เดือน มกราคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัท Microsoft ประกาศซื้อกิจการ Activision Blizzard ในราคารวมทั้งหมด 68,700 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2,272,400 ล้านบาทไทย
หลังจากการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ทำให้ Microsoft จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์และ IP เกมในเครือ Activision Blizzard ทั้งหมด ตั้งแต่ Call of Duty, Warcraft, Diablo, Overwatch หรือแม้แต่ Candy Crush และรวมไปถึงพนักงานในเครือทั้งหมดกว่า 10,000 ชีวิต ทำให้ Microsoft กำลังจะกลายเป็นบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจาก Tencent และ Sony
การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวก็ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งวงการเกม และหัวข้อที่ใหญ่ที่สุดที่ขึ้นเป็นหัวข่าวในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมาก็คือการต่อสู้ระหว่าง Microsoft กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายรัฐบาล ในการพยายามให้การเข้าซื้อหรือดีลดังกล่าวได้รับความเห็นชอบ นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่าทำไม Microsoft จะซื้อ Activision Blizzard ต้องได้รับอนุมัติจากหลายประเทศทั่วโลก ?
ทำไม Microsoft จะซื้อ Activision Blizzard ต้องได้รับการอนุมัติจากหลายประเทศทั่วโลก ?
เหตุผลหลักก็คือการเข้าซื้อขนาดใหญ่ระดับนี้ถือเป็นดีลที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเกมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เป็นผู้พัฒนารายเล็กรายใหญ่ ค่ายอินดี้ ทีมงานยักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่เกมเมอร์ผู้บริโภค ก็ล้วนแล้วแต่อาจจะได้รับผลกระทบได้ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ก็ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่มีการผูกขาดตลาดเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการซื้อกิจการดังกล่าวก็ต้องมีความแน่ใจว่าไม่ไปส่งผลเสียต่อผู้บริโภคภายในประเทศของตัวเอง
ซึ่งข้อกำหนดจากกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงขนาดของตลาดและการทำธุรกิจภายในประเทศนั้น ๆ ก็มีผลโดยตรงในการมีส่วนทำให้ Microsoft ต้องยื่นขอการรับรองจากหลายประเทศทั่วโลก
ถ้า Microsoft ดำเนินการควบรวมไปเลยโดยไม่ได้รับการเห็นชอบก็อาจส่งผลให้มีการสกัดกั้นการทำธุรกิจของ Microsoft ภายในประเทศดังกล่าวนั่นเอง
ผลก็คือ ณ ปัจจุบัน Microsoft ต้องได้รับการรับรองได้รับการอนุมัติจาก 16 ประเทศทั่วโลกในการเข้าซื้อ Activision Blizzard
และความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ Microsoft ก็คือการได้รับการเห็นชอบจากสามองค์กรใหญ่
- FTC คณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา
- CMA หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของสหราชอาณาจักร
- คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission
ทั้งสามจัดเป็นปราการด่านสำคัญในการตีดีลนี้ให้แตก เพราะหลักฐานและความเห็นชอบจากทั้งสามองค์กรสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการขออนุมัติจากประเทศอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน
(ประเทศไทยมีกฎหมายต้านการผูกขาดฉบับแรกคือ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2552 ก่อนอัพเดตอีกทีในปี พ.ศ.2560 โดยมีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องว่า ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างชัดเจนและยังมีช่องว่างในหลายส่วนที่ต้องถูกปรับปรุงกันต่อไป)
ขั้นตอนการสอบสวนเป็นยังไง ?
ขั้นแรกจะเป็นการรวบรวมคำถามส่งไปถามความเห็นจากเหล่าคู่แข่งของบริษัท Microsoft ได้ธุรกิจวิดีโอเกม เนื้อหาของคำถามก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการแข่งขัน การผูกขาดตลาด การพัฒนาของวงการเกมโดยรวมในอนาคต หรือจะเกิดอะไรขึ้นหาก Microsoft เข้าซื้อ Activision Blizzard สำเร็จจริง
ถ้าเป็นการรวมกิจการขนาดเล็ก ส่วนใหญ่แล้วหากได้รับการยินยอมกันตั้งแต่ขั้นตอนแรกก็จะได้รับการอนุมัติให้เข้าซื้อหรือควบรวมกิจการกันได้ แต่พอเป็นกิจการขนาดใหญ่ก็จะขั้นตอนที่สองต่อมา โดยขั้นที่สองก็จะเป็นการลงมือทำงานวิจัย มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อสืบหาผลกระทบออกมาเป็นข้อมูลตัวเลขจริง ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก Microsoft ซื้อ Activision Blizzard ได้สำเร็จ
จะเกิดอะไรขึ้น หากมีคนไม่เห็นชอบในการเข้าซื้อครั้งนี้ ?
ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ตามข้างต้น ก็ต้องบอกก่อนว่าที่สามองค์กรก็ถือว่ามีอำนาจสำคัญ การไม่ผ่านการยินยอมในตลาดใหญ่อย่างอเมริกา อังกฤษ และยุโรป อาจหมายถึงเป็นการบล็อกการซื้อขายที่กำลังเกิดขึ้น ดีลอาจต้องถูกล้มเลิก
อย่างไรก็ตามต่อให้บางองค์กรอาจจะไม่เห็นด้วยในภาคแรกของการเข้าซื้อ Activision ก็อาจได้รับข้อเสนอเป็นข้อจำกัดบางอย่างเข้ามาในตัวสัญญาถึงจะยินยอมให้มีการซื้อขายกันได้
ยกตัวอย่างข้อจำกัดก็เช่น Microsoft อาจจะต้องยืนยันว่าเกมของ Acitivision Blizzard จะลงให้กับ Console อื่นต่อไป หรือ Microsoft ต้องสัญญาให้ Acitivision Blizzard มีอำนาจในการบริหารตัวเอง ซึ่งข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นก็อาจมีได้มากมายหลายรูปแบบ
โดยสายข่าววงในระบุว่าในหนังสือที่ยื่นต่อ คณะกรรมาธิการยุโรป European Commission ทาง Microsoft ได้มีการยืนยันเป็นสัญญาว่าเกม Call of Duty จะวางจำหน่ายให้คู่แข่งสำคัญอย่าง PlayStation ไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปี
สถานการณ์ล่าสุด
ณ ปัจจุบันมีเพียงแค่ 4 ประเทศที่ทำการรับรองการเข้าซื้อครั้งนี้ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, บราซิล, เซอร์เบีย และ ชิลี
ขณะที่ล่าสุดคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐอเมริกา หรือ FTC ก็ได้ทำการฟ้อง Microsoft เพื่อขัดขวางการเข้าซื้อกิจการทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย โดยตัวของ FTC เองไม่มีอำนาจในการขัดขวางสั่งห้ามการรวมกิจการได้โดยตรง หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของศาลในสหรัฐอเมริกาที่จะพิจารณาคดีดังกล่าว ซึ่งความเป็นไปได้หลังจากนี้ก็มีทั้งตัวศาลอาจจะพิจารณาให้คำร้องของ FTC ตกไปหากหลักฐานไม่หนาแน่นพอ หรือดำเนินการต่อสู่การพิจารณาในขั้นต่อไป
ทาง FTC ออกมาให้ความเห็นว่า คณะกรรมการ FTC มีมติเอกฉันท์ถึง 3 ต่อ 1 เสียงให้ดำเนินการฟ้อง Microsoft โดยอ้างเหตุผลสำคัญว่าหาก Microsoft ได้เป็นเจ้าของ Activision Blizzard จริง มีความเสี่ยงที่ Microsoft จะยืดเอาเกมสำคัญของ Activision Blizzard และถอนเกมดังกล่าวออกจากระบบของคู่แข่งนำไปสู่การผูกขาดของตลาดในระยะยาวสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง