อย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนั้นทางองค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศรับรองอาการติดเกมให้กลายเป็นโรคชนิดหนึ่งแล้วอย่างเป็นทางการ โดยถูกบัญญัติไว้ในบัญชีจำแนกโรคฉบับ ICD-11 ร่วมกับโรคใหม่อีกหลายชนิด และเพราะการถูกบัญญัติว่าเป็นโรคนี่เองทำให้เหล่าทีมนักวิจัยจากเยอรมันประกาศว่าโรคติดเกมดังกล่าวนั้นสามารถรักษาได้แล้ว
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาข่าว เรามาดูกันก่อนว่านิยามของโรคติดเกมที่ถูกบัญญัติไว้นั้นต้องมีอาการดังต่อไปนี้
- มีการควบคุมพฤติกรรมในการเล่นเกมที่บกพร่อง(พิจารณาจากการเริ่มเล่น ระยะเวลา ความถี่ บริบทและอื่น ๆ ประกอบกัน)
- มีแนวโน้มที่จะให้การเล่นเกมมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตเหนือกว่าสิ่งอื่น ๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีการเล่นเกมที่ยาวนานมากขึ้นจนส่งผลต่อสุขภาพและเกิดผลกระทบในด้านลบ เช่นทางด้านบุคลิกภาพ การใช้ชีวิตในสังคม การเรียน การงาน และอื่น ๆ
ซึ่งจากอาการที่กล่าวมาทำให้มีทีมวิจัยทีมหนึ่งได้ทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยแบบ CBT หรือ cognitive behaviour therapy ที่เน้นการบำบัดรักษาทางด้านพฤติกรรม แทนที่การใช้ยารักษา ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีกว่าเดิมถึง 70% ด้วยกัน จากการทดลองแบ่งกลุ่มรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีที่แตกต่างกันสองกลุ่ม ด้วยการใช้การบำบัดแบบกลุ่ม 15 สัปดาห์ และแบบตัวต่อตัวอีก 2 – 8 สัปดาห์ด้วยกัน
Kai W. Müller หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยได้กล่าวกับทาง VICE ว่า สิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำในการบำบัดนั้นไม่ใช่การตัดสินแบบอัตโนมัติว่าอาการติดเกมนั้นมาจากการชอบเล่นเกมเพียงอย่างเดียว
“มันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องจำให้ขึ้นใจอย่างมากว่ามีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการเสพติดการเล่นเกมจนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมเกิดขึ้น”
ซึ่งขั้นตอนในการรักษานั้นก็คือการจัดการความสัมพันธ์ในการใช้งานอินเตอร์เนตและการเล่นเกมให้ลดลงมาเรื่อย ๆ ไม่ใช่การหักดิบเลิกใช้หรือเลิกเล่นไปเลย
“เป้าหมายหลักของเราคือไม่ใช่การดึงตัวพวกเขาออกจากหน้าจอ แต่เป็นการคอยควบคุมพฤติกรรมของพวกเขามากกว่า”
ถ้ามองจากตัวเลขแล้วถือว่าวิธีการควบคุมและบำบัดพฤติกรรมดังกล่าวนั้นค่อนข้างได้ผลดี แต่ทาง VGC เห็นว่าต้องมีการจัดการและมีผลที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากกว่านี้ แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีและเชื่อว่าน่าจะมีผลการวิจัยเกี่ยวกับการบำบัดที่ดีกว่านี้ออกมาในอนาคตครับ