BY Nuttawut Apiratwarakul
25 Dec 22 11:29 am

GD The Best 2022 – God of War จากเครื่องจักรสังหารสู่นิทานสอนใจ

31 Views

ถ้าเราเทียบกันระหว่างเกม God of War ในยุคก่อน กับ God of War ในสมัยใหม่ มันแทบจะเป็นหนังคนละม้วนกันเลย จากเรื่องราวของการเข่นฆ่าล้างแค้นเหล่าทวยเทพ กลายมาเป็นเรื่องราวของคนเป็นพ่อที่พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่ดีกว่า มันเป็นบรรยากาศที่ทั้งแปลกใหม่ อบอุ่น และก็น่าติดตามอย่างที่แฟน ๆ ไม่นึกว่าจะได้สัมผัสจากเกม God of War เป็นเหมือนการเติบโตขึ้นจากวัยรุ่นเลือดร้อน สู่ผู้ใหญ่มากความรับผิดชอบ

เครโทส ในเวลานี้เป็นเหมือนผู้เฒ่าที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิด แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้ลูกชายของเขาเดินในทางสายเดียวกับเขา แต่ในเมื่อเขาเกิดมาเป็นเทพ ตัวลูกชายของเขาก็เป็นเทพเช่นกัน ชีวิตและความรับผิดชอบของพวกเขาจึงสูงกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป ด้วยการวางเรื่องราวแบบนี้ ทำให้ทั้ง God of War 2018 และ God of War Ragnarok กลายเป็นเกมที่มีอะไรมากกว่าความเข้มข้น มันเต็มไปด้วยคติสอนใจที่พวกเราสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงอีกด้วย

4 (8)

วินัยในการควบคุมตัวเอง

ในแว่บแรก เครโทส อาจจะดูเป็นพ่อที่เข้มงวดเกินไปกับลูกชาย เพราะแม้ว่า อเทรอัส จะมีอายุไม่ถึงช่วงวัยรุ่นด้วยซ้ำ แต่วิธีการที่ เครโทส สั่งสอนกลับเต็มไปด้วยความเฉียบขาดไร้ความอ่อนโยน จึงไม่แปลกที่ อเทรอัส จะคิดถึงแม่ของเขามากกว่า ซึ่งก็น่าเศร้าที่ เฟย์ มารดาของ อเทรอัส และภรรยาของ เครโทส ได้เสียชีวิตลงแล้ว เป็นเหตุให้การเดินทางของทั้งคู่เริ่มขึ้นเพื่อนำอัฐิของ เฟย์ ไปลอยอังคารบนยอดเขาที่สูงที่สุดของทั้ง 9 มิติ

แต่ เครโทส ก็ตัดสินลูกชายตัวเองว่ายังไม่พร้อมที่จะเดินทาง ด้วยเหตุผลหลักนั่นคือ อเทรอัส ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ในเวลาที่เขาโกรธหรืออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์และตั้งสมาธิได้เลย จริงอยู่ว่าความสามารถและทักษะฝีมือเป็นส่วนสำคัญ แต่สิ่งที่ เครโทส ให้ความสำคัญยิ่งกว่านั่นคือวินัยในการควบคุมอารมณ์ 

หากใครที่เป็นแฟนเกม God of War และได้เล่นเกมนี้มาตั้งแต่ยุคก่อน เราจะรู้สึกได้เลยว่า เครโทส ได้เปลี่ยนไปเป็นอีกคนอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะสิ่งที่เขากำลังพร่ำเพียรอบรมสั่งสอนลูกชาย มันเป็นสิ่งที่เขาไม่มีเลยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกอย่างที่เขาทำเป็นไปตามอารมณ์และความโกรธเกรี้ยว ขอแค่ได้ชำระแค้นจะต้องแลกอะไรเขาก็ไม่สน ด้วยการขาดความยั้งคิดทำให้เขาต้องขายวิญญาณและสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต ถ้านั่นยังไม่พอ การไล่ล่าทุกสิ่งด้วยแรงโทสะอย่างไม่ยั้งคิดก็ได้เกิดผลกระทบมากมายกับชีวิตนับร้อยพัน   

ซึ่งก็ดูเป็นความย้อนแย้งที่น่าหลงใหล บุคคลที่มีโทสะรุนแรงที่สุดกลับกลายเป็นคนที่เข้มงวดในการควบคุมอารมณ์ “ความโกรธเป็นอาวุธได้ หากเจ้าสามารถควบคุมมัน” ประโยคนี้ของ เครโทส เป็นการบอกว่าเขาไม่ได้ห้ามโกรธ คนเราทุกคนมีอารมณ์ขึ้นกันได้เป็นปกติ แต่สิ่งที่จะทำให้เราชนะตัวเองและคนอื่น ๆ คือการควบคุมความโกรธแทนที่จะให้มันจูงเราจนขาดสติ 

และเห็นได้ชัดเลยว่าลูกชายตัวน้อยของ เครโทส ยังไม่พร้อม เมื่อ อเทรอัส ต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริง ที่เทพแอสการ์ดตนอื่น ๆ โผล่มาท้าสู้ วิถีทางของเหล่านักสู้คนเถื่อนที่ใช้การยุแหย่ถากถางทำให้ อเทรอัส คุมตัวเองไม่อยู่ทันที ทั้งการด่าทอและการต่อสู้อย่างบ้าบิ่น ทำให้พลังความเป็นเทพในตัวของ อเทรอัส ปะทุขึ้นมา แต่ในเมื่อเขายังคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ธรรมดา พลังเทพที่เปล่งออกมาก็ได้ทำร้ายตัวเขาเองจนป่วยหนัก ซึ่งนับเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งจาก เครโทส ที่ปกปิดความจริงนี้ไว้ไม่ให้ลูกชายรู้ว่าแท้จริงแล้วเขาคือเทพเจ้า

หากไม่นับปัจจัยของความเป็นเทพ ทั้งความมีวินัยและการควบคุมตัวเองคือคุณสมบัติที่มีค่าอย่างมาก เพราะสิ่งที่ทำให้เราไขว้เขวได้มากที่สุดไม่มีอะไรทรงพลังมากกว่าอารมณ์ จิตใจที่ไม่มั่นคงก็สามารถทำให้ผู้ชำนาญยุทธ์ว่อกแว่กและเสียท่า การควบคุมอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความรู้หรือทักษะ เพราะหากสติและสมาธิถูกทำลายด้วยอารมณ์ ทักษะและความรู้ที่สูงส่งก็ไม่มีค่าอีกต่อไป

1 (6)

เมื่อลูกไม่ใช่ชีวิตที่สองของพ่อแม่

แต่ว่า เครโทส ไม่ได้ทำถูกไปเสียทุกอย่าง การปกปิดความจริงที่ว่า อเทรอัส คือเทพเจ้าก็ได้ย้อนกลับมาทำร้ายดวงใจของเขา เครโทส ต้องการให้ อเทรอัส ไม่ได้รับความทุกข์และความลำบากในการใช้ชีวิตแบบเทพเจ้า เขาจึงตั้งใจให้ลูกชายใช้ชีวิตแบบปุถุชนธรรมดา แต่เมื่อเนื้อในของเขาไม่ใช่คนธรรมดาก็ไม่ต่างกับการห้ามสัตว์นักล่าไม่ให้กินเนื้อ ยิ่งนานวัน อเทรอัส ก็ยิ่งป่วยไข้จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด สุดท้ายแล้ว เครโทส ก็ต้องบอกความจริงเพื่อให้ร่างกายของ อเทรอัส ยอมรับธาตุแท้ตัวเอง

ความกลัวและความคาดหวังของผู้ปกครองถือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ จนทำให้พ่อแม่หลายคนต้องทำการขีดเส้นจำกัดชีวิตของบุตรหลานเพื่อปกป้องพวกเขาจากอันตราย หรือเพื่อไคว่คว้าบางสิ่งที่พ่อแม่มองว่านั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด ในหลาย ๆ เรื่องก็นับเป็นสิ่งดีเพราะความไร้เดียงสาของเยาวชนยังไม่สามารถแยกแยะผิดชอบได้ทุกเรื่อง แต่ถ้าหากว่ามันมากเกินไป การจำกัดและตั้งความคาดหวังเพื่อให้ลูกเป็นอย่างที่เราต้องการ คือการสร้างความกดดันที่ยิ่งบั่นทอนความสุขในการใช้ชีวิตของเด็กทุกคน 

อย่างที่ เฟรย่า อดีตภรรยาของ โอดิน ได้เล่าให้ เครโทส ฟังระหว่างรักษาอาการป่วยของ อเทรอัส ว่า เฟรย่า ก็มีลูกชายเหมือนกัน แต่ด้วยความหวาดกลัวต่อคำทำนายที่เธอจะสูญเสียลูก เธอจึงกระทำการบางอย่างเพื่อปกป้องลูกอย่างสุดความสามารถ แต่วิธีที่เธอเลือกมันสวนทางกับความต้องการของลูกอย่างยิ่งจนทำให้ลูกรังเกียจแม่ของตัวเองตลอดกาล ที่เป็นอย่างนี้เพราะ เฟรย่า เอาความคิดและความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่เหนือกว่าความรู้สึกของลูกนั่นเอง

และเมื่อ อเทรอัส ระบายความรู้สึกในใจออกมาก็ทำให้ เครโทส ได้รู้ว่าเขาทำให้ลูกเข้าใจผิดมาตลอด อเทรอัส เข้าใจว่าการเข้มงวดที่เขาได้รับ เป็นเพราะ เครโทส ไม่พอใจในตัวเขา เขาไม่เก่งเหมือนพ่อเขาไม่มีความสามารถแบบพ่อ พ่อเลยไม่เคยพอใจในตัวเขาเลย นี่คือความเก็บกดที่อยู่ในใจ อเทรอัส มาตลอด เครโทส จึงต้องยอมบอกความจริงว่าแท้จริงแล้วตัวเขาเป็นเทพเจ้าจากแดนอื่น และตัว อเทรอัส ก็เป็นเทพเจ้าเช่นกัน ความเข้มงวดและการกวดขันที่ เครโทส มอบให้ก็เพื่อที่ อเทรอัส จะสามารถเอาตัวรอดได้แม้จะใช้ชีวิตแบบคนธรรมดานั่นเอง 

เครโทส รู้ดีว่าการเป็นเทพอาจนำมาซึ่งความยากลำบากและความเจ็บปวด ชีวิตที่มีพลังมากกว่าคนปกติย่อมมีความรับผิดชอบสูงกว่าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือเหตุผลที่ เครโทส พยายามปกป้องไม่ให้ อเทรอัส ต้องมาเดินในทางสายเดียวกัน แต่ เครโทส ก็ลืมฉุกคิดไปว่าลูกของเขาก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่เขาไม่ควรบังคับ เขาควรเชื่อมั่นในตัวลูกว่า อเทรอัส จะสามารถเติบโตไปเป็นเทพเจ้าที่ดีได้แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคใด ๆ ในอนาคต

การที่ผู้ปกครองเชื่อมั่นในตัวบุตรหลานถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ เติบโตไปพร้อมกับความมั่นใจในตัวเอง ในเมื่อพวกเขาไม่ใช่โอกาสที่สองของพ่อแม่แต่เป็นอีกชีวิตที่มีสิทธ์เลือก สำหรับชีวิตที่กำลังเจริญเติบโตคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าการถูกช่วงชิงสิทธ์นี้ไป เพียงเพราะผู้ปกครองคำนึงถึงความรู้สึกตัวเองมากกว่าความรู้สึกของลูก

5 (5)

บาปกรรมติดตัวชั่วชีวิต

เมื่อ อเทรอัส รู้ตัวแล้วว่าเขาคือเทพเจ้า ส่งผลให้เขาเกิดความทะนงตนอย่างน่าหวาดหวั่น เขาเริ่มแข็งกร้าวกับ เครโทส และเริ่มทำทุกอย่างตามอารมณ์บันเทิงของตัวเอง “เราเป็นเทพเจ้า.. เราจะทำอะไรก็ได้ที่เราต้องการ” นี่คือประโยคที่หลุดออกจากปาก อเทรอัส โดยที่ เครโทส ก็นึกไม่ถึง แม้แต่คนใกล้ตัวที่เป็นมิตรกับพวกเขาก็ถูกทำร้ายด้วยคำพูดที่ขาดการยั้งคิด อเทรอัส เริ่มหลงทิศทางและเสียความเป็นตัวตนให้กับกิเลสของพลังอำนาจ

จนถึงจุดหนึ่งที่ อเทรอัส ถึงกับทำให้การเดินทางไปยังจุดหมายต้องพังทลาย และทั้งคู่ก็หลุดเข้าไปในมิตินรก เครโทส ไม่ยอมให้ลูกชายถลำลึกไปมากกว่านี้อีกแล้ว เขาคว้าตัว อเทรอัส และเรียกสติของลูกคืนกลับมา แต่ยังไม่ทันที่ เครโทส จะได้ดุด่าหรือลงโทษ ภาพบาปกรรมที่ อเทรอัส เป็นคนก่อก็ได้ปรากฏขึ้นมาหลอกหลอนเขาจน อเทรอัส ไม่เชื่อสายตาว่าเขาจะกลายไปเป็นคนแบบนั้นได้ แต่ถึงเขาจะสำนึกตัวได้แล้ว การกระทำของเขาก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่มีทางย้อนกลับ กลายเป็นความรับผิดชอบที่เขาจะต้องแบกรับมันไปชั่วชีวิต โดยที่ เครโทส เองก็ทำได้แค่แบ่งเบาเท่านั้น

เรียกว่าเป็นช่วงชีวิตหนึ่งที่บางคนเคยผ่านมาแล้ว การเติบโตขึ้นพร้อมกับการมีร่างกายที่เติบใหญ่และมันสมองที่ฉับไวมากขึ้น บางครั้งเราก็เคยเผลอรังแกคนตัวเล็กกว่าหรือเหยียดหยามน้ำใจของใครบางคนด้วยคำพูดที่เสียดแทง ด้วยเหตุแค่ว่าเพราะเรา’ทำได้’ และแม้ว่าเราจะสำนึกตัวได้ การกระทำของเราก็เป็นเหมือนการตอกตะปูใส่แผ่นไม้ แม้จะเอาตะปูออกไปแล้ว รูและรอยแตกบนแผ่นไม้ก็จะอยู่อย่างนั้นตลอดไป เช่นเดียวกับความรู้สึกของผู้อื่นที่ถูกทำร้าย กลายเป็นบาปกรรมในใจที่ผ่านไปกี่ปีคุณก็จะยังจดจำมันได้

แม้จะเป็นสิ่งที่เลวร้ายแต่ก็นับว่าเป็นหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อใดที่คนมีอำนาจเมื่อนั้นเราจะได้เห็นธาตุแท้ของคน ในฐานะผู้ปกครองการอบรมสั่งสอนเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในใจไม่ให้เขาปฎิบัติตัวแบบนั้นกับผู้อื่น และหากพวกเขาได้กระทำสิ่งเลวร้ายไปแล้ว การให้บทเรียนย้ำเตือนจิตใจเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกก็คือหน้าที่ของพ่อแม่

อเทรอัส ได้เรียนรู้ถึงผลของการกระทำจากความหลงในอำนาจ แม้ว่าบางอย่างจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก แต่เขาก็ได้จดจำมันไว้และเติบโตไปเป็นคนที่ดีกว่า ซึ่งมันคงจะดีกว่านี้ถ้าหากเขาไม่ได้ทำมันตั้งแต่แรก หากเขารู้จักยับยั้งชั่งใจได้ สิ่งเลวร้ายที่จะตามมาหลังจากนี้ก็คงจะไม่เกิด 

6 (4)

รับผิด, ชอบ

เดือนและปีผ่านไปหลังการผจญภัยเพื่อเอาอัฐิของ เฟย์ ไปลอยอังคาร มิดการ์ดถูกปกคลุมด้วยฤดูหนาวฟิมเบิล อเทรอัส ที่ได้รับรู้นามอีกอย่างของตน นั่นคือ ‘โลกิ’ ทำให้เขาต้องการที่จะตามหาคำตอบว่าตัวเขามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์ Ragnarok ที่ถูกทำนายว่าจะเกิดขึ้น การออกตามหา เทียร์ เทพเจ้าสงครามแห่งดินแดนนอร์ส ทำให้ โอดิน ไม่พอใจ กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เครโทส และ อเทรอัส ต้องออกเดินทางกันอีกครั้ง ทั้งการตามหา เทียร์ และความพยายามต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายของ อเทรอัส ได้ก่อให้เกิดผลที่ตามมามากมายทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ อเทรอัส ได้พบกับเพื่อนใหม่และมิตรภาพมากมาย รวมถึงตัว เครโทส เองก็ได้สานไมตรีที่เคยขาดสะบั้น

สิ่งเหล่านี้สื่อถึงคำที่เราถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่วัยเยาว์นั่นคือ ‘ความรับผิดชอบ’ ความหมายของคำนี้คือการทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดไม่ขาดตกบกพร่อง และยอมรับผลจากกระทำของเราอย่างเต็มใจ ซึ่งในประโยคท้ายนี่เองที่นับว่าทำได้ยากยิ่งกว่าการทำหน้าที่ของเรา สิ่งที่ อเทรอัส ต้องการคือคำตอบของชีวิต การดั้นด้นตามหาคำตอบนั้นได้สร้างผลกระทบมากมายที่ไม่ได้มีผลแค่กับเขาคนเดียว มีทั้งเรื่องทุกข์และสุขผสมปนเปกันไปตลอดการเดินทาง แต่สิ่งที่ เครโทส ไม่ยอมปล่อยให้ อเทรอัส ละเลยมันได้เลยนั่นคือการสะสางและยอมรับผลกระทบจากการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเขาจะไม่ยอมปล่อยให้ลูกชายเมินเฉยต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพราะนั่นคือความรับผิดชอบ

คำว่ารับผิดชอบมีความหมายที่ตรงตัวมาก นั่นคือเราต้องรับทั้งผิดรับทั้งชอบ เราจะรับอะไรอย่างเดียวไม่ได้ หากเราได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว แต่เราจะไม่รับข้อเสียที่มาพร้อมกันด้วยเลย นั่นคือความมักง่ายและไร้ความผิดชอบอย่างยิ่ง อย่างเช่นการเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์บางชนิดเพราะมันน่ารัก แต่ก็ปล่อยปะละเลยเพราะความขี้เกียจที่จะดูแล นับเป็นการกระทำมักง่ายและเลวร้ายอย่างมาก 

ซึ่งทั้ง เครโทส และ อเทรอัส ก็ได้พบกับเทพเจ้าบางตนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น การกระทำแต่ละอย่างของพวกเขาล้วนก่อให้เกิดแต่ปัญหาและความขัดแย้ง แต่ อเทรอัส จะไม่เป็นแบบนั้น เขาจะรับทั้งผิดรับทั้งชอบต่อสิ่งที่เขาทำ เพราะอย่างนี้เขาถึงได้กลายเป็น’คนที่ดีกว่า’

3 (8)

ความรักจะอยู่อย่างไรหากไร้ความเข้าใจ

ความพยายามในการเปลี่ยนชะตาและการหาคำตอบทำให้ทั้ง เครโทส และ อเทรอัส เริ่มมีความเห็นไม่ตรงกัน เรื่องบางอย่างที่ อเทรอัส ได้รับรู้ เขาจะต้องเก็บมันไว้เป็นความลับเพื่อปกป้องพ่อของเขาและคนอื่น ๆ ตัว เครโทส เองก็พยายามอย่างยิ่งในการปกป้องลูกชายจากอันตรายทุกอย่าง ทั้งที่พวกเขาต่างก็ห่วงใยกันมาก แต่ต่างคนก็ต่างไม่ลงรอยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เครโทส ทั้งโกรธและหมดความเชื่อใจในตัวลูก อเทรอัส ก็ทั้งอึดอัดและมองว่าพ่อกลายเป็นตัวถ่วงชีวิต จนทำให้ อเทรอัส หนีไปจาก เครโทส เพื่อทำตามเป้าหมายของตัวเอง

นับเป็นอีกจุดที่ God of War นำเสนอปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นได้บ่อยมาก ความรักที่ขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน หากไม่ได้รับการแก้ไขก็มีแต่จะแตกสลายในที่สุด การอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีการสื่อสารและเปิดใจเข้าหากัน แม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง ก็ยังมีประโยชน์มากกว่าการเก็บงำความรู้สึกเอาไว้จนสังสมไปเป็นชนวนที่รอวันปะทุ ดังนั้นความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าความรักเสียอีก เพราะยิ่งเราเข้าใจกันมากขึ้นความรักก็จะยิ่งมากขึ้นเช่นกัน

เมื่อ เครโทส และ อเทรอัส กลับมาเจอกันอีกครั้ง ทั้งคู่ก็ต่างเปิดใจถึงสิ่งที่พวกเขาเคยปฎิบัติต่อกัน นั่นทำให้พวกเขากลับมาเข้าอกเข้าใจกันอีกครั้ง เครโทส เริ่มเคารพการตัดสินใจของ อเทรอัส ทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นในการเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือแม้แต่บางเรื่องที่ เครโทส เคยสั่งสอน อเทรอัส เอาไว้ เขาก็ยอมรับว่ามันไม่ถูกต้องและเปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ จนในที่สุดเขาก็ได้กลายเป็นเทพที่ดีกว่าเดิมอย่างที่ตั้งใจไว้ ทั้งหมดนี้เกิดจากความรักของพ่อลูกที่มาจากความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

ส่งท้าย

ไม่น่าเชื่อเลยว่าจาก เครโทส นักฆ่าเทพเจ้าผู้เป็นดั่งเครื่องจักรสังหารไร้ความเมตตา จะกลายมาเป็นคุณพ่อผู้เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและความอดทน จากวิดีโอเกมที่เต็มไปด้วยความดุเดือดสะใจ กลับกลายมาเป็นเกมที่เต็มไปด้วยคติสอนใจดั่งนิทานก่อนนอน หากว่านี่คือความตั้งใจจากทีมสร้างที่พยายามให้แง่คิดเพื่อผลักดันสังคม ก็ต้องบอกเลยว่าพวกเขาทำมันได้อย่างยอดเยี่ยมจริง ๆ

SHARE

Nuttawut Apiratwarakul

โน้ต - Co-Founder / Editor-in-chief

Related posts

Read More
Back to top