แม้ไม่ใช่เกมฟอร์มยักษ์ระดับ AAA แต่ KENA: Bridge of Spirits กลับเป็นเกมที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ ของปีนี้ แม้จะถูกเลื่อนวันวางจำหน่ายออกไปหลายรอบ แต่วันนี้เราจะพาแฟนเกมทุกท่านมารู้จักเกมนี้กันว่า มันมีที่มาที่ไปยังไง และผู้อยู่เบื้องหลังเกมนี้คือทีมสร้างใดกันบ้าง
KENA: Bridge of Spirit กับผู้สร้าง 14 คน
ผู้อยู่เบื้องหลังเกม KENA: Bridge of Spirit คือสตูดิโอ Ember Lab ที่เป็นสตูดิโออิสระ โดยมีบุคลากร 14 คน อยู่ที่ Los Angeles ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2009 โดยพี่น้อง Mike และ Josh Grier และสำหรับใครที่ได้เห็นตัวอย่างเกม KENA: Bridge of Spirit แล้ว รู้สึกว่ามันดูงดงามราวกับอนิเมชั่นมูฟวี่สักเรื่อง ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะ Ember Lab แจ้งเกิดมาจากการทำงานเกี่ยวกับโฆษณาอนิเมชั่นและเกมมาก่อน โดยใยปี 2016 พวกเขาเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์สั้นไวรัล ของเกม The Legend of Zelda: Majora’s Mask ในชื่อ Terrible Fate ที่มียอดผู้ชมกว่า 10 ล้านวิวบน Youtube
จนในที่สุดพวกเขาก็คิดว่าการสร้างวิดีโอเกม เป็นการพัฒนาขั้นต่อไปของสตูดิโอ Mike Grier จึงใช้ประสบการณ์เขียนโปรแกรมของเขา สร้างต้นแบบเกมกับทีมเล็ก ๆ เป็นเวลาหลายปี และเริ่มจ้างบุคลากรมาเพิ่มมากขึ้น และได้ทำสัญญาร่วมกับ Sony Interactive และได้เปลี่ยนเอนจิ้นที่ใช้ทำเกมมาเป็น Unreal Engine 4 แทน รวมไปถึงได้ชุดเครื่องมือเพื่อทำเกมลงให้กับ PlayStation 5 ด้วย
ตัวเกมเปิดตัวครั้งแรกในงาน PlayStation: Future of Gaming เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2020 แต่ถึงแม้ว่ามันจะเปิดตัวในงานของ PlayStation แต่ตัวเกมก็จะลงให้กับ PC ด้วย ผ่านร้านค้าของ Epic Games Store แรกเริ่มเดิมที เกมมีแผนจะวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2020 แต่ก็ประสบปัญหาการพัฒนาล่าช้า ขอเลื่อนวางจำหน่ายมาเป็นไตรมาสแรกของปี 2021 แต่ก็ยังเลื่อนออกมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ที่กำหนดวางจำหน่ายล่าสุดคือเดือนกันยายนนี้ ก็ได้แต่หวังว่าตัวเกมจะไม่เลื่อนอีกรอบ
เรื่องราวเกี่ยวกับโลกของเกม
KENA: Bridge of Spirit มีเรื่องราวที่ตั้งอยู่ในโลกสมมติ หมู่บ้านแห่งหนึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในโลกของเกม มันถูกทิ้งร้างในตอนเริ่มเกมเพราะได้รับผลกระทบจากโศกนาฎกรรมเมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยหน้าที่ของผู้เล่นคือฟื้นฟูสภาพหมู่บ้านนี้ให้ดีขึ้น ตามตำนานของโลกในเกมนี้ คนตายจะติดอยู่ระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกวิญญาณหากยังมีห่วงอยู่ เราจะเป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อที่จะพยายามเข้าใจปัญหาของเหล่าวิญญาณและก้าวต่อไปเพื่อให้หมดห่วง หมู่บ้านจะทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับ HUB ของตัวเกม ที่ผู้เล่นจะสามารถย้อนกลับมาได้ตลอด และจะเป็นสถานที่ศูนย์กลางเชื่อมพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของตัวเกมเข้าไว้ด้วยกัน และทุกครั้งที่หมู่บ้านได้รับการฟื้นฟู เราก็จะสังเกตเห็นได้โดยตรงจากสภาพรวมของหมู่บ้าน
นอกจากนั้น หากคุณดูวิดีโอตัวอย่าง Terrible Fate ของ Majora’s Mask ด้านบนแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ส่วน นั่นเป็นเพราะว่าเกมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากแฟรนไชส์เกมยอดนิยมชื่อดังเกมอื่น ๆ มากมาย ตั้งแต่ Pikmin ไปจนถึง God of War และ Legend of Zelda คือแรงบันดาลใจสูงสุด เพราะเป็นสิ่งที่แจ้งเกิดพวกเขา สตูดิโอ Ember Lab ขึ้นมา
ระบบการต่อสู้และเกมเพลย์การเล่น
ตัวเกมจะเป็นเกม Action-Adventure ในมุมมองบุคคลที่ 3 ในเกมนี้ อาวุธหลักที่ผู้เล่นจะได้ใช้คือไม้พลองที่สามารถพลิกแพลงได้ให้เป็นทั้งอาวุธระยะประชิดและอาวุธระยะไกล มีรูปแบบการโจมตีทั้งแบบเบา แบบหนัก และชาร์จโจมตี รวมไปถึงมีความสามารถในการเปลี่ยนร่างไปเป็นธนูได้ด้วย นอกจากนั้นผู้เล่นยังมีผู้ช่วยเป็นเจ้าสิ่งมีชีวิตสุดน่ารักอย่าง Rot ที่เราเห็นได้จากใน Trailer กันอยู่แล้ว โดยเจ้า Rot นี้จะมีหน้าที่ทั้งคอยช่วยเหลือการต่อสู้ และคอยช่วยเหลือการแก้ไขปริศนาหรือ Puzzle ต่าง ๆ ภายในฉาก และสำหรับผู้เล่นที่ไม่อยากให้เจ้า Rot เป็นเพียงผู้ติดตามแสนน่ารักธรรมดา ๆ ก็สามารถปรับแต่งรูปลักษณ์ภายนอกได้ เช่นใส่หน้ากาก หรือหมวกเกาะหัวต่าง ๆ
ในตัวอย่างเกมเพลย์ที่มีการปล่อยออกมา จะเห็นได้ว่าตัวเกมไม่ใ่ชเกมแบบ Open World ส่วนมากจะเป็นการเดินทางไปในเส้นตรง ในช่วงของการต่อสู้ Boss Fight นั้น จะให้อารมณ์แบบเกม Action RPG ทั่วไป คือเน้นหลบหลีกให้ถูกจังหวะ หาโอกาสโจมตีสวนกลับจนได้รับชัยชนะ มีการกระโดด กลิ้งตัวหลบ รวมไปถึงการ Parry สวนกลับให้ถูกจังหวะ ในส่วนของการแก้ไขปริศนาและพัซเซิลก็จะเน้นให้เจ้า Rot ออกมาทำงาน เช่นขนย้ายวัตถุสิ่งของ หรือสั่งให้พวกมันรวมตัวเป็นร่างขนาดใหญ่เพื่อทำลายสิ่งกีดขวางได้อีกต่างหาก
แม้จะไม่ใช่เกม RPG แตตัวเกมก็มีระบบความคืบหน้าของตัวละคร เช่นเจ้า Rot ทั้งหลาย ที่ยิ่งคุณร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกมันได้มากเท่าไร มันก็จะเก่งขึ้นเท่านั้น และยังสามารถอัปเกรดทักษะความสามารถแบบอื่น ๆ ได้ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องฟาร์มอย่างหนักเพื่ออัปเกรดเท่านั้น ในส่วนของความยาวของตัวเกม ทางผู้พัฒนายังไม่ได้ระบุออกมาชัดเจนว่าตัวเกมจะมีความยาวประมาณกี่ชั่วโมง แต่พวกเขากล่าวว่า ผู้เล่นจะสามารถจบเกมได้อย่างสบาย ๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ หรือหยุดเสาร์-อาทิตย์ นั่นคือเกมอาจจะมีความยาวไม่มากนักหรืออาจจะอยู่ที่ประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป
ราคาที่ต่างกันของ PC / PlayStation
KENA: Bridge of Spirits นั้น วางจำหน่ายให้กับทั้งเครื่อง PC / PlayStation แต่ราคาจะมีความต่างกันอยู่ สำหรับบน PC นั้นจะวางจำหน่ายบน Epic Games Store ตัวเกมแบบ Standard Edition จะอยู่ที่ 552 บาท ส่วน Digital Deluxe Edition จะอยู่ที่ 706 บาท ด้าน PlayStation แบบ Standard จะอยู่ที่ 1,290 บาท และ Digital Deluxe จะอยู่ที่ 1,590 บาท ส่วนของ Digital Deluxe Edition ของแถมที่ได้จะเป็นสกินตกแต่งสวยงามมากกว่า ส่วนบนเครื่อง PlayStation จะสามารถอัปเกรดเวอร์ชั่นตัวเกมได้แบบฟรี ๆ อีกด้วย ใครที่สะดวกซื้อบนเครื่องไหนก็จัดกันได้ตามสะดวก แต่ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดต่างก็มีจุดเด่นของตัวเอง โดยเฉพาะบน Console PS5 ที่สามารถทำงานร่วมกับฟีเจอร์พิเศษบนจอย DualSense ได้ แม้บน PC จะมีราคาที่ถูกกว่า แต่ก็ใช้สเปคคอมพิวเตอร์ในระดับนึงเช่นกัน
สิ่งที่ต้องลดความคาดหวังลง คือเกมนี้ไม่ใช่เกมฟอร์มยักษ์ระดับ AAA ถ้าให้เทียบจะเป็นเกมประมาณ A – AA เท่านั้น ฟีเจอร์หลายอย่าง และระบบหลายอย่างอาจผิดคาดไปจากที่เราคิด ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรอตัวเกมวางจำหน่ายและเปิดตัวกันอีกครั้งว่าจะสมกับการรอคอยหรือไม่
KENA: Bridge of Spirits จะวางจำหน่าย 21 กันยายนนี้บน PC, PS4, PS5