นักพัฒนาส่วนใหญ่กังวลว่าเกม Live Service ที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมืออาจไม่ยั่งยืน
Game Developer Collective ได้สัมภาษณ์และสอบถามนักพัฒนาเกมจำนวน 600 คนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงมีนาคมปีนี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับความยั่งยืนของเกม Live Service ในมุมมองของนักพัฒนา
หลังจากรวบรวมสถิติเสร็จ ได้ผลสรุปว่านักพัฒนาจำนวน 70% (จาก 600 คน) รู้สึกกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของเกม Live Service โดยมีนักพัฒนาจำนวน 39% ที่รู้สึก “กังวลเล็กน้อย” และมี 31% ที่นักพัฒนารู้สึก “กังวลอย่างมาก” ส่วนนักพัฒนาจำนวน 30% ที่เหลือรู้สึก “ไม่กังวล” หรือ “ไม่มั่นใจ”
นอกจากนี้ นักพัฒนาจำนวน 70% ที่รู้สึกกังวลเล็กน้อยและกังวลอย่างมาก เชื่อว่าสาเหตุหลักที่เกม Live Service ขาดความยั่งยืนเพราะผู้เล่นหมดความสนใจในตัวเกม และแวดวงเกม Live Service มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด
สำหรับคนที่ไม่รู้จัก เกม Live Service คือเกมที่เน้นเปิดให้บริการในระยะยาว โดยจุดเด่นของเกมประเภทนี้ส่วนใหญ่คือ มักอัปเดตเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ในแต่ละซีซัน และมุ่งเน้นทำรายได้ระยะยาวจากการขาย Microtransaction, Battle Pass, DLC หรือ Subscription ซึ่งเกม Live Service เป็นได้ทั้งเกมเล่นฟรีกับเกมที่ต้องจ่ายเงินซื้อ
ปัจจุบัน เกมเน้นการเล่น Multiplayer หลายไตเติล เช่น Call of Duty, Battlefield, Fortnite ฯลฯ เริ่มหันมาใช้โมเดล Live Service หรือรวมถึงเกม Gacha เน้นการเล่น Singleplayer และมีระบบ Multiplayer นิดหน่อยอย่าง Genshin Impact, Honkai: Star Rail, Reverse 1999 ฯลฯ ก็นับว่าเป็นเกม Live Service เช่นกัน
แม้เกม Singleplayer กับเกมอินดี้แบบดั้งเดิมยังไม่หายไปจากตลาด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกม Live Service ที่ประสบความสำเร็จ สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาลในระยะยาวจริง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเกมยุคนี้จึงหันมาใช้โมเดล Live Service มากขึ้น
ที่มา: Eurogamer