หลังจาก Resident Evil: Welcome to Raccoon City เปิดตัวและเข้าฉายไป ไม่ต้องบอกก็พอรู้ว่ากระแสของหนังนั้นออกมาเป็นแบบไหน ด้วยความชวนปวดหัวของหนัง ทำให้แฟน ๆ หลายคนถึงขั้นกลับไปสรรเสริญภาพยนตร์ Resident Evil เวอร์ชั่นแรกสุด หรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากว่า เวอร์ชั่นอลิซ ที่นำแสดงโดย Milla Jovovich ว่าเป็นหนังดีขึ้นมาทันที และ Resident Evil ฉบับนี้ก็มีความยาวมากถึง 7 ภาคด้วยกัน แต่วันนี้เราจะขอพาทุกท่านย้อนไปสัมผัสกับเรื่องราวของ Resident Evil ฉบับปี 2002 ภาคแรกเริ่มกัน ว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง
จุดเริ่มต้น ตำนานผีชีวะ
หลังจากที่ Resident Evil ภาคแรก เปิดตัวและวางจำหน่ายโดย Capcom เมื่อปี 1996 ดูเหมือนว่าจะมีคนเล็งเห็นศักยภาพของเกมว่ามันน่าจะทำเป็นหนังได้ ในช่วงต้นปี 1997 หลังเกมออกวางจำหน่ายไปได้ยังไม่ทันครบปี ทาง Constantin Film ซึ่งเป็นสตูดิโอของประเทศเยอรมัน จึงทำการขอซื้อลิขสิทธิ์จากทาง Capcom เพื่อดัดแปลงให้ Resident Evil มาเป็นภาพยนตร์คนแสดง และเริ่มกระบวนการสร้างมาตั้งแต่ปี 1997 แต่ใครจะรู้ว่า กว่าหนังภาคแรกจะได้ออกฉายก็คืออีก 5 ปีต่อมา หรือปี 2002 โน่นเลยทีเดียว
สาเหตุที่มันใช้เวลานานขนาดนี้ เพราะมีการเปลี่ยนตัวทั้งมือเขียนบท และผู้กำกับกันหลายหนมาก เริ่มแรกเลย คนที่มาเขียนบทให้คนแรกคือ Alan B. McElroy โดยสคริปท์ของเขาจะคล้ายกับเกมต้นฉบับ แต่ดัดแปลงหลายอย่างออกไป เช่นไม่มีการเอ่ยถึงบริษัทอัมเบรลล่า หรือทีม S.T.A.R.S โดยมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับทีมหน่วยรบพิเศษที่รัฐบาลส่งมาเพื่อช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองของคฤหาสน์แห่งหนึ่ง ก่อนจะพบว่าที่แห่งนี้เป็นกับดัก พวกเขาเป็นเพียงตัวทดลองเท่านั้น สคริปท์นี้มีความคล้ายกันกับเกมภาคแรก แต่เปลี่ยนรูปแบบการเล่าเรื่องแทน แน่นอนว่าสคริปท์นี้ของ McElroy ถูกปฏิเสธไป
และในปี 1998 ช่วงที่ Resident Evil 2 วางจำหน่าย ตอนนั้นมีการโปรโมทเกมด้วยโฆษณาฉบับไลฟ์แอ็คชั่น ที่ได้ George A. Romero มารับหน้าที่กำกับ และโฆษณานั้นก็โด่งดังมาก ๆ จนทาง Sony สนใจติดต่อให้ Romero มาเขียนบทและกำกับ Resident Evil เวอร์ชั่นภาพยนตร์ที่ยังไม่ได้สร้างสักที Romero ตอบรับคำขอ ถึงขั้นที่ว่านั่งอัดวิดีโอตอนที่ตัวเองกำลังนั่งเล่นเกม เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูล ก่อนจะที่ดราฟท์บทภาพยนตร์ส่งให้ทาง Sony โดยบทของเขาจะมี Chris Redfield และ Jill Valentine เป็นตัวละครหลัก มีการปรากฎตัวของ Barry Berton, Rebecca Chambers, Ada Wong และ Albert Wesker แถม Romero ยังเขียนบทหนังที่ต่างกันไว้มากกว่า 5-6 ฉบับ ทุกอย่างเหมือนจะดูดีและไปได้สวยใช่หรือไม่ ?
ปัญหามันอยู่ที่เรื่องของความรุนแรงในหนังที่มีเยอะมาก ๆ Robert Kulzer หัวหน้าฝ่ายในตอนนั้นเผยว่า แม้บทภาพยนตร์ของ Romero จะดีมาก ๆ แต่ถ้าอนุมัติการสร้าง มันจะต้องได้เรท NC-17 แถมโปรดิวเซอร์ในตอนนั้นกลับชอบบทของ McElroy มากกว่า แถมตอนนั้นเกมภาค 2 ก็กำลังวางจำหน่าย มันทำให้บทของ Romero ดูเชย และล้าสมัยมาก ๆ ทำให้ Romero ตัดสินใจออกจากโปรเจกต์ไปในที่สุด หรือแม้แต่ตอนปี 2000 ที่ Jamie Blanks ที่กำลังโด่งดังจากหนังเรื่อง Urban Legend ก็เข้ามารอท่าพร้อมด้วยสคริปท์จากนักเขียนบทหน้าใหม่ แต่สุดท้ายก็แคนเซิลอยู่ดี เรียกได้ว่า ทั้งผู้กำกับและมือเขียนบท โบกมือลากันไปสามทีมใหญ่ ๆ เลยทีเดียว
ให้คนที่ทำหนังจากเกมแล้วรุ่งมาทำมันซะเลย
ย้อนหลังไปก่อนที่เกมภาคแรกจะวางจำหน่าย มีภาพยนตร์จากเกมอยู่เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ และใช้ทุนในการสร้างต่ำมาก หนังเรื่องนั้นคือ Mortal Kombat ที่ตอนนั้นได้ Paul W.S. Anderson นั่งแท่นกำกับ หนังเรื่องนี้ถือเป็นหนังจากเกมที่ประสบความสำเร็จเป็นเรื่องแรก ๆ จนทาง Constantin Film ติดต่อไป เขาจึงลองดราฟท์บทแรกของหนังขึ้นมา โดยใช้การดัดแปลง ลอกเลียนแบบ และไม่ใช้วัตถุดิบจากเกมทั้งหมด ซึ่งทางหัวหน้าของ Constantin Film ดันเห็นดีเห็นงามว่ามันน่าจะไปได้สวย ปลายปี 2000 หลังจากเปลี่ยนมือทีมงานมาหลายชุด Paul W.S. Anderson จึงเข้ามารับหน้าที่ทั้งกำกับและเขียนบทในหนัง Resident Evil ภาคแรก และ Anderson เผยว่า หนังของเขาจะไม่มีการ Tie-In กับวิดีโอเกมแต่อย่างใด เพราะหากทำแบบนั้นมันจะธรรมดาเกินไป และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของหนังจากเกม ที่อิงต้นฉบับเกมน้อยมาก อย่าง Resident Evil หรือ “ผีชีวะ”
ดัดแปลง ตีความ และเล่าเรื่องใหม่ โดยใช้ของเดิมสอดแทรกเข้ามา
Resident Evil ภาคแรก ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ผีชีวะ” ซึ่งน่าจะทำให้แฟน ๆ ในไทยหลายคนรู้จักชื่อนี้ โดยในตอนนั้น มงคลเมเจอร์เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉายในประเทศไทย และตัวหนังยังมีการให้เสียงภาษาไทยโดย พันธมิตร อีกด้วย แต่นี่คือหนังจากเกมที่ฉีกขนบเดิมออกไป เพราะมันแทบจะไม่มีตัวละครหลักจากเกมเข้ามามีบทบาทเลยแม้แต่น้อย
เวอร์ชั่นหนังว่าด้วยเรื่องราวของ เมือง Raccoon City ที่ภายใต้เมืองนี้มีบริษัทอัมเบรลล่าคอร์ป ที่ฉากหน้าเป็ฯองค์กรใหญ่ที่มีผลิตภัณฑ์ เวชภัณฑ์ต่าง ๆ แต่เบื้องหลังกลับเป็นการทดลองอาวุธสงคราม และอาวุธชีวภาพ ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ T-Virus ไวรัสสุดอันตรายถูกขโมยออกจากไฮฟ์หรือรวงผึ้งที่อยู่ด้านล่าง ทำให้เชื้อเล็ดลอดออกมา พนักงานจำนวนมากตายลงทันที แถมยังตายไม่สนิท เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ทำให้พวกเขากลายเป็นซอมบี้ รวมไปถึงสัตว์ทดลองต่าง ๆ ก็กลายพันธุ์ไปด้วย ทีมคอมมานโดจึงถูกส่งลงมาเพื่อจัดการสถานการณ์นี้ เบื้องต้นทุกคนคิดว่ามันเป็นแผนการร้ายของ Red Queen ปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะที่อาจจะถูกแฮคจนหันมาโจมตีบริษัทเอง แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ ก็พบว่ามันไม่ใช่แบบนั้น
ใครที่ยังไม่เคยดูอ่านแล้วอาจจะถึงกับงงไปเลย ว่านี่คือหนังจาก Resident Evil แน่หรือ ? เพราะในหนังแทบไม่มีตัวละครที่เรารู้จักเลย มีแต่ Object และสิ่งของต่าง ๆ ที่เรารู้จัก เช่นบริษัทอัมเบรลล่า รวมไปถึงพวกซอมบี้ หมาซอมบี้ และทีเด็ดของหนังภาคแรกเลยคือ Licker (ที่ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่ามันยังทำออกมาดูดีกว่าเวอร์ชั่น 2021) ส่วนตัวละครนั้น ไม่มีคริส ไม่มีจิลล์ ไม่มีเวสเกอร์ มีเพียงตัวละครอลิซ และทีมคอมมานโดเท่านั้น แต่หนังไม่ได้โดนสับยับจนย่ำแย่ เพราะใน IMDB นั้นได้คะแนนไปถึง 6.7 / 10 คะแนน จากผู้ลงคะแนนกว่า 260,000 คน ถือว่าไม่น้อยนัก ส่วนรายได้นี่ยิ่งเกินคาดมาก ๆ เพราะหนังใช้ทุนสร้างไปเพียง 33 ล้านดอลลาร์ แต่สามารถเปิดตัวในสัปดาห์แรกในการเข้าฉายโรงภาพยนตร์ได้ถึง 17 ล้านดอลลาร์ และกวาดเงินทั่วโลกรวมแล้ว 100 ล้านดอลลาร์ด้วยกัน ด้วยการประสบความสำเร็จระดับนี้ทำให้หนังมีภาคต่อตามมาอีก 6 ภาค ยาวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2017 ซึ่งตัวของ Paul W.S. Anderson เอง ไม่ได้รับหน้าที่กำกับในหนังภาค 2 และ 3 แต่กลับมารับหน้าที่ต่อในภาค 4 – 7 แทน
การเล่าเรื่องแบบไม่อิงเกมนี้ เป็นสิ่งที่หลาย ๆ เรื่องในยุคหลังก็ทำ เพราะมันทำให้ผู้สร้างไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดกับจักรวาลของเกม และนเื้อเรื่องของเกมเป็นตัวบีบบังคับ อย่างเช่น Mortal Kombat ฉบับปี 2021 ก็ทำแบบนี้ หรือแม้แต่ซีรีส์ Halo ที่กำลังจะออกฉายทางช่อง Paramount+ เองก็เลือกใช้วิธีนี้ในการเล่าเรื่องด้วยเช่นกัน สาเหตุเพราะว่า ไม่ให้เป็นภาระของทั้งทีมทำเกม และทีมทำหนังที่จะต้องมานั่งคอยเล่าเรื่องราวเพื่อเชื่อมต่อกัน ทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานขึ้น เพราะใช่ว่าทีมทำหนังจะต้องเคยเล่นเกม หรือทีมที่ทำเกมจะต้องไปนั่งดูหนัง
แต่สำหรับ Resident Evil ฉบับปี 2002 นั้น ถือเป็นการสร้างเรื่องราว สร้างการตีความขึ้นมาใหม่ และใช้วัตถุดิบของ Resident Evil ต้นฉบับให้เป็นประโยชน์ และผสมผสานเข้ากับความไซไฟได้อย่างลงตัว บวกกับช่วงนั้น กระแสโซเชียล และการวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน ทำให้แม้ตัวหนังจะฉีกจากตัวเกมไปเยอะ แต่ก็ประสบความสำเร็จจนดันภาคต่อออกมาได้เรื่อย ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งหนังจากเกมที่หลายคนบอกว่า แม้จะดูเหมือนเป็นจักรวาล What if ของเกมมากกว่า แต่ก็ทำออกมาได้ดีใช้ได้เลย (ในยุคนั้น)
ใครที่อยากรับชม Resident Evil ฉบับ Milla Jovovich ปี 2002 นี้ สามารถรับชมได้ทาง Netflix ไม่แน่ คุณอาจจะชอบกว่าภาค Welcome to Raccoon City นี้ก็เป็นได้