จะทำอย่างไรเมื่อเราติดอยู่ในห้วงลูปเวลา 12 นาที?
หนึ่งในเกมอินดี้ฟอร์มเล็กที่หลายคนเฝ้ารอ รับประกันคุณภาพโดย Annapurna Interactive และเป็นผลงานแรกของ Luis Antonio ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับเกมอย่างเต็มตัวหลังจากฝากฝีมือด้านงานศิลป์ไว้กับหลายเกม พร้อมได้ดาราฮอลลีวู้ดมากฝีมือมาให้เสียงพากย์ตัวละครทั้งสามตัว ไม่ว่าจะเป็นเจมส์ แมคคาวอย, เดซี่ย์ ริดลีย์ และวิลเล็ม ดาโฟ รวมกันกลายเป็นเกมสืบสวนสอบสวนแบบ Point and Click และ Puzzle ที่เหตุการณ์ทั้งเกมจะติดวนอยู่ในลูปเวลา 12 นาที ตามชื่อเกม 12 Minutes
Story
เนื้อเรื่องหลักของ 12 Minutes คือเราจะเล่นเป็นสามีผู้กลับมายังห้องเช่าเล็ก ๆ หลังเลิกงานประจำวัน เขาพบกับภรรยาที่ทักทายตามปกติ และไม่กี่นาทีต่อมาทั้งคู่ก็พบว่ามีชายลึกลับผู้อ้างว่าตัวเองว่าเป็นตำรวจเคาะประตูด้วยน้ำเสียงดุดัน และบุกเข้ามาจับตัวภรรยาของเราอย่างอุกอาจ จากนั้นตัวของผู้เล่น (สามี) จึงเริ่มรู้ตัวว่าเขาติดอยู่ในห้วงลูปเวลา ที่จะรีสตาร์ตเหตุการณ์เดิมตั้งแต่เค้าเปิดประตูเข้ามาในเย็นวันนี้ทุกครั้ง และจะจบลงเมื่อเค้าเกิดอุบัติเหตุอะไรซักอย่าง หรือเดินออกไปนอกห้อง
ในยุคปัจจุบันเกมเมอร์ต่างคุ้นชินกับเกมแนว Roguelike ที่ตัวละครเราจะเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสะสมประสบการณ์ความสามารถในการต่อสู้กับศัตรู ไม่ว่าจะเป็นอาวุธหรือสกิลฝีไม้ลายมือ แต่ใน 12 Minutes จะล็อคผู้เล่นให้อยู่ภายในห้องเช่าห้องเดียวในเวลาเพียง 12 นาที (อิงตามในเกม) สิ่งที่ผู้เล่นและตัวละครหลักของเราจะได้สะสมมาจากลูปก่อน ๆ คือ ‘ความรู้’ และ ‘ข้อมูล’ ที่ตัวละครภรรยาและบุรุษลึกลับค่อย ๆ เปิดเผยออกมาให้เราได้รู้ตลอดทั้งเกม ใครที่ชอบชมภาพยนตร์แนว Time Loop มาก่อนก็อาจจะคุ้นเคยและสนุกไปกับตัวละครเอกที่เริ่มลูปใหม่พร้อมกับสิ่งที่เก็บเกี่ยวมา จนดำเนินลูปใหม่ ๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการสนุกกับการเห็นตัวละครอื่นตกตะลึงกับการ ‘รับรู้’ ข้อมูลของเรา
จุดที่ชอบที่สุดในด้านเนื้อเรื่องของ 12 Minutes คือ ‘twist’ หรือการหักมุมของเรื่องราวเป็นลำดับขั้น การจำกัดเวลาของลูปเพียง 12 นาทีจะทำให้จุดหักมุมค่อย ๆ เผยออกมาได้ทีละส่วน การเผยจุดหักมุมยังทำหน้าที่ปลดล็อกบทสนทนาและ action ใหม่ ๆ ซึ่งเราจะทำได้ในลูปหลังจากลูปที่เรารับรู้สิ่งเหล่านั้นมา ตลอด 3-4 ชั่วโมงตั้งแต่ต้นจนจบเกมเราจะรู้สึกได้ชัดเจนถึงพัฒนาการของเนื้อเรื่อง ที่เชื่อมเอาตัวผู้เล่นและตัวสามีเข้าไว้ด้วยกัน เรารู้อะไร ตัวสามีในเกมจะรับรู้เหมือนกัน เรามีข้อมูลอะไรใหม่ ตัวสามีก็จะมีข้อมูลชิ้นนั้นเอาไว้ใช้เช่นกัน
เนื้อเรื่องทั้งเกมมี twist หลายจุดที่เราชื่นชอบและตื่นเต้นเมื่อได้รู้มัน แต่กลับกลายเป็นว่า twist สุดท้ายของเกมเป็นสิ่งที่ชวนผิดหวังค่อนข้างมาก มากในระดับที่ทำให้เนื้อเรื่องและ twist ที่ปูมาดีตลอดทั้งเกมสูญเสียคุณค่าไปเลยทีเดียว แต่เมื่อนึกย้อนกลับมาถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่เราจะได้เจอกับ twist สุดท้าย มันก็ยังคงเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่เรามีมากมายให้กับเกมอินดี้เกมนี้อยู่ไม่คลาย
Presentation
จุดเด่นอีกจุดของ 12 Minutes คือการเล่าเรื่องราวในห้องอพาร์ทเมนต์ผ่านมุมมองแบบ bird-eye-view ที่ทำให้ผู้เล่นเห็นภาพรวมทั้งหมดได้โดยไม่ต้องบังคับมุมกล้องเลย เราจะได้เห็นแอ๊คชั่นทุกอย่างเกิดขึ้นตรงกลางหน้าจอ เรื่องราวถูกเล่าผ่านบทสนทนาของตัวละครสามตัวและข้าวของเครื่องใช้ในห้องเช่าของสามีภรรยา ทุกสิ่งทุกอย่างในเกมหยิบโยงเข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วไป ไม่มีความแฟนตาซี ไม่มีความล้ำยุคล้ำสมัยฉูดฉาดตามสไตล์ของเกมส่วนใหญ่ในตลาด บทสนทนาในบางลูปอาจเป็นการพูดคุยเรื่องปัญหาชีวิตคู่ เหตุการณ์ในบางลูปอาจเป็นการทะเลาะกันเพียงเพราะฝ่ายสามีทานอาหารโดยไม่รอภรรยา หรือบางลูปอาจเป็นหนังเขย่าขวัญก็ได้ ซึ่งพอเนื้อหาในเกมมันหยิบโยงเข้ากับชีวิตจริง มันเลยทำให้ผู้เล่นอินง่าย และเข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเกมได้อย่างดี
นอกจากการพัฒนาด้านเนื้อเรื่องแล้ว บทสนทนาและแอ๊คชั่นของตัวละครสามีก็มีการพัฒนาตามความรับรู้ไปด้วย ในลูปแรกของการกระทำนี้ ไดอะล็อกของตัวละครสามีจะเป็นอารมณ์นึง พอลูปถัดมาเมื่อทำแบบเดียวกัน อารมณ์ของไดอะล็อกและท่าทางของตัวละครก็จะเปลี่ยนไป เช่นความเคยชินของการทำแอ๊คชั่นนั้นซ้ำ ๆ หรือความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นถึงข้อมูลใหม่ที่ได้รับมา จุดนี้ถือเป็นอีกจุดนึงที่เกมนี้ทำได้ด
การนำเสนอและเทคนิคการเล่าเรื่องของเกมนี้นั้นตอกย้ำถึงความเหนือชั้นของการเล่าเรื่องโดย ‘วิดีโอเกม’ ที่เหนือชั้นมากกว่าภาพยนตร์ คนเล่นเกมด้วยตัวเองเท่านั้นที่จะได้รับประสบการณ์อย่างเต็มที่ ตัวผู้เล่นจะเป็นคนกำหนดถึงจังหวะของการดำเนินเรื่องด้วยตัวเอง รับรู้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างไปพร้อม ๆ กับตัวละคร และตัดสินใจที่จะเลือกจบเกมในแบบที่ตัวผู้เล่นชอบ (เกมมีฉากจบหกแบบ) ผู้เขียนแนะนำอย่างยิ่งให้ผู้อ่านควรเล่นเอง และห้ามโดนสปอยล์แม้แต่นิดเดียว เพราะความสนุกอยู่ตรงนั้นจริง ๆ
Gameplay
ระบบการเล่นของ 12 Minutes จะเป็น Point and Click หรือใช้เพียงเมาส์ในการคลิกและลากเท่านั้น (บน Xbox จะใช้คันโยกบังคับ cursor คล้ายกับบน PC) ผสมผสานเข้ากับแนว Puzzle ที่เราต้องหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ โดยอาศัยช่วงจังหวะเวลาที่พอดิบพอดีกับเหตุการณ์ที่เรารู้ว่ามันจะเกิดขึ้นในลูป 12 นาที การคลิกเท่ากับการพาตัวละครสามีไปยังจุดนั้น คลิกที่วัตถุใกล้ ๆ อีกทีคือการหยิบเข้า inventory เพื่อเก็บของไว้ และลากของนั้นไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อใช้ให้เกิดแอ๊คชั่นต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เปิดอิสระมากขนาดที่ว่าใช้อะไรกับอะไรก็ได้ อะไรที่ทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ตัวละครสามีก็จะยืนส่ายหน้าและบ่นพึมพำว่า ‘No’ พร้อมกับให้เราลองหยิบจับอย่างอื่นต่อไป
ความเจ๋งใน Puzzle ของเกมนี้คือการที่เราต้องทำสิ่งต่าง ๆ ให้ทันเวลา หรือพอเหมาะพอเจาะกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวละครอื่นในลูป ในบางลูปแผนของเราอาจจะพังจากสิ่งที่เราพลาดไปแม้เสี้ยววินาทีเดียว หรือทำอะไรผิดไปนิดเดียวเท่านั้น แต่เกมก็สร้างจุดให้เราสามารถเริ่มลูปใหม่ได้ง่าย ๆ โดยการเดินออกนอกห้อง ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลารอคอยให้ลูปนั้นจบลง
การนำเนื้อเรื่องอันเข้มข้น ลูปเวลา และความเป็น Puzzle มาผสมผสานเข้ากับเกมการเล่นง่าย ๆ ของแนว Point and Click นับเป็นเสมือนการชุบชีวิตให้เกมแนวนี้อีกครั้ง จากที่เป็นแนวเกมที่แทบไม่ได้รับความนิยมเลยไม่ว่าจะยุคไหน หาของ หมุนฉาก คลิกมั่วจนกว่าจะเจอ ไร้ชีวิตชีวาและความตื่นเต้นใด ๆ แต่ 12 Minutes นำไปคิดใหม่ทำใหม่จนทำให้ใครที่ไม่เคยได้สัมผัสเกมแนวนี้ สามารถข้ามเกมอื่น ๆ มาพบกับเกมนี้ได้เลย
Performance
สำหรับประสิทธิภาพของเครื่องรวมไปถึงการแสดงผลโดยรวมนั้น ก็ไม่มีอะไรติดขัดแต่อย่างใด ตัวเกมเล่นได้บนเครื่อง PC ใน Spec ระดับต่ำ ๆ มาจนถึงกลาง ๆ (Spec ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ Intel Core i5-2300 | AMD Phenom II X4 965 และการ์ดจอ Nvidia GeForce GTS 450, 1 GB | AMD Radeon HD 5770, 1 GB เท่านั้น)
อย่างไรก็ตามตัวเกมก็มีปัญหาอยู่บ้างในส่วนของบัคและการแสดงผลด้านอนิเมชั่น เราพบปัญหาบางครั้งในเรื่องการหาเส้นทางการเดินของเหล่า AI หรืออนิเมชั่นตัวละคร โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นฉากอนิเมชั่นโต้ตอบระหว่างตัวละครสองตัว
อย่างไรก็ตามประสบการณ์การเล่นในส่วนของ Performance ของเกมก็เรียกได้ว่าไม่ได้มีปัญหาติดขัดอะไรที่เด่นชัด
สรุป
12 Minutes คือเกมฟอร์มเล็กเนื้อเรื่องเข้มข้นที่อยากให้ได้ลอง ‘เล่น’ ด้วยตัวเองจริง ๆ น่าเสียดายที่ส่วนสุดท้ายของเกมนั้นชวนผิดหวังอยู่ไม่น้อยจนทำให้ภาพรวมทั้งหมดของเนื้อเรื่องเกมดูด้อยลงไป แต่ตลอดทั้งเกมคือประสบการณ์แบบ Rollercoaster ที่พาผู้เล่นสวมบทบาทตัวละครสามีในเกม รับรู้ถึงเหตุการณ์ที่ Twist ไปมาทั้งดีและร้าย นี่คือเกมที่ผู้สร้างตั้งใจจะโชว์เทคนิคการเล่าเรื่องที่ตอกย้ำว่าวิดีโอเกมคือสื่อบันเทิงที่เหนือชั้นด้านการเล่าเรื่องมากกว่าภาพยนตร์หลายเท่า