BY SEPTH
30 Dec 17 4:54 pm

Microtransactions มหันตภัยร้าย หรือทางรอดใหม่ของคนทำเกม?

23 Views

ใต้ความ microtransactions อาจมีบางอย่างซ่อนอยู่

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ควรใช้ความอดทนอดกลั้นในการอ่าน

ในยุคที่ content ล้นตลาดแบบนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามูลค่าของเกมลดลงไปอย่างต่อเนื่อง เกมนี้มีราคาไม่ต่ำกว่า 1,500 บาทไทย ตกลงไปเหลือไม่ถึง 500 บาทในเวลาไม่กี่เดือน ยังไม่รวมถึงเวลาในการ ‘เสพ’ เกมแต่ละเกมที่ซื้อมา รวมไปถึงสื่อบันเทิงอีกมากมายที่ออกมา เกมออกใหม่จึงไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะสร้างความตื่นเต้นอีกต่อไป  แม้ว่าเกมนั้นจะเป็นเกมระดับท็อปฟอร์มชื่อดังก็ตาม ยังไม่นับเหล่า Streamer ที่นำเกมมาสตรีมมิ่งเล่นให้คนดูจนแทบจะไม่ต้องเล่นด้วยตัวเอง และทันทีที่ยอดขายไม่เปรี้ยงปร้างดั่งหวัง กลยุทธ์ที่ง่ายที่สุดที่จะดึงความสนใจกลับมาที่ตัวเกม จึงหนีไม่พ้นการลดราคาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แม้การลดราคาจะกระตุ้นยอดซื้อได้ง่ายทีสุด แน่นอนว่าหลังจากที่หักส่วนแบ่งออกจากตัวแทนจำหน่ายต่างๆ นาๆ เม็ดเงินที่เข้ากระเป๋าทีมพัฒนาก็น้อยนิดไม่สมกับที่ลงทุนลงแรงไปอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะหลากหลายสรรพสิ่งที่ขับเคลื่อนในโลกอินเทอร์เน็ตต่างพร้อม ‘ช่วงชิง’ เวลาอันม่ีค่าของเราไปอยู่เสมอ

Lootbox ร้ายกับการหยั่งเชิงครั้งใหม่ของผู้จัดจำหน่าย

ไม่นานมานี้ ระบบ microtransactions ได้กลายเป็นประเด็นเด่นดัง อันเนื่องมาจากกรณีของ EA ที่มาจากการปรับใช้ระบบเข้ามาในเกมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น FIFA 18, Need For Speed: Payback และ Star Wars Battlefront 2 โดยเฉพาะรายหลังที่มีกระแสโต้กลับจากเกมเมอร์ที่เรื่องราวบานปลายจนนำไปสู้การปิดระบบชั่วคราวในที่สุด นอกจากนี้ ในส่วนของเกมอื่นๆ ก็เริ่มมีการปรับใช้ระบบ microtransactions ในเกมเล่นเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น  Shadow of War หรือ Deus Ex: Mankind Divided แม้กระแสและข้อถกเถียงจะไม่แรงเท่าในช่วงเวลานี้ก็ตาม

หรือจริงๆ แล้วเราจ่ายไม่มากพอ ?

ในขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มแย้งในเรื่องกระแสการโจมตี microtransactions หนึ่งในนั้น คือนักวิเคราะห์จาก Wallstreet ที่ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วในปัจจุบันเราจ่ายเงินน้อยไปสำหรับเกมเกมหนึ่ง เมื่อเทียบกับ TV และการดูหนัง พร้อมทั้งเสนอให้ผู้พัฒนาขึ้นราคาเกมเป็นการชดเชย หากต้องการจะเลี่ยงระบบดังกล่าว โดยเจ้าตัวที่อยู่ในฐานะนักเล่นเกมตัวยงก็ยินดีที่จะจ่าย ถึงกระนั้นนี่ก็เป็นความเห็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าทางออกของปัญหานี้จะจบลงทิศทางไหน การมีส่วนร่วมจากผู้เล่นทั่วโลกก็ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

“Loot Box และ Microtransactions คือทางออกเดียวที่ค่ายเกมยังคงรักษาราคาขายเกมอยู่ที่ 50$ ได้แทนที่จะเป็น 90$ เพราะต้นทุนของเกมฟอร์มยักษ์มันอยู่ในระดับที่เกินกว่าจะรับมือไหว”

– Luke Plunkett นักเขียนจากเว็บไซต์ Kotaku

เพราะการจะพัฒนาเกมสักเกมนั้น มีขั้นตอนและกระบวนการที่มากมายไม่ต่างจากสื่อแขนงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หรือดนตรี และอาจมีความซับซ้อนมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รวมด้านการเขียนและการประพันธ์เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าเกมๆ นั้นจะมาจากค่ายใหญ่ หรือเป็นเพียงกลุ่มคนทำเล็กๆ แต่ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยทุนในการดำรงชีพแบบนี้ ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการทำงานหนักควรได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

Loot Box

ต้นทุนเพิ่มขึ้นในขณะที่ราคาขายยังคงเดิม = กำไรที่หดตัว

EA ทำรายได้จาก Microtransaction ในเกม FIFA ปีละ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐสูงเป็นสองเท่าของยอดขายเกม

ในขณะที่ต้นทุนของการประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายและการถูกจดจำในฐานะเกมที่ดีล้วนแล้วแต่เพิ่มมากยิ่งขึ้น จากที่เราได้เห็นคุณภาพและความละเมียดละไมของเกมที่พุ่งสูงขึ้น ยังไม่รวมไปถึงการเข้าซื้อสื่อต่างๆ ที่เป็นการขยายฐานแฟนเกมให้มากกว่าแต่ก่อน นั่นหมายความว่าต้นทุนต่างๆ พุ่งสูงขึ้นมากในขณะที่เรายังคงซื้อเกมในราคาเดียวกันกับเมื่อหลายปีก่อน (หรือถูกกว่าเสียด้วยซ้ำ) นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สนับสนุนว่าที่จริงแล้วเราอาจต้องยอมจ่ายให้มากขึ้นเพื่อให้ระบบ ecosystem ของเรายังคงเดิม

ทางรอดของวงการเกมอาจไม่ใช่แค่ค่ายเกมที่ปรับตัว

ในเมื่อต้นทุนต่างๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาขายเกมยังคงเดิม ผู้จัดจำหน่ายเกมได้ปรับตัวด้วยระบบ Microtransaction เพื่อเพิ่มกำไร  บางทีอาจไม่ใช่แค่ค่ายเกมที่ต้องปรับตัว แต่มันหมายถึงเกมเมอร์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าหลังจากที่เรื่องนี้เป็นประเด็น ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมย่อมจำเป็นต้องหามาตรฐาน เพิ่มการควบคุม หรือแม้แต่รื้อแผนการตลาดที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้ใหม่ให้ละเอียดถี่ถ้วน และบางทีก็อาจถึงเวลาเรา ในฐานะผู้เล่นเอง ก็อาจต้องมานั่งทบทวนกันใหม่เช่นกัน ถึงความสมเหตุสมผลในเม็ดเงินที่จ่ายไป แต่กึ่งกลางที่ยอมรับได้ของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะท้ายที่สุดผู้ที่จะช่วยผลักดันให้วงการไปต่อได้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเกมเมอร์อย่างเราๆ นั่นเองเป็นความจริงที่หลีกไม่ได้

SHARE

Kittipong Songkasri

เป้ง - Content Writer

Back to top