เมื่อเส้นกั้นของลิขสิทธิ โฆษณา และความบันเทิงเริ่มเลือนลาง
ปัจจุบันเกิดอาชีพใหม่ในวงการเกมที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้กับนักเล่นเกมที่มีฝีมือและฝีปากดีมาหลายต่อหลายคน ผู้คนเหล่านี้สร้างสรรค์ผลงานผ่านคลิปวิดีโอหรือการถ่ายทอดสดการเล่นเกมไปพร้อม ๆ กับการพากย์บรรยายอะไรก็ตามแต่ที่เขาสามารถนำมาพูดให้คนดูรู้สึกสนุกกับการชมการเล่นเกมของเขา อาชีพนี้ไม่มีชื่อเรียกตายตัว
บางคนอาจเรียกว่าสตรีมเมอร์(เน้นถ่ายทอดสดเกม) หรือบางคนอาจเรียกเขาว่า “แคสเตอร์” และเรียกการพากย์เกมแบบนี้ว่า “แคสเกม” หลายครั้งเกมที่เขาเหล่านี้นำมาเล่นเป็นเกมแนวเนื้อเรื่องที่หากเล่นให้ผู้ชมดูจะกลายเป็นการเปิดเผยเนื้อหาทั้งหมดภายในเกม(Spoil) จึงเกิดประเด็นน่าสงสัยจนผู้เขียนต้องตั้งประเด็นขึ้นมาว่า “แคสเกม” ส่งเสริมการขายหรือทำลายเกมแนวเนื้อเรื่องกันแน่
เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมมีประเด็นที่อดีตผู้กำกับโปรเจคเกม Star Wars เกมแนวเนื้อเรื่องแอคชันแอดเวนเจอร์แบบเล่นคนเดียว จากสตูดิโอ Visceral Games (ปัจจุบัน EA สั่งปิดสตูดิโอไปแล้ว) ออกมาระบายความในใจเรื่องการพัฒนาเกมในยุคนี้ที่ต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ค่ายเกมต้องแบกรับภาระที่จะทำอย่างไรให้ได้เงินทุนคืนโดยเร็วที่สุด
ทางเลือกที่หลายเกมเลือกใช้คือ เพิ่มระบบขายของในเกมด้วยเงินจริง, สุ่มไอเท็ม Loot Box และสร้างเกมที่จะเรียกให้ผู้เล่นกลับมาเล่นซ้ำได้เรื่อย ๆ ทำเงินให้ค่ายได้เรื่อย ๆ อย่างเกมมัลติเพลเยอร์ ทำให้เกมแนวเล่นคนเดียวเริ่มไม่เป็นที่นิยมในการพัฒนาออกมาสู่ตลาดไปทุก ๆ ที เพราะเมื่อผู้เล่นซื้อไปก็จ่ายเพียงครั้งเดียว และยังมีปัญหาใหญ่อีกข้อที่ผู้พัฒนารายนี้ยกขึ้นมากล่าว นั่นคือผู้เล่นมักเรียกร้องเกมแนวเนื้อเรื่องแต่ไม่ยอมซื้อ กลับไปดูคนอื่นเล่นมากกว่า ซึ่งก็คือการดูคลิปแคสเกมต่าง ๆ นั่นเอง
แม้จะมีประเด็นว่าการแคสเกมแนวเนื้อเรื่องจะเป็นการเปิดเผยเนื้อหาภายในเกม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแคสเกมก็เป็นการทำให้คนดูมากมายรู้จักกับเกม ๆ หนึ่งได้เช่นกัน หรือพูดง่าย ๆ ตามประสาชาวบ้านก็คือเป็นการโฆษณาเกมให้คนจำนวนมากรู้จักอย่างรวดเร็ว ยิ่งนักแคสเกมคนไหนมีผู้ติดตามมาก เกมที่เขาเล่นยิ่งเป็นที่รู้จัก จนถึงขั้นบางทีเมื่อไม่รู้จะเล่นเกมอะไรก็เปิดช่องวิดีโอของนักแคสเกมในดวงใจ ดูว่าเขาเล่นเกมอะไร หากน่าสนใจก็อาจซื้อมาเล่นบ้าง
แล้วตกลงการแคสเกมมันเป็นปัญหาหรือไม่ ?
พิจารณาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผู้เขียนเคยสัมผัสการชมคลิปแคสเกมต่าง ๆ มาไม่น้อย การดูเนื้อเรื่องของเกมผ่านช่องวิดีโอต่าง ๆ มันก็ไม่ต่างจากการดูภาพยนตร์เท่าไหร่นัก เมื่อดูแล้วก็จะรู้เนื้อหาของเกมทั้งหมด เปรียบเหมือนการสปอยเนื้อเรื่อง คล้ายเราได้เล่นเกมไปพร้อม ๆ กับนักแคสเกมคนนั้น ๆ จึงอาจไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อเกมมาเพื่อเปิดเล่นด้วยตนเองอีก เพราะเล่นไปก็ไม่ตื่นเต้นเนื่องจากรู้เนื้อหามาก่อนแล้ว แต่ถึงอย่างไรจะให้ผู้เขียนยืนกรานหมดหน้าตักมันก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าการดูคลิปแล้วมันจะได้อรรถรสเท่าซื้อเกมมาเล่นเอง
เพราะตามจริงแล้วการดูคนอื่นเล่นเรารับรู้แค่เนื้อเรื่อง แต่ระบบการเล่น (Gameplay) ต่าง ๆ มันไม่สามารถซึมซับได้จากคลิปวิดีโอ เราต้องสัมผัสผ่านการเล่นด้วยตนเองจึงจะเข้าถึง จึงจะสนุก ผู้เขียนจึงคิดว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้พัฒนาสามารถฝ่าวิกฤตคนไม่ซื้อเกมแนวเนื้อเรื่อง คือนอกจากจะต้องมีเนื้อเรื่องอันยอดเยี่ยมแล้วระบบการเล่นต้องน่าจดจำ เพราะแก่นแท้ของเกมจริง ๆ แล้วคือ “เกมกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้เราเล่น” มันจึงควรเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเกมที่นักพัฒนาต้องเน้นย้ำ ส่วนเนื้อเรื่อง หากตัดระบบการเล่นออกไปมันก็ไม่ต่างจากภาพยนตร์ดี ๆ เรื่องนึงเท่านั้นเอง
ถ้าอยากให้คนซื้อมาเล่น เราจึงต้องสร้างเกมที่ทำให้คนอยากเล่นมากกว่าแค่ทำเกมให้คนอยากดูเนื้อเรื่อง แล้วปัญหาที่คนไม่ค่อยซื้อเกมแนวนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง แต่นี้ก็เป็นเพียงทรรศนะของผู้เขียนเท่านั้น หากผู้อ่านคิดต่าง ไม่เห็นด้วยในประเด็นใดก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับ