BY DoctorYok
31 Jan 19 2:53 pm

ติดตามสถานการณ์อาวุธชีวภาพรอบโลก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

21 Views

ช่วงนี้กระแสเกม Resident Evil 2 กำลังมาแรง และผู้เขียนก็ชื่นชอบเกมเวอร์ชั่นปรับปรุงใหม่นี้มาก ๆ ผู้เขียนเลยขอใช้โอกาสนี้นำเสนอการพัฒนาและการใช้อาวุธชีวภาพผ่านมุมมองของโลกความเป็นจริง เพื่อเปิดโลกทัศน์และมอบความรู้รอบตัวให้ผู้อ่านนะครับ

จริง ๆ แล้ว การวิจัยและขายอาวุธชีวภาพในตลาดมืดไม่ใช่เรื่องแต่งขึ้นมาอย่างในเกม Resident Evil หรือ Tom Clancy’s The Division แต่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งทั่วโลก จนองค์การสหประชาชาติต้องร่าง “อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ” หรือ Biological Weapons Convention (BWC) ขึ้นมา เพื่อสกัดกั้นและควบคุมการพัฒนาอาวุธชีวภาพ โดยมีผู้ลงนามกว่า 180 รัฐ

อย่างไรก็ตาม การบ่อนทำลายศัตรูด้วยเชื้อโรคไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ กลยุทธ์นี้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ 1,500 ปี ก่อนคริสตกาล อ้างอิงจากบันทึกลายลักษณ์อักษรที่ระบุถึงการทำสงครามด้วยอาวุธชีวภาพยุคต้น ๆ ของโลกโดยชนเผ่าฮิตไทต์ ชนเผ่านี้ผลักดันผู้ป่วยโรคไข้กระต่ายเข้าสู่พื้นที่ที่ศัตรูอาศัยอยู่ เพื่อระบาดโรคใส่เผ่าคู่อริ

กลับมาที่ยุคปัจจุบันกันบ้าง ขณะนี้มีประเทศจำนวน 10 ประเทศ ที่ถูกเฝ้าระวังในเรื่องอาวุธชีวภาพโดยเฉพาะ เรามาดูกันว่าประเทศเหล่านี้ทำอะไรกันไปบ้าง

จีน

ประเทศจีนเคยให้คำสัตย์ไว้ว่ารัฐบาลยินดีทำตามข้อบังคับภาพใต้อนุสัญญา BWC ทุกกระเบียด และไม่เคยมีโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพมาก่อน

แต่หน่วยข่าวกรองของประเทศสหรัฐฯ แฉว่าองค์กรในประเทศจีนผุดโครงการวิจัยอาวุธลักษณะนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนหน้าประเทศจีนลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว รายงานขององค์การสหประชาชาติในปี 2010 ระบุว่าความเคลื่อนไหวของสถานการณ์อาวุธชีวภาพในประเทศจีนถูกพบเจอน้อยมาก แต่ก็เป็นที่น่าสงสัย เพราะโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและดัดแปลงเป็นอาวุธ

อย่างไรก็ตาม จากรายงานของปี 2017 หน่วยงานผู้รับผิดชอบภายใต้องค์การสหประชาชาติก็พบว่าสถานะของประเทศจีนต่อกรณีนี้ยังคลุมเครืออยู่

คิวบา

ประเทศคิวบาปฏิเสธการมีอยู่ของโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพตั้งแต่ก่อนลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ แต่ในปี 2003 องค์การสหประชาชาติก็พบว่าประเทศคิวบามีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับสงครามดำเนินการอยู่ภายในประเทศ แต่โครงการเหล่านี้ก็มีจำนวนอยู่เพียงเล็กน้อย และรายงานของปี 2017 ระบุว่าประเทศคิวบายังไม่ละเมิดมาตรการใดใดของอนุสัญญา BWC

แต่ก็อยากชี้แจงผู้อ่านเพิ่มเติมว่าประเทศคิวบามีเทคโนโลยีชีวภาพที่ก้าวหน้าเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ถึงแม้ว่าสภาพสังคมภายในประเทศดูขัดแย้งกันก็ตาม

อียิปต์

ประเทศอียิปต์มีหลักฐานที่คลุมเครือเกี่ยวกับการใช้งานอาวุธชีวภาพโดยประธานาธิบดี Saddat และรัฐมนตรีของเขา ในปี 1972 แต่รัฐบาลของประเทศอียิปต์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศอียิปต์ไม่เคยมีคลังอาวุธชีวภาพอย่างที่ถูกกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม ประเทศอียิปต์เคยตกเป็นผู้ต้องสงสัยในกรณีการกักตุนอาวุธชีวภาพอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลของประเทศอียิปต์เคยลังเลที่จะทำตามกฎข้อหนึ่งของอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ ซึ่งนั่นก็คือการไม่ถือครองอาวุธชีวภาพ

ในปี 2014 รายงานภายใต้องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศอียิปต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสนับสนุนงานวิจัยเทคโนโลีชีวภาพอย่างไม่หยุดหย่อนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับพันธุวิศวกรรม

ถึงแม้ว่ารัฐบาลของประเทศอียิปต์สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเงียบ ๆ แต่ประเทศอียิปต์ยังไม่ละเมิดข้อบังคับภายใต้อนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพอย่างรุนแรง ตามรายงานของปี 2017

อิหร่าน

ประเทศอิหร่านเคยประณามการพัฒนาอาวุธชีวภาพอย่างจริงจัง ขณะที่ถูกเชิญให้เป็นประเทศสมาชิกของอนุสัญญา แต่ประเทศอิหร่านก็ถูกหน่วยข่าวกรองของประเทศสหัฐฯ กล่าวหาอย่างหนักว่าประเทศอิหร่านได้พัฒนาพาหะของอาวุธชีวภาพจนสำเร็จ แต่ประเทศก็ยังไม่มีความสามารถที่จะพัฒนาพาหะให้มีจำนวนมากได้ และประเทศอิหร่านก็ไม่มีเทคโนโลยีที่จะแปลงเทคโนโลยีชีวภาพเหล่านั้นให้กลายเป็นอาวุธอย่างเต็มตัว

รายงานขององค์การสหประชาชาติ ในปี 2010 ระบุว่าประเทศอิหร่านยังดำเนินการการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพอย่างต่อเนื่อง แต่การทดลองภายในประเทศอิหร่านก็ยังไม่ส่งสัญญาณการละเมิดข้อบังคับของอนุสัญญาณ BWC

อิรัก

ประเทศอิรักยอมรับว่ามีการทดสอบและการกักตุนอาวุธชีวภาพเกิดขึ้นจริงในช่วงทศวรรษ 1990 และอาวุธชีวภาพภายในประเทศได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นในช่วงก่อนปี 2003 จนไม่มีการพัฒนาใดใดเกิดขึ้นนับจากนั้น

ลิเบีย

ระหว่างปี 1992 จนถึงปี 2003 ประเทศลิเบียถูกข้อกล่าวหาถาโถมอย่างหนักว่าประเทศลีเบียอนุมัติโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพหลายโครงการ หลังจากการถูกกดดัน รัฐบาลของประเทศลิเบียออกมาประกาศว่ารัฐบาลจะยุติโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพทั้งหมด

เกาหลีเหนือ

องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศเกาหลีเหนือได้พิจารณาโครงการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับใช้ในกองทัพ เมื่อปี 2010

ในปี 2012 ประเทศเกาหลีใต้รายงานว่าประเทศเกาหลีเหนือมีศักยภาพในการพัฒนาเชื้อโรคสำหรับอาวุธชีวภาพหลายตัว ได้แก่ เชื้อแอนแทรกซ์, ไวรัสวาริโอลาในไข้ทรพิษ, เชื้อแบคทีเรีย Francisella Tularensis ของโรคไข้กระต่าย และไวรัสไข้เลือดออก รวมถึงการใช้ศัตรูพืชเป็นพาหะ

รัสเซีย

เมื่อเดือนมกราคม ปี 1992 อดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin ของสหภาพโซเวียต ได้ยอมรับว่าประเทศของตนดำเนินโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพอย่างเข้มข้นและจริงจังตั้งแต่ช่วงปี 1970 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประเทศรัสเซียเป็นประเทศสมาชิกของอนุสัญญาห้ามอาวุธชีวภาพ รัฐบาลของประเทศรัสเซียยืนยันที่จะทำลายอาวุธชีวภาพให้หมดสิ้น

แต่ก่อนหน้านั้น สหภาพโซเวียตได้ทดลองและแปลงสภาพพาหะหลายชนิดให้กลายเป็นอาวุธ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย Francisella Tularensis ของโรคไข้กระต่าย, ปรสิตประจำโรคไข้รากสาดใหญ่, เชื้อแบคทีเรีย Coxiella Burnetii ในโรคไข้คิว, ไวรัสวาริโอลาของไข้ทรพิษ, เชื้อแบคทีเรีย Yersinia Pestis ในกาฬโรค, เชื้อแอนแทรกซ์ และไวรัสมาร์บูรก์ ซึ่งร้ายแรงกว่าไวรัสอีโบล่า

มากไปกว่านั้น สหภาพโซเวียตเคยวิจัยพาหะอื่น ๆ และสารพิษหลากหลายชนิดที่สามารถโจมตีสิ่งมีชีวิตทุกชนิดได้ ไม่เว้นแม้แต่พืช

ประเทศสหรัฐฯ แสดงความต่อกังวลต่อองค์การสหประชาชาติเรื่อยมา เนื่องจากองค์กรภายในประเทศรัสเซียสืบต่อโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย และมีความเป็นไปได้ที่ประเทศรัสเซียได้ละเมิดกฎที่ระบุไว้ในอนุสัญญา BWC หลายต่อหลายข้อ

รายงานขององค์การสหประชาชาติของปี 2010 ระบุว่าประเทศรัสเซียดำเนินการโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพอยู่เรื่อยไป แต่กิจการของประเทศรัสเซียยังไม่ละเมิดข้อบังคับของอนุสัญญาอย่างชัดเจนและรุนแรง

ซีเรีย

ในเดือนกรกฎาคม 2012 โฆษกประจำกระทรวงระหว่างประเทศของประเทศซีเรียชี้แจงว่าประเทศซีเรียครอบครองอาวุธชีวภาพสำหรับการสงครามจำนวนหนึ่งอยู่จริง แต่ไม่มีใครทราบถึงความสามารถของอาวุธชีวภาพนั้น

ในปี 2014 รัฐบาลประเทศซีเรียยอมรับว่าศูนย์วิจัยและผลิตอาวุธชีวภาพ รวมถึงคลังเก็บอาวุธ ยังคงดำเนินการอยู่ หลังจากนั้น ไม่มีใครทราบสถานะของศูนย์วิจัยและผลิตอาวุธชีวภาพดังกล่าวอย่างแน่ชัดตั้งแต่ปี 2017 จนถึงขณะนี้

สหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐฯ ประกาศยุติโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพทั้งหมดตั้งแต่ปี 1969 และทำลายผลงานวิจัยทั้งหมดระหว่างปี 1971 จนถึงปี 1973 ในขณะนี้ ประเทศสหรัฐฯ พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในฐานะมาตรการคุ้มกันประเทศเท่านั้น

แต่เมื่อปี 2010 หน่วยข่าวกรองของประเทศรัสเซียเปิดโปงประเทศสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลของประเทศได้อนุมัติโครงการวิจัยไวรัสวาริโอลาในไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นเชื้อโรคต้องห้ามตามที่องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ประกาศไว้

มากไปกว่านั้น ประเทศรัสเซียได้กล่าวหาประเทศสหรัฐฯ เพิ่มเติมว่าโครงการวิจัยอาวุธชีวภาพของประเทศสหรัฐฯ ขัดแย้งกับอนุสัญญาห้ามชีวภาพอยู่หลายส่วน ถึงแม้ว่ารัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อ้างว่าโครงการเหล่านี้ดำเนินการเพื่อป้องกันประเทศจากการก่อการร้ายทางชีวภาพก่อตาม

ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วแต่ละประเทศกำลังซุ่มทดลองอะไรอยู่บ้าง และอาวุธชีวภาพเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและความสามารถมากขนาดไหน มากไปกว่านั้น มาตรการเฝ้าระหว่างประเทศก็เบาบาง จนประเทศต่าง ๆ สามารถหลบเลี่ยงการถูกตีความด้วยกฎหมายระหว่างประเทศได้ง่าย ๆ พวกเราในฐานะประชากรทั่วไปก็ทำอะไรไม่ได้มากต่อกรณีแบบนี้ ซึ่งผู้เขียนก็หวังแต่ว่าแต่ละฝ่ายไม่ควรใช้อาวุธชีวภาพ รวมถึงความรุนแรงใดใด เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้

ผู้เขียนก็เกรงอยู่ตลอดว่าสักวันหนึ่งเราคงไม่ต้องมาวิ่งหนีตัวอะไรแบบนี้ในสงครามกลางเมือง แล้วมีองค์กรแปลก ๆ มาปกป้องเราจริง ๆ นะ

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก

“Chemical and Biological Weapons at a Glance,” Arms Control Association, last Modified June, 2018, accessed January 29, 2019, https://bit.ly/2RXvZos.

Siro Igino Trevisanato, “The ‘Hittite Plague’, an Epidemic of Tularemia and the First Record of Biological Warfare,” Medical Hypotheses 69, no. 6 (2007): 1371 – 1374, https://doi.org/10.1016/j.mehy.2007.03.012.

“The Biological Weapons Convention,” Biological Weapons, United Nations Office for Disarmament Affairs, accessed January 29, 2019, https://bit.ly/2cPPjfT.

Supavitch Ponak

หยก - Tech Writer

Back to top