สำหรับประเทศไทยในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเลือกตั้ง จึงทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ พยายามที่จะหาเสียงด้วยการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ชนะใจเรา หนึ่งในนโยบายที่พูดถึงกันมากที่สุดในช่วงนี้คือเรื่องเทรนด์ในอนาคตกับเรื่องของเทคโนโลยีที่ทุก ๆ พรรคต่างนำเสนอเรื่องนี้กันอย่างสนุกสนาน ทำให้เราในฐานะพลเมืองดีตามระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะเหล่าเกมเมอร์ที่ในตอนนี้บางคนสามารถที่จะเข้าคูหาเลือกตั้งกันได้แล้ว
ใครที่มองหาพรรคการเมืองที่พร้อมสนับสนุนนโยบายด้านอีสปอร์ต วันนี้เราจึงได้นำเสนอมุมมองของนักการเมืองสองท่านที่หากเขาได้เข้าไปในสภาอาจจะเปลี่ยนทิศทางของวงการอีสปอร์ตก็เป็นได้ ผ่านงานเสวนานโยบายนวัตกรรม เทคโนโลยี และเทรนด์แห่งอนาคต Looking For The Future of Thailand
โดยในงานได้มีการพูดคุยกันถึงแนวโน้มรวมถึงนโยบายของพรรคต่าง ๆ ที่มีต่อเทคโนโลยีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี , พ.ร.บ.ไซเบอร์ , เทรนด์ของโลกอนาคตและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งในฐานะของ GamingDose ไม่มีทิศทางใดที่น่าสนใจไปกว่า นโยบาย Esport ของผู้เข้าร่วมเสวนา ว่าพวกเขาให้ความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร โดยเริ่มจากการที่ผู้ดำเนินรายการได้โยนคำถามไปยังคุณภูวพัฒน์ ชนะสกลว่าอีสปอร์ตเป็นอาชีพได้อย่างไรและสังคมไทยควรมองนักกีฬาอีสปอร์ตอย่างไร
ภูวพัฒน์ ชนะสกล ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเสรีรวมไทย ได้กล่าวว่า ” คือผมคือเด็กติดเกมตอนเด็ก ๆ อะนะ ไม่ใช่ตอนโต คือติดขนาดที่แบบว่าเล่นสองวันสองคืนเข้าโรงพยาบาลมาแล้ว สมัยที่ผมเล่าให้ฟังสมัย ม.ต้น อะฮ่ะ ผมเป็นเด็กหลังห้องเข้าใจนะ ผมไม่ใช่เด็กเกเรมีเรื่องชกตีชกต่อยอะไรกับใคร ผมแค่เด็กเล่นเกมของผมเฉย ๆ
อะไรที่มันติดเกินไปมันไม่ดีทั้งนั้นหรอกครับ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเกม คุณกินข้าวเยอะไปก็ไม่ดี กินน้ำเยอะไปก็ไม่ดี นอนเยอะไปยังไม่ดีเลย เพราะฉะนั้นเด็กติดเกมมันชัดอยู่แล้ว ติดก็คือติดมันไม่ดีนะครับ นักกีฬาอีสปอร์ตคือการเล่นเกม มันไม่เหมือนการเล่นเกมธรรมดา คุณเหมือนเตะฟุตบอล คุณเตะธรรมดาก็จะอีกอย่างหนึ่ง คุณเตะเพื่อแข่งขันมันก็จะมีการซ้อมการวางแผน มันจะมีความชัดเจนกว่าเยอะ มันแยกแยะกันถูกต้องครับ เฉพาะฉะนั้นผมมองว่า
ผู้ใหญ่ควรจะรับได้กับนักกีฬาอีสปอร์ตนะครับ ไม่ใช่เด็กติดเกมอย่างผม (หัวเราะ) คือนักกีฬาอีสปอร์ตมันจะมีลู่ทางของเขา เพื่อนผมเนี่ยเป็นแชมป์โลกไปแข่งที่อินโดฯ พอลงเครื่อง คือเขาได้แชมป์โลกลงเครื่องไปเนี่ยคือเหมือนกับพี่เบิร์ดเลย (ธงไชย แมคอินไตย์) คนนี่มารอแบบเป็นร้อยเลย ตามถนนเนี่ยแปะป้ายเขาหมด คือไม่ใช่แค่เด็กนะครับ พ่อแม่ผู้ใหญ่เค้ามาดูเข้ามาขอถ่ายรูปคือมันคนละเรื่องเลย พอเค้าลงมาไทยเงียบกริบ คือการสนับสนุนมันต่างกันนะครับ ซึ่งในไทยมันไม่ได้สนับสนุนขนาดนั้น
ผมมองว่าการที่ผู้ใหญ่จะรับกีฬาอีสปอร์ตได้ควรจะรับด้วยใจจริง ๆ ไม่ใช่รับได้ด้วยปาก คุณต้องยอมรับว่ามันโอเค มันสร้างรายได้ กีฬาอีสปอร์ตบางทีมันเยอะกว่าบางกีฬาบางอาชีพด้วยซ้ำ
ภูวพัฒน์ ชนะสกล
คุณภูวพัฒน์ ชนะสกล กล่าวโดยสรุปคือเขาพยายามที่จะมองให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างนักกีฬาอีสปอร์ตและเด็กติดเกมออกจากกัน พร้อมทั้งให้ทุกคนเปิดใจในการยอมรับเรื่องกีฬาอีสปอร์ตอย่างจริงจัง ไม่ใช่การยอมรับเพียงแค่กระแสสังคมหรือว่าฐานคะแนนเสียง
นอกจากนี้ดร. การดี เลียวไพโรจน์ นักวิเคราะห์นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยว่า “พี่ไม่ได้ติดเกม แต่พี่สนับสนุนกีฬาอีสปอร์ตเต็มที่ เพราะว่าถ้าเรามองในมุมมองของมูลค่าทางเศรษฐกิจนะคะ ถ้าเราบอกว่าวันนี้ Sports Economy บอลเอยอะไรตาม แมตช์ ลีกส์ต่าง ๆ ที่เราติดตาม
อีสปอร์ตเนี่ยจากการที่เราพยากรณ์มาแล้ว เราเห็นชัดอยู่แล้วอะค่ะว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงการบริการขั้นสูงหรือว่าในทางของ Creative Industries เนี่ยมันจะสูงมากมหาศาล
ดร. การดี เลียวไพโรจน์
อันที่สองสนับสนุนคุณคิด (ภูวพัฒน์ ชนะสกล) เรื่องของการเป็น Esporter ก็คือเป็นเกมเมอร์นี่แหละ แต่ไม่ใช่เด็กติดเกม เวลาเขาจะได้ที่หนึ่งต้องอาศัยความมีระเบียบ Discipline การฝึกฝน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เกมนี่แหละค่ะที่จะสอนเรื่องกลยุทธ์ดีมากอย่างมหาศาล โดยดิฉันขอสนับสนุน”
ดร.การดี เลียวไพโรจน์เห็นด้วยกับเรื่องของอีสปอร์ต โดยมองว่าอีสปอร์ตจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เฉพาะนักกีฬาอีสปอร์ตเท่านั้นที่เติบโต แต่ว่าอุตสาหกรรมรอบ ๆ ยังเติบโตอีกด้วย พร้อมทั้งยืนยันนักกีฬาอีสปอร์ตนั้นต่างกับเด็กติดเกมอย่างเทียบกันไม่ติด
นักกีฬา Esports ถือว่าเป็นหนึ่งในอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกมที่สำคัญ ในอนาคตที่ทุก ๆ คนสามารถที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ย่อมนำไปสู่การผลักดันทางด้านอีสปอร์ต ทำให้การที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับอีสปอร์ต ที่นอกจากจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ในโลกอนาคตแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการที่พวกเขามีมุมมองต่อเหล่าเกมเมอร์อย่างไร
นอกจากนี้ผู้เข้าเสวนายังได้ถกกันอีกหลายประเด็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเรียนรู้ในยุคอนาคตที่เราทุกคนจะต้องเรียนรู้สึกต่าง ๆ ใหม่ ๆ เสมอ โดยเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปฟังย้อนหลังได้ที่เพจ Future Trends ได้เลย