มองเกมอย่างคนแพ้ ผ่านมุมมองของ The Loser อีพี 4 เพลงใหม่ของวายร้ายแห่ง Hip-Hop ไทย
UrboyTJ
UrboyTJ ถือได้เป็นศิลปินน้องใหม่ที่ก้าวมาสู่แนวหน้าของเพลงสไตล์ Hip-Hop ในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากการปล่อยเพลงฮิตติดหูอย่าง เขาก่อน, วายร้าย, รังเกียจกันไหม? จนถึงการได้ร่วมงานกับศิลปินรุ่นใหญ่อย่าง (พี่?) เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ล่าสุด UrboyTJ ได้ปล่อย EP ล่าสุดในชื่อว่า The Loser ที่กวาดยอดวิวเพลง ขี้แพ้ ทะลุล้านในวันเดียว
The Loser พาคนฟังย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์ในอดีตของ TJ ผ่านคอนเซปท์ EP ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่สมหวัง ดั่งที่เจ้าตัวบอกไว้
เรื่องราวในอดีตที่ผมได้ก้าวข้ามผ่านมันมาได้
เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดมันสู่ดนตรี
ความเจ็บปวดในอดีตได้ถูกถ่ายทอดลงในทุก Tracks
หวังเพื่อจะเป็นกำลังใจให้กับคนที่เคยผ่านเรื่องราวร้ายๆมาเหมือนกัน หวังว่าอัลบั้มนี้มันจะทำให้คนฟังมีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป วันไหนที่เราแพ้ เราจะลุกขึ้นมาอีกครั้ง…
LOST จากหลงทางก็จะเจอทางออก
LOSE จากแพ้เราจะกลับมาชนะ
LEAVE จากการจากลา สู่การเริ่มต้นใหม่
LAST SONG จากเพลงสุดท้ายสู่ การเดินทางที่โตขึ้น
หากดูเผินๆ แล้วเพลงเหล่านี้อาจไม่ต่างจากฮิตติดชาร์จอื่นๆ ทั่วไป แต่หากมาดูกันดีๆ Loser หรือคนแพ้ มีนัยยะสำคัญต่อวงการเกมมาโดยตลอด เพราะเป้าประสงค์ของการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเพื่อให้จบ (Completing) หรือเล่นเพื่อการแข่งขัน (Competition) อย่างที่เห็นในเกม Multiplayer ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหวังคือชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นเอาชนะในแต่ละฉาก (Stage, Chapter หรือ Mission) หรือเอาชนะเพื่อต่อยอดตัวตนภายในเกม (Upgrades, Skills, Level)
ด้วยเหตุนี้ การได้ชัยชนะ จึงเป็นเรื่องของกระแสหลัก (Mainstream) เพราะผู้ชนะเท่านั้น ที่จะสมหวัง ผู้ชนะเท่านั้น อย่างที่ George Orwell เคยบอกไว้ผ่านบทประพันธ์เรื่องดัง 1984 ว่า
“Who controls the past controls the future. Who controls the present controls the past.”
ดังนั้น หากเป็นในอดีต การนำเสนอแบบ The Loser ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะแนวคิดแบบ Modernism ที่มาพร้อมแนวคิดในการเอาชนะอดีต โดยอาศัยแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ เพื่อขจัดความไม่เป็นเหตุเป็นผล ต่างไปจาก Post-Modernism ที่เลือกที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งนั้นๆ พยายามทำความเข้าใจผู้ที่ถูกกั้นให้กลายเป็น “คนขายชอบ” แทน
การเป็น “คนแพ้” ในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันทำให้เราเข้าใจได้ถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติ และความเป็นอย่าง เห็นได้ชัดจากภาพยนตร์ Hollywood ที่ตัวละครอย่าง James Bond หรือ Jason Bourne อาจมีได้ในชีวิตจริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเป็นได้
ไม่เข้าใจ (LOST)
“ยิ่งรักเธอเท่าไร ก็ยิ่งเสียใจ”
เพลงแรกของ EP ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดจากการทุ่มเทให้กับคนที่รัก แต่กลับไม่ได้รับสิ่งได้ตอบแทนนอกเหนือไปจากความผิดหวัง หากมามองในบริบทของเกมปัจจุบันคงจะไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าระบบ microtransactions และกาชา ที่เริ่มมีอิทธิพลต่อการเล่นเกมของทุกคน เพราะการทุ่มเทไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การฝึกฝนและใช้เวลาไปกับมัน แต่ยังหมายถึงการใช้เงิน ซึ่งเป็นเงินจริงๆ ที่เสียไป แต่ในบางเกมที่ใช้ระบบ loot box ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ผูกมัดของผู้ให้บริการที่มีต่อคนเล่นตั้งแต่ต้น เมื่อไม่ผูกมัด ก็ไม่เสียหาย และก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่จ่ายที่ต้องทุ่มเทให้สมปรารถนา และหากยังไม่สำเร็จ ก็จะต้องจ่ายต่อไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ที่อยู่ดีมีพร้อมคงไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่อาศัยการเก็บเล็กผสมน้อย นี่อาจนำไปสู่หายนะ และแน่นอนว่าย่อมเข้าใจรสชาติของความล้มเหลวได้ดีกว่าคนไหนๆ
ขี้แพ้ (LOSE)
“เป็นแค่ไอ้ขี้แพ้ อ่อนแอให้เธอได้เห็น”
เมื่อราวๆ กลางปีที่แล้ว esports ได้รับการประกาศว่าจะเป็นชนิดกีฬาที่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 การประกาศนี้ได้สร้างแรงจูงใจและความหวังให้กับนักเล่นเกมทั่วประเทศ ที่จะได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่รักการแข่งขันได้เข้าถึงโอกาสในการเดินตามฝันได้มากยิ่งขึ้น
แต่ถึงอย่างนั้น esports ก็เปรียบได้กับดาบสองคม เพราะคำว่า sports ที่ต่อท้าย e ไม่ได้เป็นเพียงคำเล่นๆ เอาเท่ แต่หมายถึงการแข่งขันที่เป็นจริงเป็นจัง ดั่งเช่นกีฬาจริงๆ ที่แม้ไม่ได้อาศัยแรงกายเท่า แต่ต้องอาศัยวินัย และแยกแยะที่ถูกตามหลักของการแข็งขัน จึงจะได้มาซึ่งชัยชนะและรายได้ที่น่าพอใจ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะก้าวไปถึงจุดที่ทำรายได้หลักล้าน ซึึ่งปัจจุบันก็มีเพียงหยิบมือเท่านั้น
ในการแข่งขัน หากไม่ใช่ผู้ชนะ ก็ต้องเป็นผู้แพ้ บทเพลงนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงจุดหนึ่งที่บางครั้งเราก็อาจเป็นผู้แพ้ในบางเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมการแข่งขัน หรือเกมชีวิต
ทิ้งเค้า (LEAVE)
“ทิ้งเขานะ My Baby เธอได้โปรดจงทิ้งเขานะ My Baby”
วงการเกมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมต่างพยายามงัดทีเด็ดของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไอเดีย และการตลาด ปัจจุบันเราได้เห็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปมาก ไม่ว่าจะเป็น EA Access และ Xbox Games Pass ที่สอดคล้องให้เข้ากับธุรกิจ Streaming อย่าง Netflix และ Spotify นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในแง่การพัฒนาเกม ตั้งแต่การที่หลายแฟรนไชส์ที่ตัดสินใจ reboot ซีรีย์ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Tomb Raider, XCOM: Enemy Unkown หรือ DOOM ในขณะที่บางส่วนก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ล่าสุดเห็นได้จาก Call of Duty: Black Ops 4 ที่หักล้างธรรมเนียมการนับภาคด้วย IIII แทนที่จะเป็น IV พร้อม Tagline อันยั่วยวนอย่าง “Forget What You Know”
แน่นอนว่าเราคงไม่อาจคาดเดาได้ว่าการละทิ้งตัวตนเดิมหรือสิ่งเดิมๆ จะนำไปสู่สิ่่งที่ดีกว่าหรือไม่ แต่หากเทียบกับการย่ำอยู่กับที่แล้ว มันอาจคุ้มค่าที่จะเสี่ยงก็เป็นได้
เพลงสุดท้าย (LAST SONG)
“แต่เผื่อเธอยังคิดถึงกัน พรุ่งนี้ยังมีคนรอเสมอ”
ถ้าจะให้เพลงไหนทำหน้าที่ทบทวนความสัมพันธ์แล้วล่ะก็ เพลงสุดท้าย เพลงนี้น่าจะทำหน้าที่ได้ดีที่สุด บ่อยครั้งที่ผู้พัฒนาและผู้ให้บริการมักหักหลังคนเล่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้ระบบ microtransactions ที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะการทำให้เกมเสียสมดุลย์อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วในเกมของ EA
นอกจากนี้การประเคนความผิดหวังให้กับผู้เล่นด้วยการพัฒนาเกมอย่างครึ่งๆ กลางๆ ก็สามารถสั่นคลอนความเชื่อใจในเกมนั้นๆ (Brand Loyalty) ได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นการรับฟังเสียงตอบรับของแฟนๆ และทำมาปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญไม่น้อยหน้าไปกว่าการพัฒนาเกม นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกมอย่าง PLAYERUNKNOWN’S BATTLEGROUNDS หรือ PUBG และ Tom Clancy’s Rainbow Six Siege มียอดผู้เล่นที่สูงอย่างสม่ำเสมอ
อ้างอิง:
- https://www.facebook.com/urboytj/photos/a.1677320642541826.1073741829.1676838362590054/2021765901430630/?type=3
- http://music.sanook.com/2395369/
- https://www.goodreads.com/quotes/6145-who-controls-the-past-controls-the-future-who-controls-the
- http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/113
- https://www.facebook.com/prsatnews/posts/1631821243497048