เมื่อเกมกับอาชีพไม่ได้ถูกแบ่งคั่นอีกต่อไป
ว่ากันด้วยเรื่องของ E-SPORTS แล้ว เราๆ ท่านๆ อาจจะเข้าใจว่า มันต้องเป็นมุมของผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว eSports คือพื้นที่ของหลายๆ ส่วนที่มีองค์ประกอบรวมกันอย่างลงตัว และออกมาเป็นคำว่า eSports อย่างเต็มภาคภูมิได้นั้น มันมีหลายภาคส่วนที่ร่วมเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ใครที่อยากจะมีส่วนร่วมกับตรงนี้ ไม่จำเป็นต้อง “เล่นเกมเก่ง” เพียงอย่างเดียว แต่ขอแค่เพียงคุณมีใจรัก และให้เกียรติกับคำว่า “เกม” อย่างเต็มหัวใจ ไร้ข้อกังขาใดๆ นั้น เราก็สามารถที่จะประกอบอาชีพกับวงการนี้ได้อย่างลงตัวครับ
eSports สร้างอาชีพได้หลากหลายมากมาย ที่เกิดขึ้นและสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทั้งในมุมของงานประจำ หรือแม้กระทั่งจะเป็นงานพาร์ทไทม์ทำเป็นงานอดิเรกก็ได้เหมือนกันครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ลองสัมผัสด้วยตัวเองมาเกือบทุกรูปแบบในวงการนี้ (ฟังดูช่ำชองสุดๆ) ไม่ว่าจะเป็นทั้งมุมของผู้เล่น (Players) ลงแข่งขันตั้งแต่รายการแข่งของร้านเกมไปจนถึงการได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศ , เป็นผู้ก่อตั้งทีมแข่ง (Team Organizer) , การเป็นสื่อเขียนข่าวลงเว็บไซต์ รวมถึงเขียนบทความลงหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ (Reporter / Writer) , เป็นผู้จัดการแข่งขัน (Event Organizer) รวมถึงการเป็นบทบาทผู้พากย์การแข่งขันเกมต่างๆ ที่ตัวเองจัดการแข่งขันขึ้น (Caster) รวมถึงงานจุกจิกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวงการเกม และการแข่งขัน e-Sports ที่ผ่านมาเกือบครึ่งชีวิตของผมเลยทีเดียว อาจจะดูเหมือนว่าทำไมผมทำได้หลายอย่างจัง ซึ่งถ้าให้อธิบายจริงๆ แล้วผมก็ไม่ได้ทำทั้งหมดนั้นด้วยตัวคนเดียว แต่มีทีมงานคุณภาพที่ช่วยสรรสร้างมันให้ออกมานั่นเองครับ ส่วนนี้คงจะบ่งบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่า “อาชีพ” ที่เกิดขึ้นในวงการ eSports นั้นมีมากมายขนาดไหนครับ ดังนั้น ผมจะขอแยกแยะออกมาเป็นข้อๆ ก่อนจะลงลึกในแต่ละหมวดหมู่ว่าในแต่ละสายอาชีพนั้นจะต้องมองหาแนวทาง หรือเอาตัวเองเข้าไปทำอะไรได้บ้างในแต่ละภาคส่วนครับ
1. Players : ผู้เล่น – แน่นอนว่า eSports จะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องมีผู้เล่นที่เก่งที่เจ๋ง มีฝีมือที่แตกต่างจากระดับของผู้เล่นทั่วไป ที่จะมาเป็นต้นแบบให้กับการแข่งขันนั้นมีความสนุก มันส์ และน่าติดตาม โดยผู้เล่นเหล่านี้ สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก็คือการฝึกซ้อม ฝีมือหรือทักษะที่มีมากกว่าคนอื่นๆ ที่อาจจะเริ่มต้นจากการอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราเองก็เล่นเกมเก่งไม่แพ้ใคร หากเป็นเกมที่เล่นคนเดียว แข่งขันคนเดียวก็อาจจะมีการแบ่งเวลาซ้อม มีการพัฒนาตัวเองด้วยการทำการบ้านกับจุดอ่อนของตัวเองในการลงแข่งขันในแต่ละรายการ ส่วนเกมที่ต้องเล่นเป็นทีมนั้น แน่นอนว่าต้องมีทีมที่ดี ที่ลงตัว โดยเฉพาะทีมที่มีเคมีตรงกัน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ถึงจะพากันไปได้ตลอดรอดฝั่งนั่นเองครับ ดังนั้นแล้ว Players หรือผู้เล่นที่เราเห็นเค้าแข่งๆ กันอยู่นี่แหละครับ คือใจความสำคัญเลยล่ะ
บรรยากาศการเซ็ตอัพงานแข่งขันสุดยิ่งใหญ่จากทาง ESL One
2. Organizer : ผู้จัดการแข่งขัน – การที่เรามีผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมและมีคุณภาพขนาดไหน หากไม่มีการแข่งขันเกิดขึ้นก็แน่นอนแล้วล่ะว่า ใครมันจะไปรับรู้ !? จริงไหมล่ะครับ ฮาา ดังนั้นแล้ว หากเรามีของแล้ว ก็ต้องมีเวทีให้ได้ปลดปล่อยของดีๆ ของเราออกมาให้ชาวโลกได้รับรู้ เหล่าผู้จัดนี่แหละครับ ที่จะสร้างสรรค์รายการแข่งขันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบออนไลน์/ออฟไลน์ งานเล็ก หรืองานใหญ่ เหล่าผู้จัดนั้นก็ล้วนแล้วแต่มีค่าและมีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ เหมือนกันครับ บางรายการอาจจะเริ่มจากรูปแบบการแข่งขันที่ง่าย และแข่งได้ในรูปแบบออนไลน์ จนกระทั่งมีสปอนเซอร์ นายทุนเข้ามาลงทุนให้เกิดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง ส่วนนี้ผมขอเหมารวมคร่าวๆ ทั้งหมดในรูปแบบ Organizer ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรายการ หรือกลุ่มคนที่ทำให้งานสวยๆ เทพๆ ที่เราได้เห็นกันนั้นเกิดขึ้นครับ
รายชื่อนักพากย์ นักวิเคราะห์เกม เหล่าพิธีกรชั้นนำที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการแข่งขัน IEM/ESL Oakland เท่ห์สุดๆ !!
บรรยากาศโต๊ะพากย์สไตล์ยุโรป
3. Caster : ผู้พากย์/บรรยายการแข่งขัน – ในการแข่งขันต่างๆ ที่มีการถ่ายทอดสดให้รับชมกันนั้น การจะรับชมเกมให้สนุกสุดมันส์ได้ ก็ต้องพึ่งพาเหล่านักบรรยายเกม หรือที่เราเรียกติดปากกันไปว่า “นักพากย์” นั่นเองครับ ซึ่งการพากย์การแข่งขันต่างๆ ให้ได้มีอรรถรสนั้นก็ต้องพึ่งพาความสนุกสนาน การมีไหวพริบ และการบรรยายสถานการณ์ต่างๆ ออกมาได้เป็นรูปเป็นร่าง ถึงแม้ว่าคนที่ไม่เคยดูการแข่งขันเกมนั้นๆ มาก่อนก็ต้องฟังแล้วเข้าใจได้และสนุกกับมันได้ โดยที่คนที่ดูและเล่นเกมนั้นๆ อยู่แล้ว ฟังไปก็ต้องไม่น่าเบื่อครับ ในส่วนนี้ ผมขอมัดรวมเหล่า Analysis , Commentator ไว้ในก้อนเดียวกันเลยนะครับ เพราะทำงานคล้ายกัน และสำหรับบางคนนั้น ก็สามารถปรับตัวได้หลายรูปแบบอีกด้วย
ภาพบรรยากาศการทำงานของทีมงานคนไทย อย่าง Studio Invate.
4. Live Streaming : ทีมงานถ่ายทอดสด เรียกได้ว่า การมีผู้จัดที่ยอดเยี่ยม มีทีมงานที่เซ็ตงานได้อย่างสุดยอดขนาดไหน ก็ต้องมีการถ่ายทอดออกมาให้เราๆ ท่านๆ ได้รับชมกัน และแน่นอนว่า มันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกกันออกมาจาก Organizer หรือผู้จัดนั่นเองครับ จะว่าไปบางทีมอาจจะสามารถทำควบกันได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นระบบงานที่แตกต่างกัน ต้องมีทีมแยกออกมาอีกชุดนึงอยู่ดี การทำระบบ Live Streaming ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย และมีความรู้เฉพาะทาง อาจจะทั้งเรียนรู้มา หรือลงมือทำงานจริง ก็สามารถเข้าใจระบบต่างๆ ได้ ที่จะถ่ายทอดออกมาไม่ว่าจะเป็น Live Platform ไหน ก็สามารถเซ็ตอัพได้ทั้งหมด และเป็นเหมือนด่านสำคัญที่รองรับหน้าคนทั่วไปที่เข้ามาดู หากทำได้ดีงานทุกอย่างจะออกมาอย่างลงตัว แต่ถ้าหากทำออกมาไม่ดีแล้วนั้น ต่อให้ภายในงานสวยหรูขนาดไหน การถ่ายทอดสดออกไปก็จะทำให้งานดูแย่ทันที
….. ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ ยังมีอีกหลายสาขาอาชีพที่เราสามารถ “ทำมาหากิน” กับวงการเกมได้ ไม่ว่าจะเป็นงานประจำ หรือแม้กระทั่งงานอดิเรก รอติดามได้ในตอนต่อไปครับ
つづく….