BY KKMTC
14 Oct 21 8:12 pm

รีวิว Death Stranding Director’s Cut ส่งพัสดุกู้ประเทศสหรัฐฯ ฉบับอัปเกรดให้เกมดีกว่าเดิม

545 Views

หากพูดถึงผลงานเกมของป๋าเทพ Hideo Kojima ที่มีทั้งคนรักและคนเกลียด อย่างไรก็ไม่มีทางหนีพ้น Death Stranding เกมส่งพัสดุที่มีการนำเสนอเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ซึ่งเคยออกวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 2019 บนเกมคอนโซล PlayStation 4

ล่าสุด Death Stranding มีเกมเวอร์ชันใหม่เรียกว่า Director’s Cut เป็นเกมรูปแบบ Enhance สำหรับ PlayStation 5 ที่มีการปรับปรุงระบบ เพิ่มคอนเทนต์ใหม่ และอัปเกรดภาพกราฟิกให้งดงามมากขึ้น แล้วเกมเวอร์ชันนี้จะสนุกกว่าเดิมหรือไม่ ก็มารับทราบคำตอบได้เลยผ่านบทความรีวิว Death Stranding Director’s Cut

เนื้อเรื่อง / การนำเสนอ

ในเกมนี้ ผู้เล่นจะได้รับบทเป็น Sam Porter Bridges นักส่งพัสดุมือฉมังที่ไม่ขึ้นตรงต่อใคร ได้รับคำสั่งจากแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ไปช่วยเหลือ Amelie พี่สาวของเขาที่ถูกกักขังโดยฝีมือกลุ่มผู้ก่อการร้าย Homo Demens พร้อมกับสานต่อภารกิจเชื่อมต่อประเทศสหรัฐฯ ให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง

ฉากหลังของเกมจะเป็นช่วงเวลาอนาคตที่โลกของเราได้ล่มสลายจากปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เรียกว่า “Death Stranding” โดยส่งผลทำให้ฝนและหิมะสามารถเร่งเวลาอายุได้ (ในเกมเรียกว่า Timefall) รวมถึงวิญญาณจากปรโลก ก็ได้ปรากฏตัวบนโลกมนุษย์โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้มนุษยชาติได้เกือบสูญสิ้น และมนุษย์อย่างพวกเรา ต้องหาทางตัวรอดในท่ามกลางปรากฏการณ์ Death Stranding

Death Stranding จะเน้นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ Sam ที่ได้ออกเดินทางผจญภัยส่งของทั่วประเทศ เพื่อทำภารกิจกอบกู้สหรัฐฯ ให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว โดยเกมนี้จะมีเนื้อหา Sci-fi ที่อัดแน่นและซับซ้อน รวมถึงมีฉากดราม่าเรียกน้ำตา เนื่องจากตัวละครทุกคนในเกม ได้ตัว Motion Capture และพากย์เสียงตัวละครโดยนักแสดงชื่อดังมากมาย ทำให้การเล่าเรื่องกับการนำเสนอของ Death Stranding มีอรรถรสเหมือนกำลังรับชมภาพยนตร์ Hollywood ต้นทุนสูง

แต่อย่างไรก็ตาม เนื้อเรื่องของเกม Death Stranding ไม่ได้มาจากการรับชมคัตซีนเพียงอย่างเดียว แต่เนื้อหา Lore ส่วนใหญ่ ผู้เล่นสามารถรับรู้ได้จากการอ่านหนังสือผ่านกล่องอีเมล และบทความ Interview ซึ่งมันช่วยให้เกมมอร์สามารถอินกับโลกของเกมมากยิ่งขึ้น

แม้บางประโยคคำพูดจะติดความเป็น “Cheesy” ที่ค่อนข้างหลุดและดูตลกจากบรรยากาศในเกม รวมถึงเนื้อหาบางส่วนไม่มีอธิบายชัดเจน ส่งผลทำให้ผู้เล่นบางคนอาจตามเนื้อเรื่องไม่ทัน แต่โดยรวมแล้ว Death Stranding มีเนื้อเรื่อง Sci-fi และการนำเสนอที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกับเกมอื่นอย่างแน่นอน

เกมเพลย์

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น Death Stranding เป็นเกมส่งพัสดุ ที่เกมเมอร์ต้องคอยรับออเดอร์ของจากสถานที่หนึ่ง เพื่อนำไปส่งของต่ออีกสถานีหนึ่ง โดยพัสดุต้องปลอดภัย ทิ้งรอยขีดข่วนให้น้อยที่สุด และส่งให้ทันตามเวลาที่กำหนด ซึ่งหากส่งของสำเร็จ บางครั้งเจ้าหน้าที่จะมอบของขวัญเป็นแก็ดเจ็ตล้ำ ๆ ช่วยให้การเล่นเกมสะดวกมากขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้น เกมดังกล่าวได้มีอุปสรรคท้าทายต่าง ๆ ที่ทำให้การส่งของนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนที่หลายคนคิด ยกตัวอย่างเช่น บางครั้ง บางครั้งจะเจอภูเขาขนาดสูงที่คอยกีดขวางการเดินทาง ซึ่งผู้เล่นต้องใช้วิธีปีนเขาอย่างระมัดระวัง หรือใช้อุปกรณ์บันไดกับเชือก ในการปีนเขาง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ระหว่างการเดินทาง ผู้เล่นต้องเจอกับภูมิประเทศขรุขระ ที่การเดินบางก้าว อาจทำให้เราเผลอสะดุดลื่นล้มลงกับพื้นได้ทันที ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการเดินทาง ควรหมั่นใช้อุปกรณ์ตรวจสอบสภาพภูมิประเทศ เพื่อค้นหาเส้นทางที่ขรุขระน้อยที่สุด หรือหากเจอกลุ่ม BT ก็สามารถหลีกเลี่ยงเดินอ้อมไปเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า หรือยอมลอบเร้น Stealth แล้วเดินข้ามฝ่าดง BT เป็นต้น

เนื่องจากการเดินทางส่งของมีอุปสรรคต่าง ๆ มาคอยขวางเราตลอดเวลา ฉะนั้นก่อนเริ่มเดินทาง ควรมีการจัดการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น หากทางที่เราเลือกเดินทาง มีภูเขาคอยขวาง ก็ควรพกบันไดติดตัวไปด้วย หรือหากเจอผู้ก่อการร้าย หรือ Mule ก็ควรพกอาวุธปืนแบบ non-lethal ไว้สำหรับยามป้องกันตัวเอง ด้วยองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้ Death Stranding เป็นเกมที่เล่นแล้วติดพันได้ง่ายพอสมควร

นอกจากนี้ Death Stranding มีระบบ Multiplayer อย่างหนึ่ง ที่หากผู้เล่นคนอื่นได้สร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ไว้ เช่น บ้าน Safe House, สะพานข้ามแพลตฟอร์ม, แท่นชาร์จแบตเตอรี่, หอคอย ฯลฯ ผู้เล่นจะสามารถมองเห็นสิ่งก่อสร้างของคนอื่นในโลกของคุณ แล้วนำมายืมใช้งานต่อได้ แล้วถ้าหากเห็นว่าสิ่งก่อสร้างของผู้เล่นอื่นนั้น ได้มีประโยชน์ต่อการเดินทางจริง ๆ ผู้เล่นก็สามารถกด Like ให้คนอื่นได้ โดย Like ของเกมนี้จะไม่ส่งผลเกมเพลย์ หรือมีเงื่อนไขในการปลดล็อกคอนเทนต์อื่น ๆ เพิ่มเติม แต่หาก Like ยิ่งเยอะจะเป็นการเพิ่มค่า Bridgelink ให้ผู้เล่นสามารถพบสิ่งก่อสร้างจากคนอื่นง่ายขึ้นอีกด้วย

สำหรับเวอร์ชัน Director’s Cut ตัวเกมได้นำเสนออุปกรณ์แก็ดเจ็ตใหม่ ซึ่งทำให้ชีวิตการส่งของง่ายขึ้น ไม่ว่าจะสิ่งก่อสร้างเป็นปืนยิง Catapult สามารถยิงพัสดุได้ระยะไกล, Buddy Bot หุ่นยนต์เพื่อนร่วมเดินทาง ที่สามารถช่วยแบกของ หรือเรานั่งขี่มันแล้วปล่อยให้ Bot เดินทางไปยังเป้าหมายเองโดยอัตโนมัติ, รถยนต์ใหม่ Roadster ที่ออกแบบเพื่อใช้ขับบนสะพานโดยเฉพาะ และอุปกรณ์อื่น ๆ อีกหลายชิ้นที่ส่งผลทำให้ Quality of Life ของเกมมีการปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้น

ในส่วนของห้องพักจะมีห้องใหม่ที่เรียกว่า “Firing Range” ซึ่งเป็นห้องสำหรับการฝึกซ้อมยิงปืน โดยห้องดังกล่าวจะมี Mission ท้าทายยิบย่อย ให้ผู้เล่นได้ทำพิสูจน์ความเชี่ยวชาญในด้านการต่อสู้ของตัวเอง รวมถึงมีโหมด Ranking ให้เกมเมอร์ทำ Challenge ประจำสัปดาห์ เป็นการแข่งขันกำจัดศัตรูให้ได้รวดเร็วที่สุด เพื่อแลกของรางวัลเป็นทรัพยากร สำหรับช่วยสร้างอุปกรณ์ และสะพานทางด่วน

Race Track เป็นมินิเกมใหม่ ให้ผู้เล่นแข่งขันรถยนต์แบบ Time Attack ในสนามแข่งเป็นจำนวน 3 รอบ ซึ่งคล้ายกับ Firing Range โหมดเกมดังกล่าวจะมี Ranking ให้เกมมอร์ทำ Challenge ประจำสัปดาห์ ด้วยการแข่งขันทำเวลาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อแลกของรางวัลเป็นทรัพยากรต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบการขับรถที่ค่อนข้างขาดความลื่นไหล จึงทำให้ประสบการณ์การเล่นมินิเกม Race Track จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ “ธรรมดา” ที่ไม่ได้มีคุณภาพดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่เช่นกัน

นอกจากนี้ เกมมีภารกิจใหม่เป็นการลักลอบเข้าไปส่งของที่โรงงานร้างแห่งหนึ่ง (Ruined Factory) ที่เปรียบเสมือนเป็นฐานทัพย่อยของกลุ่มผู้ก่อการร้าย Homo Demens โดยภารกิจของ Ruined Factory ส่วนใหญ่จะเน้นการลอบเร้น-แอ็กชัน ซึ่งเป็นลักษณะภารกิจที่แตกต่างจากทุกออเดอร์ของเกมหลัก แต่น่าเสียดายที่ภารกิจรูปแบบดังกล่าว มีให้เล่นเพียงแค่นิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากเกมเมอร์ต้องการเล่นเกมเวอร์ชัน Director’s Cut เพื่อเสพเนื้อเรื่อง Lore และภารกิจใหม่เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะไม่คุ้มค่าเต็มอิ่มสักเท่าไหร่นัก

และสุดท้าย Death Stranding ยังคงเป็นเกมที่ผู้เล่นต้องส่งของเกือบตลอดทั้งการเล่น ฉะนั้นเกมนี้จึงเหมาะสำหรับคนต้องการเกมเพลย์ชิลล์ ๆ ที่มีการลอบเร้น-แอ็กชันเล็กน้อย, เน้นการจัดการ Inventory, เสพเนื้อเรื่องกับภาพกราฟิกอันงดงาม ซึ่งไม่เหมาะสำหรับผู้เล่นที่ต้องการความมันเร้าใจ และหากใครคาดหวังว่าเกมเวอร์ชัน Director’s Cut มีการปรับปรุงเกมเพลย์ให้ระบบ Combat สนุกมากขึ้น ก็ดับฝันไปได้เลย

กราฟิก / ประสิทธิภาพ

Death Stranding เป็นหนึ่งในเกมที่มีภาพกราฟิกงดงาม และรันอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีมากบนเกมคอนโซล PlayStation 4 และแน่นอนว่าเวอร์ชัน Director’s Cut คือการ Enhance กราฟิกสำหรับเกมคอนโซล PlayStation 5 ก็ยิ่งทำให้กราฟิกกับประสิทธิภาพของ Death Stranding ดีขึ้นกว่าเดิม

ใน Death Stranding Director’s Cut มีตัวเลือกกราฟิกระหว่าง Performance Mode ให้เกมรันด้วยภาพ 1800p ที่ถูก Upscale เป็น 4K, Quality Mode ให้เกมรันด้วยภาพ 4K Native และ Ultrawide Mode เปลี่ยนรายละเอียดภาพเป็น 3840x1620p พร้อมมีแถบดำ Letterbox ให้ภาพในเกมมีบรรยากาศเหมือนรับชมภาพยนตร์ในโรงหนัง

ทุกโหมดกราฟิกสามารถรันบน PlayStation 5 ได้ลื่นไหลที่ 60FPS แม้บางฉากในกราฟิก Quality Mode ที่มี Particle Effect หรือมีหิมะตกเยอะ เฟรมเรตอาจจะตกร่วงไปที่ 55-59FPS แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยได้เกิดขึ้นบ่อยสักเท่าไหร่นัก แล้วไม่ได้ส่งผลทำให้ประสบการณ์การเล่นเกมแย่ลงแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นเราแนะนำให้เล่นเกมนี้โดยใช้กราฟิก Quality Mode เพื่อเพิ่มความฟินในการเสพบรรยากาศ และโลกภายในเกม

ส่วนภาพกราฟิกที่มีการปรับปรุงจากเกมต้นฉบับ คือ ใบหน้าตัวละครมีรายละเอียดลุ่มลึกสมจริงมากขึ้น รวมถึง Texture ของวัตถุต่าง ๆ มีการเพิ่มรายละเอียดให้คมชัดกว่าเดิม แต่มองภาพรวมแล้ว ตัวเกมถือว่าไม่ได้แตกต่างจากเวอร์ชันเดิมมากนัก ฉะนั้นหมายความว่าเกมเวอร์ชัน Director’s Cut ได้เน้นการปรับปรุงที่ชัดเจนในส่วนของรายละเอียดภาพ เฟรมเรต และการโหลดเร็วเป็นหลักนั่นเอง

สรุป

Death Stranding Director’s Cut ได้เพิ่มกิจกรรมใหม่ ออเดอร์ใหม่ และแก็ดเจ็ตใหม่ รวมถึงปรับปรุง Quaily of Life ซึ่งช่วยให้ตัวเกมน่าสนใจ และการเล่นสนุกสนานกว่าเดิม ส่วนกราฟิกที่อลังการอยู่แล้วได้อัปเกรดบน PS5 ให้สามารถรันภาพ 4K 60FPS พร้อมโหลดเกมเร็วขึ้น จึงนับเป็นอีกเกมที่งัดประสิทธิภาพของ PS5 อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยเกมเพลย์หลักยังคงเน้นการเดินทางจากจุด A ไปจุด B เพื่อส่งพัสดุอย่างเดียว จึงยืนยันคำเดิมว่า Death Stranding เป็นเกมที่ไม่ใช่สำหรับทุกคน

ข้อดี

  • Firing Range มีความท้าทาย ช่วยให้ผู้เล่นใหม่เข้าใจวิธีต่อสู้มากขึ้น
  • แก็ดเจ็ตใหม่ ช่วยเพิ่ม Quality of Life ให้การส่งพัสดุง่ายขึ้น
  • อัปเกรดประสิทธิภาพให้เกมสามารถรันด้วยภาพ 4K 60FPS

ข้อเสีย

  • เกมเพลย์แนวเดินทางส่งของจากจุด A ไปจุด B อาจไม่เหมาะสำหรับผู้เล่นทุกคน
  • คอนเทนต์ในส่วนของภารกิจใหม่มีไม่เยอะมากนัก ขาดความจุใจ
  • ระบบการขับขี่รถยนต์ไม่ได้มีการปรับปรุงจากเกมเวอร์ชันต้นฉบับ

คะแนน 8/10

สามารถรับชมวิดีโอรีวิว Death Stranding ของทาง GamingDose ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

Achina Limanwat

เค - Content Writer

Back to top