จู่ ๆ ก็เปิดตัวแบบเซอร์ไพรส์สำหรับ Hi-Fi RUSH ผลงานน้องใหม่จาก Tango Gameworks ที่ครั้งนี้ไม่ใช่เกมสยองขวัญ แต่เป็นเกมแอ็กชัน-กดตามจังหวะดนตรี ที่มาพร้อมกราฟิกสดใสขัดจากผลงานที่ผ่านมา แล้วก้าวแรกของค่าย Tango ที่ไม่ใช่เกมหลอนจะเป็นอย่างไร มาอ่านได้เลยในบทความรีวิว Hi-Fi RUSH
เนื้อเรื่อง
ใน Hi-Fi RUSH ผู้เล่นรับบทเป็น Chai หนุ่มร็อกสตาร์วอนนาบี ที่ได้เข้าร่วม Project Armstrong ซึ่งว่ากันว่าเป็นโครงการที่จะทำให้ชีวิตของผู้เข้าร่วมนั้น “เปลี่ยนไป” แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างเตรียมเข้าโครงการ จู่ ๆ ก็เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ Chai ได้รับพลังพิเศษจากแขนกล และเครื่องเล่นเพลงที่โดนฝังในลำตัวของเขา
เนื่องจาก Chai ถูกระบุว่าเป็นตัวที่มี “ข้อบกพร่อง” ทำให้ Chai โดนตามล่าตัวโดยบริษัทชั่วร้ายที่อยู่เบื้องหลัง Project Armstrong เขาจึงออกเดินทางทั่ว Vandeley Campus พร้อมร่วมมือกับกบฏ เพื่อโค่นล้มองค์กรชั่วร้ายให้ได้
Hi-Fi RUSH เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฝ่ายดีปะทะฝ่ายชั่ว” ที่จะดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรง มีโครงเรื่องไม่ซับซ้อน ซึ่งต้องขอบคุณการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน การถ่ายทอดตัวละครที่เต็มไปด้วยสีสันทั้งฝ่ายร้ายกับฝ่ายเรา และมีการโยนมุกตลกฮา ๆ แบบ Slapstick Comedy กับล้อเลียน Pop Culture ทำให้เนื้อเรื่องของเกมนี้ไม่น่าเบื่อ มีความน่าติดตาม สร้างเสียงหัวเราะเบา ๆ ต่อผู้เล่นได้ตลอดเวลา
แน่นอนว่า Chai คือตัวละครโดดเด่นที่สุดของเกมนี้ และอาจจะถูกใจใครหลายคน เพราะนอกจากเป็นพระเอกแล้ว เขามีลักษณะนิสัยแตกต่างจากใครในกลุ่มเพื่อน ๆ แม้ Chai เป็นคนอวดดี มีความมั่นใจในตัวเองสูง ชอบทำก่อนแล้วค่อยคิดเสมอ แต่เขาก็สามารถทำภารกิจต่าง ๆ ได้สำเร็จตามเป้าหมาย เป็นคนเก่งกาจ มองโลกในแง่ดี ก็ต้องบอกเลยว่านี่คือตัวละครที่ทำให้นึกถึงพระเอกจากการ์ตูนโชเน็นหลายเรื่องก็ว่าได้
แม้โครงสร้างเนื้อเรื่องของ Hi-Fi RUSH ไม่ได้แปลกใหม่ (ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการเล่าเรื่องของเกมนี้ทำได้สนุกสนานมาก ๆ เราเชื่อว่าใครชื่นชอบการ์ตูนมัน ๆ มีการตบมุกตลอดเวลา จะต้องถูกใจเนื้อเรื่องของเกมนี้ไม่ใช่น้อย
การนำเสนอ
แน่นอนว่าสิ่งที่สะดุดตา และโดดเด่นของเกมนี้ คือเรื่องอาร์ตสไตล์ Cel-shade กับการออกแบบโลกในอนาคต ซึ่งเต็มไปด้วยสีสันสดใสและลวดลายกราฟฟิตี้ โดยบรรยากาศของเกมคล้ายกับเกมคลาสสิกอย่าง Jet Set Radio
Hi-Fi RUSH มีความใส่ใจในรายละเอียด เกี่ยวกับการนำเสนอให้มีสุนทรียะคล้ายการ์ตูนให้ได้มากที่สุด โดยฉากหลังของเกมนี้จะรันด้วยเฟรมเรต 60 FPS ก็จริง แต่แอนิเมชันของตัวละครจะรันด้วย 24 FPS ซึ่งเป็นเฟรมเรตมาตรฐานที่สื่อการ์ตูนใช้กันเกือบทั่วโลก รวมถึงฉากคัตซีนของเกม มีการสลับระหว่างแอนิเมชันแบบ Pre-Render กับฉากในเกมได้อย่างแนบเนียน
Hi-Fi RUSH ไม่ใช่เกม Open-World ก็จริง แต่รายละเอียดของฉากก็ถือว่าทำออกมาได้ดี การเคลื่อนไหวของโลกมีการซิงค์กับดนตรี รวมถึงบทสนทนา NPC ของเกมนี้ ก็ถือว่าปฏิสัมพันธ์ได้สนุกสนานเพลิดเพลิน โดยส่วนใหญ่ NPC จะเน้นการบ่นให้ผู้เล่นฟังว่าพวกเขา (ซึ่งเป็นหุ่นยนต์) ถูกใช้งานเยี่ยงทาส โดนสั่งให้ทำงานอย่างไม่เต็มใจ หรือได้มอบหมายงานที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างโลกที่บ่งบอกให้เห็นว่าบริษัทที่เรากำลังเผชิญหน้านั้น มันหน้าเลือดแค่ไหน และ Project Armstrong เป็นโครงการขายฝัน
สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็ไม่มีทางหนีพ้นเรื่อง Soundtrack แนวร็อก, พังก์ร็อกที่เข้ากับธีม และโลกของเกมเป็นอย่างมาก โดยเพลงประกอบเกม Hi-Fi RUSH แต่งโดยทีมงานจากค่าย Bethesda Softworks และมีการนำเพลงจากวงดัง เช่น Nine Inch Nails, The Prodigy, The Joy Formidable และวงอื่น ๆ มาเปิดในช่วงไคลแมกซ์ของเนื้อเรื่อง ช่วยให้โลกของเกมมีสีสัน และเสริมบรรยากาศให้ผู้เล่นรู้สึกไฮป์กับเกม
ด้านปริมาณคอนเทนต์ของ Hi-Fi RUSH นั้น จากความคิดเห็นส่วนตัว คิดว่าอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมพอดีตามมาตรฐานเกมแอ็กชัน โดยเกมนี้มีระบบการสะสม Collector เป็นการเก็บลวดลายกราฟฟิตี้ที่เห็นได้ตามกำแพงด่านต่าง ๆ และการทำ Challenge เพื่อเติมเต็มลวดลายภาพบนกำแพงใน Hideout ส่วนตัว ซึ่งคอนเทนต์ที่กล่าวมา เป็นเนื้อหาเสริมที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Hi-Fi RUSH เป็นเกมเนื้อหาเส้นตรงที่มีฉากจบแบบเดียว ฉะนั้นใครที่ไม่แคร์การเก็บถ้วยรางวัล หรือเก็บ Completion ครบ 100% เกมนี้จัดว่ามี Replay Value (คุณค่าในการกลับมาเล่นอีกครั้ง) ที่ค่อนข้างต่ำ ถึงอย่างนั้น เนื้อเรื่องของเกมนี้ก็จัดว่ามีความยาวพอสมควร เราจึงมั่นใจว่าใครเป็นเกมเมอร์สายเสพเนื้อเรื่องอย่างเดียว ก็ต้องเต็มอิ่มกับเนื้อหาเกมนี้อย่างแน่นอน
สุดท้าย Hi-Fi RUSH คือเกม Singleplayer อย่างแท้จริง เกมนี้ไม่มีระบบโซเชียลต่าง ๆ เช่น การทำสถิติ Leaderboard, การเล่นแบบ CO-OP หรือการทำภารกิจรายวัน ซึ่งหมายความว่าเกมเมอร์สามารถเล่นเกมนี้ในช่วงเวลาไหนก็ได้ ตาม Pacing ของตัวเอง
เกมเพลย์
ระบบการต่อสู้ของเกม Hi-Fi RUSH ไม่เหมือนกับเกมแอ็กชัน Hack and Slash ทั่วไป เพราะผู้เล่นต้องกดโจมตีตามจังหวะดนตรี โดยเกมนี้มีท่าโจมตีเบา ท่าโจมตีหนัก ท่า Parry และการใช้ท่าไม้ตาย
ท่าคอมโบของเกม Hi-Fi RUSH มีจำนวนหลายท่า โดยส่วนใหญ่เป็นการโจมตีที่ผสมผสานระหว่างโจมตีเบากับโจมตีหนัก จนผลลัพธ์ออกมาเป็นท่าโจมตีแบบใหม่ที่มีพลังทำลายล้างสูง ซึ่งความยากของการออกท่าคอมโบในเกมนี้ คือบางท่าจะมีการเว้นจังหวะดนตรี 1 ช่อง แล้วค่อยกดโจมตีตามจังหวะใหม่อีกครั้ง
และบางท่า โดยเฉพาะท่าไม้ตายกับท่าปิดคอมโบ ผู้เล่นต้องกดท่าโจมตีให้ตรงจังหวะ Perfect, Good เพื่อสร้างพลังทำลายล้างสูงที่สุด ด้วยระบบการต่อสู้แบบนี้ ทำให้ผู้เล่นต้องคอยจดจำจังหวะดนตรี และปุ่มที่ต้องกดในเวลาเดียวกัน
ส่วนการ Parry ของเกมนี้ ก็ถือว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างเข้าใจง่าย เพราะศัตรูทุกตัว จะปล่อยท่าโจมตีใส่ผู้เล่นตามจังหวะเพลงพื้นหลัง ฉะนั้นการ Parry ก็เหมือนกับการกดท่าโจมตี คือต้องกด Parry ตามจังหวะเพลง ยกเว้นศัตรูบางตัว ที่ผู้เล่นต้องปลิดชีพแบบ One-Hit Kill ในคัตซีน จะต้องกดตามจังหวะที่ศัตรูได้เคาะเสียงไว้ล่วงหน้า
นอกจากนี้ ระหว่างการดำเนินเนื้อเรื่อง ตัวเกมจะมีการปลดล็อก “Companion” หรือ “คู่หู” มาช่วยสนับสนุนการต่อสู้ และทำลายสิ่งกีดขวางระหว่างการเดินทาง ซึ่ง Companion เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้เล่นสามารถทำคอมโบ สร้างความเสียหายให้แก่ศัตรูอย่างต่อเนื่อง
ท่าคอมโบต่าง ๆ และท่าไม้ตายใหม่ สามารถหาได้จากการเก็บนิตยสารดนตรี และการดำเนินเนื้อเรื่อง ส่วนการปลดล็อกมาใช้งานนั้น ผู้เล่นต้องใช้เศษเหล็ก “Gears” ที่เก็บได้ตามทาง และการทำ Challenge ยิบย่อยจำนวนหนึ่งในการซื้อ
ส่วนการอัปเกรดอัตราฟื้นฟู HP, ลดระยะเวลาการ Cooldown ของการเรียก Companion หรือสกิล Passive ติดตัวอื่น ๆ ผู้เล่นจะต้องจ่ายด้วย “ชิป Armstrong” ที่หาได้ตามแผนที่ ซึ่งทุกสกิล ทุกการอัปเกรด จะสามารถขายทิ้ง เพื่อเอา Gears บางส่วนกลับคืนมา เพื่อนำไปใช้อัปเกรดสกิลอื่น ซึ่งระบบดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เล่นสามารถทดลองเล่นสไตล์อื่น ๆ ตามที่ต้องการ
แม้ระบบการต่อสู้โดยรวมจะเข้าใจง่าย แต่ด้วยระบบยิบย่อยที่เยอะแยะ ไหนจะต้องกดท่าโจมตีกับ Parry ให้ตรงจังหวะ ไหนจะต้องคอยกดเรียก-เปลี่ยน Companion เพื่อสร้างความเสียหายต่อศัตรูแบบต่อเนื่อง ไหนจะต้องจดจำท่าคอมโบ ที่บางท่าต้องเว้นจังหวะ 1 ช่อง ทำให้การเล่นช่วงแรก จึงมีความรู้สึกว่าการควบคุม การกดท่าต่อสู้นั้นมันดูวุ่นวายไปหมด แต่หลังจากได้มีการฝึกฝน และเล่นไปแล้วช่วงเวลาหนึ่ง ในที่สุด เราก็สามารถปรับตัวเข้าหากับเกมได้ แล้วมีความรู้สึกว่าการต่อสู้ของเกมนี้ มีความสนุกสนาน มีความลื่นไหลไปตามเสียงเพลง
ข้อเสียหลักของเกมเพลย์ที่ค้นพบใน Hi-Fi RUSH คือ เกมนี้ไม่มีระบบการล็อกเป้าหมายศัตรู และมีปัญหากล้องบดบังตัวละคร ทำให้เราสูญเสียโฟกัสระหว่างการต่อสู้ และเกมเพลย์สะดุดเป็นบางครั้ง แต่แน่นอน ปัญหาดังกล่าวแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ในการต่อสู้กับ Boss ที่มีความท้าทายแบบสมเหตุสมผล มีช่วงเวลากับรูปแบบการต่อสู้ที่ชัดเจน
กราฟิก และประสิทธิภาพ
Hi-Fi RUSH เป็นเกมที่จู่ ๆ ก็ประกาศเปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ โดยไม่มีการเปิดตัว Teaser Trailer หรือการโปรโมต เพื่อสร้างกระแสไฮป์ในชุมชนคนเล่นเกม
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเกม Hi-Fi RUSH จะมีการเตรียมตัวพร้อมมานานแล้ว เพราะตั้งแต่ Day 1 เกมดังกล่าวไม่มีปัญหาบั๊ก หรือประสิทธิภาพเลยแม้แต่ครั้งเดียว โดยตัวเกมรันในเฟรมเรตที่ลื่นไหล ไม่มีอาการกระตุก ไม่มีอาการเกมเด้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากในเกมยุคนี้
นอกจากนี้ จากการเล่นเกมติดต่อกัน 4 ชั่วโมง พบว่าตัวเกมยังไม่มีอาการเฟรมเรตตก หรือมีบั๊กภาพกราฟิก ซึ่งหมายความว่าภาพรวมของเกม Hi-Fi RUSH นั้น จัดว่าเป็นเกมที่ผ่านการขัดเกลามาดีมาก ๆ จนแทบไร้ที่ติก็ว่าได้ ซึ่งคาดว่าสาเหตุหนึ่งที่เกมรันได้ลื่นขนาดนี้ เพราะเกมนี้ไม่ใช่แผนที่ Open-World ที่ต้องประมวลผลหรือโหลดตลอดเวลา จึงทำให้เกม Hi-Fi RUSH ไม่กินทรัพยากรเครื่อง PC มากจนเกินไป แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ทีมงานได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพเกมอยู่ดี
สรุป
Hi-Fi RUSH คือเกมแอ็กชัน-กดตามจังหวะดนตรี ที่มีระบบการต่อสู้สุดสร้างสรรค์ เต็มเปี่ยมไปด้วยสไตล์ และเนื้อเรื่องการผจญภัยของร็อกสตาร์วอนนาบีที่สนุกสนานมันฮา นี่คือผลงานใหม่ของ Tango Gameworks ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาทำเกมแนวอื่นนอกเหนือจากสยองขวัญได้ แถมทำออกมาดีเกินคาด จนกล้ารับประกันว่านี่คือเป็นเกมเซอร์ไพรส์ในช่วงต้นปี 2023 อย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อดี
- เพลงประกอบแนวร็อก เข้ากับธีมของเกม และโลกได้ซิงค์กับจังหวะดนตรี
- ระบบการต่อสู้แบบกดตามจังหวะดนตรี มีความสนุกสนาน
- เกมมีการขัดเกลากราฟิก และประสิทธิภาพมาอย่างดี
- เกมเต็มไปด้วยสไตล์ โลกกับตัวละครมีสีสัน
- เนื้อเรื่องน่าตื่นเต้น มีโมเมนต์ฮา ๆ เยอะ
ข้อเสีย
- ไม่มีระบบล็อกเป้าศัตรู ทำให้โฟกัสกับการต่อสู้ได้ยากบางครั้ง
- มีปัญหาบดบังมุมกล้องเป็นบางครั้ง