมีต่อเด็ก ทำให้ประโยชน์ของเกมเริ่มถูกพูดถึงและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้วในตอนนี้

ที่มา gamerant.com

SHARE

Pathiphan Tepinta

Related posts

Read More
Back to top