BY Charcoal
30 Apr 18 10:14 am

ถ้าซิกมันด์ ฟรอยด์เคยเล่นเกมออนไลน์

17 Views

ย้อนรากมนุษย์ออนไลน์กับบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ 

เกมออนไลน์คือพื้นที่ที่มีชาวเกมจำนวนมากเข้ามาเล่นเกมพร้อม ๆ กัน มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เกิดเป็นสังคมขนาดใหญ่ เมื่อมีสังคมย่อมมีความวุ่นวาย ปัญหาที่สังคมเกมเจอกันบ่อยครั้งมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การโกงเกม, การไม่ตั้งใจหรือป่วนการเล่น หรือที่เรียกกันว่าโทรลเกม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารในเกมด้วยความหยาบคาย, ด่าทอ เหยียดหยาม และอื่น ๆ อีกมากมาย จนหลายครั้งทำให้อรรถรสในการเล่นเกมลดน้อยลง เหตุใดคนบางกลุ่มจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นสมควรตอบแบบเจาะลึกด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยา

หากจะวิเคราะห์เหตุผลการกระทำอันไม่น่าภิรมย์ในสังคมเกม ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์อาจตอบคำถามนี้ได้ดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านได้เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1939 และท่านคงไม่เคยเล่นเกมออนไลน์เป็นแน่ เนื่องจากในช่วงชีวิตของนักจิตวิทยารายนี้ไม่ปรากฏว่าเกมคอมพิวเตอร์ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา ผู้เขียนจึงขออาสาวิเคราะห์พฤติกรรมโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์มาเพื่อศึกษาว่าเหตุใดบางคนในสังคมเกมถึงนิสัยไม่ค่อยดีนัก

ซิกมันด์ ฟรอยด์ วางหลักว่าโครงสร้างทางจิตของมนุษย์ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่

1.Id (อิด) คือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่มีเรื่องของศีลธรรม คุณงามความดีใด ๆ เป็นเรื่องของการทำตามอำเภอใจ เปรียบเสมือนสันดานดิบในจิตใจของมนุษย์

2.Ego (อีโก้) คือส่วนที่เป็นบุคลิกภาพที่เราแสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น ควบคุมความต้องการของ Id ให้แสดงออกอย่างเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไปเพื่อความสุขของ Id เช่น เมื่อเราหิว (Id) จิตในส่วนของ Ego ก็จะสั่งให้เราหาของกินให้อิ่มแต่พอดี

3.Super Ego (ซุปเปอร์อีโก้) คือเรื่องของคุณงามความดี จริยธรรม ที่ได้รับการพัฒนามาจากบรรทัดฐานทางสังคม การอบรม เลี้ยงดู และค่านิยมต่าง ๆ เป็นส่วนในจิตใจที่มุ่งให้คนเราทำแต่ความดี ซุปเปอร์อีโก้จะช่วยกดความต้องการของ Id ให้แสดงออกมาแต่พองาม โดยจิตใจส่วนนี้ก็ต้องถูกควบคุมโดย Ego เช่นกัน เนื่องจากหากไม่ควบคุม เราจะทำดีจนเกินเหตุ ไม่สนเหตุผล ไม่ดูความเหมาะสม จนบางครั้งสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง เช่น ให้เงินขอทานจนตัวเองหมดตัว ส่วนตัวอย่างที่ Super Ego ควบคุม Id เช่น เมื่อเราหิว อีโก้จะสั่งให้เรากิน แม้ของกินนั้นไม่ใช่ของเรา แต่ซุปเปอร์อีโก้จะมาคอยเตือนว่าให้เราไปจ่ายเงินซื้อมากินดีกว่า

ผู้คนส่วนใหญ่มีโครงสร้างทางจิตในส่วนของ Ego แข็งแรงที่สุด จึงทำให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมในสังคมออกมาได้อย่างเหมาะสม แต่หากโครงสร้างทั้งสามทำงานไม่ประสานกันอีกต่อไป Ego ไม่สามารถควบคุมองค์ประกอบทั้งสองได้ ก็อาจเกิดอาการอีโก้แตก จนแสดงพฤติกรรมที่คนทั่วไปไม่ภิรมย์

เราอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมเกมได้จากโครงสร้างทางจิตของซิกมันด์ ฟรอยด์

มนุษย์มีความชั่วร้ายในจิตใจทั้งนั้น ความต้องการที่จะปั่นป่วนเกม หรือทำลายความสนุกในการเล่นเกมของคนอื่นด้วยวิธีต่าง ๆ คือ Id ในจิตใจของคนเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าในจิตใจของพวกเราก็มีแอบนึกอยากแกล้งคนอื่นเหมือนกันทั้งนั้น เพราะบางทีมันก็น่าสนุก แต่ที่ไม่ทำเพราะเรามี Ego แข็งแรงที่คอยย้ำเตือนว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เหมาะสม ดังนั้นคนที่ชอบป่วนเกมคือคนจำพวกที่มี Id มากเกิน Ego ควบคุมได้ หรือเรียกได้ว่าจิตไม่สมดุลอย่างที่ควรจะเป็น แต่เมื่อเราเห็นพฤติกรรมเหล่านี้ของพวกป่วน ในใจเราอาจแกล้งกลับ แต่เราไม่ทำเพราะ Ego เราดี แต่จะลงโทษเขาอย่างไรดีล่ะ ตรงส่วนนี้ Super Ego จะเข้ามาบอกเราว่า ก็กดรีพอร์ตไปสิ รออะไร

ถ้าซิกมันด์ ฟรอยด์เคยเล่นเกมออนไลน์ ก็คงอยากจะมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยตนเอง แต่ดังกล่าวมาแล้ว น่าเสียดายที่ท่านจากไปแล้ว ผู้เขียนในที่นี้ขออ้างตนเป็นศิษย์ชั้นผู้น้อยอีกคนหนึ่งจึงขอมาอธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจหลักการโครงสร้างทางจิตในมุมของสังคมเกมที่คุณอาจไม่เคยหาอ่านได้ที่ไหน ขอบพระคุณที่อ่านจนจบ

SHARE

Nattakorn Sopha

กาย - Guest Writer เจ้าของแฟนเพจ Charcoal และ GAMERGUY

Back to top