BY Settasilp Poonbumphen
14 Aug 16 4:27 pm

ทำไมผู้ใหญ่ “ไม่โอ” กับ “โปเกม่อนโก”

13 Views

วันนี้จะมาชวนทุกท่านคุยในหัวข้อเรื่อง “ทำไมผู้ใหญ่ไม่โอ กับโปเกม่อนโก” กันครับ

Pokemon GO

ณ นาทีนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าโปเกม่อน โก นั้นเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายจากหลายฝ่ายมากจริงๆ การมาถึงของ โปเกม่อน โก ทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง หลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้เล่น การเปิดรับอะไรใหม่ๆ ของผู้คนในวงกว้าง และอะไรหลายๆ อย่าง รวมไปถึงเห็นความจริงที่แจ่มแท้อีกแง่ของเหล่าผู้มีหน้ามีตาในสังคมเรานั้นที่แท้จริงเเล้ว ความคิดความอ่านต่อเทคโนโลยีของพวกเขาเป็นแบบไหนกันแน่

และวันนี้ผมในฐานะเทรนเนอร์จากหมู่บ้านมาซาระ ผู้วิ่งเล่นอยู่ในป่าโทคิวะมาตั้งแต่ ป.6 และท่องเที่ยวอยู่ในทวีป Karos (Pokemon X and Y ) จะมาชวนทุกท่านคุยในหัวข้อเรื่อง “ทำไมผู้ใหญ่ไม่โอ กับโปเกม่อนโก” กันครับ

รู้จัก Gen B

Baby Boomer
หลายๆ คนคงพอคุ้นเคยกับคำว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” (generation gap) เป็นอย่างดี คำๆ นี้คือหนึ่งในตัวแปรหลักของกระแสแอนตี้ โปเกม่อนโก ในหมู่ผู้ใหญ่บางจำพวกของบ้านเรา
เราอาจจะต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในยุคของพวกเขา (Gen B หรือ Baby Boomer Generation อายุ 45 ปีขึ้นไป) นั้นเป็นช่วงทุกข์ยากลำบากของโลกช่วงหนึ่งอันเนื่องมาจากสภาวะหลังสงครามโลก จากการที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในสงคราม หลากๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศหลังเหตุการณ์สงคราม

World Population Growth

โดยในช่วงหลังสงครามโลกมีอัตราการขยายตัวของประชากรสูงมากจนระดับเกินกว่าปีละ 4.0 ด้วยเหตุผลดังกล่าวการเพิ่มจำนวนประชากรในยุค Baby Boomers จึงมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของโลก จนในระยะหลังจึงได้มีมาตรการวางแผนครอบครัวที่ทำให้ประชากรลดลง จนในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของประชากรลดลงจนต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อปีในปัจจุบัน
Gen B ส่วนใหญ่ความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และเนื่องจากโตมาหลังสภาวะสงครามใหญ่และอยู่ในช่วงสงครามเย็น ทำให้ สื่อทั้งหลายที่พวกเขาเสพย์จะมีการป้ายสีฝั่งตรงข้ามอย่างชัดเจน ฝั่งนั้นคือผิด ฝั่งเราคือถูก เหตุผลไม่ต้องมีก็ได้ ทำให้โลกของ Gen B ส่วนใหญ่มีแค่สองอย่าง คือผิด และถูก

โลกของ Gen B ไม่มีโลกเสมือน

Newspaper

ในยุคนั้นสมัยนั้นสิ่งบันเทิงที่มี มีเพียงแค่ทีวี และนิยาย เรื่องสมมุติที่เกิดขึ้นในนั้น ล้วนมาจากพื้นฐานของความจริง แน่นอน ในยุคที่ทุกคนก่อร่างสร้างตัวอย่างขมีขมัน ใครที่บังอาจพูดเรื่องโลกเสมือนที่ไม่มีจริงในนิยายอาจโดนมองว่าบ้าได้ในโลกของความจริง ไม่มีหรอกนะฮอกวอร์ต มีแค่บ้านทรายทองและพจมาน ก่อนที่ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปด้วยการมาถึงของสตาร์วอร์….

ส่วนตัวแล้วผมว่าตรงนี้ชัดเจน พวกเราเหล่าเทรนเนอร์โตมาในยุคที่มีโลกเสมือนจริงตั้งแต่เกิด เราดื่มดำกับโลกเวทมนต์ในฮอกวอร์ตได้ ลีอกอินเพื่อเป็นอัศวินในรูน มิดการ์ด แร๊กนาร๊อคได้ เป็นหน่วยลับใน Call of Duty ได้ แต่เมื่อล๊อกเอาท์ออกหน้าจอเราก็กลับมาทำมาหาแดก ทำการบ้านในโลกของความจริง

ตรงส่วนนี้แหละที่เหล่าผู้ใหญ่ในบ้านเราเขาอาจไม่คุ้นเคย เพราะเมื่อก่อน เกม นิยาย โลกเสมือนต่างๆ การเข้าถึงนั้นต้องนอนอ่าน นั่งเล่นอยู่หน้าคอม หน้าทีวี มีที่มีทางชัดเจน เค้าไม่ชอบก็มาบอกมาไล่เราถึงที่ แต่กับโปเกม่อนโก มันไม่ใช่

Pokemon GO

ภาพจากเหตุการณ์เทรนเนอร์ในออสเตรเลียกว่า 300 ชีวิตออกไปจับโปเกมอน

ด้วยเนื้อเกม เราพกพาโลกเสมือนนี้ ความเป็นเทรนเนอร์นี้ไปด้วยทุกที่ในโลกของความจริง เราถือมือถือหาอะไรที่ไม่มีอยู่จริง สิ่งนี้อาจจะเป็นภาพบาดตาบาดใจผู้ใหญ่มาก (หาอะไรกันนน ทำไมหาอะไรที่ไม่มีอยู่จริง ทำไม!) และเนื่องจากมีผู้เล่นจำนวนมากเพราะเกมมันใหม่ มันเป็นกระแส ภาพอันนี้ก็ยิ่งบาดตาทำร้ายความรู้สึกผู้ใหญ่ในสังคมเข้าไปใหญ่ จนพาลคิดว่ามันเป็นเรื่องเลวร้ายแน่ๆ ที่เด็กๆ ในสังคมต่างพากันไปจับอะไรที่ไม่มีอยู่จริงกันหมดแล้ว (ซึ่งเดินหาสอง ชม. ก็เหนื่อยแล้วมะ อยู่บ้านเล่นเกมก็ด่า ออกมาเดินก็ด่า จะเอายังไง)

แต่ก็ใช่ว่า Gen B ทุกคนจะเป็นอย่างนั้นไปเสียหมด หลายคนก็เปิดรับอะไรใหม่ๆ และไว้ใจคนรุ่นใหม่แนะนำ สังเกตได้จากโปรโมชั่นหรือนโยบายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโปโกม่อน โกได้เป็นอย่างดี

ความเห็นที่สะท้อนตัวตน

Thairath Pokemon GO

หลายต่อหลายวันที่ผ่านมา เราจะเห็นตามหน้าฟีดข่าว ว่าผู้ใหญ่คนโน้นคนนี้ ส่วนใหญ่จะมีคำนำหน้าเยอะๆ ด.จ.ร.ห.บ.ห.บ. อะไรแบบนี้ออกมาให้ความเห็นกับเรื่องของโปเกม่อน โกกันมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน (ทิศทางไหนไปดูกันเอง)

ความคิดเห็นของพวกเขาเปรียบเสมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมแท้จริงของประเทศเรานั้นเป็นอย่างไร และเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไร
ทำไมเราถึงเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศ เกษตรกรรม ประเทศอุตสาหกรรมมาอย่างเนิ่นนาน ผมเชื่อว่าในวันนี้ ทุกคนย่อมเริ่มมองเห็นแล้วว่าเป็นเพราะอะไร

การมองเห็นเทคโนโลยีเป็นสิ่งเลวร้ายและไม่เปิดรับคือการฉุดรั้งการพัฒนาทุกอย่างเท่าที่มี โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เราผ่านพ้นยุคของการสืบค้นจารกรรมข้อมูลมานานแล้ว โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการแบ่งบันข้อมูล การวิเคราะห์เชิงสถิติ การลดความขัดแย้ง การร่วมหาจุดยืน ยอมรับในความแตกต่าง ตลอดจนการพัฒนาเพื่อความเท่าเทียมในแง่ต่างๆ
ด้วย “เทคโนโลยี”

ใครจะรู้ โปเกมอน โก อาจเป็นตัวจุดประกายหลากหลาย Startup ในสังคมไทยหรือทั่วโลกให้เจริญหน้าแบบก้าวกระโดดก็เป็นได้

เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร?

generation gap

Generation Gap ความต่างที่เข้าใจกันได้

แม้ว่าจะดูเลวร้ายแค่ไหน แต่ประเทศไร้สงคราม มีอินเตอร์เนตความเร็วสูง มีอาหารอร่อยๆ ให้กินตลอด ก็ถือเป็นหนึ่งในคุนูปการของผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายๆ ท่านที่พวกท่านร่วมสร้างกันขึ้นมาให้พวกเราได้มีที่และเวลาเล่นเป็นเทรนเนอร์กันอยู่แบบนี้

ส่วนตัวแล้วผมว่าจุดสมดุลในสังคมและครอบครัวนั้นหาไม่ยาก ถ้าทุกคนพร้อมเปิดใจ แค่พวกเขาเปิดรับ และพวกเราเหล่าเทรนเนอร์ก็ทำใจให้ร่มๆ อธิบายให้พวกเขาได้เห็น ทำตัวให้พวกเขารู้ว่าเราเองนั้นสามารถแยกแยกโลกเสมือนได้ดี ไม่ทำให้หน้าที่ความรับผิดชอบในโลกของความจริงเสียหาย และอธิบายถึงโลกที่แปรเปลี่ยนไปทุกวันว่าเรามีความคิดต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร พร้อมทั้งชวนเล่นหรือขอความคิดเห็น

แค่นี้ผู้ใหญ่ใกล้ตัวหรือคนในบ้านก็สามารถโกไปจับโปเกม่อนกันได้อย่างมีสติและความสุข โดยที่ไม่ต้องโชว์โง่ออกเฟสบุ๊คกันรายวันแบบนี้ สวัสดีครับ

SHARE

Settasilp Poonbumphen

ยีน - Founder / Project Manager

Related posts

Read More
Back to top